วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ดีเดย์วันปรอทแตก วัดพลัง "มวลชน-ปชป." ใครนำ?เมื่อ 10 พ.ย.56

ดีเดย์วันปรอทแตก วัดพลัง "มวลชน-ปชป." ใครนำ?


ปรากฏชัดว่าอำนาจของ "ระบอบทักษิณ" ภายใต้การอำนวยการของคนในตระกูล สามารถ "กดปุ่ม" บงการความเป็นไปของบ้านเมืองได้อย่างที่เป็นอยู่ได้อย่างเหลือเชื่อ
    แค่สั่งการให้ ส.ส.เสียงข้างมากในสภาฯ เร่งผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่งตอนตี 4 ครึ่ง โดยประเมินแรงต่อต้านต่ำกว่าความเป็นจริงว่าจะลุกลามและรุนแรงสร้างความสั่นสะเทือนให้กับรัฐบาลได้มากเพียงนี้
    มินับรวมเหล่าบรรดามวลชนเสื้อแดงที่หนุนพรรคเพื่อไทย แต่ค้านร่างกฎหมายฉบับเหมาเข่ง ที่คนในตระกูลเชื่อว่าสามารถคุมได้ โดยการใช้เหยื่อล่อเช่นที่เคยทำมาตลอด 
    ครั้นสถานการณ์ไปไกลเหมือน "ไฟลามทุ่ง" นายกรัฐมนตรีต้องตั้งโต๊ะแถลงว่า ไม่ฝืนความรู้สึกประชาชน สั่งการให้ ส.ส.ในสภาฯ ถอนร่าง กม.ปรองดอง-นิรโทษกรรม ออกจากสภาฯ ทั้ง 6 ฉบับ ยิ่งไปกว่านั้นยังกดปุ่มให้วุฒิสภาที่คุมเสียงได้ คว่ำร่างกฎหมายฉบับนี้เสีย เพื่อยุติปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
    กระนั้นแกนนำ 40 สมาชิกวุฒิสภาสรรหา แสดงออกถึงการปฏิเสธ "คำสั่ง" ในลักษณะท็อป-ดาวน์ บงการความเป็นไปของบ้านเมือง โดยไม่คำนึงถึง 3 อำนาจหลัก ในการทำหน้าที่ถ่วงดุลกันในระบอบประชาธิปไตย โดยการไม่เข้าประชุม แต่ก็พร้อมให้เป็นไปตามวาระเดิม คือการพิจารณาวันที่ 11 พ.ย.นี้ 
    "หากวุฒิสภายอมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษ 3 วาระรวด ก็จะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง พวกตนจะไม่ยอมให้เกิดสิ่งเหล่านี้ในสภาฯ ทั้งนี้ พวกเราจะไม่เข้าร่วมประชุมหรือเป็นกระดาษชำระให้กับรัฐบาล ท่านใดยินดีจะเป็นกระดาษชำระให้รัฐบาลเราก็เคารพสิทธิ์" นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ระบุ    
    เมื่ออำนาจ "บงการ" คิดจะล้อเล่นกับกระแสสังคม เพราะประเมินว่าอำนาจทุกองคาพยพในบ้านเมืองอยู่ในมือ แค่การล้างผิดให้กับโจรในลักษณะการ "ลักไก่" คงไม่ได้เสียหายอะไรมาก ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจเดินเกมที่ผิดพลาด เพราะคิดว่างานนี้มีแค่ "กำไร" กับ "เจ๊า"
    ยังไม่นับปมปัญหาเรื่องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของ ส.ว. และการที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นคัดค้านแก้ไข ม.190 
    จึงอยู่ที่ว่ากลุ่มเคลื่อนไหวที่อยู่บนท้องถนนจะเดินหน้า หรือถอยไปตามจังหวะของรัฐบาล ที่ยอมถอนร่าง กม.นิรโทษกรรม และให้วุฒิฯ คว่ำกฎหมายฉบับเหมาเข่งหรือไม่ 
    เพราะหากดูกลุ่มที่ออกมาคัดค้าน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ เครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) กลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) และพรรคประชาธิปัตย์ จากเวทีสามเสน ข้ามมาเวทีกลางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไม่นับแนวร่วมที่กระจายคัดค้าน แสดงออก จัดกิจกรรมอย่างอิสระที่ถนนสีลม อโศก ไปไกลกว่าที่คิด 
    สำหรับ คปท. หรือม็อบอุรุพงษ์ ที่ย้ายมาที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ มีแนวทางในการเรียกร้องในเรื่องหลักการและภาพรวมของปัญหา มุ่งไปสู่การพัฒนาประเทศ โดยนายอุทัย ยอดมณี แกนนำ คปท. กล่าวว่า วันที่ 10 พ.ย.นี้จะมีการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และจะปักหลักชุมนุมต่อไป หากมีมวลนเพิ่มขึ้นจะมีการยกระดับการชุมนุมต่อไป 
     ขณะที่ กปท.มีแถลงการณ์ออกมาร่วมกับกลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปประเทศไทย 77 จังหวัด, กองทัพธรรม ระบุว่า 
