วันอังคารที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ลับ ๆล่อ ๆ เข้าสภานิรโทษ พท. ยื้อคิว พ.ร.บ. โยนวิปรัฐบาลชี้ขาดลุยไฟม็อบต้านกร้าวจัดหนักเเน่ เมื่อ 23 ก.ค.56



ลับ ๆล่อ ๆ เข้าสภานิรโทษ พท. ยื้อคิว พ.ร.บ.

โยนวิปรัฐบาลชี้ขาดลุยไฟม็อบต้านกร้าวจัดหนักเเน่

นิรโทษฯ ลับๆ ล่อๆ “วิปรัฐบาล” สับขาหลอก กั๊กดันร่างวรชัยถกวาระแรก 7 ส.ค.นี้ โยน 24 ก.ค.ได้ข้อสรุป ขณะที่ “ส.ส.แดง” เสียงแข็งจี้ดันนิรโทษฯ ถกวาระแรก ชี้กลุ่มต้านหน้าเดิมไม่ต้องกลัว กล้าพูดม็อบป่วนต้องจัดการตามกฎหมายขั้นเด็ดขาด ด้าน “ปชป.” ย้ำจุดยืน ต้านนิรโทษฯ คนโกง-เผาเมืองหัวชนฝา เตือนดึงดันบ้านเมืองลุกเป็นไฟแน่ จี้รัฐพิสูจน์จริงใจปรองดอง ถอนทุกฉบับพ้นสภา หันหน้าจับมือทำฉบับเดียวที่ทุกฝ่ายยอมรับ ส่วน “มาร์ค” เบรกอลงกรณ์ชง กม.นิรโทษฯ ฉบับ ปชป. หวั่นตกเป็นเหยื่อฝ่ายรัฐบาล ขณะที่ “จ้อน” เมินยันมีสิทธิ์เสนอ ปชป. ลั่นเอาไม่เอาอยู่ที่ กก.บห.พรรค สอนพรรคการเมืองเก่าแก่ต้องร่วมหาทางออกเพื่อชาติ ไม่ใช่แค่วิพากษ์วิจารณ์ ด้าน “ม็อบสนามม้า” คึก เตรียมเปิดตัวแม่ทัพคุมกองกำลังปกป้องม็อบขจัดระบอบทักษิณ 25 ก.ค.นี้ โวมีทั้งอดีตนายทหาร-ตร.กว่า 30 คน ย้ำเส้นตายรัฐบาลทำตาม 6 ข้อเรียกร้องใน 27 ก.ค.นี้ ส่วน “พท.” หยันม็อบ อพส. ทหารแก่หลงยุค เย้ยแค่แก๊งนักเลงคุมซอยรับจ๊อบไล่รัฐบาล ท้า เสธ.อ้ายสาบานไร้ทุนหนุน ขณะที่ “สมช.” ผวาม็อบล้มรัฐบาล สั่งจับตาเข้มเชื่อนัยแอบแฝง ขู่นายทุนส่งท่อน้ำเลี้ยงหนุนม็อบ มีหลักฐานโดนแน่
วิปรัฐนิรโทษลับลวงพราง
เมื่อวันที่ 23 ก.ค. นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า การประชุมวิปรัฐบาลในวันที่ 24 ก.ค. เพื่อพิจารณาเสนอร่างกฎหมายสำคัญที่จะเสนอเป็นวาระแรกในการประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไปในเดือนส.ค.นั้น วิปรัฐบาลจะหารือเพื่อหาข้อสรุปเรื่องดังกล่าวในเวลา 10.00 น. วันที่ 24 ก.ค.ที่รัฐสภา แต่เท่าที่วิปรัฐบาลหารือกันอย่างไม่เป็นทางการ ขณะนี้เหลือกฎหมายสำคัญอยู่ 2 ฉบับคือ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเกี่ยวกับเรื่องที่มาของ ส.ว. ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ของวิปรัฐบาลเห็นว่า ควรพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมมากกว่า แต่ยังติดเงื่อนไขต้องรอประเมินสถานการณ์นอกสภาช่วงเปิดสมัยประชุมสภาฯ ประกอบด้วย หากมีทีท่าว่าสถานการณ์การเมืองจะมีความรุนแรง มีม็อบมากดดันปิดล้อมไม่ให้ประชุมสภาฯ ได้ ก็อาจจะนำร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มาของ ส.ว.มาพิจารณาแทน เพราะมีแรงเสียดทานน้อยกว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม รวมถึงคงต้องรอความเห็นจากที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยประกอบด้วย
กั๊กรอ 24 ก.ค.เคาะแน่
นายอำนวย คลังผา ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการประสานไปยังวุฒิสภา เพื่อขอเปิดประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 6-7 ส.ค. เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เรื่องที่มาของ ส.ว. ส่วนจะนำกฎหมายฉบับใดมาพิจารณาเป็นวันแรกในการประชุมสภาฯ วันที่ 7 ส.ค. ต้องรอการประชุมวิปรัฐบาลในวันที่ 24 ก.ค.จะได้ข้อสรุปทั้งหมดว่า จะพิจารณาร่างกฎหมายฉบับใดเป็นวาระแรก แต่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 คงนำมาพิจารณาไม่ทันเป็นวาระแรกแน่ เพราะคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ยังพิจารณาไม่เสร็จ คงนำไปพิจารณาในวันที่ 14-16 ส.ค.ตามกำหนดเดิม
