วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

แดงตาสว่าง..รัฐบาล-ทักษิณ-นปช. ไม่จริงใจนิรโทษกรรม?เะมื่อ 15 ก.ค.56


แดงตาสว่าง..รัฐบาล-ทักษิณ-นปช. ไม่จริงใจนิรโทษกรรม?
ต้อนรับคุณผู้ชมเข้ามาในช่วงเวลาของรายการเจาะข่าวร้อน ล้วงข่าวลึกประจำวันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม 2556 เหลือเวลาอีกประมาณ 2 สัปดาห์ก็จะเข้าสู่การเปิดประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไป อันเป็นที่รอคอยของบรรดาคนเสื้อแดง ที่กำลังใจจดใจจ่ออยู่กับร่างพรบ.นิรโทษกรรม ที่ถูกดันขึ้นมาอยู่ในวาระแรก
แต่ทว่าสถานการณ์อาจไม่เป็นไปอย่างที่คิด เพราะพรรคเพื่อไทยและวิปรัฐบาลเตรียมที่จะขยับเอาร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557มาพิจารณาก่อนนั่นเอง
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่าการเปิดประชุมสภาวันที่ 1 ส.ค. เพื่อพิจารณากฎหมายที่ยังค้างอยู่ ทั้งร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย นั้น คาดว่าจะนำพ.ร.บ.งบประมาณ 2557 มาพิจารณาในวาระแรกก่อน ส่วนกฎหมายนิรโทษกรรมที่จะช่วยเหลือประชาชน ส.ส.ของพรรค และส.ส.กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) คงจะไปทำความเข้าใจกับประชาชนให้เข้าใจก่อน ไม่น่าจะมีปัญหาหรือก่อให้เกิดความขัดแย้ง
ก่อนหน้านี้ นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย หนึ่งในผู้เข้าชื่อเสนอร่างพรบ.นิรโทษกรรม  กล่าวว่า แม้ร่างพรบ.นิรโทษกรรมจะถูกบรรจุในวาระแรก แต่เมื่อไปดูวันที่ 1 ส.ค.ซึ่งเป็นวันพฤหัสบดี ให้เป็นวันของการตอบกระทู้ต่างๆ ซึ่งวางไว้อยู่แล้ว เป็นเรื่องของเทคนิค จึงทำให้ร่างพรบ.นิรโทษกรรม จะยังไม่ถูกหยิบยกมาพิจารณาในทันที ส่วนตัวมองว่าร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ที่จำเป็นต้องนำมาใช้งาน คงจะถูกนำมาพิจารณาก่อน ส่วนเรื่องพรบ.นิรโทษกรรม อาจจะพิจารณาในวันพุธสัปดาห์ที่ 2 หรือ 3 ของเดือนส.ค.หรือระหว่างนั้นถ้ามีเรื่องอะไรจำเป็นเร่งด่วน เช่น พรบ.เงิน 2 ล้านล้านหรือเรื่องอื่นอย่างรัฐธรรมนูญก็อาจนำมาพิจารณาก่อนก็ได้       
เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ที่ปรากฏก็เท่ากับว่าบรรดาคนเสื้อแดง ก็อาจจะดีใจเก้อ เพราะท้ายที่สุดการเลื่อนวาระร่างพรบ.นิรโทษกรรมขึ้นมารออยู่ในวาระแรก แต่พอถึงเวลากลับไม่เป็นไปตามนัด ก็ทำให้กระแสความรู้สึกของฝ่ายคนเสื้อแดง เริ่มชักไม่แน่ใจกับความจริงใจของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 นำโดยนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดา น.ส.กมนเกด อัคฮาด อาสาพยาบาลที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนารามเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ บิดานายสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือน้องเฌอ ที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 พ.ค.2553 นายอรุณศักดิ์ เลื่อนไธสง พี่ชายนายเกรียงไกร เลื่อนไธสง คนขับรถแท็กซี่ที่ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณบ่อนไก่ เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2553 ร่วมแถลงเปิดตัวร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับประชาชน
นางพะเยาว์กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องเปิดร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมของประชาชน เพราะ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแต่ละฉบับที่ผ่านมาไม่เคยมีฉบับใดที่ผ่านความคิดเห็นของกลุ่มญาติผู้เสียชีวิต หรือญาติผู้ถูกจองจำ เป็นการร่างกันขึ้นมาเองของกลุ่มต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าทุกร่างที่เสนอไปแล้วจะมีการสอดไส้ให้นิรโทษกรรมยกเข่ง และไม่ได้มอบความเป็นธรรมให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางการเมืองอย่างแท้จริง จึงมีการพูดคุยกันในกลุ่มญาติว่าควรร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้น โดยจะไม่สอดไส้ และเป็นไปอย่างโปร่งใส         
แม่น้องเกดกล่าวต่อว่า ทางกลุ่มญาติจะนำร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ไปยื่นให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 16 ก.ค. เวลา 09.00 น. หลังจากนั้นจะเดินสายขอความสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก่อนจะยื่นร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับประชาชน ต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ในวันที่ 24 ก.ค. เพื่อขอให้บรรจุเป็นระเบียบวาระการประชุมสภา ในสมัยประชุมสภาที่จะเปิดในเดือนส.ค.