    "พฤติกรรมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ปรากฏให้เห็นชัดเจนว่าเป็นรัฐบาล "ของทักษิณ เพื่อทักษิณ โดยทักษิณ" ที่ก่อให้เกิดวิกฤติของชาติในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการคอร์รัปชันโกงกินทุกรูปแบบ ทั้งยังบังอาจกล้าท้าทายพระราชอำนาจ โดยนำร่าง พ.ร.บ.แก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของ ส.ว. ที่รอการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และยังประกาศอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลจะยอมรับมติศาลโลก ไม่ว่าผลการตัดสินจะออกมาอย่างไร ซึ่งอาจจะส่งผลให้ประเทศไทยต้องเสียดินแดนบางส่วน
    3 องค์กรจึงมีมติร่วมดังต่อไปนี้ 1.ยกระดับการชุมนุมโค่นระบอบทักษิณขึ้นสู่ระดับสูงสุด ตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย. เวลา 11.00 น. เป็นต้นไป 2.ขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ออกจากตำแหน่งโดยทันที เนื่องจากแสดงตนรับใช้ระบอบทักษิณอย่างชัดเจน 3.รักษาอธิปไตยของชาติ ปกป้องไม่ให้สูญเสียดินแดนแม้แต่ตารางนิ้วเดียว โดยการถอนตัวออกจากศาลโลกก่อนวันที่ 11 พ.ย. และ 4.ปฏิรูปประเทศไทยครั้งใหญ่ โดยสภาประชาชน"
    ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ถือเป็นเวทีกระแสหลักที่มี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี เป็นแกนนำ และเป็นคนกำหนดทิศทางท่าทีการเรียกร้อง มีพลังพอที่จะประสานเหล่าบรรดา "บิ๊กเนม" จากทุกสาขาอาชีพ มาผนึกร่วมทำกิจกรรมให้เห็นถึงน้ำหนักของการเคลื่อนไหว 
    กระนั้นก็ยังมีการวิเคราะห์ว่า การแสดงท่าทีที่เกือบชัดเจน แต่ก็ยังไม่ "ฟันธง" ว่า อาจเป็นได้แค่ม็อบพรรคการเมือง ที่อาจทำแค่การ "ตีกิน" เพราะจากการประกาศเชิงสัญลักษณ์ตั้งศาลประชาชน เพื่อตัดสินว่าจะ "ไปต่อ" โดยยกระดับการชุมนุม หรือ "หยุด" เป็นท่าทีที่ "แทงกั๊ก"
    อาจเป็นเพราะประชาธิปัตย์ยังไม่กล้าประเมินว่า เมื่อถึงดีเดย์ 11 พ.ย. ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่งถูกคว่ำไปแล้ว กระแสการคัดค้านจะต่อเนื่องและรุนแรงจริงหรือไม่ 
    เพราะจะว่าไป การแสดงกิจกรรมที่อโศกและสีลม แม้กระทั่งที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นเพียงการแสดงออกแบบเช้าไป-เย็นกลับ จะมีเพียงเวที และ เครื่องมืออุปกรณ์ในการกระจายเสียงยึดพื้นที่เท่านั้น ไม่มีมวลชนเหนียวแน่นยึดพื้นที่เหมือนม็อบ กปท. และ คปท. ซึ่งปักหลักอย่างแน่วแน่ 
    แต่นั่นก็เป็นการแสดงให้พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่า ประชาชนไม่ได้ออกมาเพราะพรรคประชาธิปัตย์ แต่ออกมาเพราะรับไม่ได้กับพฤติกรรมของรัฐบาล และไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมของคนกลุ่มใหญ่ในระบบรัฐสภา ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการผ่านกฎหมายล้างผิดให้กับนักโทษหนีคุก 
    ซึ่งหากเงื่อนไขของ กม.นิรโทษกรรมฉบับยกเข่งถูกลดเงื่อนไขลง ไม่นิรโทษให้ "ทักษิณ" ม็อบนักศึกษา และกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ข้างพรรคประชาธิปัตย์ อาจไม่ "ไปต่อ" ในการเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบ ซึ่งอาจทำให้แนวร่วมในการล้มรัฐบาลลดน้อยลง 
    จึงขึ้นอยู่กับว่าเกมนี้ พรรคประชาธิปัตย์ที่นำโดย "สุเทพ" จะแผ่วหรือไม่ และจะแสดงท่าทีอย่างไรในการสร้างน้ำหนักในการยกระดับการชุมนุม โดยตรึงแนวร่วมให้อยู่เท่าเดิม หรือเพิ่มปริมาณมากขึ้น  
    หรือจะหวังกระแสเพิ่มเติมจากผลการตีความคำพิพากษาศาลโลก ที่จะมีขึ้นในวันจันทร์นี้ ก็ดูเหมือนว่ารัฐบาลพยายามสร้างวาทกรรมข้าชั่วเอ็งเลว งัดข้อมูลการเสียดินแดนโยนกลองไปที่รัฐบาลอื่น  
    ไม่นับการแสดงอาการ "เบ่งกล้าม" เรียกระดมพลคนเสื้อแดง หลังจาก "คืนดี" กันนัดชุมนุมแสดงพลังในวันอาทิตย์นี้ที่เมืองทองธานี 
    น่าสนใจว่าสถานการณ์วันที่ 11 ต่อวันที่ 12 พ.ย.ที่จะถึงนี้ เวทีพรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะเดินต่อไปอย่างไร จะถือธงนำยกระดับการชุมนุม หรือใช้กระแสมวลชนที่ยังประเมินไม่ได้นำหน้า 
    แต่ดูเหมือนว่าประชาธิปัตย์เดินมาไกลเกินถอยหลังกลับสามเสน เลี้ยวขวากลับฐานที่มั่นแม่พระธรณีบีบมวยผมเสียแล้ว!!!.
                                                                       ทีมข่าวการเมือง 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น