อ้าง กม.ทุกฉบับสำคัญเท่ากัน
นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การพิจารณานำร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาในช่วงเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญทั่วไป วันที่ 1 ส.ค.นี้ เป็นเรื่องที่วิปรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยต้องประสานงานรวมถึงต้องมาถกเถียงข้อดีข้อเสียว่าควรพิจารณาร่างใดก่อน โดยต้องเรียงลำดับความสำคัญของกฎหมายแต่ละฉบับ บางครั้งต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยให้กฎหมายแต่ละฉบับผ่านไปได้ ทั้งนี้ร่างกฎหมายทุกฉบับมีความสำคัญ ทั้งกฎหมายงบประมาณ กฎหมายนิรโทษกรรม จะมาก่อนมาหลังไม่สำคัญเท่ากับกฎหมายทุกฉบับจะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรมและเปิดเผย ผลประโยชน์ของประชาชนต้องได้รับการตรวจสอบ ส่วนจะพิจารณาร่างกฎหมายฉบับใดก่อนนั้น ก็อยู่ที่มติของวิปรัฐบาล
พท.ฉะ ปชป.ต้าน กม.นิรโทษ
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในวันที่ 1 ส.ค.จะเป็นวาระกระทู้ถามสด และกระทู้ถามทั่วไป ส่วนในวันที่ 7-8 ส.ค.จะพิจารณากฎหมายฉบับใดต้องรอความชัดเจนจากการประชุมวิปรัฐบาล ในวันที่ 24 ก.ค. ก่อน ซึ่งวิปรัฐบาลจะเรียงลำดับความสำคัญของกฎหมาย จากนั้นจะนำผลการหารือแจ้งต่อที่ประชุมพรรคเพื่อไทยในวันที่ 30 ก.ค. ให้ลงมติต่อไป เมื่อพรรคมีมติอย่างไรสมาชิกต้องเคารพมติเสียงส่วนใหญ่ของพรรค จากนั้นในวันที่ 31 ก.ค. จะมีการจัดงานสังสรรค์พรรคร่วมรัฐบาลที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ เพื่อพูดคุยกันก่อนเปิดประชุมสภาฯ และแสดงเจตนารมย์ร่วมกันในการพิจารณากฎหมายในการประชุมสภาฯ ยืนยันว่าเสียงของรัฐบาลแน่นปึ้ก ไม่มีเหตุผลที่จะยุบสภาฯ ตามที่มีการปล่อยข่าวในโซเชียลเน็ตเวิร์ค ส่วนกรณีที่นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า หากรัฐบาลเดินหน้าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย มาพิจารณาก่อนจะทำให้บ้านเมืองลุกเป็นไฟ และฝ่ายค้านจะออกมาต่อต้านทั้งในและนอกสภาฯ นั้น แสดงให้เห็นธาตุแท้ของพรรคประชาธิปัตย์ว่า ไม่เคยสำนึกบาปที่บริหารงานจนมีคนตาย 99 ศพ ทั้งๆ ที่ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนายวรชัยเอื้อประโยชน์ให้ทุกกลุ่มโดยไม่รวมแกนนำ การที่พรรคประชาธิปัตย์บอกว่าพร้อมสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชนของนางพะเยาว์ อัคฮาด เชื่อว่าสุดท้ายแล้วพรรคประชาธิปัตย์ก็คงไม่เอาสักฉบับ การเคลื่อนไหวขณะนี้เป็นเกมการเมืองที่ต้องการคัดค้านไม่ให้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนายวรชัยผ่านสภาฯ เท่านั้น เรื่องนี้ไม่ควรนำไปเคลื่อนไหวนอกสภาฯ และยืนยันว่า จะไม่มีการนำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสู่ที่ประชุมสภากลาโหมในวันที่ 26 ก.ค. แน่นอน
ส.ส.แดงจี้ลุยนิรโทษฯ
นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย แกนนำ 42 ส.ส.เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับ ส.ส. กล่าวว่า ช่วงเปิดสภาสมัยสามัญทั่วไป 1 ส.ค. ดูตามเนื้อผ้าและเหตุผลแล้ว ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะเข้ามาอยู่ในการพิจารณาเป็นวาระแรก ในวันที่ 7 ส.ค. เพราะได้คุยกับคณะกรรมาธิการงบประมาณแล้วคิดว่า ในวันดังกล่าวไม่น่าจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณร่ายจ่ายประจำปี 2557 ได้ทัน ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราที่เกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. ก็ไม่น่าจะเข้าทันเช่นกัน ส่วนเรื่องของ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทก็ยังไม่เสร็จดี อีกทั้งยังมีการยื่นตีความอยู่ ก็ไม่รู้ว่าพรรคจะกล้าหรือเปล่า ขณะที่กฎหมายอื่นใดก็ยังไม่มีความจำเป็นต้องเลื่อนขึ้นมาพิจารณา ดังนั้นจึงมีเรื่องเดียวที่จะพิจารณาคือ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน เงื่อนไขที่ติดขัดก็เห็นจะเป็นกลุ่มต่อต้านหน้าเดิมๆ รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องกลัวอะไรทั้งสิ้น เราถอยไม่ได้แล้ว รัฐบาลจะล้มก็ให้มันรู้ไปแต่อย่างน้อยก็ล้มบนตักประชาชน รัฐบาลต้องใช้กลไกของรัฐเข้ามาดูแลม็อบอย่างเข้มงวด แต่เคารพสิทธิ ไม่ใช้ความรุนแรง แต่ถ้ามีการทำอะไรเกินเลยถึงขั้นบุกสภาก็ต้องจัดการตามกฎหมายขั้นเด็ดขาด
ปชป.เตือนบ้านเมืองลุกเป็นไฟ
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หากมีการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมให้มีการพิจารณาในสภาจะสร้างบรรยากาศความขัดแย้งรุนแรงในประเทศไทยอีกครั้ง จุดยืนของพรรคได้เสนอไปอย่างชัดเจนแล้ว รัฐบาลต้องตัดสินใจซึ่งพรรคพร้อมให้ความร่วมมือ หากอยู่บนผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง โดยในวันที่ 6-7 ส.ค. จะเป็นช่องว่างที่อาจมีการเสนอกฎหมายเข้ามาพิจารณาได้ จึงอยากให้รัฐบาลใช้โอกาสดังกล่าวแถลงผลงานครบรอบ 1 ปี ก่อนจะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 57 ในสัปดาห์ถัดไป แต่ถ้ารัฐบาลไม่แถลงผลงานครบรอบ 1 ปี ก็อาจจะพิจารณาตามที่มีข่าวลือว่าจะประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็อาจทำได้เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้นำเสนอร่างนิรโทษกรรม และขอให้เปิดโอกาสให้พรรคได้หารือกับญาติประชาชน ซึ่งยังต้องปรับรายละเอียดเกี่ยวกับเนื้อหาว่าต้องไม่ครอบคลุมคดีทุจริตคอรัปชั่น คดีประทุษร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สินของราชการ-เอกชน และคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หากรัฐบาลเปิดโอกาสให้มีการหารือร่วมกันก็ไม่เห็นเหตุผลที่รัฐบาลจะต้องเสนอร่างของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทยอีกต่อไป แต่มีเหตุผลเดียวที่จะต้องพิจารณาร่างนี้ก็เพื่อให้นิรโทษแกนนำคนเสื้อแดงและ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงเรียกร้องให้คำนึงถึงประชาชนไม่เช่นนั้นบ้านเมืองจะเข้าสู่ความขัดแย้ง เพราะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่จะทำให้บ้านเมืองเดินหน้าสู่ความสงบสุขและความปรองดองได้ เป็นการพิสูจน์ระหว่างนักการเมืองที่รักษาระบบนิติรัฐนิติธรรมกับนักการเมืองหากินทางการเมืองใช้ชีวิตประชาชนเข้าสู่อำนาจและล้างความผิดให้ตัวเอง จึงอยากให้รัฐบาลเลิกเอาประชาชนเป็นตัวประกัน ร่วมมือกับพรรคประชาธิปัตย์ปลดปล่อยประชาชนที่ทำความผิดลหุโทษออกมา
เบรกจ้อนชง กม.นิรโทษฉบับ ปชป.
