วันอังคารที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เสธ.อ้ายป้องม็อบ 3 พัน ล. ออกค่าใช้จ่ายเอง ฮึ่มรับไม่ได้ผู้หญิงนั่ง รมว.กห. มาร์คฉะป้ายสีไม่มีใครกล้าทุ่ม เมื่อ 23 ก.ค.56



เสธ.อ้ายป้องม็อบ 3 พัน ล. ออกค่าใช้จ่ายเอง

ฮึ่มรับไม่ได้ผู้หญิงนั่ง รมว.กห. มาร์คฉะป้ายสีไม่มีใครกล้าทุ่ม

“เสธ.อ้าย” ออกโรงป้องม็อบ อพส. โต้ทุน 3 พันล้าน หนุนม็อบล้มรัฐบาล อ้างออกค่าใช้จ่ายเองตลอดไร้คนช่วย ลั่นเป้าหมายขจัดระบอบทักษิณ ฉะจ้องกอบโกยแต่ผลประโยชน์ ฮึ่มรับไม่ได้ผู้หญิงนั่ง รมว.กลาโหม ซัดไม่ให้เกียรติ-ดูถูกทหาร ขณะที่ “มาร์ค” ฉะรัฐปูดข่าวทุน 3 พันล้าน ป้ายสีม็อบต้าน เชื่อไม่มีใครใจกล้าใช้เงินเป็นพันล้านจ้างป่วนแน่ ชี้มีแต่ ปชช.อึดอัดการกระทำรัฐบาล แนะปูหยุดยาว 4 วัน นั่งคิดทบทวน ด้าน “ปชป.” จี้ รัฐบาลใช้วันเปิดสภา 1 ส.ค. แถลงผลงาน 2 ปี แทนปมร้อนนิรโทษ บี้ถอนร่างฯ ทุกฉบับพ้นสภาก่อนบ้านเมืองลุกเป็นไฟ ยันหนุนร่างฉบับ ปชช. ชี้เหมาะสมสุดจำแนกคดี-ความผิดชัด ส่วน “บุญจง” เตือนรัฐดื้อดันนิรโทษฯ การเมืองขัดแย้ง 100 เปอร์เซ็นต์แน่ ขณะที่ “วิปรัฐ” ยังอู้อี้ดันนิรโทษถกวาระแรก โบ้ยรอเคาะ 24 ส.ค.นี้
“เสธ.อ้าย” โต้ทุน 3 พัน ล.หนุนม็อบ
หลังจากที่พรรคเพื่อไทยโจมตีการเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) โดยการนำของเสนาธิการร่วม กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ มีเงินทุนสนับสนุน กว่า 3,000 ล้านบาท ในการโค่นล้มรัฐบาลนั้น วันที่ 22 ก.ค. พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ อดีตประธานองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของ อพส. และการเปิดตัวกลุ่มคณะเสนาธิการร่วม เพื่อต้องการขับไล่รัฐบาลภายใต้ระบอบทักษิณออกไป จึงได้แต่งตั้ง พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ เป็นประธาน อพส.คนใหม่ขึ้นแทน ส่วนกรณีเรื่องเงินทุนกว่า 3,000 ล้านบาท ที่ใช้สนับสนุนกลุ่ม อพส.นั้น เงินทุนที่ไหนไม่มี ไม่มีใครให้เงินทุนเหล่านี้แก่กลุ่ม อพส.ทั้งนั้น ทุกวันนี้ค่าเช่าสถานที่ในการจัดกิจกรรมต่างๆ นั้น ออกค่าใช้จ่ายเองมาโดยตลอด โดยไม่เคยมีนายทุนคนไหนช่วยเหลือ รัฐบาลทำให้ชาติเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวแค่นี้ยังไม่พออีกหรือ ทำให้ทุกวันนี้ชาวนาได้รับความเดือดร้อนมากเท่าไหร่ ชาวนาไม่เคยได้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าวเลย มีแต่จะเสียผลประโยชน์ด้วยซ้ำ แต่ในทางกลับกันรัฐบาลและ ส.ส.ทั้งหลายนั้นกลับได้รับผลประโยชน์โดยตรงล้วนๆ และการนำเอาผู้หญิงมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตนรับไม่ได้ เพราะเป็นการดูถูกทหารชัดๆ เท่ากับเป็นการไม่ให้เกียรติทหาร และนำคนที่ไม่มีความรู้ความสามารถมาปกครอง เหตุผลเพียงแค่นี้ตนเชื่อว่าสามารถขับไล่รัฐบาลชุดนี้ออกไปได้
