คำเตือนจากทหารของประชาชน
การออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มนายทหารเก่าที่เรียกตัวเองว่า "เสนาธิการร่วมกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ" เพื่อยื่นข้อเรียกร้อง 6 ข้อให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เร่งรัดดำเนินการภายใน 7 วันมิเช่นนั้นก็จะชุมนุมกันในวันที่ 4 สิงหาคมศกนี้ อาจจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแง่มุมต่างๆ จนถึงขั้นดูแคลนจากกลุ่มสมาชิกพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำสำคัญของรัฐบาล ภายใต้การกำกับดูแลและบริหารจัดการของตระกูลชินวัตร แต่นัยสำคัญที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งตอกย้ำยืนยันว่า รัฐบาลที่อวดอ้างตลอดเวลาว่าเป็นรัฐบาลจากเสียงข้างมากของประชาชนนั้น ได้เวลาที่จะต้องทบทวนบทบาท หน้าที่และนโยบายการบริหารจัดการอำนาจของตนเองแล้ว ก่อนที่จะสายเกินไป
ข้อเรียกร้องทั้ง 6 ข้อของทหารแก่ หรืออดีตนายทหารที่เกษียณอายุราชการแล้ว ประกอบด้วย
1.ให้รัฐบาลแสดงจุดยืนในความจงรักภักดีต่อสถาบัน พระมหากษัตริย์ ด้วยการหยุดการกระทำอันไม่ควร การจาบจ้วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ของนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร
2.ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม และ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.กลาโหม ลาออกจากตำแหน่ง
3.ให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาข้าวยากหมากแพง ด้วยการยุติการขึ้นราคาแก๊สหุงต้ม และลดราคาน้ำมันทุกประเภท ด้วยการดำเนินการให้ ปตท.หยุดการค้ากำไรเกินควร เอาเปรียบประชาชน และปฏิรูป ปตท. ให้กลับมาเป็นของประชาชนโดยทันที
4.ให้รัฐบาลยุติโครงการกู้เงินเพื่อบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม หรือ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เพราะเห็นชัดแล้วว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ
5.ให้รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง และร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทุกฉบับที่เสนอ เพื่อล้างผิดฟอกโทษต่อนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร และ
6.ให้รัฐบาลดำเนินการเอาผิดกับผู้ทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวทุกขั้นตอน ยกเลิกการตั้งกรรมการสอบสวน น.ส.สุภา ปิยะจิต รองปลัดกระทรวงการคลัง รวมทั้งคืนตำแหน่งให้นายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งศาลโดยทันที
ในการยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าว กลุ่มนายทหารร่วมกองทัพประชาชนอาจจะไม่มี "ไม้ตาย" หรืออำนาจใดๆ ที่จะมาบีบบังคับรัฐบาลให้กระทำตาม แต่ถ้าพิจารณาในสาระรายละเอียดทั้ง 6 ข้อแล้ว รัฐบาลน่าจะตระหนักรู้ว่า มิได้แตกต่างจากความรู้สึกและความต้องการของประชาชนกลุ่มอื่นๆ หรือคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยเลย แม้กระทั่งในข้อที่ 5 อันเกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์ที่ยึดโยงกับรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยโดยตรง ก็ปรากฏว่ากลุ่มคนเสื้อแดงที่ได้ชื่อเป็นฐานเสียงสำคัญของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็สะท้อนความคิดไม่เห็นด้วย ฉะนั้น การดันทุรังไม่สนใจต่อคำเตือนหรือข้อเรียกร้องของอดีตนายทหารในครั้งนี้ โดยการตอบโต้หรือตั้งข้อกล่าวหาว่า "ขาประจำ" ไม่มีน้ำยา ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และเสถียรภาพของรัฐบาล เพราะอย่างน้อยที่สุด ทหารก็คือประชาชนคนหนึ่งที่รัฐบาลประชาธิปไตยต้องใส่ใจมิใช่หรือ.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น