สำหรับร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับนี้เรียกว่าร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ประชาชนซึ่งได้กระทำความผิดความสงบเรียบร้อยหรือต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความ ขัดแย้งทางการเมือง ภายหลังการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549
สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ คือ ให้นิรโทษกรรมประชาชน และ เจ้าหน้าที่ โดยแยกแยะการกระทำใดๆ ที่เป็นความผิดร้ายแรงจนทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต บาดเจ็บ ทุพพลภาพ การเผาทำลายทรัพย์สินของเอกชน ตลอดจนการกระทำเกินกว่าเหตุของ ผู้ปฏิบัติการ การออกคำสั่งบังคับบัญชาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายออกจากการนิรโทษกรรม เพื่อให้มีการดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม และป้องกันไม่ให้การกระทำเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำในภายหลัง
สาระสำคัญ ประกอบด้วย มาตรา 3 ระบุว่า (1) การกระทำใดๆ ของบุคคลอันเป็นความผิดตามกฎหมายจากการฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือข้อกำหนดที่ออกตาม พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ซึ่งได้ประกาศใช้ อันเนื่องมาจากการเดินขบวนและการชุมนุมประท้วงทางการเมืองภายหลังจากการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 ให้ผู้กระทำ พ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง
(2) การกระทำใดๆ ของบุคคลผู้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมืองในเขตท้องที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ตามพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือพื้นที่ที่มีการประกาศให้เป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ซึ่งได้ประกาศใช้อันเนื่องมาจากการเดินขบวน และการชุมนุมประท้วงทางการเมืองภายหลังจากการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 หากเป็นความผิดลหุโทษตามประมวลกฎหมายอาญา หรือเป็นความผิดอันมีโทษปรับสถานเดียว หรือเป็นความผิดอันมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีตามกฎหมายอื่น ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง
(3) การกระทำใดๆ ของบุคคลผู้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงการเมืองในเขตท้องที่ หรือพื้นที่ตามมาตรา 3 (2) อันเป็นความผิดตามกฎหมายซึ่งไม่ได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา 3 (1) หรือมาตรา 3 (2) ตลอดจนการกระทำใดๆ ที่ได้กระทำขึ้นระหว่างวันที่ 19 ก.ย.2549-9 พ.ค.2554 ของบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมือง แต่การกระทำนั้นมีความเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ทางการเมืองภายหลังการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 หากการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร อันผู้กระทำได้กระทำไปโดยมีความเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ทางการเมือง ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ