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า จุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ เกี่ยวกับการนิรโทษกรรม ไม่มีอะไรที่แตกต่างไปจากแนวคิดของนายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เราสามารถนำร่างของนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดา น.ส.กมนเกด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตช่วงการชุมนุมปี 53 มาเป็นตัวตั้งได้ แต่นายอลงกรณ์ให้ย้อนไปถึงปี 2548 คือไม่ใช่แค่นิรโทษกรรมเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดง และไม่นิรโทษกรรมพวกเผาสถานที่ราชการ คนที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไม่นิรโทษกรรมคนทุจริต แนวทางการดำเนินการต้องมาพูดคุยกัน ควรให้ทุกพรรคการเมืองและญาติผู้เสียชีวิตจะเป็นญาติฝ่ายผู้ชุมนุม ญาติตำรวจ ทหารที่เสียชีวิตและกลุ่มมวลชนต่างๆ มาร่วมกันพิจารณาในหลักง่ายๆ ว่า คดีแต่ละประเภท คดีประเภทไหนสมควร หรือไม่สมควรที่จะได้รับการนิรโทษกรรม ถ้าได้จุดร่วมตรงไหนก็เสนอตรงนั้นก็จะเป็นกระบวนการปรองดอง ซึ่งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง หรือ คอป. สามารถเข้ามามีบทบาทได้ แม้ว่าจะหมดวาระไปแล้ว อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลยังไม่ถอนร่างปรองดองและนิรโทษกรรมที่ค้างอยู่ในสภาออกไปกระบวนการปรองดองตามแนวทางนี้ก็ไม่สามารถเริ่มต้นได้ เพราะจะไม่มีหลักประกันความชัดเจนว่าเวลาที่มีการเสนอกฎหมายเข้าไปแล้ว รัฐบาลจะไม่ย้อนกลับไปเอาร่างของตัวเอง ดังนั้น ขั้นแรกต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลก่อนว่า อยากปรองดองจริงหรือไม่ ถ้าอยากปรองดองจริง ทำไมเรื่องนี้ที่สามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสจากเดิมที่จะมีความขัดแย้งก็มาทำร่วมกัน และเป็นการพิสูจน์ว่าที่พูดเรื่องปรองดองหรือนิรโทษกรรม ตกลงจะทำเพื่อประชาชนจริงๆ ไม่ใช่เพื่อนักการเมือง แกนนำ หรือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ย้ำหนุนนิรโทษฉบับ ปชป.
