วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ซัดตั้งสาธารณรัฐทักษิณ เมื่อ 9 พ.ย.56

ซัดตั้งสาธารณรัฐทักษิณ


คอลัมนิสต์คนดังบลูมเบิร์กฉะรัฐบาลพี่น้องตระกูลชินวัตร เปลี่ยนไทยแลนด์เป็น "สาธารณรัฐทักษิณ" ระบุดรามาของ "แม้ว" ทำลายโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ เจ็ดปีหมดเวลาไปกับบุคคลคนเดียว
     เว็บไซต์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์กเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ได้ลงบทความของวิลเลียม พีเส็ก คอลัมนิสต์ด้านเศรษฐกิจการตลาดและการเมืองประจำเอเชีย-แปซิฟิก วิเคราะห์สภาพการเมืองของไทยในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาว่าทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศของทักษิณ ชินวัตร ไปแล้ว บทความตั้งชื่อเรื่องว่า "Thailand’s Big Brother Drama" กล่าวถึงเรื่องราวดรามาของพี่ชายนายกรัฐมนตรีหญิงของไทย โดยเกริ่นด้วยประโยคแรกว่า "ขอต้อนรับเข้าสู่สาธารณรัฐทักษิณ" แม้ดินแดนสยามเมืองยิ้มจะไม่ได้ขึ้นป้ายต้อนรับนักท่องเที่ยวไว้เช่นนี้ แต่ในความเป็นจริงประเทศไทยก็คือดินแดนของทักษิณ ชินวัตร
    บทความกล่าวว่า การเมืองไทยนับแต่เกิดรัฐประหารขับไล่ทักษิณลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อ 7 ปีก่อน ไทยมีนายกรัฐมนตรีอีกถึง 6 คน แต่ทว่าเงาของทักษิณก็ยังคงครอบงำการเมืองไทย นายกฯ คนล่าสุดคือยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของทักษิณ ซึ่งก็ต้องเป็นห่วงเป็นใยพี่ชายตามประสาพี่น้อง นายกฯ หญิงของไทยคนนี้จึงพยายามช่วยพี่ชายและนักการเมืองอีกหลายรายพ้นการติดคุกผ่านกระบวนการทางรัฐสภา ซึ่งการเป็นการพลาดท่าทางการเมืองครั้งใหญ่ของเอเชียในรอบหลายปี กฎหมายนิรโทษกรรมทำให้หุ้นร่วง ผู้คนมากกว่า 32,000 คนออกมาชุมนุมในกรุงเทพฯ และอีก 17 จังหวัด กระทั่งสัปดาห์นี้นายกฯ ยิ่งลักษณ์จึงยอมถอยและระงับกฎหมายฉบับนี้ไว้ก่อน 
    การยอมถอยหาได้หมายความว่าฝันร้ายเกี่ยวกับทักษิณหมดไปแล้ว ผู้เขียนกล่าวว่ามหาเศรษฐีเจนจัดที่เทียบเท่ากับซิลวิโอ แบร์ลุสโกนี แห่งเอเชียรายนี้ ยังไม่ละทิ้งความกระสันจะกลับประเทศและทวงคืนทรัพย์สินที่ถูกยึดไปและรับช่วงต่อจากน้องสาว ที่ถูกมองว่าเป็นแค่ผู้รักษาเก้าอี้ให้แทนชั่วคราว อย่างไรก็ดีเมื่อความปรารถนาอันแรงกล้าของเขาถูกขัดขวางไว้ชั่วคราว ตอนนี้ความสนใจจึงอยู่ที่ความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดจากละครสัตว์ทางการเมืองครั้งนี้มากกว่า เพราะทุกวันที่นักการเมืองและสมาชิกสภาใช้ไปกับความพยายามพาทักษิณกลับบ้าน นั่นคือวันเวลาที่สูญเสียไปแทนที่จะใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ เพิ่มความสามารถในการแข่งและเลี่ยงกับดักรายได้คนชั้นกลางที่หลายประเทศกำลังพัฒนาเผชิญอยู่และไทยอาจติดกับด้วยในไม่ช้า
