วันอังคารที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2556

ประยุทธ์'วอนเลิกขัดแย้งปมเจรจาไฟใต้ เมื่อ 6 มี.ค.56




ประยุทธ์'วอนเลิกขัดแย้งปมเจรจาไฟใต้

'ผบ.ทบ.' วอนเลิกขัดแย้งปมเจรจาแก้ปัญหาไฟใต้ เชื่อสามารถยุติความรุนแรงได้ ปัดตั้งคนตามใจ-ยันยึดตามหลักการ

                     5 มี.ค.56 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึงกรณีที่มีการเผายางรถยนต์สร้างสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 50 จุดว่า สถานการณ์ยังคงต้องเกิดขึ้น ซึ่งการแก้ไขปัญหาภาคใต้มีหลายมิติ ความขัดแย้งต้องเกิดขึ้นแน่นอนในหลายส่วน ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ที่เดินกันหลายทาง งานในภาคใต้มี 5 กลุ่มงาน ซึ่งทั้ง 5 กลุ่มงานนี้เดินไม่ได้ 100 % เพราะเกิดจากคนบางกลุ่ม ไม่พึงพอใจ ต้องการให้ใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหา และเรียกร้องในสิ่งที่ตนเองพึงพอใจ ทั้งนี้คิดว่าวิธีการดีที่สุดคือเร่งดำเนินการในงานทั้ง 5 กลุ่ม ทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิต การศึกษา รวมถึงงานรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน กระบวนการยุติธรรม การเปิดเวทีพูดคุยเพื่อแสวงหาทางออก
                     “ผมขอว่าเราอย่าขัดแย้งกันเองได้หรือไม่ เพราะตอนนี้ความขัดแย้งมีมากอยู่แล้ว ซึ่งการแก้ไขปัญหาตรงนี้ สมช. ได้รับมอบหน้าที่จากรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา เขาก็เดินในส่วนของเขาไป ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ ก็ต้องรอดู แต่ถ้ามาพูดกันวันนี้ว่าใช่หรือไม่ ถูกหรือไม่ถูก ได้หรือไม่ได้ แล้วจะทำอะไรกันได้ เพราะตอนนี้ได้ทำไปแล้ว และก้าวเดินกันไปแล้ว อีกทั้งเป็นยุทธศาสตร์ที่กลั่นกรองโดยสภาฯมาแล้วเช่นกัน ซึ่งจะใช่หรือไม่ใช่ก็ค่อยไปว่ากัน ซึ่งผมก็ไม่เคยบอกว่าถูกตัว หรือ ผิดตัว ไม่เคยตอบว่าใช่หรือไม่ใช่ เพราะผมเป็นเจ้าหน้าที่ต้องทำตามนโยบายและยุทธศาสตร์ ไม่ใช่จะทำหรือไม่ทำไม่ได้ เพราะเป็นยุทธศาสตร์ที่กำหนดโดยคณะทำงานรัฐบาล วันนี้ขอให้ใจเย็นๆ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
                     ผู้สื่อข่าวถามว่า กองทัพรับได้หรือไม่ถ้ากลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเรียกร้องให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตปกครองพิเศษ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกติกา และกฎหมาย ซึ่งเราได้แจ้งไปแล้วว่า ต้องไม่แบ่งแยกดินแดน ไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง ส่วนการจะเขียนเป็นเขตปกครองพิเศษหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาล เมื่อเขาเสนอมาต้องดูเหตุผลและความจำเป็นว่าเป็นไปได้หรือไม่ และถ้าทำไปแล้วจะยุติแค่นั้นหรือไม่ หรือจะขยายไปสู่จุดสุดท้าย ตรงนี้เราไม่รู้เพราะเป็นเรื่องอนาคต อย่าไปพูดถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ถ้าเราหยิบตรงนี้มาพูดก็เดินไปไม่ได้ แต่อย่าลืมว่าสิ่งต่างๆเหล่านี้เราคิดอยู่แล้ว ไม่ต้องห่วง ไม่ใช่ว่าอะไรก็ได้ ที่ทำให้สถานการณ์จบสิ้น หรือให้ยุติ ซึ่งไม่ใช่ เราต้องมองว่าไม่ใช่ยุติปัญหาวันนี้ เพื่อให้เกิดปัญหาวันหน้า เราไม่ทำอยู่แล้ว
                     ผู้สื่อข่าวถามว่าเชื่อทฤษฎีว่าเหตุการณ์จะยุติลงบนโต๊ะเจรจาหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่เป็นเหตุเป็นผล ทั้งโลกก็ทำแบบนี้ แต่เหตุการณ์จะจบ 100 % หรือไม่ ซึ่งตนคิดว่ามันไม่จบ แต่ยุติความรุนแรงได้ ซึ่งทั้งโลกก็มีความขัดแย้งกันหมด เมื่อมีปัญหาก็ต้องพูดคุยกันบนโต๊ะ พูดคุยกันเสร็จอาจไม่ยุติความขัดแย้ง100 % แต่ยุติการต่อสู้และความรุนแรง และมาแก้ไขปัญหากันบนเวที