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ไม่เข้าใจว่าไปคิดถึงขั้นที่ว่าร่างของคุณพะเยาว์มีคนอยู่เบื้องหลังได้อย่างไร แต่ที่วิตกกังวลกันว่าไม่อยากใช้ร่างฉบับของญาติผู้เสียหายหรืออย่างที่ผมเสนอมันขัดกับผลประโยชน์ของเขา เพราะใจเขาจริงๆ คือต้องการช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ แล้วเอาคนอื่นมาบังหน้า ตรงนี้กำลังฟ้องออกมาจึงมีอาการมากหน่อย ถึงขั้นไปพูดจาทำนองว่าฝ่ายประชาธิปัตย์คิดจะไปลอยแพทหาร ซึ่งไม่มีความจริงเลย เพราะในส่วนของเจ้าหน้าที่ผมบอกว่าไม่ต้องเขียนอะไรเลยเพราะเท่าที่เป็นอยู่ก็เดินหน้าต่อไปได้ วันนี้เป็นการพิสูจน์รัฐบาลว่าอยากทำเรื่องปรองดองหรือล้างผิด พ.ต.ท.ทักษิณ ล้างผิดแกนนำ ล้างผิดคนเผา คนที่ก่อการร้าย ถ้ารีบก็แสดงว่าอยากช่วยคนเหล่านี้ไม่ได้ช่วยประชาชนธรรมดา” นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า หากรัฐบาลไม่ถอนร่างกฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมที่ค้างในสภาออกไปก็จะเป็นเครื่องฟ้องตัวเองว่า ไม่คิดทำเรื่องปรองดอง แต่คิดทำเพื่อช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ช่วยแกนนำ คนเผาเท่านั้น สังคมจะได้ทราบ ยืนยันว่าถ้าคิดแบบนี้บ้านเมืองก็ขัดแย้งมาก เพราะวาระของสภาก็ยังไม่มีความชัดเจนซึ่งต้องรอประธานสภาส่งวาระออกมา และต้องดูท่าทีของวิปที่จะประชุมกันวันที่ 24 ก.ค. ทั้งนี้ หลักของการปรองดอง ยืนยันว่าไม่มีที่ไหนที่ใช้เสียงข้างมากมายัดเยียดความคิดให้ การปรองดองมีแต่หาจุดร่วมและทำในสิ่งที่มีความเห็นร่วมกัน ซึ่งความเห็นร่วมกันจะเกิดได้ต้องถอนร่างกฎหมายในสภาออกมาก่อนแล้วทำฉบับเดียวร่วมกันจึงจะเป็นการปรองดองที่ดีที่สุด
“จ้อน” โต้มีสิทธิเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ
นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ตนจะเสนอนั้น มีทั้งหมด 8 มาตรา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2-3 วันนี้ โดยจะมีการเสนอเข้าที่ประชุม ส.ส.พรรค ในวันที่ 30 ก.ค.นี้ เพื่อให้พรรคพิจารณา โดยร่างดังกล่าวยึดสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับประชาชนเป็นหลัก แต่จะมีการปรับปรุง 2-3 ประเด็นที่นายอภิสิทธิ์ ได้ให้ความเห็น ซึ่งขึ้นอยู่กับที่ประชุมพรรคจะเห็นชอบหรือไม่ ทั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์มีความชัดเจนมาแต่ต้นว่าเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมให้ประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง ซึ่งก็เป็นจุดยืนที่พรรคยืนยันมาโดยตลอด เพียงแต่ยังไม่มีการริเริ่มให้มี พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับของพรรค แต่เมื่อมีร่างกฎหมายฉบับประชาชนเสนอมาก็สะท้อนให้เห็นว่า ร่างกฎหมายต่างๆ ที่บรรจุในวาระสภาไม่สามารถตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาของประชาชนได้ ส่วนที่นายอภิสิทธิ์ ยืนยันจะไม่มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประกบนั้น เป็นความเห็นของนายอภิสิทธิ์แต่ ส.ส.