“มาร์ค” ข้องใจปูดทุน 3 พัน ล.ล้มรัฐ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ม็อบต่างๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวในช่วงนี้นั้น ตนมีข้อสังเกต เพราะคนของรัฐบาล มักจะกล่าวอ้างว่า มันมีขบวนการลึกลับ ซับซ้อน ใหญ่โต มีคนอยู่เบื้องหลังชักใย พูดเป็นเงินแบบพันล้าน ตนก็ไม่รู้ และไม่ทราบว่า เงินพวกนั้นมันหาง่ายจริงๆ หรือไม่ กลุ่มที่เคลื่อนไหวขณะนี้หลากหลาย จนตนเองบางทียังจะต้องถามว่า อพส. หน้ากากขาว กลุ่มสนามหลวง กองทัพประชาชน และกลุ่มอื่นๆ รู้สึกแนวทาง ไม่ได้ตรงกันทั้งหมด แม้ในกลุ่มหน้ากากขาวเอง ก็ยังมีเหมือนกับการช่วงชิงการนำอะไรอยู่ ซึ่งมันดูแล้วมันไม่ได้เป็นอาการของการเคลื่อนไหวแบบที่ฝ่ายรัฐบาลเขากล่าวหาเลย ถ้ามีเงินตั้งเป็นพันล้าน ทำไมการจัดการมันไม่มารวมตัวกันเป็นอันเดียวกันอะไรทำนองนี้ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นตัวบ่งบอกว่ามันมีคนจำนวนไม่น้อย ที่อึดอัดกับหลายสิ่งหลายอย่างที่รัฐบาลทำอยู่ ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลต้องทำตามข้อเรียกร้องทั้งหมด แต่ก็คงไม่ใช่หมายความว่า พยายามจะมาบอกว่า รัฐบาลไม่สนใจ ไม่ฟังคำขู่ มันเป็นความอึดอัดที่เกิดขึ้นจริง และในสังคมประชาธิปไตยนี้ ถ้าได้มีการพูดคุยกัน มันก็ต้องหาทางออกร่วมกัน เพราะมันวนเวียนอยู่ไม่กี่ข้อ แล้วส่วนใหญ่ก็คือ ความกังวลที่ว่ารัฐบาลนั้นกำลังทำผิดกฎหมาย หรือทำผิดรัฐธรรมนูญ ถ้ารัฐบาลละเว้นจากสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด ในเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายแล้ว เพราะมันเป็นสิทธิ์ของรัฐบาล เขาได้เสียงข้างมากมา เขาจะผลักดันนโยบาย ถ้าเสียหายเขาก็ต้องรับผิดชอบทางการเมือง เราก็มีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นคัดค้าน เพราะฉะนั้นวันนี้รัฐบาล นายกฯ ยิ่งลักษณ์ หยุดพักตั้ง 4 วัน มีเวลาตั้งหลัก นั่งคิด ตัดสินใจได้แล้วละว่า มันถึงเวลาที่จะต้องปลดปล่อยรัฐบาลออกมาจากปัญหาเหล่านี้ด้วยการประกาศจุดยืนให้ชัด ไม่นิรโทษกรรมคนโกง ไม่นิรโทษกรรมคนก่อการร้าย ไม่คิดจะล้มล้างรัฐธรรมนูญ ไปยึดอำนาจขององค์กรอิสระของศาล จะเดินหน้าแก้ปัญหาของประเทศ แล้วทำตามนี้ตนว่าก็อยู่ได้ครบ 4 ปี ทำไมจะอยู่ไม่ได้ ส่วนจะอยู่ได้แล้วแก้ปัญหาดีแค่ไหน ก็พิสูจน์ฝีมือกันไปเลย
พท.เย้ยหน้ากากขาวคนหด
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มหน้ากากขาวว่า การออกมาชุมนุมของขบวนการหน้ากาก ทั้งหนุมานและหน้ากากขาวมั่วไปหมด แม้จำนวนจะลดลงไปมากจนน่าใจหายเพราะไม่มีการบริหารจัดการที่ดีพอ และเมื่อสัปดาห์ก่อนก็ประกาศยุติการชุมนุม แสดงให้เห็นถึงความสับสน มั่ว อ่อนแรงของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล แม้ขบวนการนี้จะมีกลุ่มการเมืองหนุนหลัง แต่การขาดแกนนำและแย่งชิงการนำกันเองถือเป็นอุปสรรค นอกจากจะทำให้การรวมตัวของกลุ่มหน้ากากต่างๆ ลดน้อยลงเรื่อยๆ แล้ว ยังสุ่มเสี่ยงที่จะมีการแทรกแซงเข้าไปก่อเหตุไม่พึงประสงค์จากมือที่ 3 เท้าที่ 4 ง่ายขึ้น ดังนั้นญาติมิตรใกล้ชิดคนกลุ่มนี้ต้องแนะนำอย่างจริงจังว่าอาจตกเป็นเหยื่อความรุนแรงได้ตลอดเวลา
จี้แถลงผลงานแทนดันนิรโทษ
ส่วนการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไปในวันที่ 1 ส.ค.นี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จุดยืนของประชาธิปัตย์คือ รัฐบาลควรแถลงผลงานครบรอบ 1 ปีก่อน การแถลงผลงานยิ่งเร็วยิ่งดี เพราะว่าพอครบ 2 ปีรัฐบาลก็ต้องเตรียมทำรายงานครบ 2 ปี มาให้เราอีก การแถลงผลงานนั้นมันก็เป็นโอกาสที่จะให้สมาชิกสภาเขาสะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาล รัฐบาลก็ควรจะรับฟัง ชี้แจงแล้วก็ดูว่าเมื่อสมาชิกมีความเห็นเป็นอย่างนี้แล้ว งานของสมัยประชุมมันน่าจะเดินอย่างไร