วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ไทยส่งออกวูบขาดดุล6.6แสนล.เมื่อ 28 พ.ย.56

ไทยส่งออกวูบขาดดุล6.6แสนล.


ส่งออกอ่วมต่อเนื่อง ตุลาคมยังวูบอีก 10 เดือน พี่ไทยขาดดุลการค้าถึง 6.6 แสนล้านบาท “กนง.” มีมติ 6 ต่อ 1 หั่นดอกเบี้ยหนึ่งสลึงหวังฟื้นเศรษฐกิจ พร้อมลดจีดีพีเหลือโต 3% “พณ.-ธปท.” ประสานเสียงการเมืองยังไม่ส่งผลกระทบเศรษฐกิจ
       เมื่อวันพุธ น.ส.อุรวี เงารุ่งเรือง รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการส่งออกในเดือนตุลาคม 2556 ว่า มีมูลค่า 19,393.5 ล้านดอลลาร์ ลดลง 0.67% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยหากคิดเฉพาะการส่งออกสินค้าที่เป็นภาคการผลิตจริง (เรียลเซ็กเตอร์) มีมูลค่า 17,788.5 ล้านดอลลาร์ ลดลง 0.83% รวมช่วง 10 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.) การส่งออกรวมมีมูลค่า 191,533.3 ล้านดอลลาร์ ลดลง 0.02% หากคิดเฉพาะภาคการผลิตจริงมีมูลค่า 176,439.2 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 2.33% ส่วนการนำเข้าในเดือน ต.ค.มีมูลค่า 21,164.1 ล้านดอลลาร์ ลดลง 5.37% หากคิดเฉพาะเรียลเซ็กเตอร์ มีมูลค่า 15,126.3 ล้านดอลลาร์ ส่วน 10 เดือน มีมูลค่า 210,978.0 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 1.40% หากคิดเฉพาะเรียลเซ็กเตอร์ มีมูลค่า 154,779.6 ล้านดอลลาร์ ลดลง 1.11% 
    “ดุลการค้าเดือน ต.ค. ขาดดุล 1,770.6 ล้านดอลลาร์ ส่วนช่วง 10 เดือน ขาดดุลการค้า 19,444.7 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 6.58 แสนล้านบาท” น.ส.อุรวี
    นางอัมพวัน พิชาลัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า แนวโน้มในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปี (พ.ย.-ธ.ค.) หากต้องการให้การส่งออกปีนี้ขยายตัวตามเป้าหมาย 1% การส่งออกแต่ละเดือนต้องได้มูลค่าเฉลี่ยเดือนละ 20,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งกระทรวงหวังว่าจะทำได้ในระดับดังกล่าว ส่วนปัจจัยทางการเมืองในขณะนี้ ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกแต่อย่างใด แต่ต้องดูว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อจนมีผลกระทบหรือไม่         
วันเดียวกัน นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวถึงผลการประชุม กนง.ว่า ที่ประชุมมีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เป็น 2.25% จากเดิมที่ 2.50% ต่อปี โดยให้มีผลทันที เพราะเห็นว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงชะลอตัว ทั้งการใช้จ่ายและการบริโภคภาคประชาชน การลงทุนและความเชื่อมั่นของนักลงทุน ความล่าช้าของโครงการลงทุนของรัฐ ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองก็เปราะบางมาก ขณะที่ภาคการส่งออกยังเติบโตไม่เต็มที่ และสินเชื่อภาคเอกชนยังมีแนวโน้มขยายตัวแบบชะลอตัวลง
    “การปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวลง ไม่มีผลทำให้เกิดภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายมากนัก เนื่องจากปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนมาจากสถานการณ์ทางการเงินโลก โดยยืนยันว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีเครื่องมือที่รองรับหากเกิดสถานการณ์ดังกล่าวมากเพียงพอ” นายไพบูลย์กล่าว
         นายไพบูลย์ระบุอีกว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในภาวะชะลอตัวจากความเสี่ยงหลายด้าน โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ด้านราคา และตลาดการเงิน กนง.จึงต้องมีบทบาทเข้ามาช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวในช่วงนี้ นอกจากนี้ กนง.ยังได้พิจารณาปรับลดแนวโน้มประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2556 ลงเหลือ 3% จากเดิมที่ 3.7% โดยการปรับประมาณการดังกล่าวยังไม่รวมผลกระทบด้านการเมือง รวมทั้งได้ปรับลดแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2557 เหลือ 4% จากเดิม 4.8% ส่วนปัญหาความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายหรือผลกระทบเศรษฐกิจได้ชัดเจน       
     “กนง.และ ธปท.เป็นห่วงเรื่องหนี้ภาคครัวเรือน ที่แม้ขณะนี้จะมีการขยายตัวในระดับที่ชะลอลงในเกณฑ์ที่เหมาะสมแล้วก็ตาม แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเมินว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยน่าจะมีทิศทางการฟื้นตัวที่ดีขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2557 เป็นต้นไป” นายไพบูลย์กล่าว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น