พร้อมสู้คดีเขาพระวิหาร ถ่ายสดแถลงต่อศาลโลก
27 March 2556
ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีมติเลือก 9 องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดี "นพดล" ลงนามแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาแล้ว นัดฟัง 26 เม.ย.นี้ประทับรับฟ้องหรือไม่ ขณะที่ "พงศ์เทพ" เผยที่ประชุมต่อสู้คดีเขาพระวิหารจะให้ถ่ายทอดสดการแถลงด้วยวาจาต่อศาลโลกมายังประเทศไทย
ที่ศาลฎีกา สนามหลวง วันที่ 26 มี.ค.56 เวลา 10.00 น. ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ลงมติเลือกองค์คณะผู้พิพากษา 9 คน เพื่อพิจารณาคดีหมายเลขดำ อม.3/2556 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.การต่างประเทศ และที่ปรึกษากฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ในกรณีที่นายนพดล ไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ฉบับลงวันที่ 18 มิ.ย.51 ที่สนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไทย
ผลการลงมติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือกนายเอกชัย ชินณพงศ์ ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลฎีกา, นายชินวิทย์ จินดา แต้มแก้ว ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา, นายวีระพล ตั้งสุวรรณ , นายนิยุต สุภัทรพาหิรผล, นายกรองเกียรติ คมสัน, นายชาติชาย อัครวิบูลย์, นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, นายกำพล ภู่สุดแสวง และนายปัญญา ถนอมรอด ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา (อดีตประธานศาลฎีกา) เป็นองค์คณะทั้ง 9 คนพิจารณาคดี ซึ่งภายหลังจากนี้ องค์คณะทั้งเก้าจะร่วมกันประชุมภายในเพื่อลงมติเลือกผู้พิพากษา 1 ใน 9 เป็นเจ้าของสำนวน
ขณะที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดฟังคำสั่งว่าจะประทับรับฟ้องคดีดังกล่าวหรือไม่ ในวันที่ 26 เม.ย.นี้ เวลา 10.00 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดี ป.ป.ช. มอบให้ทนายความยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกา เมื่อวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งได้บรรยายเหตุการณ์ที่มีการกล่าวหานายนพดลกระทำผิดว่า เมื่อนายสมัคร สุนทรเวช รับหน้าที่นายกรัฐมนตรีแล้ว วันที่ 3-4 มี.ค.51 นายสมัครไปพบผู้นำกัมพูชาเรื่องขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และนายนพดล รมว.การต่างประเทศขณะนั้น
ต่อมาจำเลยยังเดินทางไปเขมรหารือกับนายซก อาน รองนายกฯ และ รมต.ประจำสำนักนายกฯ กัมพูชาเรื่องปราสาทพระวิหาร รวมไปถึงการกำหนดเขตทางทะเลระหว่างประเทศ และจะทำแถลงการณ์ร่วม โดยนำเรื่องเข้าที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ แบบปิดบังอำพรางและมีเหตุจูงใจแอบแฝงอยู่ และเมื่อนำเข้าที่ประชุม ครม.โดยไม่มีเอกสารแจกให้ที่ประชุมพิจารณาล่วงหน้า เพียงแต่แสดงแผนที่บนจอภาพ ใช้เวลา 15 นาที ซึ่งโจทก์เห็นว่า คำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชานี้ เป็นหนังสือสัญญาซึ่งต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ ต้องขออนุมัติจากรัฐสภา และจะต้องออกเป็น พ.ร.บ.เพื่อให้เป็นไปตามหนังสือสัญญา และรับฟังความเห็นจากประชาชน
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันเดียวกันนี้ มีการประชุมข้าราชการฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร (กรณีการปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการชั่วคราวของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเกี่ยวกับปราสาทเขาพระวิหาร) โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
หลังจากการประชุม นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ศึกษาธิการ หนึ่งในคณะทำงานต่อสู้คดีปราสาทพระวิหาร เผยว่า ในที่ประชุมได้หารือถึงการเตรียมความพร้อมในการชี้แจงด้วยวาจาครั้งสุดท้ายต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก ระหว่างวันที่ 15-19 เม.ย.นี้ โดยจะนำผลหารือวันนี้เข้าสู่การพิจารณาของ สมช.ในวันที่ 29 มี.ค. ก่อนจะนำเสนอเพื่อขออนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ จ.ฉะเชิงเทรา ในวันที่ 31 มี.ค.
นายพงศ์เทพกล่าวอีกว่า นายกฯ ได้กำชับในที่ประชุมว่าขอให้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ และใช้ความรอบคอบ โดยทางกัมพูชาจะเป็นผู้แถลงด้วยวาจาก่อนในวันที่ 15 เม.ย. และไทยจะแถลงในวันถัดมา จากนั้นจะเว้นไปหนึ่งวันก่อนจะแถลงอีกครั้งในวันที่ 18 เม.ย. โดยกัมพูชาจะเริ่มแถลงก่อนเช่นเดิม ทั้งนี้ การที่ไทยแถลงด้วยวาจาต่อศาลโลกภายหลังกัมพูชา มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่อย่างน้อยเราจะก็สามารถปรับถ้อยแถลงด้วยวาจาให้ตรงประเด็นได้ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือถึงความพยายามการถ่ายทอดสดการแถลงด้วยวาจาต่อศาลโลกมายังประเทศไทยให้ประชาชนได้รับชม แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าเป็นรูปแบบใด และสถานีใดเป็นผู้รับผิดชอบ แต่เบื้องต้นได้หารือในเรื่องของการติดตามทางอินเทอร์เน็ตไว้แล้ว
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวว่า เราสู้เต็มที่ทุกฝ่าย ทั้งกระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ส่วนที่มีกระแสข่าวออกมาว่ากระทรวงการต่างประเทศประเมินว่าจะแพ้คดีนั้น คงเป็นแค่กระแสข่าว เพราะยังดำเนินการกันเต็มที่ แพ้หรือชนะคงยังไม่มีใครรู้คำตอบ เพราะเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมของศาลโลก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น