‘ยิ่งลักษณ์’กินเมือง ‘ปู’ขึ้นอืด!ปชป.ถลกรู้เห็นแก๊งมอดข้าว/ศิริโชคฝังเต้น
ซักฟอกวันที่สอง "ศพปู" ส่งกลิ่นหนัก "หมอวรงค์" ดุชูป้าย ลำยองกินเหล้า ยิ่งลักษณ์กินเมือง ลากไส้จำนำข้าว รัฐมนตรีสายตรง "เจ๊ดอ." รวมหัวเอกชน จับคนจนเป็นตัวประกันร่วมกันงาบข้าวถุง ฝ่ายการเมืองขอแบ่ง 5 พันล้าน ซัดนายกฯ พายเรือร่วมกับโจร ขณะที่ "ยิ่งลักษณ์" โชว์ภาวะผู้นำพึมพำไปไหนมาสามวาสองศอก โยนระดับปฏิบัติการรับผิดชอบ ด้าน "ศิริโชค" ประจาน "อำมาตย์เต้น" แฉคอนเนกชันแดงครอบครองบ้านแพงราคาถูก
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ในวันที่ 2 เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ช่วงแรกของการอภิปราย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้ซักฟอกประเด็นโครงการรับจำนำข้าว โดย นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า จุดจบจำนำข้าวสู่อวสานรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คือการระบายข้าวผ่านโครงการข้าวถุงถูกใจ ธงฟ้า และองค์การคลังสินค้า (อคส.)
เขากล่าวว่า คณะกรรมการข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นประธาน มีมติจัดทำข้าวถุง 4 ครั้ง คือ 1.เดือน ต.ค.54 จำนวน 1 แสนตัน 20 ล้านถุง 2.เดือน มี.ค.54 จำนวน 1 แสนตัน 3.เดือน พ.ค.55 จำนวน 5 แสนตัน และ 4.เดือน ธ.ค.55 จำนวน 1.8 ล้านตัน แยกเป็นเดือนละ 3 แสนตัน 6 ครั้ง
นพ.วรงค์อภิปรายว่า จากการตรวจสอบพบว่า การระบายข้าวด้วยวิธีการทำข้าวถุงมีข้าวธงฟ้า 0.3 เปอร์เซ็นต์ ข้าวถูกใจ 8 เปอร์เซ็นต์ และข้าว อคส. 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการระบายข้าวส่วนใหญ่อยู่ที่ข้าว อคส.ที่มีเจตนาทุจริตชัดเจน เพราะแม้จะมีข้าว อคส.ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่เคยพบว่ามีข้าว อคส.ในตลาดเลย เป็นการร่วมมือกันระหว่าง 3 ฝ่าย คือ 1.อคส. 2.โรงสีที่รับปรับปรุงข้าว 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท เจียเม้ง จ.นครราชสีมา, บริษัท โชควรลักษณ์รุ่งเรืองกิจ จ.ลพบุรี และบริษัท สิงโตทองไรซ์ จ.กำแพงเพชร และ 3.บริษัทตัวแทนจำหน่ายข้าวถุง 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท สยามรักษ์, บริษัท คอนไซน์เทรดดิ้ง และบริษัท ร่มทอง โดยพบว่า ปริมาณข้าวถุง อคส. 120,176,000 ถุง ที่ อคส.ส่งให้บริษัทตัวแทนจำหน่ายข้าวถุง 3 แห่ง ราคาถุงละ 65.70 บาท เพื่อไปขายให้ประชาชนถุงละ 70 บาท แต่ปรากฏว่าทั้ง 3 บริษัทไม่ได้นำข้าวไปขายให้ประชาชนตามเจตนารมณ์ของโครงการ แต่กลับไปจำหน่ายคืนให้โรงสีที่รับปรับปรุงข้าว โดยทำกันที่ อคส.แล้วออกใบส่งมอบข้าว และจ่ายเงินผ่านเช็คธนาคาร โดยไม่มีการแปรเป็นข้าวถุงจริง ถือเป็นการโกหกแบบหน้าด้านๆ เรื่องนี้มีหลักฐานชัดเจน
