วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

แดงระดมพลป้อง “ปู” ยิ่งฝืน ยิ่งปลุก ยิ่งแป้ก โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 29 พฤศจิกายน 2556 06:25 น

แดงระดมพลป้อง “ปู” ยิ่งฝืน ยิ่งปลุก ยิ่งแป้ก

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์29 พฤศจิกายน 2556 06:25 น

รายงานการเมือง
       
       ยิ่งระดมยิ่งขายหน้า สำหรับ “คนเสื้อแดง” ในนามแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ขยันขู่รายวันบนเวทีการชุมนุมที่สนามราชมังคลากีฬาสถานว่า จะแอ็กชันอย่างนั้นอย่างนี้เพื่อปกป้องรัฐบาล
       
       ด้วยจำนวนสาวกที่ไม่ใกล้เคียงกับปริมาณความจุของสนาม ชี้ให้เห็นความเสื่อมมนต์ของ “แม่นกแสก - ธิดา ถาวรเศรษฐ” และ “ตุ๊ดตู่ - จตุพร พรหมพันธุ์”เรื่องของเรื่องก็ด้วยจุดยืนกับ “กฎหมายล้างผิด” ที่กลับกลอกไปตามผลประโยชน์ จนมวลชนจับได้ไล่ทัน
       
       คิวล่าสุด “ไอ้ตู่” ประกาศนัดระดมพลครั้งใหญ่ 30 พฤศจิกายน เพื่อประกบไปข้างๆ กับเดดไลน์ของ “อดีตกำนันท่าสะท้อน” สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะแกนนำม็อบนกหวีดที่ประกาศกร้าวเอาไว้ว่าทุกอย่างต้องจบภายในเดือนนี้
       
       แต่โหรหลายสำนักไม่เชื่อน้ำยา “ตุ๊ดตู่” เพราะแป้กมาแล้วสองครั้งสองครา!!
       
       ครั้งแรกคือ การปลุกระดมคนเสื้อแดงให้ออกมาปกป้องรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 18-20 พฤศจิกายน ที่เมืองทองธานี จ.นนทบุรี ก่อนจะเปลี่ยนมาที่สนามราชมังคลาฯ ในเวลาต่อมา
       
       ทางหนึ่งหวังวัดกำลังมวลชนให้ฝ่ายตรงข้ามเห็นว่า พละกำลังของแนวร่วมฟากฝั่งบริหารยังมีเยอะอยู่ ไม่น้อยหน้า “ม็อบราชดำเนิน” ที่กำลังฮึ่มๆ อยู่
       
       กับอีกทางหนึ่ง หวังกดดันศาลรัฐธรรมนูญไม่ให้วินิจฉัยเป็นลบถึงขั้นยุบพรรคเพื่อไทย จากกรณีร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.
       
       แต่ทั้งๆ ที่มีการปล่อยข่าวก่อนหน้านั้นออกมาตลอดว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีแต่ “เจ๊งน้อย” กับ “เจ๊งมาก” กับรัฐบาล แต่มวลชนคนเสื้อแดงที่ออกมากลับมีไม่มากเท่าไร หากเทียบกับเมื่อช่วงปี 52-53
       
       แม้เมื่อกระทั่งคำวินิจฉัยออกมาแล้ว “ไม่เป็นคุณ” แต่ปฏิกิริยาตอบรับจากมวลชนเสื้อแดงโดยรวมก็ดูจะไม่ได้ออกแนวอาละวาดสักเท่าไหร่ ทั้งที่โดยธรรมชาติทุกครั้งที่ผ่านมา เวลารัฐบาลดูเหมือนกำลังจะเพลี่ยงพล้ำ กองกำลังเสื้อแดงมักจะออกมาเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กกันแบบคึกคักในเวลาชั่วครู่เท่านั้น
       