'ประยุทธ์' ปัดตั้งคนตามใจ ยันยึดหลักการ

                     พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ได้เรียกประชุมคณะกรรมการพิจารณาปรับย้ายนายทหารชั้นนายพลครั้งแรก เพื่อหารือถึงการจัดทำบัญชีรายชื่อโยกย้ายนายทหารกลางปี 2556 ว่า รมว.กลาโหมได้เรียกประชุมเพื่อหารือร่วมกันในการจัดทำแผนโยกย้ายตำแหน่งชั้นนายพลช่วงกลางปีในเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งมีตำแหน่งที่ไม่มาก และส่วนใหญ่เป็นตำแหน่งที่จะปรับทดแทนตำแหน่งผู้ที่จะเกษียณอายุราชการในเดือน ต.ค.2556 ซึ่งเราได้เก็บอัตราไว้ให้คนเหล่านี้ได้เจริญเติบโต เพราะเขาก็รับราชการมาเป็นเวลานานพอสมควร และควรจะได้รับการพิจารณาให้ถูกเลื่อนยศที่สูงขึ้น
                     “อย่ากลัวว่าผมจะตั้งคนตามที่ผมต้องการ เพราะผมตั้งอย่างนั้นไม่ได้ ผมยึดหลักการว่าการตั้งคนขึ้นมาต้องตั้งด้วยความรู้ความสามารถและด้วยคุณสมบัติของเขาเป็นหลัก ต้องมีความอาวุโสและได้รับการยอมรับ คนเหล่านี้ก็จะต้องรับการกลั่นกรองไปตามลำดับตั้งแต่เป็นนายทหารชั้นผู้น้อยจนขึ้นเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ การจะเป็นนายทหารชั้นนายพลไม่ได้เป็นง่ายๆ และอย่าบอกว่าเป็นนายพลจะไม่มีงานทำ เพราะยังมีคณะทำงาน 16-17 คณะ และมีงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ให้เขาทำ ดังนั้นนายพลมีงานทำ มีตำแหน่งและมีหน้าที่กันทุกคน การแต่งตั้งคนหากคิดว่าจะมาปกป้องเรายิ่งทำไม่ได้ ถ้าปกป้องด้วยความดีนั้นดีที่สุด ถ้าตั้งเขาหวังว่าจะให้คนๆนี่เข้ามามีอำนาจเพื่อมาปกป้อง ผมไม่ทำ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
                     เมื่อถามว่ามีความลำบากใจเรื่องการแต่งตั้ง พล.ท.ปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพน้อยที่ 3 เป็นแม่ทัพภาคที่ 3 ซึ่งเป็นน้องชายหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ย้อนถามว่า “ลำบากใจเรื่องอะไร และเขาเป็นใคร เขาสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 15 ตามผมมา ผมไม่ได้เป็นคนให้เขาเข้าโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เขาก็สอบของเขาเอง และโตมาเอง หรือจะต้องให้เขาเปลี่ยนนามสกุล” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
                     ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 ควรจะเป็นคนในหรือคนนอก พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เดี๋ยวแม่ทัพภาคที่ 4 ก็เป็นคนตั้งมาเอง ซึ่งทำอย่างไรให้กระบวนการแก้ไขปัญหาเข้ามา ใครเป็นก็ได้อยู่แล้ว ถ้าทำตามยุทธศาสตร์และทุกคนต้องทำตามยุทธศาสตร์ ไม่ใช่ว่าจะตั้งคนที่มาทำอะไรก็ได้ อย่างนั้นจะตั้งไม่ได้ ต้องตั้งคนที่ทำงานตามยุทธศาสตร์และคำสั่งตามกฎหมาย เพราะต้องทำงานในกรอบงานที่มีอยู่และตามระเบียบวินัย เก่งแค่ไหนถ้าไม่มีระเบียบวินัยก็เป็นอะไรไม่ได้ อย่างไรก็ตามตนไม่ได้เป็นคนกำหนดว่าจะต้องเป็นคนที่โตมาจากกองทัพภาคที่ 4 แต่โดยปกติควรจะเป็นคนที่ทำงานอยู่ในพื้นที่จะดีกว่า เนื่องจากรู้ปัญหา ส่วนที่มีคนของกองทัพภาคที่ 1,2 และ3 เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยนั้นเป็นคนละเรื่อง คนจะเป็นนายพลไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเขาเสี่ยงคุก เสี่ยงเป็นและตายมามากมาก

