วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ล้างผิดเผาเพื่อทักษิณ นปช.เริงร่าสภาถกวาระแรกปูหนูไม่รู้แค่หนึ่งเสียงนิรโทษ เมื่อ 25 ก.ค.56

ล้างผิดเผาเพื่อทักษิณ นปช.เริงร่าสภาถกวาระแรกปูหนูไม่รู้แค่หนึ่งเสียงนิรโทษ


วิปรัฐบาลเคาะ 7 ส.ค. เดินหน้าพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับวรชัย เขี่ยฉบับแม่น้องเกดทิ้ง อ้างขั้นตอนเยอะ "ยิ่งลักษณ์" ใสเซ่อ "เป็นเรื่องของสภาค่ะ ดิฉันก็เป็นเสียงหนึ่งในสภาอย่างเดียวค่ะ"   ขอความกรุณาชุมนุมกันเงียบๆ ขณะที่เสื้อแดงซูฮกเพื่อไทยสุดยอด "ตุ๊ดตู่" พร้อมร่วมรบทุกสถานการณ์  "ธิดา" นัดชุมนุมแกนนำแดง 3 ส.ค. ส่วนองค์การพิทักษ์สยามยืนยัน 4 ส.ค.เจอกัน
    เมื่อวันพุธที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เพื่อหารือวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 7 สิงหาคม  หลังร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 กลับเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2-3 ไม่ทันตามกำหนด ขณะที่มวลชนเสื้อแดงต่างเรียกร้องให้สภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ.... ฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ ที่ถูกเลื่อนขึ้นมาในลำดับที่ 1 ในสมัยประชุมที่แล้ว
    นายอำนวย คลังผา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย   ในฐานะประธานวิปรัฐบาล แถลงภายหลังการประชุมว่า วิปฯ มีมติให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนายวรชัยกับคณะเป็นผู้เสนอ ในวันที่ 7 สิงหาคม เพราะเป็นวาระที่ได้เลื่อนค้างไว้ตั้งแต่สมัยประชุมที่ผ่านมา ทั้งนี้ จะเป็นการประชุมเฉพาะวาระ 1 คือรับหลักการ ส่วนจะนำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับอื่นๆมาร่วมพิจารณาด้วยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสมาชิกในสภา และที่สำคัญ อยู่ในวาระถัดลงไป ทั้งนี้ การพิจารณาในวาระ 1 จะเป็นเสร็จภายใน 1 วันหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการอภิปรายของสมาชิก
    เขาแจงว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน เห็นว่ายังมีขั้นตอนอีกมาก เพราะต้องยื่นให้ประธานสภาฯ และจากนั้นประธานสภาฯ ก็ต้องส่งให้กระทรวงมหาดไทยตรวจสอบรายชื่ออีก อย่างไรก็ตาม เรื่องการรักษาความปลอดภัยในขณะที่ประชุมพิจารณาร่างดังกล่าวเป็นเรื่องของตำรวจที่ต้องดูแลความเรียบร้อย
     นายอำนวยกล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 ตามปฏิทินจะมีการพิจารณาในวันที่ 14-15 สิงหาคม ส่วนร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ พ.ศ.... วงเงิน 2 ล้านล้านบาท (พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน) คาดว่าจะส่งให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ภายในสัปดาห์แรกของการเปิดสมัยประชุม และกำหนดให้พิจารณาต่อจากร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ส่วนร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ทั้ง 3 ฉบับ ขณะนี้ยังไม่เรียบร้อย ดังนั้นที่นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ว่าจะมีการพิจารณาในวันที่ 6-7 สิงหาคม เป็นการคาดการณ์เท่านั้น ส่วนเรื่องแถลงผลงานรัฐบาลครบรอบ 1 ปี ที่ประชุมวิปรัฐบาลยังไม่มีการหารือ
    วันเดียวกันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงมติของวิปรัฐบาลว่า กลุ่มผู้ชุมนุมที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านนั้น เราคงต้องขอความร่วมมือ เพราะอยากให้การชุมนุมนั้นเป็นการชุมนุมโดยสงบ และอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ซึ่งเป็นสิทธิทางประชาธิปไตยที่คุณจะทำได้
    "ขอความกรุณาสื่อมวลชนนำเสนอต่างๆ ให้ครบทุกประเด็นทุกมุม เพราะเราเองไม่อยากให้ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง เราอยากเห็นการนำเสนอที่เรียกว่าเป็นความแตกต่าง ที่แต่ละคนจะได้ใช้วิจารณญาณและช่วยกันแก้ปัญหาประเทศ เพราะปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาของทั้งประเทศ ถ้าเราสามารถนำเสนอและทุกคนเห็นส่วนใดที่มีความเห็นสอดคล้องต้องกันแล้วทำได้ และทำให้ประเทศเดินหน้าได้ ความสงบก็จะเกิดขึ้น”
"เรื่องของสภาค่ะ"
    เมื่อถามว่า ในวันที่ 26 ก.ค. ที่จะเข้าประชุมสภากลาโหมเป็นครั้งแรก จะมีการผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าในที่ประชุมหรือไม่ รมว.กลาโหมตอบพร้อมส่วยหน้าว่า ไม่มีหรอกค่ะๆ ยังคงเป็นวาระของสภากลาโหมปกติ ที่ฝ่ายเลขาฯ จะนำเสนอ
    "ไม่มีหรอกค่ะ เราไม่เคยคุยกันเรื่องนี้ เพราะจริงๆแล้วในการประชุมสภากลาโหมคงจะเป็นเรื่องในแต่ละวาระที่จะเสนอตามขั้นตอนไป ซึ่งเป็นวาระการประชุมตามปกติ"
    เมื่อถามย้ำว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมควรที่จะไปอยู่ในกลไกของสภาใช่หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ตอบว่า ใช่ค่ะ จริงๆ ต้องเรียนว่ากรอบการร่าง พ.ร.บ.ต่างๆ จะอยู่ในส่วนของฝ่ายนิติบัญญัติ คือทางสภาเป็นหลักอยู่แล้ว
    ถามว่า ทำไมวันนี้จึงมีการนำเรื่องของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมขึ้นมาพิจารณาก่อน พ.ร.บ.งบประมาณ นายกฯ กล่าวว่า อันนี้ไม่ทราบ เพราะเป็นเรื่องของวิปรัฐบาล แต่เท่าที่ทราบ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นวาระที่คงค้างอยู่ในสภาแล้วตั้งแต่แรก ซึ่งอยู่ที่ทางรัฐสภาจะหารือร่วมกับสมาชิกว่าจะบรรจุร่างใดเป็นร่างแรกที่จะนำเข้ามาพิจารณา การบรรจุก็คงจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่การที่จะนำแต่ละร่างพิจารณา ก็คงต้องหารือในที่ประชุมอยู่แล้ว ซึ่งรัฐบาลเองคงไม่ได้มีส่วนตรงนี้ เรามีหน้าที่เพียงแค่ว่านำส่ง และการบรรจุเป็นเรื่องของประธานสภาฯ
    ซักว่าขณะนี้มี พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชนเกิดขึ้นมา จะนำไปร่วมการพิจารณาหรือไม่ นายกฯ ตอบว่า "เป็นเรื่องของสภาค่ะ ดิฉันก็เป็นเสียงหนึ่งในสภาอย่างเดียวค่ะ "
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 1 ส.ค. ซึ่งเป็นวันเปิดประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไป แต่วาระงานของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย เนื่องจากระหว่างวันที่ 28 ก.ค.-2 ส.ค.นี้ มีกำหนดการเดินทางเยือนสาธารณรัฐแทนซาเนีย, สาธารณรัฐโมซัมบิก และสาธารณรัฐยูกันดา จากนั้นช่วงวันที่ 8-9 ส.ค. นายกฯจะเดินทางไปยัง อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อประชุมเวิร์กช็อประดับปลัดกระทรวงวาระพิเศษ
    ที่พรรคเพื่อไทย ผู้บริหารพรรค นำโดยนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทยและหัวหน้าพรรค, พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รองหัวหน้าพรรค, นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค และนายอุดมเดช รัตนเสถียร ที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล ร่วมแถลงความชัดเจนลำดับร่างกฎหมายที่จะพิจารณาเป็นวาระแรก 
