วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

พรบ.เข่งเน่า ส่อแห้ว!!! นักวิชาการมธ. ชี้ขัด รธน.-รัฐไม่สามารถยกเลิกคนทำร้ายปชช.ได้ วันนี้ 1 พ.ย. 56



พรบ.เข่งเน่า ส่อแห้ว!!! นักวิชาการมธ. ชี้ขัด รธน.-รัฐไม่สามารถยกเลิกคนทำร้ายปชช.ได้
นักวิชาการมธ.ระบุ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษ ขัดรธน.  -ชี้รัฐต้องนำคนผิดมาลงโทษ แต่กลับไปนิรโทษให้คนที่ทำร้ายประชาชน เสมือนไม่มีความผิด  กรณีเช่นนี้จะกระทำมิได้ ยกเว้นการอภัยโทษเท่านั้น
 
 วันนี้ ( 1 พ.ย.56 ) นายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ว่า การที่รัฐสภาเร่งผ่านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม อย่างรวดเร็วเพียงข้ามคืนเดียวนั้น จะก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องข้อกฎหมายหลายประเด็น เช่น ในเรื่องของกระบวนการขั้นตอนที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมจากในชั้นรับหลักการไปแล้วนั้น อาจก่อให้เกิดวิกฤติความขัดแย้ง ได้ว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ อีกทั้งในส่วนของเนื้อหา ของการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ครั้งนี้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของรัฐ ที่ต้องให้ความคุ้มครองชีวิตของประชาชนหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ ให้รัฐต้องนำคนผิดมาลงโทษ แต่รัฐกลับจะไปนิรโทษกรรมให้กับคนที่ทำร้ายประชาชน เสมือนไม่มีความผิด ไม่ต้องดำเนินคดี ถือเป็นการยกเลิก เพิกถอนโทษ กรณีเช่นนี้จะกระทำมิได้ ยกเว้นการอภัยโทษเท่านั้น
          "กฎหมายกำหนดให้รัฐ ดูแลและบริหารราชการแผ่นดินภายใต้รัฐธรรมนูญกำหนด แต่รัฐกลับยกเว้นไม่นำคนผิดในห้วงเวลาที่กำหนดตามร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนี้ มารับผิด ดำเนินคดี ผลก็คือรัฐกลายเป็นผู้กระทำผิดต่อหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญกำหนด นี่จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน เพราะจะมาล้างผิดให้ผู้ที่ทำผิดไม่ได้ ต้องให้ผู้ที่ทำผิดได้รับโทษเสียก่อน จึงจะลดโทษหรืออภัยโทษได้เท่านั้น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าประเด็นปัญหาเหล่านี้จะต้องมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความแน่นอน"นายกิตติศักดิ์ กล่าว
          ทั้งนี้ กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ จะทำให้เกิดความขัดแย้ง วุ่นวาย และก่อให้เกิดวิกฤติที่ว่า ประเทศไทยยังจะยึดหลักผิดถูกต่อไป หรือจะยึดหลักใครมีอำนาจก็สามารถแก้ไขความผิดให้เป็นถูกได้ นอกจากนี้ตนเชื่อว่า หากประเทศเกิดความวุ่นวายขึ้น ก็จะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ รัฐบาลก็จะอ้างความชอบธรรม ในการยุบสภา เลือกตั้งใหม่ เพื่อให้ตัวเองกลับเข้ามามีอำนาจอีกครั้ง นี่คือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังของการออกกฎหมายฉบับนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น