ส่วนเรื่องของกฎหมายนิรโทษกรรมควรจะพักไว้ก่อน แล้วก็เอาเรื่องอื่นๆ อย่างเช่นเรื่องวิธีการจัดสรรนโยบายงบประมาณมาว่ากันไปตามปกติ เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ในเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม อาจจะต้องดูว่านิรโทษกรรมใคร เพราะว่าอย่างที่อธิบายกันไปวันก่อน มันก็มีความหลากหลายของกฎหมายหลายฉบับอยู่ แต่ว่าเรื่องของสภานี่ดูจะกลายเป็นข่าวของหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับ ว่าตกลงจะเอากฎหมายฉบับไหนก่อน ฉบับไหนหลัง ในส่วนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมหมายของนายวรชัยนั้น ก็จะมีประเด็นเพิ่มเติมอีกว่า มันมีกฎหมายที่อ้างว่าเป็นเรื่องทำนองเดียวกันอีกตั้ง 6 ฉบับที่รออยู่ ไม่รู้จะพ่วงเข้ามาด้วยหรือเปล่า อันนั้นก็เป็นประเด็น ส่วนงบประมาณนั้น เขาตั้งใจกันตามกำหนดการเดิมก็คือ กรรมาธิการทำงานเสร็จ ก็ส่งให้สภาจะพิจารณากันวันที่ 14-15 ส.ค. ถ้าอยากจะเอามาเป็นวันที่ 7-8 ส.ค. ก็ต้องเร่งการทำงานของกรรมาธิการ ตนมองว่าไม่ง่าย ซึ่งถ้าหลีกเลี่ยงเรื่องที่มีความขัดแย้งด้วย อย่างเช่นรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ได้ก็ดี แล้วก็งบประมาณก็ว่ากันไปตามปกติคือ 14-15 ส่วนเรื่องอื่นๆ นั้นก็ควรจะมาพิจารณาในภาคใหญ่ นิรโทษกรรมที่ตนยืนยันคือ วันนี้ดีที่สุดคือ รัฐบาลถอนทุกฉบับออกไป แล้วก็มาตั้งวงคุยจากฉบับของภาคประชาชน น่าจะเหมาะสมที่สุด
บี้ถอน กม.ร้อนทุกฉบับพ้นสภา
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนข้อสังเกตของนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ที่ระบุว่าตนตกหลุมพรางเห็นด้วยกับร่างประชาชนนั้น ขอยืนยันว่า ขั้นตอนขณะนี้คือเราเรียกร้องว่า ฉบับอื่นต้องถอนออกมาให้หมดก่อน แล้วมาไล่เรียงตามฉบับนี้ว่าอะไรที่เราควรนิรโทษกรรม ไม่ควรนิรโทษกรรมต้องเขียนกฎหมายแบบนี้ ที่ยังไม่เห็นด้วยกับเขาก็คือ 1.คนอาจจะไปตีความให้มันรวมมาตรา 112 2.เขาเขียนไว้เฉพาะเผาทรัพย์สินเอกชน อันนี้ไม่เห็นด้วย ตนบอกเผาทรัพย์สินราชการก็ต้องนิรโทษกรรมไม่ได้ เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เป็นประเด็นที่ 2 ก็ต้องมาคุยกัน ส่วนประเด็นที่ 3 วิธีเขียนในขณะนี้ ทางฝ่ายนายคำนูณ ครางแคลงใจว่า มันจะทำให้เป็นการนิรโทษกรรมเสื้อแดงกลุ่มเดียว ก็มาทำให้มันครอบคลุมทุกกลุ่ม ก็ยังไม่เห็นมีหลุมพรางอะไร เพราะถ้าไม่มาคุยกันในเรื่องแบบนี้ พวกตนก็ไม่เสนอกฎหมายเข้าสภาอยู่แล้ว จนกว่าเขาถอนทุกอย่างออกหมด และเพื่อไม่ให้มีปัญหา ทางที่ดีที่สุดเลยคือมาคุยกันนอกรอบให้มันจบ แล้วเสนอร่วมกัน การที่เราไม่ยอมรับเลย ในเรื่องของการนิรโทษกรรมนั้น มันจะทำให้ฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณนั้นเอาประชาชนเป็นตัวประกันบังหน้าไม่จบไม่สิ้น นี่เป็นโอกาสดีที่สุดแล้วที่จะแยกให้เห็นว่า ระหว่างคนที่ตั้งใจจะช่วยประชาชนธรรมดา กับคนที่จะเอาผลประโยชน์ของตัวเอง แล้วก็แอบอยู่ข้างหลังประชาชนนั้น เราจะเลือกอะไร ถ้ารัฐบาลเอากฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสภาเป็นวาระแรกๆ แล้วเอากฎหมายอื่นๆ เข้าไปผสมด้วย ทางพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังคัดค้านเหมือนเดิมทุกประการ
เตือนดึงดันบ้านเมืองลุกเป็นไฟ
