วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สื่อนอกจับตาชุมนุมโค่น‘แม้ว’ ไฟขัดแย้งลามถึงขั้น‘นองเลือด’เมื่อ 26 พ.ย.56



สื่อนอกจับตาชุมนุมโค่น‘แม้ว’ ไฟขัดแย้งลามถึงขั้น‘นองเลือด’
 
เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน สื่อต่างประเทศหลายสำนัก อาทิ ซีเอ็นเอ็นของสหรัฐ บีบีซีของอังกฤษ อาร์ทีของรัสเซีย และซีบีเอสของออสเตรเลีย 
รายงานว่า ประชาชนชาวไทย ได้พากันมารวมตัวกันในสถานที่สำคัญหลายแห่งในกรุงเทพฯ เพื่อเดินขบวนขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พร้อมรัฐบาล ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกรัฐประหารอยู่เบื้องหลัง ให้ลาออกจากตำแหน่ง

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า บรรดาแกนนำการประท้วงต่อต้านรัฐบาล
ได้ประเมินว่า มีมวลชนเข้าร่วมการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและพื้นที่โดยรอบอย่างน้อย 1 ล้านคน ขณะที่ตำรวจ ประเมินว่า ผู้ประท้วงมีจำนวนราว 200,000 คน โดยการเดินประท้วงครั้งนี้ นับเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุด ในรอบ 3 ปี ที่ผ่านมา นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต สส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ออกเดินไปทั่วกรุงเทพฯ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการล้มล้างการปกครองระบอบทักษิณ

ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งของกรุงเทพฯ กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลพรรคเพื่อไทย แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จำนวน 20,000 คน ได้รวมตัวที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน โดยยืนยันที่จะชุมนุมเคียงข้าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และกล่าวหากลุ่มผู้ชุมนุมขับไล่รัฐบาลว่า ต้องการยั่วยุเพื่อให้ทหารตบเท้าออกจากกรมกอง เพื่อควบคุมสถานการณ์
ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่กำลังเผชิญหน้ากับการถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในสัปดาห์นี้ 
ได้เรียกร้องให้ผู้ชุมนุมอยู่ในความสงบ โดยระบุผ่านเฟซบุ๊กว่า รัฐบาลไม่ต้องการเห็นความขัดแย้งที่จะนำไปสู่ความรุนแรง และยังเสริมท้ายว่า ถึงแม้ว่าจะมีการประท้วงอย่างหนักบนท้องถนน แต่ประเทศยังไม่ถึงทางตันหลัง และเธอจะไม่ลาออกจากตำแหน่งหรือประกาศยุบสภา

อย่างไรก็ตาม การชุมนุมในครั้งนี้ หลายฝ่ายมองว่า อาจนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดเหมือนในปี 2553 และนำไปสู่ความไม่มีเสถียรภาพของการเมืองไทย
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้นักลงทุนต่างชาติ ได้สอบถามถึงเหตุการณ์ชุมนุมว่าจะมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด ซึ่งทาง ส.อ.ท.ก็ไม่สามารถตอบคำถามดังกล่าวได้ แต่ยอมรับว่าขณะนี้ภาคเอกชนเริ่มวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม จึงอยากให้ทั้งสองฝ่ายพูดคุยกัน เพราะหากเหตุการณ์ยืดเยื้อจะกระทบต่อรายได้การส่งออก รายได้จากการท่องเที่ยว บรรยากาศของการลงทุนจากต่างชาติที่หากเสียหายไปก็จะยากที่จะฟื้นคืนมาได้ในระยะเวลาสั้นๆ

“หากถามว่าการยุบสภา จะเป็นทางออกและคำตอบสุดท้ายหรือไม่ เพื่อให้ทุกอย่างกลับไปสู่ภาวะปกติ ทุกคนไปเข้าคูหาเลือกตั้ง รัฐบาลชุดนี้ก็มาจากการเลือกตั้ง หากมีการเลือกตั้งใหม่ ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาล แล้วก็มีการต่อต้านเหมือนในขณะนี้ ก็ยากที่จะเป็นคำตอบของการยุบสภาเช่นกัน” นายพยุงศักดิ์ กล่าว

นายวัลลภ วิตนากร รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ขณะนี้ภาคเอกชนรู้สึกวิตกกังวลมาก เพราะจะกระทบกับเศรษฐกิจในวงกว้าง
และสูญเสียความเชื่อมั่นในสายตาต่างชาติ สาเหตุหลักก็มาจากปัจจัยทางการเมืองที่ขัดแย้งกันมาเกือบ 10 ปี ซึ่งในขณะที่ประเทศสมาชิกอาเซียนต่างเตรียมตัวพัฒนาประเทศเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) แต่ประเทศไทยกลับมัวแต่ทะเลาะกัน ไม่เตรียมตัวเพื่อก้าวเข้าสู่ เออีซีอย่างเต็มที่

นายเจน นำชัยศิริ รองประธาน สอท. กล่าวว่า 
ซึ่งหากสถานการณ์ยืดเยื้อจะกระทบหนักต่อการท่องเที่ยวที่ขณะนี้เข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น มีหลายประเทศได้ประกาศเตือนให้นักท่องเที่ยวหลีกเลี่ยงพื้นที่ชุมนุม นอกจากนี้ผลจากการชุมนุมทางการเมืองก็เริ่มกระทบภาคการผลิต ประกอบกับเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ซึ่งหากสถานการณ์ยังยืดเยื้อต่อไป จะยิ่งสร้างความเสี่ยงและผลกระทบระยะยาวต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น

นายสมมาตร ขุนเศรษฐ เลขาธิการ ส.อ.ท. กล่าวว่า หากรัฐบาลประกาศยุบสภาฯ 
สิ่งที่ภาคเอกชนกังวลมากที่สุด คือ นโยบายประชานิยม โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าแรงงาน จากปัจจุบัน 300 บาท ปรับเป็น 400 -500 บาท เนื่องจากจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ต่อผู้ประกอบการ มากกว่าสถานการณ์การชุมนุมที่ยืดเยื้อ

ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์แนวหน้า 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น