วันอังคารที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

กางปฏิทินกฎหมายล้างผิดพา “ทักษิณ”กลับบ้าน??เมื่อ 23 ก.ค.56



กางปฏิทินกฎหมายล้างผิดพา “ทักษิณ”กลับบ้าน??
ในการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไปในวันที่ 1 สิงหาคมที่จะถึงนี้ เรื่องของกฎหมายล้างผิดถูกหยิบยกมาพูดถึงมากที่สุด ภายใต้ข้อถกเถียงของแต่ละฝ่ายว่าจะมีการนำมาพิจารณาก่อนหรือหลังร่างกฎหมายฉบับอื่น

อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีการนำเสนอร่างกฎหมายล้างผิดหลายต่อหลายฉบับ เพราะฉะนั้นเพื่อให้เกิดความชัดเจนเราจะไปทำความรู้จักรร่างกฎหมายที่มีทั้งร่างพระราชบัญญัติ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรวมถึง 9 ร่างด้วยกัน

1. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ... เสนอโดย พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคมาตุภูมิ และส.ส.จากพรรคการเมืองต่างๆ หลายพรรค รวม 35 คน

2. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ... เสนอโดย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย และส.ส.จากพรรคเพื่อไทย รวม 74 คน

3. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ... เสนอโดย นายนิยม วรปัญญา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย และส.ส.จากพรรคเพื่อไทย รวม 21 คน

4. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ... เสนอโดย นายสามารถ แก้วมีชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย และส.ส.จากพรรคเพื่อไทย รวม 50 คน

5. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ... เสนอโดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย ยังไม่ได้บรรจุเข้าในวาระการประชุมของสภา

6. ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ... เสนอโดย นายวรชัย เหมะ สมาชิสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย และส.ส.จากพรรคเพื่อไทย รวม 40 คน

7. ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ... เสนอโดย นายนิยม วรปัญญา สมาชิสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย และส.ส.จากพรรคเพื่อไทย รวม 23 คน

8. ร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและขจัดความขัดแย้ง เสนอโดย คณะนิติราษฎร์ ยังไม่ได้เสนอเข้ารัฐสภา

9. ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ประชาชนซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการภายหลังการยึดอำนาจโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เสนอโดย กลุ่มญาติวีรชน ยังไม่ได้เสนอเข้ารัฐสภา

ส่วนข้อสรุปว่าจะมีการพิจารณาร่างนิรโทษกรรมทันทีที่มีการเปิดประชุมสภาหรือไม่นั้นกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

โดยวิปรัฐบาลจะประชุมกัน ในวันที่ 24 กรกฎาคมเพื่อหาข้อสรุปเบื้องต้นในการกำหนดวาระกฎหมาย ที่จะพิจารณาก่อนหลัง

แต่สำหรับ ในวันที่ 1 สิงหาคม ที่เป็นวันเปิดสภาสมัยสามัญทั่วไปวันแรก จะยังไม่มีกฎหมายสำคัญเข้า อาจจะเป็นกระทู้ทั่วไปและกระทู้ถามสด ซึ่งกฎหมายสำคัญ คงจะมีการพิจารณาในสัปดาห์ถัดไป ส่วนจะเป็นร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 หรือ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม คงจะมีข้อสรุปหลังจากวิป หารือและนำเข้าสู่ที่ประชุมพรรคเพื่อไทย
โดยที่พรรคเพื่อไทย จะเรียกประชุม ส.ส. และสมาชิก ในวันอังคารที่ 30 กรกฎาคมเพื่อทำความเข้าใจกับ ส.ส. ในกรณีที่มีกฎหมายสำคัญเข้าสู่การพิจารณาของสภา

 อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาร่างกฎหมายล้างผิดที่ถูกพูดถึงมากที่สุดมีอยู่ด้วยกัน3 ร่างก็คือร่างนิรโทษกรรมของนายวรชัย ร่างปรองดองของร.ต.อ.เฉลิม และร่างของญาติผู้สูญเสียของนางพะเยาว์ อัคฮาด ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่าจะถูกนำมาใช้ตามแผนการสับขาหลอก โดยธงยังคงอยู่ที่ร่างของร.ต.อ.เฉลิม เพราะจะทำให้พ.ต.ท.ทักษิณได้รับการนิรโทษกรรมด้วย