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษก ปชป. กล่าวว่า เมื่อเปิดสมัยประชุมฯ ในวันที่ 1 ส.ค. คงเป็นการตอบกระทู้และปิดประชุมไป แต่ ปชป.ขอเรียกร้องว่า ในวันที่ 1, 7 และ 8 ส.ค. ขอให้มีการพิจารณาแถลงผลงานรัฐบาลในรอบ 2 ปี เพื่อให้ประชาชนรับทราบ เพราะนี่ก็เข้าสู่ปีที่ 3 ของการดำเนินงานแล้ว และในสัปดาห์ที่ 2 วันที่ 14-15 ส.ค. ให้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 ทั้งนี้หากรัฐบาลไม่ถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย (พท.) ก็ขอให้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับญาติผู้สูญเสียสลายชุมนุม เม.ย.-พ.ค.53 ซึ่ง ปชป.ยินดีเข้าร่วม โดยมีการหารือ เจรจา ปรับแต่งถ้อยคำนอกรอบ เพื่อเดินหน้าปล่อยประชาชนทุกสีเสื้อ แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับญาติวีรชน ต้องไม่ล้างผิดให้ผู้ที่ละเมิดสถาบันทำผิดมาตรา 112 , คนที่ทุจริตคอร์รัปชั่น และคนที่เผาสถานที่ราชการ ใช้อาวุธฆ่าประชาชน หากรัฐบาลเดินหน้าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย และปฏิเสธร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ฉบับประชาชน บ้านเมืองก็จะเดินหน้าเข้าสู่ความขัดแย้งแน่นอน แผ่นดินจะลุกเป็นไฟ ซึ่ง ปชป.จะต่อต้าน เพื่อชะลอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย ทั้งในและนอกสภาฯ และการที่พรรคเพื่อไทยปฏิเสธกฎหมายฉบับประชาชนก็เพื่อต้องการล้างผิดให้ตัวการใช่หรือไม่ พรรคเพื่อไทย และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เลือกได้ว่าจะเดินข้างประชาชน หรือเดินตามผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง
“บุญจง” เตือนปูดื้อรัฐบาลล้มแน่
นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมาและรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะเป็นฝ่ายเสียงข้างมาก แต่หากอยากเห็นบ้านเมืองเดินไปได้ ต้องไม่หยิบยกเรื่องที่ยังเป็นประเด็นความขัดแย้งของสังคมมาพิจารณา ถ้าหยิบยกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ขึ้นมาพิจารณาทันที จะเกิดปัญหาแน่นอน นอกจากนี้ยังมี ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับญาติผู้สูญเสียสลายการชุมนุมอีก ซึ่งเป็นสิทธิของประชาชนที่จะยื่น ขณะที่สภามีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้อง เนื้อหาสาระของ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทั้งฉบับของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และของภาคประชาชน ไม่ได้แตกต่างกัน เพราะมีเป้าหมายเพื่อยกโทษให้คนทำผิดกฎหมายบ้านเมือง เพียงแต่ฉบับของภาคประชาชนเน้นการนิรโทษกรรมให้กลุ่มคนระดับประชาชนเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม หากเรียงตามลำดับระเบียบวาระการประชุมร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของนายวรชัย จะอยู่ในลำดับแรกอยู่แล้ว แต่หากมีการเสนอให้พิจารณาเชื่อว่า จะเกิดความขัดแย้งในสภา 100% ส่วน ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้ว ก็เป็นสิทธิที่จะเอาเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 และ 3 ได้ แต่ก็คาดการณ์ได้ว่าประเด็นดังกล่าวจะเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวนอกสภา แม้จะไม่รุนแรงเท่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่เชื่อว่าประเด็นของร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท จะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากต้องมีคนยื่นต่อศาลว่าร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย และท้ายที่สุดก็จะไม่ได้ใช้เงิน นักกฎหมายเห็นว่าการเสนอกฎหมายแบบนี้ส่อว่าจะขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 ผมมั่นใจ 100% ว่ารัฐบาลจะไม่ได้ใช้เงินกู้จำนวนนี้ เพราะร่างกฎหมายเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ไม่ต่างจากงบโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งมีโครงการจำนวนมากที่ต้องรับฟังความเห็น และการมีส่วนร่วมชองประชาชนก่อน รวมถึงการทำประชาพิจารณ์ หากรัฐบาลมีความประสงค์จะอยู่จนครบวาระก็ควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าควรหยิบยกประเด็นใดขึ้นมาพิจารณา หรือไม่ควรพิจารณา ขณะนี้รัฐบาลมีปัญหาหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้าว ปัญหาของแพง หากหยิบยกประเด็นที่สังคมยังมีความขัดแย้งก็อาจสุ่มเสี่ยงต่อรัฐบาลเอง
“วิปรัฐ” ยังอุบดันนิรโทษวาระแรก
นายอำนวย คลังผา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า การเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร 1 ส.ค.นี้ ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดี จะพิจารณากระทู้ถามก่อน ส่วนการพิจารณากฎหมายจะเริ่มวันที่ 7 ส.ค. ซึ่งการจะนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 57 ขึ้นมาพิจารณาหรือไม่ ต้องหารือในที่ประชุมวิปรัฐบาล วันที่ 24 ส.ค.ก่อน แต่หากดูตารางการทำงานคาดว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 57 ไม่น่าจะเสร็จทันเข้าสู่การพิจารณาเป็นลำดับแรกได้ ส่วนผลสรุปว่าจะพิจารณากฎหมายฉบับใดก่อน-หลังนั้น ต้องรอผลการประชุมวิปรัฐบาลในวันดังกล่าว
เชื่อการเมืองไม่แรงหลังเปิดสภาฯ
นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา กล่าวว่า ที่นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาระบุว่า ได้รับแจ้งอย่างไม่เป็นทางการว่าจะมีการเปิดประชุมร่วมสองสภา ในวันที่ 6-7 ส.ค.นี้ เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. นั้น เบื้องต้นนั้นเรื่องของการกำหนดวันยังไม่มีความชัดเจน แต่ก็น่ามีการพิจารณาในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับที่นายบุญยอดระบุ ทั้งนี้ คงต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง เพราะขณะนี้ยังมีกฎหมายที่อยู่ในระเบียบวาระอยู่หลายฉบับ ในส่วนวาระการแถลงผลงานครบรอบ 1 ปีของรัฐบาล ซึ่งล่าสุด นายอำนวย คลังผา ประธานวิปรัฐบาล ออกมายืนยันว่า รัฐบาลจะมีการแถลงผลงานในสมัยประชุมนี้อย่างแน่นอนนั้น เชื่อว่าก็น่าจะมีการพิจารณาในสมัยประชุมนี้เพราะเป็นสมัยสามัญทั่วไป แต่ขณะนี้ทางวิปรัฐบาลยังไม่ได้มีการประสานมายังรัฐสภาแต่อย่างใด ทั้งนี้คงต้องรอให้ทางรัฐบาลมีการหารือกันก่อน ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองหลังจากเปิดสภาฯ ที่ขณะนี้มีวาระสำคัญเช่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ค้างอยู่ในวาระการพิจารณาของสภาฯ นั้น กฎหมายเหล่านี้จะต้องผ่านการพิจารณาถึง 3 วาระ อีกทั้งจะต้องผ่านการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าจะมีผลบังคับใช้ ดังนั้นอย่างเพิ่งไปมองว่าหากนำกฎหมายเหล่านี้ขึ้นมาพิจารณาแล้วจะทำให้เกิดความวุ่นวายเพราะ การจะออกกฎหมายแต่ละฉบับไม่ได้ออกกันง่ายๆ ส่วนประเด็นที่มีการมองว่าจะเกิดความวุ่นวายนั้นตนเชื่อว่าก็คงมีบ้าง แต่หากทุกคนต่างทำหน้าที่ของตนเอง อย่าทำให้บ้านเมืองวุ่นวายตนก็เชื่อว่าไม่มีอะไรต้องกังวล