มีสิทธิ์เสนอเข้าที่ประชุมพรรค ซึ่งตนคิดว่าเราต้องมองภาพการเมืองในวันนี้ จะคิดเล็กคิดน้อย เล่นแง่เล่นมุมทางการเมืองไม่ได้ พรรคประชาธิปัตย์ต้องหาทางออกให้กับประเทศ โดยต้องดำเนินการที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่วิพากษ์วิจารณ์ให้ความเห็น เพราะเป็นพรรคการเมืองใหญ่ เคยเป็นทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน จึงถึงเวลาที่บทบาทหน้าที่ของพรรคต้องเปลี่ยนแปลง ขณะที่พรรคเพื่อไทยเองก็ไม่มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในส่วนของพรรคเหมือนกัน และไม่จำเป็นที่เราต้องไปทำตามหรือฟังคนอื่น แต่เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะที่เป็นพรรคการเมืองหลักของประเทศ จำเป็นต้องเสนอจะได้มีแนวทางชัดเจน โดยสังคมสามารถจับต้องได้ ภายใต้กรอบนิติรัฐ นิติธรรม
อพส.เปิด ผบ.กองกำลังปกป้องม็อบ
วันเดียวกัน ที่สนามม้านางเลิ้ง นายไทกร พลสุวรรณ เสนาธิการร่วม กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ แถลงว่า การเคลื่อนไหวของกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ ยึดตามกรอบรัฐธรรมนูญ หากตัวแทนรัฐบาลอ้างว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ไม่ได้หมายความว่าได้รับอนุญาตให้โกงกินภาษีของประชาชนได้ และข้อเรียกร้องทั้ง 6 ข้อ ที่ได้เสนอไป ไม่ใช่ข้ออ้างในการชุมนุม แต่เป็นความต้องการของประชาชนทั้งประเทศ หากรัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลที่ดี มีจิตสำนึกก็ควรปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง และยังหวังว่ารัฐบาลจะทำตามข้อเรียกร้องดังกล่าว ส่วนกรณีที่มีผู้ออกมาระบุว่ามีเงินทุนเหลือจากการชุมนุมจำนวน 3 พันล้านบาทนั้น เป็นเรื่องไร้สาระ ที่ผ่านมาก็ไม่เคยใช้เงินว่าจ้างใครมาชุมนุม ผู้ที่มาร่วมต่างมาด้วยความรักชาติ ในวันที่ 25 ก.ค.นี้ ทางกองทัพประชาชนฯ จะมีการเปิดตัวแนวร่วมระดับผู้บัญชาการ ที่มาจากนายทหารและตำรวจนอกราชการกว่า 30 คน ที่จะจัดตั้งเป็นกองกำลังปกป้องประชาชน เพื่อคอยดูแลผู้ชุมนุม นอกจากนี้ก็ยังมีนายทหารและตำรวจในราชการ ที่มีแนวคิดเช่นเดียวกับทางกลุ่มจำนวนไม่น้อยอยู่ด้วย แต่ไม่สามารถเปิดเผยตัวได้เพราะจะกระทบกับการทำงาน นอกจากนี้ก็ยังมีนักวิชาการที่มีความเห็นเช่นเดียวกับพวกตนด้วยเช่นกัน
ลั่นเป้าหมายขจัดระบอบทักษิณ
นายไทกร ยังกล่าวถึงผู้ที่จะมาทำหน้าที่แม่ทัพในการชุมนุม ของกองทัพประชาชนฯ ด้วยว่า ขณะนี้มีตัวบุคคลที่จะเป็นแม่ทัพแล้ว และเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับจากทหาร ตำรวจ ประชาชน และมีเป้าหมายในการกำจัดระบอบทักษิณออกไปจากแผ่นดิน ซึ่งจะเปิดตัวบุคคลดังกล่าวในวันเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้หากรัฐบาลไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้อง ในวันที่ 27 ก.ค. จะมีการแถลงข่าวถึงแนวทางการเคลื่อนไหวในวันที่ 4 ส.ค.นี้ ว่าจะเป็นอย่างไร โดยไม่ได้ตั้งเป้าหมายเกี่ยวกับจำนวนผู้ชุมนุมแต่อย่างใด เพราะผู้ที่จะออกมาในวันนั้นคือคนที่รักชาติ และคณะของตนได้มีการประสานงานไปยังกลุ่มต่างๆ อาทิ เครือข่ายประชาชนภาคต่างๆ นักวิชาการ ที่มีความเห็นตรงกันในการล้มระบอบทักษิณเพื่อเคลื่อนไหวในครั้งนี้ โดยแสวงจุดร่วม เก็บจุดต่างของใครของเขาเอาไว้ก่อน เพราะทุกคนมีเป้าหมายในภารกิจสำคัญในการโค่นระบอบทักษิณเท่านั้น