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน เปิดเผยว่า กระแสการนิรโทษกรรมที่กำลังถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้ เป็นเกมและการเมืองภายในพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดง ที่ไม่ได้ข้อสรุปว่าขอบข่ายการนิรโทษจะครอบคลุมถึงความผิดระดับไหนกันแน่ เพราะร่างฯ ของ ร.ต.อ.เฉลิม เป็นการนิรโทษยกเข่งทั้งหมดและทุกคดี

ส่วนร่างฯ ของ นายวรชัย เหมะ ส.ส.เพื่อไทย และแกนนำเสื้อแดง ที่นิรโทษเฉพาะประชาชนและความผิดตามกฎหมายอาญา ม.112 ไม่รวมแกนนำ
และล่าสุด ร่างที่ญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ชุมนุมปี 2553 ที่ให้นิรโทษประชาชนเฉพาะคดีลหุโทษ ไม่รวมคดี ม.112 และแกนนำ ทั้งนี้ อาจเป็นไปได้ที่ ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 3 จะถูกนำมาพิจารณาพร้อมกัน และถือเอาร่างของ ร.ต.อ.เฉลิม เป็นหลัก

นายสุริยะใส กล่าวว่า หากมีการชุมนุมคัดค้านนอกสภาอย่างเข้มข้น รัฐบาลจะใช้วิธีลักไก่ ด้วยการออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) อ้างความวุ่นวายและความจำเป็นเร่งด่วนฉุกเฉิน เหมือนบทสนทนาในคลิปเสียง ซึ่งก็เท่ากับไปสร้างเงื่อนไขและความเสี่ยงให้รัฐบาลพบจุดจบได้ เพราะประชาชนคงไม่ยอม

การวิเคราะห์ข้อมูลของนายสุริยะใสตรงกับการถอดรหัสผู้ที่จะได้รับการนิรโทษกรรมจากร่างกฎหมายฉบับต่างๆของ iLaw (อ่านว่า ไอ - ลอ) หรือ ชื่อทางการว่า โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ที่มีนายจอน อึ๊งภากรณ์ เป็นประธาน คณะกรรมการโครงการมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
นี่คือตารางการเปรียบเทียบของไอลอ ว่าร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับไหนจะมีใครบ้างที่ได้รับการนิรโทษกรรม ตามเครื่องหมาย ถูก ที่ระบุว่าไว้
ส่วนตัวอักษร A ขึ้นอยู่กับศาลจะตีความว่า ความผิดตามมาตรา 112 เป็นการแสดงออกทางการเมืองอันเกี่ยวเนื่องการชุมนุมและความขัดแย้งทางการเมืองหรือไม่
ตัวอักษร B ขึ้นอยู่กับศาลจะตีความว่าการเผาตึกเอกชนเป็น "การแสดงออก" อัน "อาจ" กระทบต่อชีวิต ร่างการ อนามัย ทรัพย์สิน อันสืบเนื่องจากการชุมนุมหรือไม่
 

ตัวอักษร C นิรโทษกรรมให้ความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และกรณีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ความผิดอื่นจะได้รับนิรโทษกรรมต่อเมื่อมีความเกี่ยวเนื่องจากความขัดแจ้งทางการเมือง เท่าที่ไม่ขัดพันธกรณีระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตามที่นอกจากกฎหมายล้างผิดแล้ว ร่างกฎหมายรวมไปถึงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องจับตามองเช่นเดียวกันก็ยังมีอีกมากดังนี้

1.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๑๑ มาตรา ๑๑๒ มาตรา ๑๑๕ มาตรา ๑๑๖ วรรคสอง มาตรา ๑๑๗ มาตรา ๑๑๘ มาตรา ๑๒๐ และมาตรา ๒๔๑ วรรคหนึ่ง และยกเลิกมาตรา ๑๑๓ และ มาตรา ๑๑๔ หรือเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา
 
