วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

จี้‘นายกฯ-310ส.ส.’ขอโทษ มท.ไม่เลิกขึ้นป้ายเชียร์อีก เมื่อ 9 พ.ย.56

จี้‘นายกฯ-310ส.ส.’ขอโทษ มท.ไม่เลิกขึ้นป้ายเชียร์อีก


"พงศ์เทพ-อ๋อย" หวังกล่อมอธิการบดีเคลียร์ต้าน พ.ร.บ.นิรโทษโกง เจอปัญญาชนอารยะขัดขืนส่งตัวแทนเข้าร่วมอื้อ "มศว" เตือนเลิกแก้ตัว จี้ 310 ส.ส.โหวตรับร่างสุดซอยขอโทษประชาชน "ราชภัฏนครปฐม" เหน็บรัฐบาลพูดไม่เป็นยินดีสอน "รองนายกฯ" ยังป้อง "ปู" ไม่เกี่ยวลักหลับ "มท." ไม่เข็ดสั่งผู้ว่าฯ ขึ้นป้ายเมตตาให้อภัย
    เมื่อวันที่ 8 พ.ย. นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.), นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศธ. , นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และนายสามารถ แก้วมีชัย ประธาน กรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม นัดประชุมด่วนอธิการบดีทั่วประเทศ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจและปรึกษาหาทางออกให้ประเทศ ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) 
    อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมส่วนใหญ่มีเพียงตัวแทนอธิการบดีมาประชุมแทนประมาณร้อยละ 90 ที่เหลือเป็นอธิการบดีมาเอง อาทิ ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) และในฐานะรองประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) นายกีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และในฐานะรองประธาน ทปอ., ศ.สุจินต์ จินายน อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ส่วนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ส่งตัวแทนมาประชุม
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เริ่มการประชุมนายพงศ์เทพ,  นายจาตุรนต์, นายวราเทพ และนายสามารถ ต่างช่วยกันยืนยันมติพรรคเพื่อไทยและวิปรัฐบาลจะไม่มีการนำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมขึ้นมาเสนออีก และหากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้ยับยั้งร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว เมื่อพ้น 180 วันที่ต้องตีกลับ ก็จะปล่อยให้ร่างกฎหมายตกไป และจะไม่มีการใช้เป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แน่นอน รวมทั้งยังฝากผู้บริหารมหาวิทยาลัยช่วยคิดหาทางว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนเชื่อใจในรัฐบาล 
    ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า อธิการบดีไม่สามารถไปสั่งอาจารย์ บุคลากรของคนในมหาวิทยาลัย ให้ออกมาเรียกร้องหรือหยุดต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมครั้งนี้ได้ เพราะถ้าอธิการบดีไปสั่งอาจโดนคำถามกลับมาว่า อธิการบดีมีความเข้าใจแล้วหรือยัง อธิการบดีมีหน้าที่อย่างเดียวคือ เป็นตัวอย่างเป็นครูเพื่อดำรงไว้ซึ่งหลักธรรมาภิบาลที่ถูกต้อง 
    "เรื่องนี้ต้องแก้ที่ต้นเหตุ รัฐบาลไม่ควรมาอธิบายอีกว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีหลักการเช่นไร เพราะขณะนี้ชัดเจนแล้วว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศไม่เอา และให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้ง 310 คน ที่โหวตให้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวผ่านวาระ 2 และ 3 ควรแสดงความรับผิดชอบ โดยให้ออกมาขอโทษ ซึ่งคนที่ออกมาขอโทษถือว่าเป็นคนมีเกียรติ" ผศ.นพ.เฉลิมชัยกล่าว 