สมช.จับตาม็อบล้มรัฐบาล
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวของมวลชนต่อต้านรัฐบาล ทั้งกลุ่มหน้ากากขาว และองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) เป็นเกมนอกสภาฯ มีการจัดขบวนอย่างดี โดยเฉพาะกลุ่มหน้ากากขาว ที่ใช้โซเชียลมีเดียในการสื่อสาร แต่ข้อเสียของการใช้โซเชียลมีเดีย คือคนจะไม่ค่อยออกมาร่วมชุมนุม หรือออกมาก็น้อยมาก มีราว 200-300 คนเท่านั้น จึงถือว่ามีพลังค่อนข้างน้อย ขณะที่ อพส.นัดชุมนุมในวันที่ 4 ส.ค.56 นั้น ซึ่งการข่าวเบื้องต้น ฐานมวลชนยังเป็นกลุ่มเดิมมีอยู่ราว 1 หมื่นคน แต่อาจจะลดลงไปบ้าง หลังนัดชุมนุมใหญ่แล้ว พล.อ.บุญเลิศ แก้วประเสิทธิ์ อดีตประธาน อพส.ไม่สามารถนำไปสู่เป้าหมายได้ ที่สำคัญแกนนำคนใหม่ของ อพส.ก็ไม่เป็นที่รู้จักของสาธารณชนเพียงพอ และเงื่อนไขที่ออกมาชุมนุมก็ไม่ชัดเจนพอที่จะขับไล่รัฐบาล อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการจับตา เพราะการที่จู่ๆ อพส.ประกาศเคลื่อนไหว อาจจะมีนัยอื่นแฝงอยู่ อย่างไรก็ตาม แม้มวลชนต่อต้านรัฐบาลอาจจะมีจำนวนน้อย แต่รัฐบาลก็ไม่สามารถประมาทได้ เพราะอย่างที่รู้กันว่ากลุ่มนี้เข้าแพ็กกันมาก อาจจะเดินมาจากถนนคนละสาย แต่สุดท้ายก็จะมารวมกัน เพราะมีคนที่คอยประสานให้กลุ่มต่างๆ เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน และมีบางพรรคการเมืองให้การสนับสนุน แต่ตนเชื่อว่ายังไม่น่าจะทำอะไรรัฐบาลได้ เพราะเงื่อนไขที่มีอยู่เวลานี้ยังไม่เพียงพอ ส่วนที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศว่า การเมืองช่วงเปิดสภาฯ จะร้อนแรงนั้น นี่คือสิ่งที่รัฐบาลต้องกลัว หาก ปชป.เล่นเต็มที่ คนมาเยอะแน่ สมช.กำลังเช็คอยู่ว่าจะมากันได้สักเท่าไร เรื่องจำนวนยังประเมินไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับว่าเขาจะปลุกกระแสขึ้นหรือไม่ ขอบอกไว้เลยว่า กลุ่มทุนที่คิดจะมาเป็นสปอนเซอร์ให้กับกลุ่มเคลื่อนไหวไม่รอดสายตาหน่วยข่าวหรอก แม้ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่ามีกลุ่มทุนใดบ้าง แต่หากมีความชัดเจนเมื่อใดก็จะต้องมีการปรามๆ กัน
อัดม็อบ อพส.หลงยุค
นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยามนั้น ในระบอบประชาธิปไตย การเสนอความคิดเห็นที่แตกต่าง หรือขัดแย้งกับรัฐบาลสามารถทำได้ แต่แนวคิดต่างๆ ควรเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ หากเห็นว่านโยบายมีจุดอ่อน หรือไม่ถูกต้อง ก็วิพากษ์วิจารณ์เสนอความเห็นที่แตกต่างได้ แต่ปัจจุบันกระบวนการต่อต้านรัฐบาล เกิดความสับสน ใช้ระบอบประชาธิปไตยอย่างบิดเบือน พยายามเอาจุดที่เป็นระบอบประชาธิปไตยมาประท้วงล้มล้างระบอบประชาธิปไตย วันนี้กระบวนการที่จ้องล้มรัฐบาล กลายเป็นกระบวนการที่จะล้มระบอบประชาธิปไตย จึงไม่น่าสนับสนุนอย่างยิ่ง อยากขอร้องให้ประชาชนวิเคราะห์ให้ดี ว่าสิ่งที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ ไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพราะการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศ ทำลายความน่าเชื่อถือทั้งในและต่างประเทศ ธุรกิจต่างๆ ก็จะเกิดการสะดุด และเกิดการชะงัก ทำลายการอยู่ดีกินดีของประชาชน โดยบุคคลที่เรียกว่าหลงยุค ยังคิดว่าตัวเองแก้ปัญหาของระบอบประชาธิปไตย โดยการปฏิวัติรัฐประหาร โดยการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยได้อยู่ ซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อประเทศเลย
ท้าเสธ.อ้ายสาบานไร้ทุนหนุน
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอใช้โอกาสช่วงเทศกาลเข้าพรรษาให้กลุ่มคนที่เคลื่อนไหวล้มรัฐบาล ทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ กลุ่ม พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ อดีตประธานองค์การพิทักษ์สยาม รวมทั้งกลุ่มหน้ากากขาว ขอให้เลิกกล่าวหารัฐบาลเป็นเวลา 3 เดือนเพื่อให้บ้านเมืองดีขึ้น อย่ามากุข่าวกล่าวหารัฐบาลรายวัน ส่วนกรณีที่องค์การพิทักษ์สยามนัดชุมนุมขับไล่รัฐบาลในวันที่ 4 ส.ค.นั้น ขอให้ชุมนุมบนพื้นฐานของเหตุผล ไม่ใช่มาขับไล่รัฐบาลโดยไม่มีเหตุผล โดยเฉพาะ พล.อ.บุญเลิศ ที่อ้างว่ารับไม่ได้ที่มี รมว.กลาโหม เป็นผู้หญิงนั้น ไม่รู้ว่าเอาสมองส่วนไหนคิด แม้แต่ผู้บัญชาการเหล่าทัพยังให้การยอมรับ เพราะนายกฯ และ รมว.กลาโหมไม่ได้แทรกแซงการโยกย้ายทหาร ข้อเรียกร้องขององค์การพิทักษ์สยาม 6 ข้อ เป็นข้ออ้างเพื่อล้มรัฐบาล ขอถาม พล.อ.บุญเลิศที่บอกว่าการชุมนุมครั้งนี้ใช้เงินส่วนตัวลงขันกันเอง ไม่มีองค์กรใดให้เงินสนับสนุนนั้น พล.อ.บุญเลิศกล้าสาบานเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์หรือไม่ว่า ม็อบที่ออกมาเคลื่อนไหวไม่ใช้เงิน เพราะเป็นไปไม่ได้ การชุมนุมแต่ละครั้งใช้เงินวันละเป็นล้านบาท ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรู้ดีว่าใครอยู่เบื้องหลัง
ซัดแก๊งนักเลงคุมซอยรับจ๊อบ
นายประชา ประสพดี รมช.มหาดไทย กล่าวถึงการจัดตั้งกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ ว่า เป็นการรวบรวมทหารนอกราชการ รุ่นนาฬิกาไขลานตกยุค พวกโนเนมรับจ้างตั้งแก๊งขึ้นมาข่มขู่รัฐบาล ข่มขู่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พวกนี้อยากได้อำนาจมาคุมผลประโยชน์บ้านเมือง แต่ใช้วิธีการที่ขัดนิติรัฐ นิติธรรม การตั้งเงื่อนไขขึ้นมาล้วนไร้ความชอบธรรม มุ่งหมายเพื่อประโยชน์ตนเอง วันนี้ทหารตั้งมั่นอยู่ในกองทัพ มีระเบียบวินัย แต่ทหารนอกราชการเหล่านี้กลับออกมาข่มขู่รัฐบาล กล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เราจะจับตาดูความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด ขออย่าสร้างสถานการณ์ขึ้นมาลักษณะชงเองกินเอง เรายอมไม่ได้ที่จะให้แก๊งนักเลงคุมซอยมาข่มขู่รัฐบาล วันนี้เอะอะไม่พอใจอะไรก็ตั้งแก๊ง ตั้งก๊วน ไม่รู้ว่าสมคบกับนักการเมือง และพรรคการเมืองไหนบ้าง ทหารนอกราชการพวกนี้ไม่ใช่นักรบของจริง ถ้าเป็นตัวจริงก็ไปลงพื้นที่ภาคใต้กับตนดีกว่า
วันที่ 23/07/2556 เวลา 21:45 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น