(4) การกระทำใดๆ หรือการตระเตรียมการของบุคคลใด ทั้งผู้ชุมนุมและผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมโดยมุ่งต่อการประทุษร้ายผู้อื่นโดยใช้อาวุธ รวมถึงการกระทำอันมุ่งต่อการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน หรือการ กระทำผิดต่อทรัพย์ เช่น การวางเพลิงเผาทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ลักทรัพย์ อันเป็นของเอกชน ให้บุคคลนั้นยังคงมีความผิดตามกฎหมาย โดยให้รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าวนั้นด้วย
นอกจากนี้ ในมาตรา 4 ระบุว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติการที่ไม่ได้ฝ่าฝืนคำสั่งการบังคับบัญชา และ/หรือไม่ได้กระทำการเกินกว่าเหตุ ให้ผู้กระทำพ้นความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ
การกระทำของบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง ตลอดจนการสลายการชุมนุมไม่ว่าจะได้กระทำการในฐานะเป็นผู้สั่งการ หรือผู้ปฏิบัติการ และไม่ว่าจะกระทำในขั้นตอนใดๆ รวมถึงการ กระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง หากการกระทำนั้นไม่สมควรแก่เหตุ และ/หรือเป็นความผิดตามกฎหมายให้บุคคลนั้นยังคงมีความผิดตามกฎหมาย
โดยบทบัญญัติในวรรคที่สองให้ใช้บังคับกับบุคคลที่เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนในความผิดนั้น
ขณะที่มาตรา 5 ระบุว่า เมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้แล้ว ถ้าผู้กระทำตามมาตรา 3 (1) (2) และ (3) ยังไม่ได้ถูกฟ้อง ต่อศาล หรืออยู่ในระหว่างการสอบสวน ให้พนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการระงับการสอบสวน หรือการฟ้องร้อง หาก ผู้ถูกฟ้องต่อศาลแล้วให้พนักงานอัยการ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้องหรือให้ถอนฟ้อง ถ้าผู้นั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี ให้ศาลพิพากษายกฟ้องหรือมีคำสั่งจำหน่ายคดี ในกรณีที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ถ้าผู้นั้นอยู่ระหว่างการรับโทษให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและปล่อยตัวผู้นั้น
มาตรา 6 ระบุว่า ผู้ได้รับการนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้จะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ไม่สามารถก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในอันที่จะเรียกร้องสิทธิ หรือประโยชน์ใดๆ เพิ่มเติมทั้งสิ้น
มาตรา 7 ระบุว่าการดำเนินการใดๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ไม่เป็นการ ตัดสิทธิของบุคคลซึ่งไม่ใช่องค์กร หรือหน่วยงานของรัฐในการเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่ง จากการกระทำของบุคคลใดซึ่งพ้นจากความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และทำให้ตนต้องได้รับความเสียหาย
