สมช.ปิดเงียบ15รายชื่อถกBRN
27 March 2556
"เลขาฯ สมช." ยันแกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบพร้อมเจรจา 28 มี.ค. "บีอาร์เอ็น" ออกลีลาตั้ง
เงื่อนไขปัดรับภาคประชาชนเข้าร่วมถก อ้างไม่ใช่คู่ขัดแย้ง "ปชป." จี้รัฐบาลเปิดรายชื่อตัวแทนก่อนพูดคุย ชี้หากจริงใจต้องไม่หมกเม็ด "รอยเตอร์" อ้างสัมภาษณ์ฝ่ายปฏิบัติการ BRN ไม่เชื่อเจรจาสร้างสันติ เหตุ "อัสซัน ตอยิบ" คุมนักรบไม่ได้ โจรใต้ยังป่วนรายวัน ดักยิงรองนายก อบต.บาตง เจ็บสาหัส
เมื่อวันที่ 26 มี.ค. พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงการเจรจาตัวแทนขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (บีอาร์เอ็น) ในวันพฤหัสบดีที่ 28 มี.ค.ที่ประเทศมาเลเซีย ว่าขณะนี้ได้รายชื่อคณะที่จะร่วมเดินทางไปครบ 15 คนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบ เพราะเป็นหลักการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เคยเห็นชอบไว้แล้ว
"ขั้นตอนนี้เป็นในส่วนของผู้ปฏิบัติ แต่จะมีการรายงานให้นายกฯ ทราบเป็นระยะๆ โดยฝ่ายปฏิบัติจะมีการหารือเตรียมความพร้อมกัน และจะออกเดินทางไปมาเลเซียในวันที่ 27 มี.ค.นี้" พล.ท.ภราดรกล่าว พร้อมทั้งปฏิเสธข่าวลือแกนนำตัวจริงกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบจะไม่ร่วมเดินทางมาเจรจาครั้งนี้ว่า เป็นเพียงกระแสข่าว ทุกอย่างไม่มีสะดุด ข้อเท็จจริงคือแกนนำยังมาตามเดิม
เลขาฯ สมช.กล่าวว่า กรณีมีแผ่นป้ายรัฐปัตตานีในพื้นที่ จ.ปัตตานีนั้น เป็นผู้ที่มีความเห็นต่าง แต่ยังไม่มีข้อกังวลใจ เรายังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ แน่นอนว่าการดำเนินการย่อมมีผู้เห็นต่าง ตอนนี้ก็มีผู้เห็นต่างที่เขาแสดงออกมา แต่ไม่เป็นปัญหา
ถามถึงกำหนดลงใต้ของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ พล.ท.ภราดรกล่าวว่า ท่านมีแผนงานอยู่ แต่ยังไม่ได้ลงไป
จากนั้น พล.ท.ภราดร เป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรี รับจดหมายเปิดผนึกจากตัวแทนสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PERMAS) แสดงเจตจำนงสนับสนุนการสร้างสันติภาพปัตตานีที่แท้จริง หลังจากที่รัฐบาลได้มีการหารือกับกลุ่มบีอาร์เอ็นเมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา
นายฮากิม พงตี่กอ ประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า การพูดคุยดังกล่าวได้สร้างข้อกังขาต่อสาธารณชนในความบริสุทธิ์ใจต่อการสร้างสันติภาพที่แท้จริง เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าบีอาร์เอ็นเป็นองค์กรปฏิวัติที่มีมวลชนให้การสนับสนุนจำนวนมาก คงไม่ยอมจำนนง่ายๆ อย่างแน่นอน
“ทางกลุ่มมีข้อเรียกร้อง รัฐไทยต้องไม่เอาข้อเรียกร้องที่เป็นของภาคประชาชนไปเป็นข้อต่อรองกับทาง BRN เช่น ขอให้ยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ขอให้ถอนทหารออกจากพื้นที่ เป็นต้น เพราะเมื่อเป็นข้อเรียกร้องของภาคประชาชน รัฐก็ควรที่จะต้องมาพูดคุยกับภาคประชาชน” นายฮากิมกล่าว
เช่นเดียวกับ องค์การช่วยเหลือเด็ก สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก แถลงข่าวเรียกร้องรัฐบาลให้นำปัญหาเกี่ยวกับเด็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้บรรจุเข้าไปประเด็นการหารือกับกลุ่มบีอาร์เอ็น เช่น การรับรองว่าโรงเรียนจะเป็นพื้นที่ปลอดความรุนแรง
