ปชป.รอศาลรธน. ‘เทือก’ไม่ยกระดับ/เครือข่าย77จว.ผนึกอุรุพงษ์-สวนลุม
สภาทาสยกมือพรึ่บ! ผ่านวาระ 3 ร่างกฎหมายนิรโทษโกงฉบับลักหลับในซอยเปลี่ยวก่อนไก่โห่วันศุกร์แล้ว ส.ส.แดงส่วนใหญ่ไม่สวน แค่งดออกเสียง "ก่อแก้ว" โหวตข้ามศพพวกเดียวกันเอง โดนด่าเละ "กาก" ส่วนเฟซบุ๊กทักษิณเจอขี้ถล่ม "ปู" ปัดตอบยุบสภา วอนม็อบอย่ารุนแรง ให้ใช้หลักเมตตาธรรม เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ขี้ข้าสภาสูงรับลูก บรรจุระเบียบวาระ 8 พ.ย. "นิคม" เร่งเสร็จทันสมัยประชุมนี้ "เทือก" ประกาศบนเวทีสามเสน "คงระดับการต่อสู้" ไม่รีบร้อนยกระดับการชุมนุม "มาร์ค" พึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วเมื่อเวลา 04.25 น. ก่อนรุ่งสางวันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังพิจารณาต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงสายของวันที่ 31 ตุลาคม
สาระสำคัญของการพิจารณาอยู่ที่มาตรา 3 ซึ่งเริ่มต้นพิจารณาเวลา 02.30 น. ซึ่งกรรมาธิการเสียงข้างมาก ได้แก้ไข มีเนื้อหาระบุว่า "การกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือมีความขัดแย้งทางการเมือง รวมถึงผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด โดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 รวมถึงองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว สืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2547 ถึงวันที่ 8 ส.ค.2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวกลาง ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำนั้นพ้นจากความผิดโดยสิ้นเชิง ไม่รวมถึงการกระทำผิดในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112"
การอภิปรายเป็นไปอย่างดุเดือด ท่ามกลางเสียงด่าทอจากฝ่ายค้านว่า สภาทาส ข้ามศพสุดซอย สุดท้ายที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรา 3 ตามที่คณะกรรมาธิการเสียงข้างเสนอแก้ไข ด้วยคะแนน 307 ต่อ 0 คะแนน งดออกเสียง 4 เสียง
ส่วนมาตราที่เหลือคือ 4-7 ผ่านไปอย่างรวดเร็ว เพราะ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเสนอปิดการอภิปรายอย่างเร่งรีบ การลงมติเป็นไปในทิศทางเดียวกับมาตรา 3 สุดท้ายที่ประชุมได้มีมติเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวในวาระที่ 3 ด้วยคะแนน 310 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง จากนั้นนายสมศักดิ์จึงสั่งปิดการประชุมทันทีในเวลา 04.25 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง ในการพิจารณา 5 มาตรารวด รวมเวลาการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในวาระ 2 และวาระ 3 ทั้งสิ้น 19 ชั่วโมง จากนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาต่อไป
ในการลงมติมีประเด็นน่าสนใจคือ มี ส.ส.พรรคเพื่อไทยลงคะแนน 253 คน จากจำนวน ส.ส.ทั้งหมด 264 คน โดยมีผู้ลงมติเห็นชอบ 249 คน และมีผู้งดออกเสียง 4 คน ได้แก่ นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ ผู้เสนอร่าง, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แกนนำ นปช. และ น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ
"ยิ่งลักษณ์" ไม่โหวต
ส่วนผู้ที่ไม่ลงคะแนนประกอบด้วย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม, นายจรูญพงศ์ พันธุ์ศรีนคร ส.ส.นครราชสีมา, ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ, นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย ส.ส.อุตรดิตถ์, นายสมคิด บาลไธสง ส.ส.หนองคาย และนายเสนาะ เทียนทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ รวมทั้งนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานทั้ง 2 คน ที่ไม่ลงคะแนนด้วย ซึ่งมีทั้งผู้ที่ยังป่วยอยู่และผู้ที่แจ้งติดภารกิจ
ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาล ได้แก่ พรรคชาติไทยพัฒนา มี ส.ส. 19 คน ลงมติเห็นชอบ 18 คน, พรรคภูมิใจไทย มี ส.ส. 33 คน ลงมติเห็นชอบ 29 มีผู้ไม่ลงมติ 4 คน ได้แก่ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา, นางพรทิวา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท และนางอารีญาภรณ์ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์
เป็นที่น่าสังเกตคือ กลุ่มบุรีรัมย์ ของนายเนวิน ชิดชอบ ที่นำโดยนายชัย ชิดชอบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็ยังร่วมลงมติเห็นชอบ พรรคพลังชล ขาดเพียงนางสุกุมล คุณปลื้ม ส.ส.ชลบุรี เพียงคนเดียว พรรคชาติพัฒนาขาดนายประเสริฐ บุญชัยสุข ส.ส.นครราชสีมา และ รมว.อุตสาหกรรม
ขณะที่ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักสันติ ไม่ลงมติ เช่นเดียวกัน พรรครักประเทศไทยที่มี ส.ส. 4 คนของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, พรรคมาตุภูมิ ของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็ไม่ลงมติเช่นกัน ส่วนนายอภิรัต ศิรินาวิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคมหาชน ลงมติเห็นชอบ
รายงานข่าวแจ้งว่า ตลอดทั้งวันที่ 1 พ.ย. สมาชิกเฟซบุ๊กได้เข้าไปโพสต์ข้อความ ปาขี้ รวมทั้งใช้รูปการ์ตูนที่เป็นภาพก้อนอุจจาระ ในหน้าเฟซบุ๊กของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (Thaksin Shinawatra) เป็นจำนวนมาก และยังโพสต์คำดังกล่าวซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง
ส่วนปฏิกิริยาของ ส.ส.เสื้อแดง พรรคเพื่อไทย ที่ตามมาทันที โดยนายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย หนึ่งในแกนนำ นปช. โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Kokaew Pikulthong’ ว่า "พวกเรามีมุมมองที่ต่างกันมาก ในที่สุดผมกดโหวต 'เห็นด้วย' ผมได้นั่งไตร่ตรองประเด็นนี้มาทั้งวัน ชั่งน้ำหนักทุกด้าน ก่อนที่จะได้ข้อสรุปในใจตอนประมาณตี 3 ว่าผมจะทำตามมติพรรคเพื่อไทย ถึงแม้ในใจผมเองก็เจ็บปวดมากจากการกระทำของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ที่โดนยัดข้อหาฉกรรจ์และติดคุกนานกว่า 9 เดือน
สำหรับพี่น้องเสื้อแดงที่โกรธเคืองผมในเรื่องที่ผมกดโหวตเห็นด้วยครั้งนี้ อย่าได้เกรงใจ ต่อว่า ดุด่า ได้เลย เต็มที่ครับ ผมขอน้อมรับ และขอโทษด้วยที่ผมอาจจะคิดต่างกับพวกเราหลายคนในกรณีนี้ จึงขอสารภาพมาอย่างตรงไปตรงมาครับ"
ด่า "ก่อกาก"
ด่า "ก่อกาก"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความเห็นที่ตามมาช่วงแรก ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการกระทำของนายก่อแก้ว แต่ก็มีบางคนที่แสดงออกอย่างรับไม่ได้ หนึ่งในความเห็นโพสต์โต้อย่างรุนแรง ’คุณมันแค่ กาก ในวาระนี้ คุณงดออกเสียง จะสง่างามที่สุด แต่คุณห่วงตัวเอง’
นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ผลจากการที่ ส.ส.เพื่อไทยให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เป็นห่วงว่าทำให้คนเสื้อแดงเสื่อมศรัทธากับพรรคเพื่อไทยที่ปล่อยให้ฆาตกรลอยนวล วิธีเดียวที่จะกู้ศรัทธาจากคนเสื้อแดงได้คือ รัฐบาลต้องรีบลงนามคำรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ จะทำให้คนเสื้อแดงพอใจ
ส่วนนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. ให้ความเห็นว่า ได้แสดงจุดยืนด้วยความเป็นห่วงอย่างชัดเจนว่า ร่างนิรโทษกรรมจะเจออุปสรรคขวากหนามหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นข้อกฎหมายและความรู้สึกของพี่น้องเสื้อแดงจำนวนมากไม่สามารถรับได้ที่ปลดปล่อยฆาตกรลอยนวล ไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ระหว่างพิจารณาของสมาชิกวุฒิสภา และนอกสภาก็มีการรุกไล่รัฐบาล และการตัดสินคดีเขาพระวิหาร วันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ รวมทั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทุกอย่างถาโถมรัฐบาลอย่างหนัก