ว่าด้วยความไม่พอใจของบรรดาญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์การชุมนุม ยังลุกลามไปถึงการทำหน้าที่ของประธานนปช. ด้วยการตั้งคำถามที่แสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจเป็นอย่างมาก
นางพะเยาว์กล่าวยืนยันว่า ร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นการช่วยเหลือนักโทษการเมือง จึงขอย้ำว่าการที่นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้าน เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระบุว่า กลุ่มญาติมุ่งเป้าเพียงหาฆาตกรโดยไม่ได้ ช่วยเหลือนักโทษการเมืองนั้นไม่เป็นความจริง ถามว่านางธิดาได้ศึกษาอย่าง ถี่ถ้วนแล้วหรือไม่ เพราะกลุ่มญาติได้ ทุ่มเทประสานงานกับผู้เชี่ยวชาญด้าน กฎหมายอย่างเต็มที่เพื่อจัดทำร่าง กฎหมายฉบับนี้ แต่ที่ผ่านมาทาง นปช.กลับไม่เคยขับเคลื่อนช่วยเหลือประชาชนอย่างจริงจัง เอาแต่แถลง ทุกสัปดาห์ในสิ่งที่เป็นนามธรรม เอาแต่พูดจับโกงเลือกตั้ง แต่ไม่เคยติดตามคดีความผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต และ ไม่เคยทำสิ่งใดที่เป็นรูปธรรมขึ้นมา
การตั้งคำถามของนางพะเยาว์ต่อการทำหน้าที่ของนางธิดา ตรงกับการวิพากษ์ของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการแนวร่วมคนเสื้อแดง เอาไว้ชนิดที่อาจจะทำให้เห็นถึงธาตุแท้อะไรบางอย่างเลยทีเดียว
ทำไมคุณทักษิณ-รบ.ยิ่งลักษณ์ จึงไม่คิดจะออก พรก.นิรโทษกรรม ให้มวลชลเสื้อแดงครับ? ง่ายกว่า แผนการออก พรก.นิรโทษกรรม คุณทักษิณ ไม่รู้กี่สิบ กี่ร้อยเท่าแน่ๆ
วันก่อน ที่ผมเขียน "อนุสนธิจากคลิปเสียง" ผมได้เสนอประเด็นนึงว่า ตามแผนนิรโทษกรรมทีคุณทักษิณ กับยุทธศักดิ์ พูดคุยกันนั้น คงออกมาในลักษณะ "เหมาเข่ง" แน่ เพราะเป็นไปได้ยากทีจะคิดว่า จะเสนอ พรก.นิรโทษกรรม ให้เฉพาะคุณทักษิณฝ่ายเดียว อย่างน้อยๆต้องรวม ทหาร ไว้ด้วย และค่อนข้างแน่นอนว่า ต้องรวม รบ.อภิสิทธิ์ ด้วยเช่นกัน เพราะไม่งั้น จะยิ่งยากชนิด เรียกว่า เป็นไปไม่ได้
ในการแถลงข่าว นปช เมื่อพุธ ที่แล้ว อ.ธิดา พูด "แตะ" ประเด็น พรก.นิรโทษกรรม ที่คุยในคลิปเสียงเหมือนกัน แต่พูดแบบผ่านๆ ทำนองว่า "เราไม่รู้ว่า พรก. มีรายละเอียดยังไง.." แล้วก็เลยไปยืนยันว่า นปช ยังยืนยันเรือง พรก. ตามที่เคยเสนอ ที่ไม่รวมแกนนำ
เพื่อให้เห็นภาพการอธิบายความของนายสมศักดิ์มากยิ่งขึ้นในประเด็นการแถลงข่าวของนางธิดาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำนองว่าไม่รู้ไม่ชี้กรณีคลิปเสียงลับ แล้วก็พูดผ่านๆไปที่เรื่องของการออกพรก.นิรโทษกรรมของนปช.เลยหรือไม่

นายสมศักดิ์ระบุต่อว่า ต่อให้ ยอมรับแบบ "พาซื่อ" ว่า พรก.นิรโทษกรรม ที่คุณทักษิณ-ยุทธศักดิ์ พูดกันนั้น ไม่มีรายละเอียด และอาจจะไม่ใช่แบบ "เหมาเข่ง" ก็ได้ แต่ผมว่า ประเด็นสำคัญมากๆ ทีปฏิเสธไม่ได้คือ คลิปดังกล่าวตั้งคำถามใหญ่มากๆว่าทำไม คุณทักษิณ และ รบ.ยิ่งลักษณ์ จึงไม่คิดจะออก พรก.นิรโทษกรรม ให้มวลชน เสื้อแดง?