       แต่ครั้งนั้นกลับนิ่ง ไม่ตื่นเต้นเร้าใจ ก่อนจะแยกย้ายกันกลับบ้านกลับช่องในค่ำคืนเดียวกับวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยทันที
       
       แถม “แม่นกแสก” ยังมีหน้าประกาศชัยชนะที่เพื่อไทยไม่ถูกยุบเสียอีก และทั้งๆที่รู้ว่า ศึกแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ “พ่ายแพ้” แต่ก็ไม่อยู่ต่อ
       
       และกับการชุมนุมครั้งที่สอง ณ สถานที่เดิม ในปัจจุบันนี้ ซึ่งก่อนประกาศระดมพล มีการคาดการณ์กันว่า รอบนี้กลุ่มคนเสื้อแดงจะหลั่งไหลกันออกมาชุมนุมเยอะกว่าเดิมเป็นแน่ เพราะดูเหมือนรัฐบาลกำลังพลาดท่าให้กับ “ม็อบราชดำเนิน” และมีโปรแกรมซักฟอกที่พร้อมจะล้อให้สถานการณ์เดือดได้
       
       แต่พอถึงวันจริงประชากรแทบไม่ต่างจากเดิม และยิ่งผ่านไปหลายวันมวลชนมีแต่จะหร่อยหรอลงเรื่อยๆ เห็นได้ชัดคำนวณได้ง่าย ด้วยสถานที่ชุมนุมอย่างสนามราชมังคลาฯ ที่มีความจุประมาณ 4.9 หมื่นที่นั่ง แต่อัฒจรรย์กลับโหรงเหรง ว่างเปล่า แม้กระทั่งพื้นที่สนามหญ้ายังว่างโล่งอยู่หลายจุด
       
       แต่แกนนำคนเสื้อแดงบางคนยังแถไปเรื่อยว่า เป็นเพราะชาวรากหญ้าอันเป็นฐานเสียงรัฐบาลกำลังอยู่ในฤดูเก็บเกี่ยว จึงไม่สะดวกในการเกณฑ์ไพร่พล
       
       อย่างไรก็ตาม มีการประเมินกันว่า ตามสภาพความเป็นจริงเสื้อแดงวันนี้กับเสื้อแดงเมื่อปี 52-53 ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว เพราะปัจจัยหลายๆ อย่างได้เปลี่ยนไป
       
       เนื่องด้วยสถานการณ์วันนั้นกับวันนี้เป็นไปคนละรูปแบบ โดยในปี 52-53 เสื้อแดงสามารถระดมพลออกมาได้มหาศาล เพราะเป็นการออกมาโดยมีวัตถุประสงค์ชัดเจนคือ ขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ในครั้งนี้เป็นการออกมาปกป้องรัฐบาลของตัวเองที่มีอำนาจอยู่ในมืออยู่แล้ว ความรู้สึกของมวลชนจึงย่อมแตกต่างกัน
       
       การต่อสู้ในครั้งนั้นเป็นการรุกไล่และกดดันให้รัฐบาลขณะนั้นยุบสภา โดยใช้ยุทธวิธีก่อความวุ่นวายสารพัด ซึ่งง่ายกว่า แต่ครั้งนี้หากคนเสื้อแดงออกอาละวาดไม่ดูตาม้าตาเรือ นอกจากจะไม่เป็นผลดีแล้ว ยังจะเป็นการสร้างผลเสียให้กับรัฐบาลในฐานะผู้ดูแลความสงบเรียบร้อยอีกด้วย
       
       นอกจากนี้ การชุมนุมที่เกิดขึ้นเป็นเสมือนการจัดตั้งเพื่อเลี้ยงกระแสเอาไว้ ในกรณีเกิดภัยแทรกซ้อนกับ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มาแล้วเท่านั้น ไม่ใช่การสู้รบหรือฟาดฟัน
       