2.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๙๐
 
๓.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๖๘ และมาตรา ๒๓๗
และร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินอีก 2 ฉบับก็คือ ร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557
ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม หรือ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท

ในการจัดรายการ ไทยสปริงชุมนุมออนไลน์ ตอนที่ 5 “ลงแขกแล้วสู่ขอ” ก็มีการชำแหละกฎหมายนิรโทษกรรมเอาไว้อย่างเห็นภาพ  

สิ่งที่มีการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมอ้างกันว่าเป็นแรงจูงใจทางการเมืองให้ได้รับการนิรโทษกรรมหมด แต่ไม่ได้นิยามความหมายของ “การเมือง” เอาไว้ โดยต้องการความหมายอย่างกว้างคือ ความผิดใดก็ตามที่มีเหตุเกี่ยวข้องกับการต้องการความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยไม่ได้กำหนดว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ชอบหรือไม่ชอบ ดังนั้นการใช้กำลัง การทำร้ายชีวิตร่างกาย หรือการเผาทำลายทรัพย์ ถ้าหากว่าเกิดจากแรงจูงใจที่ให้เปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็เข้าได้หมด แต่ไม่มีความชอบธรรม เพราะความหมายของเหตุทางการเมืองตามวิชาการต้องหมายถึงเหตุทางการเมืองที่มุ่งรักษาปกปักรักษาคุณค่าที่สูงกว่าสิ่งที่ตัวเองกระทำ การกระทำนั้นทำเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้น จนถึงขนาดต้องฝ่าฝืนกฎหมาย เช่น เขาห้ามชุมนุมเพื่อรัฐประหาร ยึดอำนาจ แต่มีการชุมนุมฝ่าฝืนกฎหมายเพื่อขัดขวางการยึดอำนาจ ระหว่างการชุมนุมที่ผิดกฎหมายกับการขัดขวางการยึดอำนาจทางการเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การขัดขวางการยึดอำนาจการเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย มีคุณค่าที่ควรได้รับการคุ้มครองยิ่งกว่า เปรียบเสมือนการป้องกันสิ่งที่กฎหมายมุ่งคุ้มครองมากกว่า
“แต่ถ้าเราขยายความหมายของคำว่าเหตุจูงใจทางการเมืองโดยไม่มีกรอบว่าเป็นเหตุที่ควรได้รับความคุ้มครองยิ่งกว่า มันก็รวมไปถึงการใช้กำลัง เปลี่ยนแปลงการปกครองโดยใช้อาวุธ หรือโดยกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยด้วย เท่ากับคำว่าการเมืองหมายความถึงการล้มล้างสิ่งที่ถูกต้องได้ด้วย ในแง่นี้กว้างเกินไปและเป็นความหมายที่ผิด ในร่างกฎหมายนิรโทษกรรมไม่นิยามความหมายการเมือง ปัญหาคือถ้าศาลตีความให้ถูกต้องตีความว่าหมายถึงต้องเป็นไปเพื่อคุ้มครองสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า แต่ถ้าตีความอย่างกว้างเรื่องใดๆ เกี่ยวข้องการเมืองเข้ากฎหมายนิรโทษกรรมหมด ไม่ว่าจะล้มล้างรัฐบาล ใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้เปลี่ยนแปลงทางการเมือง ยุบสภา โดยใช้กำลัง อันนี้ในทางวิชาการไม่ถือว่าเป็นแรงจูงใจทางการเมืองที่ควรได้รับการคุ้มครอง ในอนุสัญญาว่าด้วยความผิดทางการเมือง และฐานคอรัปชั่น ซึ่งเป็นอนุสัญญาของสหประชาชาติ จะบอกว่าเหตุจูงใจทางการเมืองในทางชั่วร้ายที่ทำร้ายต่อชีวิตหรือทำให้คุณค่าที่กฎหมายมุ่งคุ้มครองเสียไป ไม่ถือว่าเป็นเหตุทางการเมืองที่ควรได้รับความคุ้มครอง เช่น ถ้าต้องการล้มล้างเผด็จการ อาศัยชีวิตผู้คนเป็นเหยื่อ หรือไปก่อเหตุร้ายระเบิดตึก แล้วบอกว่าเป็นการกระทำของรัฐบาลเพื่อโค่นรัฐบาลเผด็จการรัฐบาลเลว แต่ผมว่าก็เลวพอๆ กัน รัฐบาลไม่มีสิทธิ์อ้างความเลวของรัฐบาลมาทำความเลว นิรโทษกรรมต้องเกิดความยุติธรรม ไม่ใช่นิรโทษกรรมแล้วเกิดความอยุติธรรม”
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เอง ก็ยังคงยืนยันถึงจุดยืนเดิม นั่นคือ ไม่ยอมรับร่างพ.ร.บ. ที่ได้ไล่เรียงมาตั้งแต่ตอนต้น จะมีก็เพียงฉบับเดียว คือฉบับของญาติผู้สูญเสียเท่านั้น ที่พรรคประชาธิปัตย์พร้อมจะให้การสนับสนุนถ้าหากว่าสามารถแก้ไขรายละเอียดในบางส่วนที่ยังเป็นปัญหาออกไปได้