    ผู้เขียนกล่าวถึงระบบการเมืองที่ยึดติดตัวบุคคล ซึ่งเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ในหลายประเทศของเอเชีย ไม่ว่าญี่ปุ่น, จีน, ฟิลิปปินส์ หรือกระทั่งทายาทตระกูลคานธีของอินเดีย แต่ทักษิณยกระดับกลยุทธ์นี้แบบมีศิลปะ โดยเฉพาะทำให้ทั้งประเทศเป็นเรื่องของเขา นับแต่กุมภาพันธ์ 2544 ถึงกันยายน 2549 ทักษิณไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าทำให้ประชาธิปไตยของไทยโดยรวมด้อยค่าลง เขาตอนสถาบันต่าง ทำให้ตระกูลและพวกพ้องรวยขึ้นชนิดที่ผู้ปกครองคณาธิปไตยของรัสเซียคงอาย
    ทักษิณเป็นเหมือนแบร์ลุสโกนีของอิตาลีซึ่งเป็นมหาเศรษฐีทรงอิทธิพลที่ใช้ความสำเร็จทางธุรกิจเป็นบันไดไต่เต้าขึ้นเป็นผู้นำ และเขาก็เหมือนแบร์ลุสโกนีอีกเช่นกันที่หลังจากนั้นก็ถูกกล่าวหาว่าใช้รัฐบาลสนองเจตนารมณ์และผลประโยชน์ทางธุรกิจของตน เขาทำได้ผ่านการจ่ายเงินให้ชุมชนชนบทที่เป็นฐานเสียง โครงการ "ทักษิโณมิกส์" ที่ปล่อยกู้ถูกๆ ให้คนบ้านนอกไม่ต่างจาก "แทมมานีฮอล์" ที่ใช้ทุจริตขายเสียงของอเมริกาในอดีต เงินเหล่านี้ไม่ได้ช่วยปรับปรุงรากฐานเศรษฐกิจของประเทศหรือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ พีเส็กกล่าวว่า ยุทธศาสตร์นี้ยิ่งลักษณ์ก๊อบปี้มาใช้บ่อยภายหลังขึ้นเป็นนายกฯ ในปี 2554 หนึ่งในนั้นก็คือโครงการรับจำนำข้าวที่สร้างความล่มจม ตัวเลขประเมินล่าสุดโครงการนี้ใช้เงินแล้ว 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์นับแต่เดือนตุลาคม 2554 และทำให้รัฐขาดทุนแล้วราว 59% ของตัวเลขนี้
    คอลัมนิสต์ผู้นี้โจมตีนโยบายรับจำนำข้าวว่าบิดเบือนตลาด แต่ทำไมรัฐบาลยังเดินหน้า นั่นเป็นเพราะอาจช่วยให้ยิ่งลักษณ์หรือก็คือทักษิณ ชนะเลือกตั้งอีกครั้งอาจเป็นอย่างเร็วในปีหน้า พรรคเพื่อไทยของเธอยังอาจหวังว่าจะได้ที่นั่งมากพอที่จะฟื้นคืนชีพกฎหมายนิรโทษกรรมอีกหน
    "ชวนให้คิดว่า วันนี้ประเทศไทยจะเป็นอย่างไรหากไม่ต้องสิ้นเปลืองเวลา 7 ปีที่ผ่านมาไปกับทักษิณล้วนๆ จากความล้มเหลวด้วยการทำเรื่องเกินตัวอย่างกฎหมายนิรโทษกรรม ยิ่งลักษณ์แสดงออกถึงระดับของความอ่อนหัดที่จะยิ่งทำให้ความสามารถในการบริหารประเทศของเธอโซซัดโซเซยิ่งขึ้น" 
    พีเส็กทิ้งท้ายไว้ว่า ถึงเวลาแล้วที่สาธารณรัฐทักษิณจะเลิกหมกมุ่นกับผู้ชายคนเดียวแล้วหันมาใส่ใจกับความปรารถนาและความต้องการของคนไทยมากขึ้น
    นักสังเกตการณ์มองว่า การถอนร่าง พ.ร.บฉบับนี้ของรัฐบาล เพื่อให้สถานการณ์ทางการเมืองเกิดความสงบ เพราะรัฐบาลกำลังเผชิญหน้ากับอีกปัญหาหนึ่ง เนื่องจากว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะประกาศคำตัดสินคดีข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนบริเวณเขาพระวิหารในวันจันทร์นี้ ซึ่งทางพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มชาตินิยมต่อต้านรัฐบาล เคยกล่าวหาว่ารัฐบาลล้มเหลวในการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนที่มีข้อพิพาทกับกัมพูชา.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น