วันอังคารที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2556

สงครามและสันติภาพ : มนุษย์สองหน้า โดยแคน สาริกา เมื่อ 6 มี.ค.56




สงครามและสันติภาพ

สงครามและสันติภาพ : มนุษย์สองหน้า โดยแคน สาริกา

              การลงนามในกระบวนการพูดคุยสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ฝั่งมาเลย์ ก็มีนักข่าวรุ่นน้องมาถามถึงเรื่องเก่าๆ ครั้งที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ลงนามในคำสั่งที่ 66/2523 หรือนโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ ด้วยการรุกทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง สองเหตุการณ์มีความเหมือนกัน ตรงที่ต้องพึ่งพา "ประเทศที่สาม" โดยความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ตัวแทนรัฐไทยใช้เงื่อนไข "สงครามเขมร 4 ฝ่าย" เจรจาลับกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน (พคจ.) สงครามเขมร 4 ฝ่ายหมายถึงกลุ่มเฮง สัมริน-ฮุน เซน ที่มีพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม (พคว.) หนุน กับ 3 ฝ่ายคือเขมรเสรี, เขมรสีหนุ และเขมรแดง ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นสปอนเซอร์รายใหญ่

              พรรคคอมมิวนิสต์จีน ต้องการใช้ไทยเป็นทางผ่านการส่งยุทธปัจจัยไปช่วยเขมรแดง ตัวแทนรัฐไทยจึงต่อรองกับทางฝ่ายจีนให้หยุดการสนับสนุน พคท. เป็นข้อแลกเปลี่ยน

              เมื่อ พคจ.ตัดท่อน้ำเลี้ยง พคท. ก็ส่งผลให้กองกำลังติดอาวุธในเขตป่าเขา เกิดความปั่นป่วน และตั้งคำถามกับองค์กรนำด้วยความไม่พอใจว่า "ทำไมพรรคจีนหักหลังพรรคไทย" หรือ "การปฏิวัติไทยจบแล้ว"

              ในห้วงเวลาที่ฝ่ายกองกำลังติดอาวุธของ พคท.ระส่ำระสาย รัฐไทยโดยนายกฯ เปรม ก็ลงนามในคำสั่ง 66/2523 เพื่อรุกทางการเมือง เปิดทางให้ "ทหารป่า" เข้ามอบตัวโดยสะดวกมากขึ้น

              ช่วงปี 2523-2525 ขณะที่ทหารป่าบางส่วนวางปืนมอบตัว แต่การสู้รบในเขตป่าเขายังดำเนินต่อไป เพราะองค์กรนำ พคท. ยืนยันการต่อสู้ในแนวทางชนบทล้อมเมือง

              ด้านหนึ่งตัวแทนรัฐไทย พยายามพูดคุยกับกองกำลังติดอาวุธบางเขตให้เข้ามอบตัว แต่อีกด้านหนึ่งก็เปิดยุทธการทางทหารเข้าล้อมปราบที่มั่นจรยุทธ์ของฝ่ายทหารป่า

              ยกตัวอย่างการเจรจาลับระหว่าง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ กับตัวแทนเขตงาน 444 (ภูสระดอกบัว) และเขตงาน 111 (ภูพาน) อีสานเหนือ เข้ามอบตัวทั้งเขตงาน ได้ส่งผลสะเทือนอย่างกว้างขวาง แต่การสู้รบในเขตงานอื่นๆ ก็ยังมีอยู่

              4-5 ปีผ่านไป เสียงปืนในภูไพร จึงค่อยๆ สงบลง เมื่อกองกำลังติดอาวุธ พคท.ทุกเขตงาน เข้ามอบตัวต่อทางการหลังจากเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจในรัฐ โดยเฉพาะนโยบาย 66/2523 ที่เปิดโอกาสให้เป็น "ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย" ตามช่องทางพิเศษในมาตรา 17 สัตตะ พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ฯ

              จะเห็นได้ว่า สันติภาพไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน รัฐไทยใช้กระบวนการแยกสลายทหารป่าออกจากองค์กรนำ พคท. ควบคู่กับการยุทธ์ในเขตป่าเขา

              สำหรับปัจจุบัน ความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน ก็อาศัยมาเลเซีย เป็นเวทีพูดคุยสันติภาพ โดยฝ่ายความมั่นคงมาเลเซีย จะเป็น "ผู้อำนวยความสะดวกให้เกิดการพูดคุย" (Facilitator) ไม่ใช่ "ผู้เจรจาไกล่เกลี่ย" (Madiator)

              มันเป็นเพียงการเริ่มต้นของกระบวนการสันติภาพ หากนำบทเรียนข้างต้นมาพิจารณา ก็ประเมินได้ว่า เสียงปืนเสียงระเบิดในชายแดนใต้ จะไม่ยุติโดยฉับพลันทันที

              ความต่างของเหตุการณ์ในอดีตกับปัจจุบันคือ "ความไม่เป็นเอกภาพของคนการเมืองทุกฝ่าย" ที่เป็นจุดอ่อนของรัฐไทยในวันนี้

              สมัยโน้นฝ่ายบริหารเดินหน้านโยบาย 66/2523 ได้เต็มสูบ เพราะฝ่ายการเมืองถูกกันให้อยู่ในเวทีสภา และปล่อยให้เวทีความมั่นคง เป็นเรื่องของฝ่ายบริหารที่มีกองทัพเป็นกองหนุน

              สงครามไร้ชื่อที่ชายแดนใต้ จะสงบหรือไม่? ย่อมขึ้นอยู่กระบวนการสันติภาพบนดินแดนมาเลย์ที่นับหนึ่งไปแล้ว
.........
(หมายเหตุ : สงครามและสันติภาพ : มนุษย์สองหน้า โดยแคน สาริกา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น