    นายภูมิธรรมกล่าวว่า การประชุมกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 23 ก.ค. เห็นว่าเมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้มีการบรรจุระเบียบวาระร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนายวรชัยเป็นวาระแรกแล้ว พรรคจึงขอยืนยันมติเดิมที่จะพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวตามที่กำหนดไว้ โดยจะเริ่มการพิจารณาในการประชุมสภาวันที่ 7-8 ส.ค.นี้ เชื่อว่าการพิจารณาร่างกฎหมายเพื่อให้ความขัดแย้งในสังคมคลี่คลายลงโดยการนิรโทษกรรมให้ประชาชนทุกฝ่าย ทุกสีเสื้อ โดยไม่เกี่ยวกับแกนนำจะช่วยคลี่คลายความขัดแย้ง และไม่นำไปสู่สถานการณ์รุนแรงอย่างที่มีความวิตกกังวล หลังจากนี้จะมอบหมาย ส.ส.และสมาชิกไปชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน รวมถึงการทำความเข้าใจกับพรรคร่วมรัฐบาลต่อไป นอกจากนี้จะนำมติดังกล่าวชี้แจงกับ ส.ส.ในการประชุมพรรควันที่ 30 ก.ค.นี้  
อ้างโพลมหาดไทย
    ถามถึงกระบวนการและระยะเวลาการพิจารณาตั้งแต่วาระแรกจนถึงการประกาศบังคับใช้ นายภูมิธรรมแจงว่า การพิจารณาวาระแรก ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันที่ 7-8 ก.ค.นี้ ยังไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่ใช้ในการอภิปราย ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ถ้ายังหาข้อสรุปไม่ได้ แล้วไปสรุป ก็จะเป็นปัญหาอีก เหมือนที่เกิดขึ้นในอดีต
     นายจารุพงศ์กล่าวว่า การนิรโทษกรรมเป็นสิ่งที่เคยทำมาแล้วในอดีต เป็นเรื่องปกติเมื่อการทำรัฐประหารหรือมีสถานการณ์การเมืองที่หาทางออกไม่ได้ และจากเวทีสานเสวนา ซึ่งดำเนินการโดยกระทรวงมหาดไทย สอบถามความเห็นประชาชน 75,000 ตัวอย่าง รวมถึงการศึกษาของกรรมาธิการคณะต่างๆ  รวมทั้งสถาบันการศึกษา ภาพรวมเห็นสมควรให้มีการนิรโทษกรรม นี่จึงเป็นที่มาของการผลักดันกฎหมายดังกล่าว
    ที่น่าสนใจคือ นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ยืนยันว่า วันที่ 7 ส.ค.นี้ หากมีการรับหลักการร่างกฎหมาย ก็จะเป็นการพิจารณาเฉพาะร่างของนายวรชัยเท่านั้น ร่างอื่นไม่เกี่ยว
    ที่ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียล ลาดพร้าว มีการแถลงข่าวแสดงความยินดีกับมติวิปรัฐบาล นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. แถลงว่า วันนี้พรรคเพื่อไทยได้รับฟังเสียงของคนเสื้อแดง โดยมีมติให้นำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับของนายวรชัย เหมะ พิจารณาในสภาเป็นวาระแรก เพราะฉะนั้นพวกเราคนเสื้อแดงพร้อมยืนหยัด และพร้อมต่อสู้ร่วมกับพรรคเพื่อไทยทุกเมื่อทุกสถานการณ์ เราต้องรักษาอำนาจ รักษาประชาธิปไตยให้ยาวนานที่สุด หากเราสามัคคีร้อยเปอร์เซ็นต์ จะนำมาสู่ชัยชนะ หากให้ไปสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ไปตายดีกว่า ส่วนความเห็นที่แตกต่างระหว่างเพื่อไทยกับคนเสื้อแดงนั้น พวกเราเป็นเหมือนครอบครัวเดียวกัน ย่อมคุยกันได้ แต่พรรคประชาธิปัตย์เป็นเหมือนคนข้างบ้านเท่านั้น
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายจตุพรแถลงว่ามติของพรรคเพื่อไทยจะนำร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ขึ้นมาพิจารณาในสภาเป็นวาระแรก ทำให้คนเสื้อแดงที่ร่วมฟังแถลงข่าวต่างตบมือไชโยโห่ร้องด้วยความดีใจ
    นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช. กล่าวว่า เนื้อหาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของนายวรชัยเหมือนกับ พ.ร.ก.ของ นปช. เราจึงขอสนับสนุน แต่เรายังยืนยันให้ออก พ.ร.ก. โดยหาก พ.ร.บ.เกิดการติดขัดด้วยปัญหาอะไรก็แล้วแต่ ก็สามารถนำข้อเสนอ พ.ร.ก.มาใช้แทนได้ ใช้เวลาไม่เกิน 2-3 วันก็ใช้ได้แล้ว ในเมื่อออกกฎหมายมา ทาง พ.ร.บ.คนเสื้อแดงก็ไม่ขัด เพียงแต่อยากให้ออกมาโดยเร็วเท่านั้น
    เธอสั่งการว่า ขอให้พี่น้องเสื้อแดงทุกคนอยู่ในหลักระเบียบวินัยและสันติวิธี การชุมนุมครั้งก่อนๆ แกนนำไม่สามารถควบคุมได้ทั่วถึง ขอให้ทุกคนต้องมีจิตสำนึก โดยในวันที่ 3 ส.ค. ทาง นปช.ส่วนกลางจะนัดแกนนำคนเสื้อแดงทั้งประเทศมาประชุมพร้อมกัน ที่หอประชุมที่ไหนสักแห่งยังไม่ได้กำหนด เพื่อรับรู้และวิเคราะห์สถานการณ์ ก่อนมากำหนดบทบาทของแกนนำ นปช.ทั่วประเทศ นอกจากนี้ ตอนนี้ฝ่ายตรงข้ามกำลังสร้างกองทัพประชาชน เราก็จะสร้างกองทัพคนเสื้อแดงผู้รื่นเริงขึ้นมา ในชื่องาน “สุขสันต์วันเกิดอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร” โดยจะจัดเป็นเวลา 3 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค. วัดแจ้งศิริสัมพันธ์ จ.นนทบุรี และที่ กทม. ในวันที่ 27 ก.ค. ที่โรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ และวันที่ 28 ก.ค. ที่วัดจันทร์ประดิษฐาราม ซึ่งจะมีแกนนำ นปช.ส่วนกลาง มาร่วมงานอย่างคับคั่ง
อพส.ยืนยันชุมนุม 4 ส.ค.
      ขณะที่ พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ ประธานองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) ยืนยันมีการชุมนุมวันที่ 4 ส.ค.นี้อย่างแน่นอน จะเป็นที่ใดนั้น เมื่อถึงกำหนดเวลาจะบอกอีกครั้ง ทั้งนี้คงจะไม่ประสานกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจในเรื่องการชุมนุม เพราะเคยประสานไปแล้วถูกหลอก
    ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรค แถลงว่า พรรคประชาธิปัตย์พร้อมที่จะเปิดเวทีหารือเพื่อนำไปสู่การปรองดองโดยไม่ทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรมของประเทศ และจะร่วมขับเคลื่อนตามเงื่อนไขที่เป็นจุดยืนของพรรค ดังนั้นรัฐบาลต้องเลิกผลักดันกฎหมายล้างผิดคนโกง ทำร้ายทหาร ประชาชน เผาบ้านเผาเมือง เพราะถ้าปล่อยให้กฎหมายของนายวรชัยผ่านไปได้ ผู้ที่สังหารหมู่ 6 ศพที่วัดปทุมฯ จะได้รับการนิรโทษกรรมล้างผิดทันที
    เขากล่าวว่า กฎหมายของนายวรชัยก็ยังโน้มเอียงที่จะนิรโทษกรรมให้กับคนที่ทำผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 เพราะมีการระบุไว้อย่างกว้างๆ ว่า ให้ครอบคลุมถึงการกระทำที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ทั้งทางวาจา เรียกร้องให้มีการต่อต้านรัฐ ฯลฯ จึงตีความได้ว่าคนทำผิดมาตรา 112 รวมอยู่ในกลุ่มที่จะได้รับนิรโทษกรรมจากร่างกฎหมายนี้ด้วย
    ส่วน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกคณะรัฐมนตรี (ครม.) เงา แถลงภายหลังการประชุม ครม.เงา โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานว่า ที่นายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคจะเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้น ถือว่ามีสิทธิที่จะเสนอได้ แต่จะต้องผ่านการพิจารณาของกรรมการพิจารณากฎหมายของพรรค  ก่อนจะเข้าสู่ที่ประชุมพรรคอีกครั้งหนึ่ง จึงจะตัดสินใจ  ซึ่งพรรคยังไม่ได้พิจารณารายละเอียดในร่างที่นายอลงกรณ์จะเสนอ
    นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่นายอลงกรณ์บอกว่าความเห็นของนายอภิสิทธิ์เป็นความเห็นส่วนตัวนั้น ไม่ใช่อย่างที่นายอลงกรณ์เข้าใจ เพราะเรื่องนี้พรรคมีมติมานานแล้ว ซึ่งนายอลงกรณ์อาจจะลืมไป จึงขอย้ำว่า การไม่เสนอร่างนิรโทษกรรมประกบ เป็นจุดยืนและเป็นมติพรรค แต่ถ้านายอลงกรณ์จะเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ส.ส. ก็สามารถทำได้ เพราะเป็นเรื่องใหม่ และต้องดูว่าจะโน้มน้าวใจให้ที่ประชุม ส.ส.เปลี่ยนแปลงมติเดิมได้หรือไม่
    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวว่าอาจมีการนำ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสู่ที่ประชุมสภากลาโหมในวันที่ 26 ก.ค.นี้ว่า ในความรู้สึกของตนคือจะไม่เสนอเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องทางทหารเข้าสู่สภากลาโหม และจะไม่เสนอเรื่องใดที่กระทำให้ขัดแย้งกับกฎหมายอื่นๆ เราคงทำไม่ได้ ซึ่งตนไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่เท่าที่ทราบ กองทัพไม่ได้เสนอเรื่องนี้เข้าไป และเท่าที่พูดคุยกับทุกเหล่าทัพก่อนหน้านี้ ก็ไม่มีใครคิดจะเสนอเรื่องนี้เข้าไปด้วย และนายกรัฐมนตรีพูดแล้วว่าจะไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นขอร้องว่าขอให้ตัดประเด็นดังกล่าวนี้ออกไปจากทางทหารได้หรือไม่
    มีความเคลื่อนไหวของนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดา น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายชุมนุมปี 2553 พร้อมญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ประมาณ 10 ราย เข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า เพื่อขอรับการสนับสนุนร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับญาติผู้เสียชีวิต
    โดยนางพะเยาว์เชื่อว่า จะสามารถผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้เข้าสู่สภาได้ก่อนวันที่ 7 ส.ค.นี้ จะไม่เป็นการทำให้กฎหมายฉบับอื่นล่าช้าไปด้วย และไม่ยอมรับร่างของนายวรชัย ที่นิรโทษกรรมให้ทุกฝ่าย รวมทั้งทหาร ตำรวจ โดยไม่รู้ว่าวิปรัฐบาลได้บอกปัดไปแล้วด้วยข้ออ้างต้องผ่านขั้นตอนอีกเยอะ
    เป็นที่น่าสังเกตว่า วันเดียวกันนี้ ตัวแทนกลุ่มญาติวีรชน 10 เมษายน และ 19 พฤษภาคม ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับนางพะเยาว์ เข้าพบนายวรชัย เพื่อยื่นหนังสือสนับสนุนร่างของนายวรชัย โดยระบุว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้เป็นการนิรโทษกรรมทหารและผู้สั่งการ ถ้าต่างฝ่ายไม่ถอยคนละก้าว ประเทศก็จะเดินไม่ได้
    นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสี ให้สัมภาษณ์ว่า ขั้นตอนการพิจารณาของสภาสามารถปรับเปลี่ยนเนื้อหาได้ในชั้นคณะกรรมาธิการฯ และการพิจารณาในวาระที่ 2 แน่นอนว่าเมื่อถึงขั้นตอนนั้นจะต้องมีบรรดาสมาชิกพรรคเพื่อไทยออกมาสนับสนุนให้ปรับปรุงเนื้อหาให้สุดซอยอยู่แล้ว เพราะเป้าหมายที่แท้จริงของคนกลุ่มนี้อย่างไรก็ต้องการช่วย พ.ต.ท.ทักษิณให้พ้นผิด
    เขาบอกว่า เบื้องต้นในส่วนท่าทีของเราจะขอดูการชุมนุมของ อพส. ในวันที่ 4 ส.ค.ก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ และต้องดูว่าจะมีการต่อเนื่องไปจนถึงวันพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมในวันที่ 7 ส.ค.ด้วยหรือไม่
    ส่วนนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) กล่าวว่า
พธม.ยังไม่ได้มีการหารือในเรื่องนี้ ต้องมีการประชุมกันของแกนนำ พธม.เสียก่อน ซึ่งแนวโน้มจะเป็นอย่างไรนั้นยังตอบไม่ได้
.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น