    อธิการบดี ม.ศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า การขอโทษทำยากกว่าการดื้อแพ่งและอธิบายเหตุผลของตัวเอง และถ้าเป็นไปได้ ให้ใช้โอกาสนี้สร้างบรรทัดฐานทางการเมืองใหม่ ต่อไปคนทำผิดต้องรับผิด ไม่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมมาล้างผิดในกรณีการทุจริตคอรัปชั่น ยกเว้นกรณีทางการเมือง แต่ต้องให้นิรโทษกรรมตามเหตุตามผล และยึดตามประชามติ และให้นำวิกฤติสร้างการเมืองแบบมีส่วนร่วม
    ผศ.สมเดช นิลพันธุ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม กล่าวว่า ตั้งแต่มีเหตุการณ์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เกิดขึ้น ไม่เคยได้ยินคำว่าขอโทษจากรัฐบาล หรือจาก ส.ส.ในรัฐสภา ซึ่งถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างแรก รัฐบาลต้องเลิกใช้คำว่า ประชาชนไม่เข้าใจ หรือคนไทยยังไม่พร้อม และออกมาขอโทษประชาชน แต่ถ้ารัฐบาลพูดคำว่าขอโทษไม่เป็น จะให้อาจารย์มหาวิทยาลัยสอนเราก็ยินดี
    ด้านนายพงศ์เทพกล่าวว่า จะนำข้อเสนออธิการบดีหรือผู้แทนไปเสนอกับนายกรัฐมนตรี ซึ่งข้อเสนอที่จะให้แสดงความรับผิดชอบด้วยการออกมาขอโทษสังคม ได้มอบให้นายสามารถไปหารือกับนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่าจะดำเนินการอย่างไรในข้อเสนอนี้
    "ส่วนจะให้นายกฯ มาร่วมขอโทษสังคมด้วยหรือไม่นั้น จริงๆ ร่างกฎหมายนี้นายกฯ ได้ลงมติแค่ในวาระ 1 ที่เป็นการรับหลักการเท่านั้น ซึ่งไม่มีปัญหา แต่ในการลงมติวาระ 2, 3 ที่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหานั้น นายกฯ ไม่ได้มาลงมติด้วย เพราะอยู่ในช่วง ครม.สัญจร จ.ลพบุรี" นายพงศ์เทพกล่าว  
    นายจาตุรนต์กล่าวว่า สิ่งที่ต้องการจากอธิการบดีและผู้บริหารของมหาวิทยาลัยคือ ขอข้อเสนอแนะและความคิดเห็น เพื่อช่วยกันคลี่คลายสถานการณ์ และยืนยันจะไม่มีการเช็กบิลย้อนหลังมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ออกมาเรียกร้องทางการเมืองในครั้งนี้
    วันเดียวกัน มีรายงานว่า นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย ออกหนังสือด่วนแจ้งไปยัง ผวจ.ทั่วประเทศ ให้แต่ละจังหวัดขึ้นป้าย ข้อความ "เมตตาและให้อภัย สังคมไทยก้าวข้ามความขัดแย้ง" โดย 1.จัดทำป้ายมีถ้อยคำว่า "เมตตาและให้อภัย สังคมก้าวข้ามความขัดแย้ง" ยกเว้นใช้สีฉูดฉาด (ห้ามสีเหลืองและแดง) ติดไว้ที่เหมาะสม มุมด้านล่างใส่ชื่อหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ
    2.ผู้บริหารท้องถิ่น พนักงานส่วนท้องถิ่น และพนักงานจ้างนั้นๆ ขององค์กรส่วนท้องถิ่น ติดริบบิ้นสีขาวไว้ที่หน้าอก 3.ผูกริบบิ้นสีขาวไว้ที่หน่วยงานทุกหน่วนงาน และ 4.พร้อมถ่ายภาพผลการดำเนินงานรายงานอำเภอทราบทันที
        ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้บริเวณริมถนนสายเอเชียใน จ.พระนครศรีอยุธยา มีป้ายพื้นสีเขียวเขียนระบุข้อความ "ให้อื่นหมื่นแสน ไม่เหมือนแม้น ให้อภัย ” ติดตั้งเรียบร้อยแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น