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยถึงกรณีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 1 ส.ค.นี้ว่า ขณะนี้ยังมีความสับสนว่าจะมีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับนายวรชัย เป็นวาระแรกหรือไม่ เพราะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ไม่สามารถพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 57 เป็นวาระแรกได้ และอย่างเร็วที่สุดจะต้องมีการพิจารณาในวันที่ 14 สิงหาคม เนื่องจากขณะนี้กระบวนการในชั้นกรรมาธิการยังไม่แล้วเสร็จ
         

ดังนั้น รัฐบาลควรแถลงผลงานที่ทำงานมาแล้วกว่า 2 ปี ตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ โดยมองว่าช่วงเวลาวันที่ 7–8 ส.ค. มีความเหมาะสม และจากนั้นในวันที่ 14–15 ส.ค. ก็ให้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 57 และขอให้ชะลอการพิจารณาพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ไว้ก่อน เพื่อให้มีการหารือนอกรอบเกี่ยวกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับญาติผู้สูญเสียที่นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ น.ส.กมนเกด ฮัคฮาด ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อปี 53 เสนอให้มีการพิจารณา
         

ซึ่งร่างดังกล่าว ทางพรรคประชาธิปัตย์ยินดีที่จะเข้าร่วมหารือ เพื่อกำหนดรายละเอียด โดยผู้ที่ได้รับประโยชน์จะต้องไม่รวมบุคคลที่กระทำผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คดีทุจริตคอร์รัปชั่น และคงกระทำผิดกฎหมายอาญา ทั้งการเผาสถานที่ต่างๆ การใช้อาวุธทำร้ายเจ้าหน้าที่ และกฎหมายนี้จะต้องเอื้อให้กับทุกกลุ่มสีเสื้อ
         

นายชวนนท์ กล่าวด้วยว่า แกนนำคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทย ควรนำเอาประชาชนมาเป็นตัวประกันเพื่อผลักดันกฎหมายล้างผิด ซึ่งชัดเจนแล้วว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ยินดีที่จะเข้ากระบวนการยุติธรรม ฉะนั้น แกนนำคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยควรปล่อยประชาชนให้ออกไปจากกรณีนี้ หากยังดึงดันออก กม.ล้างผิดการกระทำตนเอง นอกจากจะไม่สำเร็จแล้ว ยังจะทำให้แผ่นดินลุกเป็นไฟอีกครั้ง ซึ่งทางพรรคจะต่อต้านทั้งในและนอกสภาฯ ตามกรอบรัฐธรรมนูญ