'ทบ.' จับมือ 'มูลนิธิอุทกพัฒน์' หนุนบริหารจัดการน้ำ

                     นายสุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การป้องกัน แก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง และการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ เพื่อสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือกัน และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาในการบริหารจัดการน้ำชุมชนที่จะช่วยป้องกันแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างมีประสิทธิภาพ
                     นายสุเมธ กล่าวว่า จากที่ได้ลงพื้นที่ อ.บาระกำ จ.พิษณุโลก พบว่าชาวบ้านยังทะเลากันในเรื่องต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และยังไม่มีการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง เข้าใจ เข้าถึง พัฒนานั้น ประชาชนในพื้นที่ยังไม่มีทั้ง 3ข้อ ซึ่งทุกวันนี้ถือว่าลำน้ำยม ถือเป็นพื้นที่ทีมีปัญหาหนัก เมื่อน้ำมาก็จะเกิดภาวะน้ำท่วมมาก ซึ่งต้องแก้ไข สิ่งที่สำคัญคือการร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ทั้งกองทัพ และรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยรัฐบาลเองก็เริ่มให้ความสำคัญเรื่องน้ำมากขึ้น ทางมูลนิธิฯ ได้ทำแผนงานในเรื่องการจัดการเรื่องน้ำกับภาคประชาชน กำลังเตรียมเสนอให้รัฐบาล เชื่อมั่นในศักยภาพของกองทัพบก ที่จะให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น เชื่อมั่นว่ากองทัพบกสามารถสนองตอบงานที่สั่งได้ทุกโครงการ
                     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ทางกองทัพได้เห็นความสำคัญในเรื่องอุทกภัย และช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง และมีแนวคิดว่าการป้องกันปัญหาก่อนที่จะเกิดขึ้นเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการทำงานของ มูลนิธิฯ ในการพัฒนาจัดการน้ำของชุมชนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา น้ำท่วม และ ภัยแล้ง ปีนี้มูลนิธิ และกองทัพมีโครงการแก้ไขปัญหาเพื่อเพิ่มความสามารถในการระบายน้ำ และการสำรองน้ำ ช่วยบรรเทาอุทกภัยและ ภัยแล้งในชุมชน 10 พื้นที่ จ.นครสวรรค์ สุโขทัย พิษณุโลก ปัตตานี ราชบุรี ทั้งนี้รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณประมาณ 88 ล้านเศษ คิดเป็น 10 % ของงบประมาณ 770 ล้านบาท ที่กองทัพได้รับมาตามแผนงานบริหารจัดการน้ำ โดยจัดสรรให้ทุกกองทัพภาคไปดำเนินการใน 79 โครงการทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุน 7 หน่วยงาน ทางกองทัพบกพร้อมที่จะทำทุกอย่างให้เป็นไปตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งกองทัพบกเสนอไปรัฐบาลเองว่าเรามีศักยภาพในการดำเนินการในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ เพราะเรามีหน่วยทหารช่าง เมื่อเสนอไปรัฐบาลก็ให้มา 88 ล้านบาท ตนก็ได้นำมาสนับสนุนโครงการของมูลนิธิฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น