ส.ส.พิษณุโลกกล่าวว่า ในส่วนของบอร์ด อคส.จะมีพ.ต.ท.ไพโรจน์ เป็นประธานบอร์ด อคส. ซึ่งคนในวงการรู้ดีว่าเป็นเด็กนายใหญ่ มี นพ.เกรียงชัย ประสงค์สุกาญจน์ เป็นรองประธาน อคส. ซึ่งเป็นเพื่อนนักเรียนแพทย์รุ่นเดียวกับ นพ.วีรวุฒิ วัจนะพุกกะ หรือหมอโด่ง อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ ที่เคยถูกพูดถึงในการอภิปรายครั้งที่แล้วว่า เป็นจอมรับงานโครงการจำนำข้าว ที่ผ่านมาบริษัท โชควรลักษณ์ฯ มีเสี่ยเปี๋ยงผู้ใกล้ชิดนายใหญ่ ที่เป็นนอมินีมาหาประโยชน์ให้คนใกล้ชิดนายกรัฐมนตรี แต่ขณะนี้มีตัวละครใหม่คือ บริษัท สิงโตทองไรซ์ จ.กำแพงเพชร มี "เสี่ยหรั่ง" หรือนายมนต์ชัย ที่คนในวงการรู้ดีว่ามีรัฐมนตรี "ว" สายตรงเจ๊ "ด." เป็นแบ็กให้ แม้จะเป็นบริษัทที่เพิ่งเข้ามาใหม่ แต่ได้รับโควตาทำข้าวถุงถึง 1.5 แสนตัน สมัยนี้ฝ่ายการเมืองเขาไม่กินเอง แต่จะมีบริษัทรับงานจัดการให้
พายเรือร่วมกับโจร
"หมอโด่งมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับญาติของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แล้วนายกฯ จะไม่รับผิดชอบได้อย่างไร ขอถามใจนายกฯ ว่า ทำอย่างไรถึงปล่อยให้มีการโกงทุกขั้นตอน แล้วยังมาอ้างทำข้าวถุงขายให้คนจน แล้วยังโกงอีก วนไปเวียนมาอยู่กับคนที่ใกล้ชิดนายกฯ ดังนั้นนายกฯ ไม่ต้องไปไหน เรื่องนี้จะเป็นชนักติดตัวไปตลอด นายกฯ ควรชี้แจงเรื่องนี้ด้วยตัวเอง เพราะคนใกล้ชิดนายกฯ ได้รับประโยชน์ ทีแรกคิดว่านายกฯ ไม่รู้ อยู่ในฐานะนั่งเรือที่โจรพาย แต่ตอนหลังมีการโกงทั้งจีทูจี ทั้งข้าวถุง น่าจะเป็นพายเรือร่วมกับโจร รัฐบาลนี้ไม่ได้ช่วยคนจน แต่เอาคนจนมาทำมาหากิน"
เขากล่าวว่า มติการจัดทำข้าวถุงครั้งที่ 4 จำนวน 1.8 ล้านตัน นักวิชาการคำนวณว่าจะมีกำไร 8,520 ล้านบาท แต่ตนทราบมาว่าฝ่ายการเมืองขอแบ่งไป 5,000 ล้านบาท ที่เหลือให้โรงสีไปแบ่งกันเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการจับทุจริตการทำข้าวถุงได้ก่อน ทำให้ ครม.มีมติวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา ให้ชะลอการทำข้าวถุงออกไป ทำให้ความเสียหายเหลือเพียง 1.2 หมื่นล้านบาท แต่หากจับไม่ได้จะเกิดความเสียหายถึง 5 หมื่นล้านบาท โดยในช่วงท้ายการอภิปราย นพ.วรงค์กล่าวปิดท้ายพร้อมชูป้ายเขียนข้อความระบุว่า "ลำยองกินเหล้า ยิ่งลักษณ์กินเมือง"
ภายหลัง นพ.วรงค์อภิปรายเสร็จ มีรัฐมนตรีหลายคนพยายามลุกขึ้นชี้แจงแทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ จนนำไปสู่การประท้วงโดย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โดยให้เหตุผลว่าเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี มิใช่รัฐมนตรี
จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ชี้แจงว่า แม้ว่าตนจะเป็น ประธาน กขช.โดยตำแหน่ง แต่ตนได้มอบหมายให้รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์เป็นประธานการประชุมทุกครั้ง ปัญหาที่ถูกท่านสมาชิกได้กล่าวถึงนั้น เป็นขั้นตอนในการปฏิบัติ ซึ่งถือว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะที่เป็นประธาน กขช. และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะที่กำกับ อคส. ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ตามที่ท่านกล่าวหาในประเด็นทุจริต
ทั้งนี้ การทำงานของรัฐบาลโดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว ได้มีการแบ่งการทำงานเป็นหลายระดับ หลายคณะ ยืนยันว่าไม่รู้จักบุคคล หรือบริษัทที่ระบุในประเด็นการอภิปรายเรื่องทุจริตข้าวบรรจุถุง และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกัน ส่วนกรณีที่พบปัญหาของโครงการข้าวบรรจุถุง หากพบว่าในขั้นตอนใดที่มีปัญหาการทุจริตหรือรั่วไหล จะดำเนินการตามขั้นตอนไม่มีละเว้น
"ขออนุญาตเรียนว่าในเนื้อหาของนโยบายคือ กำกับทุกขั้นตอนไม่ให้มีการทุจริต และดิฉันได้ตอบคำถามต่างๆ เหล่านี้หมดแล้ว" นายกฯ กล่าว (อ่านรายละเอียดหน้า 8)
'ศิริโชค' ลากไส้ 'เต้น'
การประชุมในช่วงค่ำ บรรยากาศกลับมาดุเดือดอีกครั้ง เมื่อนายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์
อภิปรายพุ่งเป้าไปที่เรื่องทุจริตของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ เพื่อโยงไปยัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต
เขาอภิปรายว่า หลักฐานการแจ้งความที่ สน.บางพลัด เมื่อวันที่ 17 ก.พ.56 ว่าบริษัท "ม." จำหน่ายปุ๋ย ติดต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แน่นอน โดยมีนางภัทราพัฒน์ รุ่งเรืองโรจน์ เป็นหุ้นส่วนสามัญแบบไม่จดทะเบียน ตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายการตลาดของบริษัทดังกล่าว ไปแจ้งความโดยมีใบรับรองจากบริษัท "ม." ได้รับมอบหมายทำสัญญาซื้อขายปุ๋ยเคมี, ยาปราบศัตรูพืชกับกระทรวงเกษตรฯ โดยนางภัทราพัฒนได้ร้องต่อ ผกก.สน.บางพลัดว่า บริษัท "ม." มอบหมายให้ตนเองทำทุกวิธีให้ได้งานซื้อขายปุ๋ยเคมี, ยาปราบศัตรูพืชในกระทรวงเกษตรฯ พร้อมทั้งมอบเงินให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นผู้มีอำนาจด้วย เพื่อไปซื้อบ้านและที่ดินเป็นการตอบแทน