       ขณะเดียวกัน ปัจจุบันคนเสื้อแดงมีการกระจัดกระจายและแยกออกมาเป็นหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นแกนนำคนเสื้อแดงฝ่ายใกล้ชิดอำนาจ กลุ่มคนเสื้อแดงประเภทอุดมการณ์จ๋า และกลุ่มแดงวิชาการ
       
       ซึ่งต้องยอมรับว่า ณ จุดนี้มีคนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยที่เริ่มปลีกตัวออกมา เพราะเริ่มตาสว่างรู้เช่นเห็นชาติว่า ตลอดระยะเวลาการต่อสู้ที่ผ่านมา ได้ตกเป็นเพียงเครืองมือของ “นช.แม้ว” พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ใช้ในการไต่อำนาจและกลับประเทศไทยเท่านั้น
       
       โดยเฉพาะเมื่อมีเรื่องของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอยออกมา และทำให้เกิดกระแสการต่อต้านเป็นวงกว้างในประเทศไทย ยิ่งทำให้มวลชนคนเสื้อแดงหลายคนเลือกจะถอดเสื้อแล้วโยนทิ้ง เนื่องจากเป็นการเปลือยกายได้ล่อนจ้อนว่า การเสียเลือดเสียเนื้อเพื่อต่อสู้เมื่อช่วงปี 52-53 ที่แท้คำว่า “ประชาธิปไตย” เป็นสิ่งที่บังหน้าเพื่อหลอกประชาชนให้มาเป็นบันไดในการก้าวกลับสู่อำนาจอีกครั้ง
       
       ขณะที่มวลชนคนเสื้อแดงในสังคมที่มักจะเห็นกันอยู่ทั่วไป ส่วนใหญ่ก็เป็นประเภทรักชอบคลั่งไคล้ แต่ไม่ใช่จำพวกจะออกมาเสมอไปหรือตลอดทุกงาน จะมีเพียงแต่แฟนพันธุ์แท้เท่านั้นที่ไปทุกเวทีทุกสังเวียน
       
       เห็นได้ชัดจากการจัดกระบวนม็อบในเที่ยวนี้ที่ต้องมีการระดมทุนระดมคน แถมยังต้องเติมกำลังคนเข้ามาเพิ่มเป็นก๊อกสองหลังก๊อกแรกมาน้อยเกินไป ตามหลักฐานคาตาบนโลกอินเตอร์เน็ตที่มีการปล่อยคลิปเด็ดเป็นหลักฐานการจ่ายเงินกันให้ว่อน
       
       จึงเป็นการยากเอามากๆ หากจะทำให้วันนัดหมายที่จะมาถึงครั้งต่อไปมีประชาชนพึ่บพั่บเหมือนแต่ก่อน
       
       งานนี้เลยน่าสนใจไม่น้อยว่า วันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ซึ่ง “ตุ๊ดตู่” ดีเดย์ระดมพลเอาไว้ จะมีมมวลชนมามากน้อยแค่ไหน เพราะถือเป็นการนัดหมายครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง เนื่องจากเป็นวันที่ “อดีตกำนันท่าสะท้อน” ขีดเส้นตายไว้ด้วย
       
       ดังนั้น กำลังมวลชนเสื้อแดงในวันนี้จึงมีความหมายมาก และวันดังกล่าวจะเป็นการตอกย้ำอีกครั้งว่า กระแสเสื้อแดงตกจริงหรือไม่?
       
       ซึ่งหากสุดท้ายยังมาโหรงเหรงเหมือนเดิม ครั้งนี้ก็มิอาจปฏิเสธได้ว่า อยู่ในช่วงขาลงจริงๆ ข้ออ้างต่างๆ ล้วนฟังไม่ขึ้น โดยเฉพาะฤดูกาลเก็บเกี่ยวที่แถก่อนหน้านี้ก็หมดลงแล้ว
       
       จะฮึกเหิมก้าวร้าวอะไรต้องหัดเจียมตัว ที่คุยโวว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่อาจต้องปรับกระบวนคิดกันใหม่เสียแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น