ยื่นซ้ำเบรกเงินกู้2ล้านล้าน สันดานเดิมเสียบบัตรแทน
กลุ่ม 40 ส.ว.หอบรายชื่อ 66 ส.ว.และ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ยื่นซ้ำเงินกู้ชาตินี้ใช้หนี้ชาติโน้นขัดรัฐธรรมนูญ "กรณ์" ยันมีหลักฐานคลิป ส.ส.เพื่อไทยใช้นิสัยเดิมเสียบบัตรแทน "ปิยสวัสดิ์" ซัดกู้ 2 ล้านล้านวิสัยทัศน์ แห่งความโง่
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2556 นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา พร้อมด้วยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพมหานคร ได้นำรายชื่อ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ว. รวมกัน 66 คน มายื่นคำร้องต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 154 เพื่อให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาว่าร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ.วงเงินไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท มีความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 169 และ 170 หรือไม่
คำร้องมีสาระสำคัญคือ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีข้อความขัดกับรัฐธรรมนูญ โดยหลักการและเนื้อหาสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้นั้น กำหนดให้มีการจ่ายเงินแผ่นดินที่ขัดต่อบัญญัติมาตรา 169 วรรคหนึ่ง และกำหนดให้มีการใช้จ่ายเงินรายได้ของหน่วยงานรัฐที่ไม่ต้องส่งเป็นรายได้แผ่นดิน โดยไม่อยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหมวด 8 ว่าด้วยการเงิน การคลัง และงบประมาณ เป็นการขัดต่อมาตรา 170
รัฐธรรมนูญมาตรา 169 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติถึงหลักการสำคัญในการจ่ายเงินแผ่นดินไว้ว่า จะกระทำได้เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมาย 4 ลักษณะ กล่าวคือ 1.กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย 2.กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ 3.กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ หรือ 4.กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน รัฐบาลจะจ่ายไปก่อนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ
เมื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แล้ว มีความเห็นว่าไม่ได้มีเนื้อหาสาระสำคัญอยู่เพียงเฉพาะการกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเท่านั้น หากแต่ยังได้มีการกำหนดให้มีการใช้จ่ายเงินแผ่นดินที่ได้รับมาจากการกู้เงินตามร่าง พ.ร.บ.นี้ โดยไม่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง ดังนั้นเมื่อร่าง พ.ร.บ.นี้เป็นเพียงร่าง พ.ร.บ.ทั่วไปที่มิได้มีลักษณะเด็นร่าง พ.ร.บ.ตามนัยของมาตรา 169 แล้วการที่ร่าง พ.ร.บ.นี้กำหนดให้มีการจ่ายเงินแผ่นดินที่ได้รับมาจากการกู้เงินดังกล่าว จึงย่อมเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 169 วรรคหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรค ได้ยื่นคำร้องลักษณะเดียวกันนี้ต่อนายสมศักดิ์ไปแล้วเช่นกันตั้งแต่ตี 3 ของวันพุธที่ผ่านมา หลังร่างกฎหมายผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมวุฒิสภา
คำร้องดังกล่าวระบุว่า การที่รัฐบาลอ้างเหตุขอกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างด้านคมนาคมและรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจการลงทุนทั้งในและระหว่างประเทศ แต่คณะรัฐมนตรีกลับมีมติให้กู้เงินเป็นการเฉพาะ นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สินสาธารณะและกำหนดวิธีการใช้จ่ายเงินเป็นการเฉพาะนอกงบประมาณรายจ่าย หรือกฎหมายเกี่ยวกับการเงินการคลัง ซ้ำยังเป็นการกู้เงินนอกระบบงบประมาณที่ไม่ต้องนำส่งคลังของกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และยังสามารถโยกเงินระหว่างแผนงานได้อีก