นายศิริโชคอภิปรายว่า บ้านที่พูดถึงอยู่ในหมู่บ้านเศรษฐศิริ ย่านสนามบินน้ำ จ.นนทบุรี โดยบ้านเป้าหมายคือ เลขที่ 337/47 ซึ่งนางภัทราพัฒน์อ้างว่าซื้อให้ผู้มีอำนาจตามที่แจ้งความเอาไว้ แต่ที่น่าแปลกใจเพราะบ้านใกล้ๆ กันนั้นเลขที่ 337/ 72 เป็นบ้านของนายณัฐวุฒิ หลังจากตรวจข้อมูลต่อไปและไปหาโฉนด เดิมเป็นของนางเอื้อมพร หนูรอด ที่ซื้อบ้านในราคา 6.2 ล้านบาท และขายให้นางเพ็ญแข เจตน์ประสิทธิ์ เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.55 ในราคา 4.5 ล้านบาท อยากถามว่าทำไมราคาถึงลดลง จึงเห็นถึงความผิดปกติ เป็นไปได้หรือไม่มีอำนาจให้เจ้าหน้าที่ที่ดินยอมทำให้ราคาต่ำลงมา
เขาระบุว่า จากการตรวจสอบพบว่า นางเพ็ญแขอยู่บ้านเดียวในเขตราษฎร์บูรณะ กทม.กับนายสมหวัง อัสราษี เลขานุการ รมช.พาณิชย์ และก่อนหน้านี้ก็เป็นเลขานุการ รมช.เกษตรฯ ของนายณัฐวุฒิ ต่อมาก็พบว่านางเพ็ญแขได้หย่ากับนายสมหวัง ตอน น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ 8 ส.ค. 54
"ในบันทึกแจ้งความ นางภัทราพัฒน์ระบุว่า 18 ธ.ค.55 ได้นำเงินไปซื้อบ้าน 337/47 หมู่บ้านเศรษฐศิริ ให้แก่ นางศิริสกุล ใสยเกื้อ ภรรยานายณัฐวุฒิ โดยระบุชื่อนางเพ็ญแขอยู่ในโฉนดแทน จากนั้นนางศิริสกุลไปสั่งซื้อแอร์ฯ ห้างหุ้นส่วนแห่งหนึ่ง รวมมูลค่า 1.4 แสนบาท โดยมีใบเสร็จยืนยัน และมีการต่อเติมบ้าน ขอเบิกเงินงวดที่ 3 และไปติดตั้งที่บ้าน 337/47 เช่นกัน ออกบิลในนามของนางศิริสกุล ซึ่งหลักฐานดังกล่าวมีการแจ้งความไปแล้ว และคัดมาจากสำนักงานที่ดิน" นายศิริโชคกล่าว
จากนั้น นายณัฐวุฒิได้ชี้แจงว่า ไม่ทราบว่าบ้านหลังนี้เป็นของใครมาก่อน จนกระทั่งปลายปี 2555 จึงทราบว่านางเพ็ญแขได้มาซื้อบ้านหลังนี้ไว้ ทั้งนี้ ตนกับนายสมหวังสามีของนางเพ็ญแขมีความสนิทสนมกัน ต่อมานางเพ็ญแขกับภรรยาของตนสนิทสนมกัน จนกระทั่งมีการประกาศขายบ้านในหมู่บ้านเศรษฐศิริ นางเพ็ญแขจึงตกลงซื้อเอาไว้เผื่อให้คนอื่นเช่า และได้ไปตกลงซื้อเอาไว้ ซึ่งขอพูดด้วยความสัตย์จริงว่าตนไม่ทราบเรื่องนี้
เขาอ้างว่า ภรรยาเป็นผู้ติดต่อบริษัทรับเหมาก่อสร้างให้กับนางเพ็ญแข ซึ่งทางบริษัทก็ทำงานอย่างมีสติดี ไม่มีทางที่จะลงเลขทะเบียนบ้านผิด แต่ภรรยาตนเป็นผู้ติดต่อให้มาทำงาน ดังนั้นจึงต้องลงชื่อเป็นภรรยาตนเท่านั้น ทั้งนี้ ภรรยาตนเห็นว่าเมื่อมีการทำบ้านให้กับนางเพ็ญแข จึงให้มาทำบ้านตนด้วย จึงได้มีการเรียกเก็บบิลใบเดียวกัน ยืนยันว่าไม่เคยใช้ตำแหน่งหน้าที่ทางการเมืองมาใช้เพื่อเอื้อประโยชน์ใดๆ หากหาหลักฐานมาได้ว่าตนเอื้อประโยชน์ให้กับผู้อื่น ตนจะลาออกจาก ส.ส.และเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต แต่ขอให้หาหลักฐานมาเดิมพัน พร้อมจะสู้ในศาลเพื่อปกป้องเกียรติยศศักดิ์ศรีของครอบครัว.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น