ด้านนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ได้คุยกับผู้ใหญ่ในพรรคแล้ว ไม่ติดใจที่ ส.ส.เสื้อแดง 4 คนงดออกเสียง เพราะเข้าใจถึงเหตุผลในการโหวตสวนมติพรรค ที่ต้องรักษาอุดมการณ์และจุดยืนกับมวลชนคนเสื้อแดง อีกทั้งคะแนนเห็นโหวตที่ออกมาเห็นชอบอย่างท่วมท้น ถือว่าไม่เสียหายอะไร ดังนั้นคงไม่มีการลงโทษ ส.ส.ทั้ง 4 คน ส่วน ส.ส.คนอื่นๆ ที่ไม่มาโหวต โดยไม่แจ้งเหตุผล คงต้องเรียกตัวมาสอบถามเหตุผลความจำเป็นถึงการไม่มาลงคะแนน
นายอำนวย คลังผา ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เผยถึงเหตุผลต้องเร่งผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ว่า เราได้รับการข่าวทราบแผนของฝ่ายค้านว่าจะมีการนำผู้ชุมนุมมาทั้งจากสถานีรถไฟสามเสนและแยกอุรุพงษ์มาล้อมสภาในเวลา 08.00 น. วันที่ 1 พ.ย. เพื่อไม่ให้มีการโหวตลงมติร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมได้ ก็เลยต้องปรับแผนใหม่ อภิปรายยาวให้โหวตจบรวดเดียวไปเลย ยืนยันว่าไม่มีการวางแผนมาล่วงหน้าที่จะหักดิบ หลังจากนี้ก็ส่งร่างให้ส.ว.พิจารณา
ขี้ข้ารับลูก
นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา คาดว่าสภาผู้แทนฯ จะส่งมาให้วุฒิสภาภายในวันที่ 1 พ.ย.โดยกระบวนการหลังจากที่รับเรื่อง วุฒิสภาต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วัน ซึ่งวันที่ 6 พ.ย. จะมีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) เพื่อกำหนดระเบียบวาระการประชุม ทั้งนี้ ตนจะหารือต่อที่ประชุมว่าจะให้บรรจุเข้าระเบียบวาระในวันที่ 8 พ.ย.เลยหรือไม่ เพื่อให้คณะกรรมาธิการฯ มีเวลาพิจารณา หรืออย่างช้าไม่เกินวันที่ 11 พ.ย.
"กฎหมายฉบับนี้มีเพียง 7 มาตรา หากพิจารณาเสร็จก่อนวันที่ 25-26 พ.ย. ก็น่าจะพิจารณาวาระ 2 และ 3 ทันก่อนปิดสมัยประชุมวันที่ 28 พ.ย.นี้ แต่ถ้าไม่ทันก็ไม่เป็นไร ไปเข้าสมัยประชุมหน้า" นายนิคมกล่าว
ที่พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช อ.เมืองฯ จ.ลพบุรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พร้อมคณะรัฐมนตรีบางส่วน เข้าสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพื่อความเป็นสิริมงคล จากนั้นเดินทางมายังศาลพ่อพระกาฬ เพื่อสักการะเจ้าพ่อพระกาฬ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัดลพบุรี
ก่อนที่จะให้สัมภาษณ์ว่า จริงๆ แล้วยังมีขั้นตอนของวุฒิสภาอยู่ และวุฒิสภาก็เป็นตัวแทนจากทุกฝ่าย ทุกภาคส่วนเหมือนกัน ดังนั้นมองว่ายังมีอีกหลายขั้นตอน
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะยังสามารถแก้ไขได้อีกใช่หรือไม่ เธอตอบวกวนว่า อันนี้ต้องเป็นไปตามขั้นตอน และเป็นไปตามระเบียบของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายสมาชิกรัฐสภาต้องว่าไปตามขั้นตอน ซึ่งคงต้องอยู่ที่ฝ่ายนิติบัญญัติ
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะยังสามารถแก้ไขได้อีกใช่หรือไม่ เธอตอบวกวนว่า อันนี้ต้องเป็นไปตามขั้นตอน และเป็นไปตามระเบียบของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายสมาชิกรัฐสภาต้องว่าไปตามขั้นตอน ซึ่งคงต้องอยู่ที่ฝ่ายนิติบัญญัติ
"เราเคารพในสิทธิเสรีภาพของทุกคน เคารพในการตัดสินใจและเคารพข้อห่วงใยของทุกๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งต้องขอความร่วมมือ ขอความกรุณาทุกฝ่าย การแสดงออกซึ่งสิทธิและเสรีภาพนั้น ขอให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย เราไม่อยากให้ถึงขนาดก่อให้เกิดความรุนแรง"