ฉะนั้นจึงน่าสังเกตว่า พ.ร.บ.กู้เงินนี้เป็นการกู้เงินนอกระบบงบประมาณที่ใหญ่ที่สุด คือมากกว่า 4 เท่าของประเทศไทยที่เคยกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และต้องเสียดอกเบี้ยมหาศาลถึง 3 ล้านล้านบาท ในเวลา 50 ปี ซึ่งเป็นการย้ำชัดว่าร่างพ.ร.บ.กู้เงินนี้ไม่ได้ทำตามกรอบวินัยการเงินการคลังที่ส.ส.หรือผู้แทนปวงชนในรัฐสภาไม่มีอำนาจ แม้จะเสนอเป็น พ.ร.บ. โดยรัฐสภาให้ความเห็นชอบเพียงครั้งเดียวที่จะขอกู้เงินมหาศาลมาใช้จ่ายใน 7 ปี พบว่ามีมูลค่าเกินครึ่งของงบลงทุนตามงบประมาณประจำปีปกติ ที่รัฐสภามีสิทธิกลั่นกรองทุกปี ที่เฉลี่ยตกปีละ 2.8 แสนล้านบาท แต่งบปี 2556 กลับอยู่ที่ 4.4 แสนล้านบาท จึงเป็นการใช้เงินแผ่นดินที่ไม่มีการถ่วงดุลจากรัฐสภา นอกจากนี้ ยังไม่มีรายละเอียดของโครงการต่างๆ ว่าจะใช้จ่ายเท่าไหร่ กลับเป็นเพียงกรอบการลงทุนพื้นฐานที่ไร้ความชัดเจนเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีปัญหาในระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ในวาระสอง เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2556 ที่ผ่านมา ในช่วงที่มีการพิจารณามาตรา 6 เสร็จสิ้น ประธานในที่ประชุมขณะนั้นคือนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ทำหน้าที่อยู่ ได้สั่งให้ ส.ส.กดบัตรเพื่อแสดงตัวก่อนลงมติในมาตรา 6 ปรากฏว่า นายนริศร ทองธิราช ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ได้กดบัตรแสดงตนแทนเพื่อนส.ส.รายอื่นอีก 4-5 คน และเมื่อประธานในที่ประชุมให้สัญญาณเพื่อให้ ส.ส.ลงมติในมาตรา 6 ปรากฏว่านายนริศรได้กดบัตรเพื่อลงคะแนนเห็นชอบในมาตรา 6 แทนส.ส.อื่นอีก 3-4 คน โดยมีคลิปบันทึกภาพและเสียงเป็นหลักฐาน ทั้งนี้ ได้ยื่นเป็นหลักฐานในการนี้ด้วย
ดังนั้น การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 130, มาตรา 126 ทำให้ผลโหวตเป็นโมฆะและยังขัดแย้งต่อประมวลแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150 ฉะนั้นร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท จึงตราขึ้นไม่ถูกตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและเป็นอันตกไปทั้งฉบับตามมาตรา 154 ของรัฐธรรมนูญ อีกทั้งร่าง พ.ร.บ.นี้ยังตราไม่ถูกต้องตามกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญ โดยมีความขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 3, มาตรา 57, มาตรา 66-67 และมาตรา 169 อีกด้วย
นายกรณ์ให้สัมภาษณ์ว่า มีหลักฐานคือการกดบัตรแทนกัน โดยมีคลิปหลักฐานวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประชุมวาระ 2 ขณะลงมติมาตรา 6
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ไม่เห็นว่าการใช้เงินลงทุนในงบประมาณปกติจะเป็นปัญหา เพราะที่ผ่านมา รัฐวิสาหกิจก็มีความสามารถในการลงทุนโครงการต่างๆ ได้เอง หากไม่ใช้งบประมาณแผ่นดินปกติ เช่น รถไฟฟ้าใต้ดิน การซื้อเครื่องบินของการบินไทย ที่สามารถบริหารจัดการเองได้ แต่ขณะนี้สิ่งที่เป็นปัญหาคือคนที่คิดว่าตัวเองมีวิสัยทัศน์และพยายามหลอกให้คนอื่นเชื่อในวิสัยทัศน์ของตนเอง ทั้งที่จริงแล้วคือความโง่ ส่วนการลงทุนเอกชนที่ไม่ขยายตัวในขณะนี้ มาจากสาเหตุหลักในด้านกฎกติกาต่างๆ ที่ไม่เอื้ออำนวย ไม่ใช่อย่างที่ รมว.การคลังชอบพูดว่าเกิดจากความล่าช้าของโครงการกู้เงินเพื่อลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทอย่างแน่นอน
ด้านนายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเอ็มเอฟซี อดีต รมว.พาณิชย์ กล่าวในงานเสวนา "รัฐ-เอกชนต้องร่วมตอบโจทย์ เศรษฐกิจไทยจึงจะไปรอด" ในงานสัมมนาทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี 57 สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ในโจทย์ใหญ่เศรษฐกิจไทย ทำอย่างไรให้ไปโลด ว่าหาก พ.ร.บ.การกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทเพื่อลงทุนในโครงการสร้างพื้นฐานไม่ผ่านการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็ยังสามารถกลับไปใช้วิธีการเบิกจ่ายตามกรอบงบประมาณปกติได้ แต่ยอมรับว่าจะส่งผลให้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศจะมีความล่าช้า ไม่ทันการณ์ เพราะการลงทุนตามกรอบงบประมาณปกติมีข้อจำกัด ซึ่งรัฐบาลจะต้องใช้จ่ายในงบประมาณรายจ่ายประจำในแต่ละปีสูงมาก ขณะที่การขาดดุลงบประมาณทำได้ไม่เกิน 10% ส่งผลให้แต่ละโครงการก่อสร้างไม่ทันต่อการรองรับการเปลี่ยนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตช้าในระยะสั้นและระยะยาว
นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ร.ฟ.ท.เตรียมแผนสำรอง หากร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานบางโครงการสามารถดำเนินการได้ตามแผน ซึ่งอาจจะเป็นการลงทุนตามกรอบงบประมาณที่มีอยู่ แต่ยอมรับว่าจะมีข้อจำกัดเพดานการกู้เงิน ซึ่งหลังจากนี้กระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคมจะต้องหารือเพื่อหาแนวทางในการลงทุน.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น