สมช.ปัดบีอาร์เอ็นขู่ทุบโต๊ะ
จับตาเจรจารอบสอง เลขาฯ สมช.ปัด “ตอยิบ” สกัดภาคประชาชนร่วมคุย ข้อเสนอ 9 ข้อที่ให้ยึดโมเดลอาเจะห์-นิรโทษกรรมก็ไม่จริง ซัดพวกไม่เห็นด้วยปล่อยข่าว ยันแค่พูดคุยเพื่อให้ลดสถิติความรุนแรงลง ไทยพุทธผวากลายเป็นชนกลุ่มน้อยหากมีนครรัฐปัตตานี จี้ถาม ปชช.ทั้งประเทศ "สุรินทร์" ชี้ต้องใช้เวลา แนะอดทน ลอบบึ้ม! รถ อส.กรงปินัง เจ็บ 2 นาย
การเจรจาระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับตัวแทนของกลุ่มบีอาร์เอ็นในวันที่ 28 มี.ค.นี้ กำลังเป็นที่จับตาจากหลายฝ่าย เมื่อวันที่ 27 มี.ค. พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยว่า คณะที่จะเดินทางไปประเทศมาเลเซียทั้งหมด 15 คนนั้น ในส่วนของข้าราชการ ประกอบด้วย ตนเอง, พล.ต.ท.สฤษฏ์ชัย เอนกเวียง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล, พล.ท.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม, พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.), พล.ท.สุรวัฒน์ บุตรวงษ์ รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานข่าวกรอง สำนักข่าวกรองแห่งชาติ, ตัวแทนกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ, พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า
ขณะที่ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนนั้น ตัวแทนเหล่านี้ได้แจ้งความประสงค์เอาไว้ว่า ไม่ต้องการเปิดเผยรายชื่อ เพื่อความปลอดภัยจึงไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อได้
"รูปแบบการเจรจาบนโต๊ะยังไม่สามารถกำหนดหัวข้อและตัวบุคคลได้ เพราะต้องรอดูฝั่งตัวแทนของบีอาร์เอ็นก่อนว่ามีจำนวนเท่าใด และมีใครบนโต๊ะเจรจาบ้าง จึงจะกำหนดหัวข้อและตัวบุคคลเพื่อให้มีความสมดุลกันได้ ส่วนที่มีข่าวว่านายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำบีอาร์เอ็น แสดงความไม่พอใจที่ สมช.นำภาคประชาชนไปร่วมโต๊ะเจรจาในครั้งนี้นั้น เป็นเพียงกระแสข่าวที่ออกมาจากฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับการเจรจา ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง แล้วการเดินทางไปในครั้งนี้ก็ยังนำภาคประชาสังคมและภาคประชาชนไปกับคณะด้วย"
ส่วนที่มีรายงานว่า บีอาร์เอ็นเตรียมยื่นข้อเสนอ 9 ข้อนั้น เลขาธิการ สมช.ยืนยันว่า ก็ไม่เป็นความจริงเช่นกัน เป็นเพียงรายงานข่าวที่ปล่อยออกมาจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการเจรจา และเป็นกลุ่มที่มีความเห็นต่าง การเจรจาครั้งนี้จะไม่มีการพูดคุยเรื่องเขตปกครองพิเศษ ไปพูดคุยเพื่อต้องการให้มีการลดสถิติการก่อเหตุลง
มีรายงานแจ้งว่า การเจรจาวันที่ 28 มี.ค. บีอาร์เอ็นเตรียมข้อเสนอให้กับฝ่ายไทย 9 ข้อ ดังนี้ 1.ผู้แทนในการเจรจาต้องเป็นตัวแทนของรัฐบาลเท่านั้น ไม่เอาภาคประชาสังคม 2.รับรองอัตลักษณ์มลายู ซึ่งหมายถึง 3 องค์ประกอบ คือ ศาสนาอิสลาม ภาษามลายู และวัฒนธรรมอิสลามและวัฒนธรรมมลายู 3.ถอนทหารออกจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด 4.ใช้กองกำลังท้องถิ่นดูแลเท่านั้น 5.ยกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตปกครองพิเศษ 6.รัฐบาลมาเลเซียเป็นตัวกลางในการเจรจา 7.สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)ของไทยกับ สมช.มาเลเซียเป็นหลักในการประสานงาน 8.นิรโทษกรรมคดีก่อความไม่สงบทั้งหมด และ 9.ยึดโมเดลอาเจะห์
