วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เกลียดตัวกินไข่ยื่นศาลรธน. ยุบพรรค‘ปชป.’ล้มปกครอง เมื่อ 27 พ.ย.56

เกลียดตัวกินไข่ยื่นศาลรธน. ยุบพรรค‘ปชป.’ล้มปกครอง


"มีชัย" ตอก 312 ส.ส.-ส.ว. เสมือนผู้ร้ายที่ทำผิดถูกศาลตัดสินลงโทษ มักจะไม่ยอมรับคำพิพากษา เตือนบ้านเมืองจะเกิดกลียุค เท่ากับเอาน้ำมันราดกองเพลิง อย่าเล่นกับความโกรธแค้นของประชาชน ด้านป.ป.ช.รวบรวมพยานหลักฐานและคำวินิจฉัยประกอบสำนวนเร่งไต่สวน "เพื่อแม้ว" เกลียดตัวกินไข่ จ่อยื่นศาลรธน.ยุบ ปชป.ผิด ม.68 ฐานบุกยึดกระทรวงการคลัง
    เมื่อวันพุธ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานวุฒิสภาและประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตอบคำถามใน http://www.meechaithailand.com กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญการได้มาของสมาชิกวุฒิสภาที่ฝ่ายนิติบัญญัติเสนอนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย และบอกว่าศาลไม่มีอำนาจรับเรื่องร้องเรียนและเป็นการก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัติ แม้ท่านประธานรัฐสภาก็ไม่ยอมรับประชาชนอย่างควรจะเชื่อฝ่ายไหนดี การที่ศาลมีคำวินิฉัยออกมาแล้วอย่างนี้ แต่ไม่ยอมรับกัน แล้วจะอยู่กันอย่างไร ว่าโดยทั่วๆ ไป เวลาที่ผู้ร้ายหรือผู้ทำผิดและถูกศาลตัดสินลงโทษ ส่วนใหญ่ก็มักจะพูดหรือคิดอยู่ในใจว่าตนเองไม่ผิด และไม่ยอมรับคำพิพากษานั้น แต่คนอื่นๆ ที่เขามีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา เขาก็ปฏิบัติไป เอาตัวไปเข้าคุก หรือประหารชีวิต สุดแต่กรณี 
     "การที่คนทำผิดจะรับหรือไม่รับ จึงไม่มีผลอะไร แต่บังเอิญคราวนี้คนทำผิดคือประธานสภาฯ สภา และรัฐบาล เวลาออกมาประกาศว่าไม่ยอมรับ จึงมีผลกระทบต่อความรู้สึกของผู้คนและหลักการปกครองประเทศอย่างรุนแรง แม้ว่าในทางหลักนิติธรรมการปฏิเสธนั้นจะไม่มีผลในทางกฎหมายใดๆ แต่ก็อาจสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายและอันตรายต่อความสงบสุขของประเทศได้อย่างมาก เช่น ถ้าสภาหรือรัฐบาลเดินหน้าต่อไปเสมือนหนึ่งไม่มีคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ อย่างที่มีคนบ้าๆ คิดจะทำหรือเสนอให้ทำอยู่ บ้านเมืองคงเกิดกลียุค เพราะเท่ากับเอาน้ำมันราดลงไปบนกองเพลิง ประชาชนคงไม่ยอม และคงจะโกรธแค้นอย่างรุนแรง คนที่พูดหรือทำอย่างนั้นพร้อมทั้งครอบครัวจะตกอยู่ในอันตรายถึงชีวิตอย่างอนาถ อย่าเล่นกับความแค้นของประชาชนเป็นอันขาด"
    นายมีชัยกล่าวว่า ที่ถามว่าในฐานะประชาชนจะควรเชื่ออย่างไร คำตอบก็คือ เราเป็นประชาชน ไม่ใช่อันธพาล จึงต้องปฏิบัติตามคำตัดสินอันเป็นที่สุดของศาล ต้องประพฤติตนตามกติกาของบ้านเมือง การจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยย่อมทำได้ และเป็นของธรรมดา แต่จะปฏิเสธหรือไม่ยอมรับหรือไม่รับรู้ เห็นจะไม่ได้ เพราะถ้าบ้านเมืองไร้ขื่อแป จะมีผลต่อเราโดยตรง ไม่เหมือนคนที่เป็นนักการเมืองที่กอบโกยเงินทองไว้ล้นเหลือ ที่ถึงเวลาเขาก็คงหอบเงินและลูกเมียไปเสวยสุขยังต่างประเทศได้