ทั้งๆที่ พรก.ดังกล่าว จะต้องง่ายกว่า พรก.นิรโทษกรรม ทักษิณ ทีวางแผนจะออก อย่างชนิดเทียบกันไม่ได้ เผลอๆ ไม่ต้องหาทางไป "ผ่าน" ทหารก่อนให้มันยุ่งยากด้วย หรือต่อให้คิดจะให้ "ดูก่อน"ก็ไม่มีทางจะยากเท่ากรณีทักษิณ
ใครที่ตามอ่านผมมานาน อาจจะจำได้ว่า ผมได้เสนอ ตั้งแต่มีการตั้ง รบ.ยิ่งลักษณ์ ใหม่ๆ เมื่อ 2 ปีก่อน เรืองที่ รบ.ควรช่วยมวลชนเสื้อแดงออกมาก่อน โดยแยก กับกรณีแกนนำ และทักษิณ
ตั้งแต่แรก คนทีเชียร์ ทักษิณ-รบ.-นปช แบบสุดๆ จำนวนมาก ก็มาโจมตี และแก้ตัว ทำนองว่า "ทำไม่ได้" "อำนาจไม่ได้อยู่ในมือ รบ." ตอนหลัง พอ นปช เริ่มเปลี่ยนท่าที เสียงทำนองนี้ เริ่มน้อยลงไปบ้าง แต่ทุกครั้ง ถ้าผมหรือใครพูดทำนองนี้ ก็จะมีการมาแก้ตัวทำนองที่ว่าอีก
แต่ผมว่า คลิปเสียง ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ประเด็น ช่วยมวลชนนั้น เป็นแบบที่ผมเขียนมาตลอดคือ ปัญหาไมใช่อยู่ทีว่า "ทำไม่ได้" หรือ "อำนาจไม่อยู่ในมือ" อะไรตามที่อ้าง
แต่อยู่ที่ การให้ความสำคัญ หรือการให้ priority มากกว่า ถ้าตั้งใจจะทำจริงๆ ให้ priority จริงๆ ก็ทำได้ หรือ ลองทำได้
อย่างที่ผมเขียนมาตลอดว่า เวลาช่วยคุณทักษิณ - ซึ่งผมก็ไม่เคยปฏิเสธ - รบ. จะ "กระตือรือร้น" และทุ่มเทมาก เช่น คราว ผลักดัน พรบ.ปรองดอง แต่กรณีมวลชนนั้น ไม่เคยแม้แต่จะ "นับหนึ่ง" จริงๆด้วยซ้ำ  และนี่เป็นประเด็นสำคัญ ที่ "เกี่ยว" กับเสื้อแดง แน่ๆ
ถ้าเป็นไปอย่างที่นายสมศักดิ์ว่าก็คือรัฐบาลและพ.ต.ท.ทักษิณไม่มีความจริงใจที่จะนิรโทษกรรมให้กับคนเสื้อแดง ก็ทำให้พอมองเห็นว่า จะไม่มีการนิรโทษกรรมใดๆเกิดขึ้นหากตัวเองไม่ได้ประโยชน์ ใช่หรือไม่ หรือจะเรียกว่าเป็นการจับเอาคนเสื้อแดงเป็นตัวประกัน
ก็ให้ลองพิจารณาจากความพยายามของบรรดาญาติผู้สูญเสียที่เริ่มรอไม่ไหว้กับการผัดวันประกันพรุ่งของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่พร้อมจะหาสารพัดเหตุผลมาเป็นข้ออ้างต่อคนเสื้อแดง
และถ้าหากในเร็วๆนี้มีการนำเสนอร่างพรบ.นิรโทษกรรมฉบับของญาติผู้สูญเสียเข้าสภาก็จะทำให้มีร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการล้างผิดมีมากถึง 7 ฉบับด้วยกัน
ร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ 4 ฉบับที่ค้างการพิจารณามาตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 31 พ.ค. 2555 คือ
1.ร่างของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ
2.ร่างของ นายนิยม วรปัญญา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย
3.ร่างของ นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย  พรรคเพื่อไทย
4.ร่างของ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย
5.ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ที่เสนอโดยนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย
6.ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ฉบับของร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย
และ7.ถ้าหากมีการเสนอและบรรจุในวาระการประชุมของสภาก็คือ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ประชาชนซึ่งได้กระทำความผิดความสงบเรียบร้อยหรือต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความ ขัดแย้งทางการเมือง ภายหลังการยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549
ทั้งนี้ดูเหมือนว่าร่างพรบ.ฉบับสุดท้ายจะมีชื่อที่ยืดยาวและแฝงให้เห็นถึงเจตนาซ่อนเร้นบางประการหรือไม่ โดยเฉพาะการที่บอกว่าเป็นการนิรโทษกรรมผลที่มาจากการกระทำตั้งแต่การยึดอำนาจรัฐโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
โดยเลือกที่จะใช้คำหรือประโยคที่อาจทำให้เกิดการตีความเรื่องการทำรัฐประหาร กับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น