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) กล่าวว่า คณะเจรจามีกรอบในการเจรจาแล้ว ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้กรอบการเจรจา และกองทัพบกให้แนวคิด พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. ได้หารือกับตนอยู่ตลอด และก่อนจะเดินทางในที่ 27 มี.ค.นี้ จะพูดคุยอีกเล็กน้อย ส่วนที่หลายฝ่ายออกมาพูดเป็นแต่เพียงการแสดงความเห็น เบื้องต้นต้องใช้เจ้าหน้าที่ที่รัฐบาลมอบหมายก่อน หลังจากประชุมแล้วจะต้องรายงาน ศปก.กปต. จะไปทำตามโดยลำพังไม่ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีกระแสข่าวว่านายฮัสซัน ตอยิบ ไม่มีอำนาจในการต่อรองกับแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า “อย่างเพิ่งน่า ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ที่บอกว่าการไปพูดคุยจะขัดรัฐธรรมนูญ มันจะขัดรัฐธรรมนูญได้อย่างไร เพราะนายฮัสซันเป็นคนไทย และเป็นการพูดคุยนอกราชอาณาจักร”
ที่ลานอเนกประสงค์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) อ.เมืองฯ จ.ยะลา นายอดินันท์ ปากบารา รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือจากตัวแทนสมาพันธ์นักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยื่นข้อเสนอแสดงเจตจำนงสนับสนุนการสร้างสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสร้างสันติภาพที่แท้จริง
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากหลากหลายองค์กรภาคประชาชนได้มีฉันทามติร่วมกัน โดยผ่านงาน BICARA PATANI (เสวนาปาตานี) เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีจำนวนผู้เข้าร่วมที่หลากหลายกว่า 7,000 คน มีความเห็นว่าจะนำเสนอวาระภาคประชาชนปาตานีไปยังรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ คือประเทศไทยและมาเลเซีย คือ 1.รัฐต้องยอมรับว่า BRN นั้นคือคู่เจรจาไกล่เกลี่ยที่จำเป็นต้องมีคนกลาง (Mediator) ไม่ใช่คู่สนทนาคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งระหว่างพลเมืองไทยกับเจ้าหน้าที่รัฐภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ 2.รัฐไทยต้องเอาข้อเรียกร้องที่เป็นภาคประชาชนไปเป็นข้อต่อรองกับทาง BRN เช่น ขอให้ยกเลิกการบังคับการใช้กฎหมายพิเศษ ขอให้ถอนทหารออกจากพื้นที่ เป็นต้น
ขณะที่ นายรักชาติ สุวรรณ์ ประธานชุมชนคูหามุข อ.เมืองฯ จ.ยะลา เปิดเผยว่า ชาวไทยพุทธในชุมชนมีการพูดคุยกันถึงกรณีที่รัฐบาลไทยจะเจรจาสันติภาพกับตัวแทนกลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็น มีข้อกังวลว่าชาวไทยพุทธในพื้นที่จะต้องกลายเป็นชนกลุ่มน้อยหรือไม่ หลังการเจรจาจะทำให้เกิดนครรัฐปัตตานีหรือไม่ และถ้าหากเกิดขึ้นจริง ประชาชนชาวไทยพุทธจะอยู่กันอย่างไร
ส่วนนายวิวัธน์ หริรักษ์ไพบูรย์ เลขาฯ ชุมชนฯ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับการเปิดเวทีพูดคุยครั้งนี้ อย่างน้อยที่สุดการพูดคุยก็จะนำไปสู่การรับรู้ในเรื่องต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การเจรจาต่อไป แต่การเจรจาทั้งหมด ประเทศไทยมี 77 จังหวัด แต่มีปัญหาเพียง 3 จังหวัด เมื่อได้ข้อสรุปจากกลุ่มคนไม่กี่คน แล้วเราจะตัดสินว่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ เพราะประเทศไทยมีประชากรกว่า 60 ล้านคน การที่จะทำอะไรควรจะถามคนทั้งประเทศด้วย
นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า การเจรจาครั้งนี้ เราต้องมาพูดถึงตัวแทนในการเจรจาก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการเจรจา คงยังต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควรกว่าที่จะเกิดความชัดเจน ฉะนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอดทนและมีความหวัง การเริ่มต้นเข้าสู่การเจรจาเหมือนกับการสร้างสัญญาประชาคมพันธกรณีทั้งกับคนไทยและกับประชาคมระหว่างประเทศอาเซียน ว่าต่อไปนี้จะเดินเข้าสู่การเจรจามากกว่าการใช้ความรุนแรง ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี
"หลังจากนี้เป็นต้นไป มันจะต้องมีการสำรวจประเด็นต่างๆ ที่จะพูดกัน และจะเห็นผลพวงของการเข้าสู่กระบวนการเจรจาทีละขั้น เช่น ความรุนแรงจะลดลง พื้นที่บางพื้นที่จะไม่มีการใช้ความรุนแรง กลุ่มเป้าหมายที่ไม่สามารถจะปกป้องตัวเองได้ คือ เด็ก สตรี ครู หลีกเลี่ยงที่จะตกเป็นเป้าความรุนแรงได้หรือไม่ ซึ่งเรียกว่า ผลประโยชน์การริเริ่มกระบวนการสันติภาพ ฉะนั้นทุกภาคส่วนจะต้องได้เห็นและได้ประโยชน์" นายสุรินทร์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ก่อนมีการเจรจาก็ยังมีเหตุรุนแรง โดยเมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 26 มี.ค. พ.อ.พสิษฐ์ ชาญเลขา หัวหน้าคณะทำงานพิเศษ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ 50 นาย ปิดล้อมตรวจค้นในหมู่บ้านกูแบปูยู หมู่ 8 ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส หลังสืบทราบว่าสมาชิกกองกำลังติดอาวุธอาร์เคเคที่ร่วมถล่มฐานปฏิบัติการนาวิกโยธิน บ้านยือลอ หมู่ 3 ต.บาเระใต้ อ.บาเจาะ เมื่อวันที่ 13 ก.พ. แฝงตัวกบดานอยู่ โดยเจ้าหน้าที่ได้กระจายกำลังตรวจค้นพบกลุ่มคนร้ายจำนวน 3-4 คน วิ่งหลบหนีลงไปในป่า กระทั่งเจ้าหน้าที่ไล่ติดตาม แล้วเกิดการปะทะกันขึ้นเป็นระลอกๆ สิ้นเสียงปืน พบเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 2 นาย คือ 1.อส.ทพ.อำรีดอแม อายุ 34 ปี ถูกกระสุนปืนของคนร้ายที่สะโพก และ 2.อส.ทพ.แสงชัย แสงมณี อายุ 29 ปี ถูกกระสุนปืนของคนร้ายที่ขา สังกัดกรมทหารพรานที่ 48 ส่วนคนร้ายสามารถหลบหนีไปได้
ต่อมา เวลา 06.00 น. วันที่ 27 มี.ค .เจ้าหน้าที่เข้าพิสูจน์ทราบ พบว่าที่บริเวณร่องน้ำห่างจากจุดปะทะประมาณ 250 เมตร พบศพคนร้ายนอนเสียชีวิตอยู่ ในลักษณะสวมกางเกงขายาวไม่สวมใส่เสื้อผ้านอนแช่น้ำอยู่ ทราบชื่อนายอับดุลรอแม็ง ดือเลาะ อายุ 34 ปี อยู่บ้านเลขที่ 25 ม.4 บ้านตืองอ ต.ศรีบรรพต อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ซึ่งมีบาดแผลถูกยิงที่บริเวณแผ่นหลังและลำตัวจำนวน 3 นัด ตรวจสอบประวัติพบว่ามีหมายจับ ป.วิ อาญา เลขที่ 482/2553 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2551 ในข้อหาร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน
ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 นาย คือ อส.ทพ.ฮำรี ดอแม และ อส.ทพ.แสงชัย แสงมณี อาการปลอดภัยแล้ว
ที่ปัตตานี เวลา 12.00 น. พ.ต.อ.ต่วนเดร์ จุฑานันท์ ผกก.สภ.เมือง จ.ปัตตานี รับแจ้งมีผู้พบวัตถุต้องสงสัยที่บริเวณที่ตั้งถังขยะ สามแยกระหว่างถนนยะหริ่งกับถนนกลาพอ ตรงข้ามคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี ใจกลางเมืองเขตเทศบาลเมืองปัตตานี จึงพร้อมด้วยชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดปัตตานีรุดไปที่เกิดเหตุ พบวัตถุต้องสงสัยอยู่ภายในถุง พบกล่องนมและมีนาฬิกาข้อมือผูกติดไว้ มีสายไฟเชื่อม ส่วนภายในเป็นตะปูจำนวนมาก และใบมีด แต่ไม่มีดินระเบิดและตัวจุดชนวนระเบิด ส่วนข้างกล่องเขียนว่า "มึงตาย"
เวลาประมาณ 16.00 น. เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดรถยนต์ปิกอัพเจ้าหน้าที่ อส.กรงปินัง จ.ยะลา ขณะออกลาดตระเวนเส้นทางในพื้นที่ ม.4 ต.ปุโรง อ.กรงปินัง ทำให้รถพลิกคว่ำจากแรงระเบิด จากนั้นได้เปิดฉากยิงปะทะกัน ก่อนที่คนร้ายจะล่าถอยหลบหนีไป เบื้องต้นมี อส.ได้รับบาดเจ็บ 2 นาย ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลกรงปินัง เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.กรงปินังระบุว่า เป็นการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบเพื่อสร้างสถานการณ์.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น