ซักว่า จะมีการขยายประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง ไปพื้นที่สถานีรถไฟสามเสนหรือไม่ นายกฯ ตอบว่า ขอให้ฝ่ายความมั่นคงประเมินก่อน ถ้าช่วงไหนยังควบคุมสถานการณ์ เราก็พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง
ถามว่า หลายฝ่ายออกมาต่อต้านและยืนยันคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมถึงที่สุด ในที่สุดแล้วจะทำให้บ้านเมืองลุกเป็นไฟหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์แจงว่า เราควรจะหันมามองในหลักที่ให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ และมองในหลักของความเมตตาธรรม การเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน และใช้เวทีตามระบอบประชาธิปไตยในการพูดคุยกัน และแสดงออกในความคิดเห็นร่วมกัน
"ต้องขอร้อง เพราะเราเป็นคนไทยด้วยกัน และเราเข้าใจความห่วงใยความกังวลต่างๆ แต่ก็อยากเห็นบ้านเมืองเดินไปได้ เชื่อว่าทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยจะใช้เวทีแสดงออกถึงความคิดเห็น เชื่อว่าสักพักประชาชนคงจะได้รับทราบข่าวสารข้อเท็จจริงต่างๆ ก็น่าจะได้มีโอกาสพัฒนาถ้าเรารักษาบรรยากาศไม่ให้เกิดความรุนแรง"
ครม.รับทราบ
ครม.รับทราบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังตอบคำถามเสร็จนายกฯพยายามเดินเลี่ยงนักข่าว ขณะที่นักข่าวถามว่า ถ้าถึงทางตันจะถึงขั้นยุบสภาหรือไม่ นายกฯ ไม่ตอบคำถามพร้อมเดินออกจากวงสื่อมวลชน
นายธีรัตน์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่าก่อนเข้าวาระประชุม ครม. นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบถึงผลการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวาระ 3 แล้ว ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่มีการแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด
ด้าน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าวว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมก็ดูแลการชุมนุมเรียบร้อยดี ไม่น่าห่วงอะไร สถานการณ์เรียบร้อยดี เป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ เป็นความชอบธรรมที่ฝ่ายผู้ชุมนุมดำเนินการได้ เราก็ดูแลไม่ให้เกิดเหตุแทรกซ้อน ไม่ให้กระทบประชาชนที่ใช้ชีวิตตามปกติมากเกินไป
นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า รู้สึกสบายใจ เร็วดีที่ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมผ่านวาระ 3 แล้ว เมื่อถามว่าเกรงว่าจะถูกต่อต้านหนักหรือไม่ เขาตอบเชิงเหยียดหยามว่า “ช้าแล้วยังไง ก็มีแรงต้านแค่นี้”
นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลประมาทการชุมนุมไม่ได้ จะต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะขณะนี้ถือได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์เปิดเต็มตัวในการระดมมวลชน โดยมีข่าวว่าจ้างมวลชนหัวละ 500 บาทมาร่วมชุมนุม ขณะนี้กำลังดูที่มาของเงินว่าเอามาจากที่ใด โดยจะนำมาเปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบต่อไป และขอฝากไปถึงนายทุนต่างๆ ที่หนุนหลังพรรคประชาธิปัตย์อยู่ขอให้ยุติ ไม่เช่นนั้นจะดำเนินการขั้นเด็ดขาด เพราะการสนับสนุนโค่นล้มรัฐบาลถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายสถานการณ์ขณะนี้ยังถือว่ารัฐบาลเอาอยู่
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงการชุมนุมของพรรคประชาธิปัตย์ที่สถานีรถไฟสามเสนว่า ทางด้านการข่าวก็น่าจะมีการเชื้อเชิญมวลชนจากต่างจังหวัดมาสมทบ ปริมาณจึงอาจเพิ่มขึ้น แต่ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ผู้ชุมนุมเป็นคนกทม.และยังไม่พบสิ่งผิดปกติอะไร
พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวถึงการเตรียมกำลังทหารสนับสนุนตำรวจในการดูแลกลุ่มผู้ชุมนุมว่า ขณะนี้มีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ จำนวน 56 กองร้อย ทำหน้าที่ดูแล ส่วนทางทหารได้เตรียมกำลังสารวัตรทหารไว้ จำนวน 1 กองร้อย หรือประมาณ 150 นาย โดยแยกออกเป็นส่วนๆ คือการดูแลด้านจราจรเป็นหลัก อีกส่วนอยู่ในที่ตั้งหากมีการร้องขอกำลังเสริมจากศอ.รส. รวมถึงชุดเจ้าหน้าที่พยาบาลด้วย
ดีเอสไอไม่หยุด
นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า ในทางปฏิบัติดีเอสไอจำเป็นต้องสอบสวนคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง จนกว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้อย่างจริงจัง จึงจะมาดูว่าสุดท้ายแล้วบทบัญญัติของกฎหมายได้นิรโทษกรรมให้ใครบ้าง และเหตุการณ์ใดบ้าง ในระหว่างนี้ดีเอสไอคงติดตามสถานการณ์ไปก่อน ทั้งนี้ ดีเอสไอยังสามารถเรียกนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพเข้ามารับทราบข้อกล่าวหาในคดีความผิดฐานร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผลได้ตลอด
สำหรับท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์กรณีส่งให้ศาลรับธรรมนูญวินิจฉัยนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่าต้องรอจนกว่าเห็นว่าร่างสุดท้ายที่จะออกจากสภาเป็นอย่างไร เชื่อว่าคงไม่สายเกินไป เพราะทีมกฎหมายของพรรคได้เตรียมประเด็นความไม่ชอบของกฎหมาย และกระบวนการตรากฎหมายจนถึงวันนี้ไว้แล้ว ตอนนี้ก็ต้องรอดูในชั้นของวุฒิสภาไปก่อน
ซักว่ามี ส.ส.ในพรรคเตรียมจะลาออกไปร่วมการชุมนุมอีกหรือไม่ เขาตอบว่า ขณะนี้ยังไม่มี ส.ส.ในพรรคตัดสินใจแบบนั้น มีแต่กรรมการบริหารพรรคที่ยังกังวลต่อการเคลื่อนไหวในการชุมนุมที่มักจะถูกใส่ร้าย กลัวว่าจะกระทบพรรค จึงลาออกจากกรรมการบริหารพรรคเท่านั้น
“ผมเรียกร้องให้ประชาชนออกมาชุมนุมตามกรอบของกฎหมาย ถ้าเฉยอยู่รัฐบาลก็จะย่ามใจ คิดว่าทำอะไรก็ได้ วันนี้ไม่ใช่เรื่องการสนับสนุนพรรคการเมืองไหน แต่เป็นการสนับสนุนให้ประเทศเดินไปแบบไหน จะยอมให้มีการโกง หรือให้ประเทศนี้มีธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จากการติดตาม วุฒิสภาคัดค้านเรื่องนี้ประมาณ 50 คน จึงเชื่อว่าวุฒิสภาก็เอาไม่อยู่ และคาดว่ากระบวนพิจารณาทั้ง 3 วาระของวุฒิสภาจะแล้วเสร็จประมาณวันที่ 26 พ.ย. และเมื่อวุฒิสภาลงมติเสร็จ พรรคประชาธิปัตย์จะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญทันที ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154
ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ เผยว่า ประเด็นที่จะใช้ยื่นประกอบว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมขัดรัฐธรรมนูญ คือ มาตรา 30 ที่บัญญัติว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน รวมทั้งมาตรา 122 ที่บัญญัติว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยโดยไม่อยู่ในความผูกพันแห่งอาณัติ มอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์
ระดมพล
และมาตรา 309 ที่บัญญัติว่า บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 ว่า เป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าว ไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้น และการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้
ระดมพล
และมาตรา 309 ที่บัญญัติว่า บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 ว่า เป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าว ไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้น และการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้
นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา สมาชิกกลุ่ม 40 ส.ว.กล่าวว่า ขณะนี้ ส.ว.บางส่วนถูกครอบงำโดยฝ่ายบริหาร ส่วนการเคลื่อนไหวนอกสภานั้น ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งที่ผ่านมามี ส.ว.หลายคนขึ้นเวทีให้ความรู้ทางวิชาการกับกลุ่มผู้ชุมนุม
ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว เครือข่ายภาคประชาชน 77 จังหวัด ประชุมเพื่อกำหนดท่าที ภายหลังการประชุม ตัวแทนเครือข่ายฯ อาทิ นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, นายพิภพ ธงไชย, นายสุริยะใส กตะศิลา, นายศิริชัย ไม้งาม, นายนิติธร ล้ำเหลือ, ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์, นพ.ระวี มาศฉมาดล และนายอุทัย ยอดมณี ได้แถลงข่าวร่วมกัน
นายสมเกียรติแถลงว่า เราจะเข้าร่วมกับม็อบสามเสน หลังจากที่ทำความเข้าใจกับพรรคประชาธิปัตย์แล้วเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ได้มีการประสานงานหรือพูดคุยกัน แต่เชื่อว่าจะมีการส่งตัวแทนเพื่อประสานงานกับแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ในเร็วๆ นี้ ซึ่งหากมีแนวคิดสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ทางเครือข่ายมีก็ยินดีที่จะเข้า
ส่วนนายสุริยะใสกล่าวเสริมว่า การเคลื่อนไหวหรือการยกระดับการชุมนุมจะพิจารณาเรื่องปริมาณของผู้เข้าร่วมเป็นหลัก โดยหากทั้งที่แยกอุรุพงษ์และสวนลุมพินีมีจำนวนมากพอ ก็จะพิจารณาเรื่องการเคลื่อนมวลชนมาร่วมสมทบกันที่จุดใดจุดหนึ่ง โดยจะยังไม่เปิดเผยถึงยุทธวิธีดังกล่าว
ที่ สน.พญาไท นายอุทัย ยอดมณี ผู้ประสานงาน คปท. เดินทางมายื่นหนังสือถึง พ.ต.อ.สมาน รอดกำเนิด ผกก.พญาไท ขอใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และระบุว่า ตามที่ พ.ต.อ.สมาน ได้มีหนังสือให้ย้ายสิ่งกีดขวางตามแนวถนนพระราม 6 ขาออก ในวันที่ 2 พ.ย. นั้น ขอเรียนว่าได้มีหนังสือถึง พ.ต.อ.สมาน ขอใช้พื้นที่ข้างทำเนียบฯ ในการชุมนุม แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ ดังนั้น เราไม่สามารถปฏิบัติตามได้ จะชุมนุมที่อุรุพงษ์ต่อไป เว้นแต่ได้รับอนุญาตให้ไปชุมนุมข้างทำเนียบรัฐบาล
ด้าน พ.ต.อ.สมานกล่าวสั้นๆ ว่า จะนำเรื่องไปเสนอผู้บังคับบัญชาพรุ่งนี้ โดยยังไม่มีคำตอบว่า จะขอคืนพื้นที่ชุมนุมอย่างไร ต้องรอฟังจากผู้บังคับบัญชา ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งให้เข้าเคลียร์พื้นที่ชุมนุม หรือ สลายการชุมนุมที่อุรุพงษ์ จากนั้นปฏิเสธให้สัมภาษณ์ โดยระบุว่า ต้องรีบไปปฏิบัติภารกิจ จากนั้นก็รีบเดินทางออกจาก สน.ไปทันที
ไม่ยกระดับชุมนุม
ไม่ยกระดับชุมนุม
สำหรับการชุมนุมที่สถานีรถไฟสามเสนนั้น คึกคักกว่าวันก่อน มีประชาชนเข้าร่วมหลายหมื่นคน รวมทั้งมีบุคคลสำคัญเข้าร่วมชุมนุม อาทิ นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม อดีตรองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้รับแจ้งจากผู้เข้าร่วมชุมนุม ว่าเกิดความผิดปกติของรางรถไฟสถานีสามเสนมีผู้ไม่หวังดีถอดนอตรางรถไฟบริเวณที่ชุมนุม ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกำลังตรวจสอบสถานการณ์ และได้มีการประสานงานให้เจ้าหน้าที่รถไฟมาตรวจสอบแล้ว
ช่วงค่ำ นายสุเทพปราศรัยตอนหนึ่งว่า แกนนำได้ประชุมมีมติว่าขอยืนหยัดต่อสู้กฎหมายนิรโทษกรรมต่อไปอย่างเหนียวแน่น มีหลายคนบอกให้แกนนำยกระดับการต่อสู้ล้มรัฐบาล ซึ่งแกนนำได้รับฟังความเห็นพี่น้องและตัดสินใจว่าจะคงระดับการต่อสู้เรื่องการต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรม โดยไม่รีบร้อนยกระดับการต่อสู้ เพราะในกระบวนการพิจารณากฎหมายนั้น ยังมีช่องทางอยู่ หลังจากนี้จะพุ่งเป้ากดดัน 2 ส่วนคือ 1.กดดันรัฐบาลที่สามารถหยุดกฎหมายนี้ได้ทุกเวลา และ 2.แสดงพลังมหาชนให้ ส.ว.รับรู้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศไม่เอากฎหมายฉบับนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประกาศของนายสุเทพ ทำให้ผู้ชุมนุมถึงกับเงียบไปทันที.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น