เมื่อเวลา 15.00 น.วันที่ 28 มี.ค.2556 ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะของพล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) เดินทางไปพูดคุยกับแกนนำบีอาร์เอ็นที่ประเทศมาเลเซียว่า คงต้องรอผลการพูดคุยว่าจะออกมาอย่างไร ซึ่งการพูดคุยครั้งนี้เป็นการไปแนะนำตัวและสร้างความเข้าใจ โดยทางเลขาสมช.พูดไว้ว่า การพูดคุยในครั้งนี้เพื่อให้สถานการณ์ลดความรุนแรงขึ้น
ส่วนเหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา คิดว่าส่วนหนึ่งอาจมาจากการคัดค้านการเจรจาเพราะผู้ก่อความไม่สงบมีหลายกลุ่ม ย่อมมีกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าก่อนหรือหลังพูดคุยก็มีเหตุระเบิดมาตลอด ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่การกดดันเจ้าหน้าที่ในการเจรจา เพราะทุกวันกดดันเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว แต่เราต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความสงบ ทั้งนี้การพูดคุยเป็นเพียงทำให้เหตุการณ์ลดลง แต่จะลดลงได้หรือไม่ยังไม่รู้ ซึ่งมองว่าการบังคับใช้กฎหมาย การสร้างความเข้าใจ การไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมถือว่า ยังเป็นสิ่งสำคัญ ถ้ากลุ่มนี้พูดกันไม่ได้ก็หากลุ่มอื่นมาพูด ส่วนกรณีที่มีการติดแผ่นป้าย”รัฐปัตตานี”ในพื้นที่ภาคใต้นั้น ถือเป็นการแสดงบทบาทของเขา และเขาพยายามใช้ความรุนแรงมาต่อสู้ เพื่อให้ได้สิ่งที่เขาเรียกร้อง
“การพูดคุยดีกว่าไม่ได้พูด การให้เขาออกมายังดีกว่า ถือปืนไปไล่ล่ากัน การพูดคุยต้องคุยทุกกลุ่มไม่ใช่เฉพาะกลุ่มนี้กลุ่มเดียว ให้ตกลงกันมาให้ได้แล้วค่อยมาคุยกันต่อ ซึ่งเป็นเรี่องของสมช. ทั้งนี้การพูดคุยต้องเป็นภาพใหญ่และคนในท้องถิ่นต้องได้รับผลประโยชน์ สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึง คือ การรักษาอำนาจรัฐไว้ให้ได้ การบังคับใช้กฎหมายและแผ่นดินนี้แบ่งแยกไม่ได้ ส่วนประชาชน คือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และต้องเป็นกลุ่มคนที่พึงพอใจ ตราบใดที่ยังมีความรุนแรงอยู่ก็ต้องพูดคุยเพื่อให้สถานการณ์ลดลง และประชาชนปลอดภัย การสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นที่ปลายด้ามขวานของเราประกอบด้วยหลายมิติ การไปพูดคุยครั้งนี้ เพื่อลดปัญหาความไม่เข้าใจกันในเรื่องประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ แต่ปัญหาอื่นยังไม่มีการพูดคุยกัน ทำให้ยังคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงตราบใดที่กลุ่มคนเหล่านี้ยังไม่ได้รับการตอบสนองในสิ่งที่เขาต้องการ แต่ถ้าเขาต้องการอย่างนั้นก็ต้องลดความรุนแรง ทั้งนี้ในฐานะที่เราเป็น "รัฐ" และเจ้าหน้าที่จำเป็นที่เราต้องกำหนดทิศทางให้ได้”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่อยากให้พูดถึงข้อเสนอ 9 ข้อของบีอาร์เอ็น เพราะจากที่อ่านดูนั้นยาก และยังเป็นไปไม่ได้ อีกทั้งต้องใช้เวลาและต้องมาพูดคุย พิสูจน์ทราบกันก่อน รวมถึงการลดความบาดเจ็บและสูญเสีย ต้องมาแก้กันทีละข้อ จะแก้ทีเดียว 9 ข้อเลยไม่ได้ ซึ่งเขาพยายามเรียกร้องให้มากเข้าไว้ เราต้องดูว่าอันไหนเรายอมรับได้บ้าง แต่ต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมาย ส่วนข้อเสนอที่จะให้มีการถอนทหารออกจากพื้นที่ คงยังไม่ได้ ถ้าจะถอนทหารออกมาได้นั้น ตนได้วางการแก้ปัญหาไว้แล้ว และเสนอไปยังรัฐบาลแล้วคือการแก้ปัญหา 3 ระยะที่มีอยู่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระยะที่สอง และได้ดำเนินการลดทหารถึง 6 กองพัน แต่เราได้เพิ่มกำลังประจำท้องถิ่นลงไป
“เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นเราจะค่อยๆถอนทหารออก เหลือเฉพาะทหารในกองทัพภาคที่ 4 การทำงานในวันนี้เราทำภายใต้ยุทธศาสตร์เดียวกันรวมถึงกำหนดระยะเวลา และในวันนี้เรามีการทำงานด้านมั่นคง พัฒนา และการพูดคุย เดินคู่ขนานไปด้วยกัน แต่ต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญ คือ ประชาชนยังอยู่ในอันตรายอยู่ จึงต้องสำนึกและระมัดระวัง รวมถึงทหารและตำรวจ เพราะวันนี้เราอยู่ในที่สว่าง เขาอยู่ในที่มืด จะทำอย่างไรให้เขาออกมาในที่สว่าง ซึ่งก็คือ การพูดคุย ทุกวันนี้เราทำงานภายใต้ 9 ยุทธศาสตร์ของรัฐบาล และ 6 ยุทธศาสตร์ของกอ.รมน. จากการประเมินจาก 3 เดือนที่แล้ว เราได้ 79 % แต่ในเดือนนี้เราได้เพิ่มขึ้นเป็น 83% โดยได้เพิ่มจากความพึงพอใจของประชาชน แต่ในส่วนที่เรายังควบคุมไม่ได้ คือ การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งเป็นตัวถ่วง ทำให้คะแนนรวมตกไป ส่วนการพัฒนาต้องใช้เวลา ซึ่งผมได้เสนอไปยังรัฐบาลผ่านกระทรวงกลาโหมคือ การพัฒนาเฉพาะหน้า ซึ่งต้องเรียนให้ผอ.ศอ.บต.เร่งพัฒนาในระดับตำบลสันติสุข และนำไปสู่การแก้ปัญหาในระดับกรรมการหมู่บ้าน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า”ผบ.ทบ.กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น