ส่วนกรณีที่นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาระบุว่าได้รับแจ้งอย่างไม่เป็นทางการว่า ในการเปิดประชุมร่วมสองสภา ในวันที่ 6-7 ส.ค.นี้ จะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.ก่อนนั้น ล่าสุด นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ก็ได้ออกมายอมรับแล้วว่า ในเบื้องต้นยังไม่มีการกำหนดวันอย่างชัดเจน แต่ก็น่ามีการพิจารณาในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับที่นายบุญยอดระบุ

ส่วนการแถลงผลงานครบรอบ 1 ปี ของรัฐบาลนั้น เชื่อว่าน่าจะมีการพิจารณาในสมัยประชุมนี้ เพราะเป็นสมัยสามัญทั่วไป แต่ขณะนี้วิปรัฐบาลยังไม่ได้มีการประสานมายังรัฐสภาแต่อย่างใด จึงต้องรอให้ทางรัฐบาลมีการหารือกันก่อน

สำหรับสถานการณ์ทางการเมืองหลังจากเปิดสภาฯ ซึ่งขณะนี้มีวาระสำคัญเช่นร่างพรบ.นิรโทษกรรม ค้างอยู่ในวาระการพิจารณาของสภาฯนั้น นายนิคม กล่าวว่า กฎหมายเหล่านี้จะต้องผ่านการพิจารณาถึง 3 วาระ อีกทั้งจะต้องผ่านการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าจะมีผลบังคับใช้ ดังนั้นอย่างเพิ่งไปมองว่าหากนำกฎหมายเหล่านี้ขึ้นมาพิจารณาแล้วจะทำให้เกิดความวุ่นวายเพราะ การจะออกกฎหมายแต่ละฉบับไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนประเด็นที่มีการมองว่าจะเกิดความวุ่นวายนั้นก็เชื่อว่าคงมีบ้าง แต่หากทุกคนต่างทำหน้าที่ของตนเอง อย่าทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย ก็เชื่อว่าไม่มีอะไรต้องกังวล

 และอีกหนึ่งประเด็นที่จะทิ้งไปไม่ได้ นั่นก็คือ ในการประชุมสภากลาโหม ที่จะมีขึ้นในวันที่ 26 ก.ค. นี้ จะมีการหยิบยกเอาเรื่อง กฎหมายนิรโทษกรรมเข้าไปหารือตามบทสนทนาในคลิปเสียงที่ปรากฎออกมาก่อนหน้านี้หรือไม่

พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม ยอมรับว่า พ.ร.บ.จัดระเบียบข้าราชการกระทรวงกลาโหมปี 2551 มีช่องทางที่เสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติที่มีมาอยู่ได้ท่ามกลางการจับตามองถึงการผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรม แม้จะยังไม่ชัดเจนว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะนำประเด็นกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าหารือในประชุมสภากลาโหมนัดแรก ตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.จัดระเบียบข้าราชการกระทรวงกลาโหมปี 2551 ซึ่งจะมีขึ้นวันที่ 26 กรกฎาคมนี้หรือไม่
         

พ.อ.ธนาธิป กล่าวต่อไปว่า บทบัญญัติของกฎหมายมีช่องทางในการเสนอร่างกฎหมายต่างๆ ได้ตามอำนาจหน้าที่และตามเงื่อนไขที่ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมาย ซึ่งประกอบด้วย 3 ช่องทางด้วยกันคือ

1.หน่วยขึ้นตรงของกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างๆ นำเสนอผ่านมายังสำนักนโยบายและแผน หรือ สนผ. จากนั้นจะนำเข้าปลัดกระทรวงกลาโหม เพื่อขออนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำเข้าประชุมสภากลาโหม        
2.ผู้จัดการเหล่าทัพทำหนังสือโดยตรงถึงรัฐมนตรีว่าการกลาโหม หรือปลัดกระทรวงกลาโหม ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีกลาโหม ขออนุมัตินำเข้าไป
และ 3.รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม นำเข้าด้วยตัวเอง
ทั้งนี้ อย่างไรก็แล้วแต่ทั้ง 3 ช่องทาง จะต้องปฏิบัติตามข้อ 12 ของระเบียบข้อบังคับการประชุมสภากลาโหม พ.ศ.2551 เป็นหลัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น