    "ที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ) กับคณะท่านออกมาพูดปฏิเสธไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญน่ะ ท่านคงลืมไปว่าท่านยังเป็นรัฐมนตรีอยู่ และอยู่ในกระทรวงที่รับผิดชอบการปกครองซึ่งต้องดูแลให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎกติกา"  
    เขาบอกว่า การปกครองบ้านเมืองนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเสียงข้างมากอย่างเดียว แต่อยู่ที่ความเชื่อถือศรัทธาที่ประชาชนมีต่อผู้ปกครองบ้านเมืองด้วยเป็นสำคัญ ถ้าประชาชนขาดความเชื่อถือศรัทธาแล้ว ต่อให้มีเสียงข้างมากอย่างไร ก็ถูลู่ถูกังไปได้เพียงระยะเดียว ไม่ว่าจะทำอะไรคนก็จะไม่เชื่อ มีแต่ความระแวงสงสัย ดูเหตุการณ์สองสามวันนี้ก็จะรู้ มีใครก็ไม่รู้เอาตะปูไปโรยเพื่อสกัดไม่ให้คนเดินทางมาชุมนุม ไม่ว่ารัฐบาล คนของรัฐบาล และตำรวจ จะออกมาบอกอย่างไรว่าไม่รู้ไม่เห็น แต่ลองไปถามคนร้อยทั้งร้อย แม้แต่คนเสื้อแดงก็เถอะ เขาก็ปักใจว่าเป็นการกระทำของรัฐบาล คนของรัฐบาล และตำรวจทั้งนั้น 
    "และเมื่อเขาเชื่ออย่างนั้น เขาก็เลยต้องหาทางมากันให้ได้ ใครที่ไม่ได้คิดว่าจะมา ก็ทนอยู่ไม่ได้ ต้องพยายามออกมากันจนล้นฟ้าอย่างที่เห็น ด้วยความเชื่อที่ว่ารัฐบาลอำมหิต รังแกประชาชนโดยไม่สนใจว่าถ้ารถยางแตกชาวบ้านจะเจ็บตายกันอย่างไร คนเป็นรัฐบาลถ้าถูกกล่าวหาอย่างนั้น จะบริหารงานต่อไปได้อย่างไร" นายมีชัยกล่าว
    นายสรรเสริญ พลเจียก รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้วางกรอบการไต่สวนกรณีที่ ส.ส.และ ส.ว. 312 คนเข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ ส.ว. โดยมีมติให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ไปรวบรวมพยานหลักฐานและติดตามขอเอกสารคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อนำมาประกอบการไต่สวน
    "ยืนยันว่าแม้สถานการณ์การเมืองจะตึงเครียด แต่จะไม่มีผลกระทบต่อการทำงานของ ป.ป.ช. อย่างไรก็ตาม จะไม่นำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาทั้งหมด แต่จะดูพฤติกรรมเป็นรายบุคคล และ ป.ป.ช.จะพยายามทำไต่สวนคดีดีให้เร็วที่สุด เนื่องจากเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ" นายสรรเสริญกล่าว
    ด้านนายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสข่าวพรรคเพื่อไทยกำลังหารือกับวุฒิสภา เพื่อขอเปิดประชุมร่วมรัฐสภาโดยไม่ลงมติ ให้ ส.ส.และ ส.ว.อภิปรายเกี่ยวกับกรอบอำนาจหน้าที่องค์กรอิสระว่า ขณะนี้กำลังดูข้อบังคับสภา ตนในฐานะผู้กำลังยกร่างขอเปิดญัตติกำลังดูข้อบังคับ ประเด็นที่จะขอเปิดคือ เรื่องบทบาทฝ่ายนิติบัญญัติเกี่ยวกับกรอบอำนาจหน้าที่ที่มีต่อองค์กรอิสระ ทั้งนี้ ไม่ใช่การกดดันศาล เป็นเพียงการระดมความเห็น ให้ประชาชนได้ทราบว่าบทบาทหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติว่ามีกรอบอำนาจหน้าที่แค่ไหน หากฝ่ายนิติบัญญัติไม่ทำอะไร อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้
    ที่รัฐสภา นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ม็อบบุกยึดสถานที่ราชการว่า  ถือว่าเป็นการท้าทายกฎหมาย และท้าทายประชาชน ทั้งนี้ ตนได้รับรายงานว่าตำรวจนครบาลได้ออกหมายจับกับศาลอาญาในคดีชุมนุมเกิน 10 คน และคดีบุกรุกสถานที่กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์และคณะ ซึ่งต้องกราบขอบพระคุณศาลยุติธรรม  