สบช่องแก้ รธน.ที่มา ส.ว. 6-7 ส.ค.นี้
นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ส.ว.ชลบุรี ในฐานะเลขานุการวิปวุฒิสภา กล่าวว่า จะมีการเรียกประชุมวิปวุฒิสภาวันที่ 31 ก.ค. เพื่อหารือก่อนเปิดสมัยประชุมรัฐสภาวันที่ 1 ส.ค. โดยกำหนดกรอบการพิจารณาไว้คร่าวๆ วันที่ 2 ส.ค. จะมีการประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ที่ค้างอยู่ 1 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.กำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการทหาร และจากที่ได้รับการประสานจากวิปรัฐบาล ในวันที่ 6-7 ส.ค.นี้ จะเปิดประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 111 มาตรา 112 มาตรา 115 มาตรา 116 วรรคสอง มาตรา 117 มาตรา 118 มาตรา 120 และมาตรา 241 วรรคหนึ่ง และยกเลิกมาตรา 113 และมาตรา 114 เกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. ส่วนจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2557 วาระ 2 และ 3 ในช่วงวันที่ 7 ส.ค.นั้น ต้องรอฟังผลการประชุมวิปรัฐบาลวันที่ 24 ก.ค. แต่เท่าที่ได้รับการประสานคร่าวๆ คือแก้รัฐธรรมนูญเอาเฉพาะประเด็นนี้ก่อน ส่วนวาระร้อนแรงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง หรือนิรโทษกรรม ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ขึ้นอยู่กับทางสภาผู้แทนราษฎรว่าจะเอาอย่างไร
ยันถกสภา กห.ไร้ พ.ร.บ.นิรโทษฯ
พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ในวันที่ 26 ก.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะเข้าร่วมประชุมสภากลาโหมเป็นครั้งแรก ซึ่งยืนยันว่ายังไม่มีวาระ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าที่ประชุมอย่างแน่นอน เป็นการประชุมสภากลาโหมปกติ ที่ รมว.กห.จะต้องชี้แจงในที่ประชุมต่อหน่วยขึ้นตรงให้ได้รับทราบทั่วไป และในการประชุมจะมีการเอาระเบียบ ครม.มาให้ที่ประชุมรับทราบต่อไปว่ามีอะไรบ้าง รวมไปถึงการพูดคุยในการประชุมครั้งที่ผ่านมาด้วย ส่วนเรื่องที่จะมีการจะนำ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าที่ประชุมสภากลาโหมจะต้องมีการเตรียมเรื่องล่วงหน้าไว้ก่อน ไม่ใช่อยู่ๆ จะสามารถนำเรื่องเข้าที่ประชุมได้ทันที โดยจะมีห้วงของเวลานั้นเป็นตัวกำหนดอยู่ ทั้งนี้ขอยืนยันว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต้องมีการส่งเรื่องมาก่อนล่วงหน้า จึงจะสามารถทำได้ ทั้งนี้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สามารถทำได้โดยผ่าน 3 ช่องทาง คือ 1.หน่วยขึ้นตรงต้องส่งเรื่องผ่านมายังสำนักนโยบายและแผนของกระทรวงกลาโหม จากนั้นจะนำเรื่องเรียนไปที่ปลัดกระทรวงกลาโหม เพื่อผ่านเรื่องต่อไปยังรัฐมนตรี 2.ผบ.เหล่าทัพ จะต้องเป็นคนนำเรื่องเข้าสู่โดยตรง 3.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีสิทธิ์นำเข้าได้ด้วยตนเอง
วันที่ 22/07/2556 เวลา 21:51 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น