อย่างไรก็ตาม มีรายงานจากฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนใต้ว่า ขณะนี้นายฮัสซัน ตอยิบ รองเลขาธิการ และคณะกรรมการของบีอาร์เอ็น แสดงความไม่พอใจกับการที่สภาความมั่นคงแห่งชาติของไทยได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน ในการกำหนดกรอบการพูดคุยสันติภาพ 2 ฝ่าย ที่จะมีขึ้นในวันที่ 28 มี.ค.ที่เกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย โดยทางฝ่ายบีอาร์เอ็นได้ส่งสัญญาณถึง พล.ท.ภราดร ว่าการพูดคุย 2 ฝ่ายเพื่อยุติความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ควรมีกรรมการจากภาคประชาชน
"กลุ่มบีอาร์เอ็นเห็นว่าคู่ขัดแย้งครั้งนี้เป็นเรื่องของรัฐบาลกับบีอาร์เอ็น และบีอาร์เอ็นไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งหากมีปัญหาบีอาร์เอ็นสามารถที่จะสื่อสารกับประชาชนในพื้นที่ได้ ดังนั้นน่าจะทำให้การเดินทางไปพูดคุยสันติภาพรอบ 2 อาจต้องมีการทบทวนและปรับเปลี่ยนตัวคณะกรรมการ" หน่วยข่าวระบุ
นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยรายชื่อฝ่ายรัฐบาลที่จะไปพูดคุยอีก 10 คน ที่ยังไม่มีการเปิดเผยภายในวันที่ 27 มี.ค.นี้ รวมทั้งฝ่ายตรงข้ามที่จะพูดคุยด้วยมี 15 คนจริงหรือไม่ และนำมาจากสายฮัสซัน ตอยิบ อย่างเดียว หรือใครมีกองกำลังในพื้นที่มากให้ส่งตัวแทนเข้ามา
"หากรู้ชื่อก็จะได้ฝากประเด็นการพูดคุย ซึ่งถ้ารัฐบาลมีความจริงใจไม่หมกเม็ดเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ขอให้บอกชื่อมา และตอนนี้มีการติดแผ่นป้ายนครรัฐปัตตานี เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำที่รัฐบาลรู้เห็นเป็นใจเพื่อให้เป็นธงในการพูดคุยสันติภาพหรือไม่" รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว
สำนักข่าวรอยเตอร์ โดย แอนดรูว์ อาร์.ซี. มาร์แชล เขียนรายงานพิเศษสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทย เกี่ยวกับการเจรจาสันติภาพที่กำลังจะเกิดขึ้น ตอนหนึ่งในการสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติการของบีอาร์เอ็นคนหนึ่ง ที่ใช้นามแฝงว่า อับดุลเลาะห์ เชื่อว่า การเจรจาครั้งนี้คงไร้ความหมาย เนื่องจากฮัสซัน ตอยิบ ที่อ้างเป็นหัวหน้า ไม่มีความสามารถที่จะควบคุมนักรบรุ่นใหม่ได้ และชาวมาเลย์-มุสลิมจำนวนอีกหลายหมื่นจะสู้ต่อ
ด้านเหตุความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ยังคงเกิดขึ้นรายวัน โดยเมื่อเวลา 05.30 น. คนร้ายดักซุ่มอยู่ในพงหญ้าใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 ยิงนายมูฮำหมัดสาตา โดสามะ อายุ 35 ปี รองนายก อบต.บาตง อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ได้รับบาดเจ็บสาหัส บริเวณภายในหมู่บ้านบูเกะ ม.7 ต.บาตง ขณะขี่รถจักรยานยนต์ออกจากบ้านพัก
อีกราย เวลา 06.00 น. ระหว่างที่นายมะตอเฮ มะดีเยาะ อายุ 38 ปี พ่อค้าขายผัก และอดีตสมาชิก อบต.ตะโละกาโปร์ พร้อมภรรยาขับรถกระบะบรรทุกผักจะไปส่งลูกค้า คนร้ายขับรถกระบะบี่ห้อฟอร์ด สีขาว ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ประกบและใช้อาวุธยิงนายมะตอเฮได้รับบาดเจ็บ ส่วนภรรยารอดหวุดหวิด
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในพื้นที่ จ.นราธิวาสและปัตตานี พบคนร้ายนำป้ายผ้าสีขาว กว้าง 1 เมตร ยาว 3 เมตร พ่นข้อความภาษาไทยสีแดง มีใจความ สันติภาพ เอกภาพ นครรัฐปัตตานี แขวนไว้ตามกิ่งไม้ ทั้งใน ต.บางปอ อ.เมืองฯ จ.นราธิวาส และ อ.สายบุรี, อ.ยะรัง, อ.ทุ่งยางแดง, อ.กะพ้อ, อ.โคกโพธิ์ และ อ.เมืองฯ จ.ปัตตานี เจ้าหน้าที่ต้องออกเก็บและตรวจสอบที่มาที่ไปอย่างเร่งด่วน.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น