    ในระหว่างการแถลงข่าว นายพร้อมพงศ์ได้นำคลิปผู้ชุมนุมที่บุกเข้าไปภายในอาคารกระทรวงการต่างประเทศมาตอบโต้นายสุเทพ ที่ระบุว่าไม่มีผู้ชุมนุมเข้าไปในอาคารด้วย โดยระบุว่าคลิปดังกล่าวมีผู้ชุมนุมเข้าไปใช้ทรัพย์สินภายในกระทรวงการต่างประเทศด้วย ซึ่งการกระทำทั้งหมดอาจเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68  โดยจะให้ฝ่ายกฎหมายไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป
    นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคราม พรรคเพื่อไทย กล่าวเสริมว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ เคยกล่าวไว้ว่า เชื่อมั่นใจระบอบรัฐสภาแล้วทำไมวันนี้จึงให้สมาชิกพรรคไปกระทำการดังกล่าว ขอเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์, นายชวน, นายบัญญัติ บรรทัดฐาน และนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรค ให้ออกมาแสดงจุดยืนว่าสนับสนุนการกระทำของผู้ชุมนุมหรือไม่ ส่วนกรณีที่นายสุเทพระบุช่วงหนึ่งว่าจะยึดอำนาจระบอบทักษิณแล้วเปลี่ยนประเทศเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริงนั้น คำว่า “อย่างแท้จริง” หมายความว่าอย่างไร ตนสงสัยว่าเข้าข่ายหมิ่นสถาบันหรือไม่ เพราะทุกวันนี้สถาบันก็อยู่เหนือการเมืองอยู่แล้ว
    ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีพรรคเพื่อไทยจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 เพื่อให้มีการยุบพรรคประชาธิปัตย์นั้น ซึ่งที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยปฏิเสธไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า กรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างแก้ไข รธน.ประเด็นที่มา ส.ว.ซึ่งเรามองว่าไม่มีอำนาจ ดังนั้นจึงอยากรู้ว่า สิ่งที่ผู้ชุมนุมได้ยึดสถานที่ราชการเมื่อวันที่ 25 พ.ย.56 เข้าข่ายผิดมาตรา 68 อยู่แล้ว หากอ้างว่าต้องมีคนร้อง ตนและฝ่ายกฎหมายก็จะไปยื่นคำร้อง เพื่อจะดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องหรือไม่ และจะวินิจฉัยอย่างไร
    ที่ศาลรัฐธรรมนูญ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา เดินทางเข้ายื่นเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณายุบพรรคเพื่อไทย ตามมาตรา 68 กรณีที่นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยสมาชิกพรรค ได้กระทำการไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ในการวินิจฉัยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.นั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ
    โดยนายไพบูลย์กล่าวว่า การปฏิเสธอำนาจองค์กรตุลาการครั้งนี้ ถือเป็นการปฏิเสธโครงสร้างระบบการปกครอง อีกทั้งการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังเพิกเฉยไม่ยอมขอพระราชทานร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ศาลรัฐธรรมนูญคืนกลับมา จึงสอดคล้องกับ การกระทำของพรรคเพื่อไทยในอดีต ที่ประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาลเช่นกัน ถือเป็นล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 68.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น