วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2556

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ อย่าก้าวกระโดดสันติภาพ บทบรรณาธิการ 28 March 2556


รัฐบาลยิ่งลักษณ์ อย่าก้าวกระโดดสันติภาพ






 ถือเป็นเรื่องสำคัญที่น่าจับตาอีกครั้ง ในการเข้าร่วมพูดคุยสันติภาพครั้งแรก ที่นำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับตัวแทนขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (บีอาร์เอ็น) ที่ประเทศมาเลเซีย หลังจากเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ได้มีการลงนามในฉันทามติทั่วไป ว่าด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพ (General Consensus on Peace Dialogue Process) โดยมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกในเรื่องของการประสานงานและสถานที่ในการลงนาม 
    แม้จะมีกระแสข่าวลือหนาหูการพูดคุยครั้งนี้ว่า กระบวนการเจรจาสะดุดทั้งที่ยังไม่ได้เริ่ม แต่การพยายามเดินอย่างต่อเนื่อง ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี เพราะหากนับในประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยมีเวทีเจรจากับคู่ขัดแย้งของรัฐไทยที่ผ่านมา 
    อย่างไรก็ตาม แม้ครั้งนี้จะไม่มีการเปิดเผยรายชื่อตัวแทนจากทั้งสองฝ่ายที่ชัดเจน แต่ก็สร้างแรงกระเพื่อมในทางบวกในพื้นที่ เพราะถือว่านับเป็นการขึ้นบันไดขั้นแรก เพื่อขับเคลื่อนสันติภาพให้เกิดอย่างแท้จริงในพื้นที่ชายแดนใต้ นับหนึ่งสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างสองฝ่ายให้มากขึ้น 
     ทั้งนี้ กระบวนการสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้ กำลังอยู่ในระหว่างเดินทาง และสุ่มเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุกลางทางได้ตลอดเวลา หากรัฐบาลไม่พยายามส่งเสริมหรือสร้างกระบวนการสนับสนุนทางเครือข่ายสาธารณะอย่างเปิดกว้าง (safety net) หนุนเสริม 
      โดยเฉพาะสิ่งสำคัญคือ รัฐบาลต้องตระหนักถึงการสร้างทีมปฏิบัติการพื้นที่โดยมีสัดส่วนของฝ่ายพลเรือน และภาคประชาสังคม ที่เหมาะสม สมดุล เนื่องจากที่ผ่านมา ล้วนมีแต่ฝ่ายทหาร การสร้างทีมงานพลเรือน เข้าเชื่อมต่อ เป็นความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะชุดความคิดของฝ่ายทหาร และพลเรือน ในการหาทางออกของปัญหาย่อมมีความแตกต่างกัน
    ยิ่งไปกว่านั้น ถนนสันติภาพที่กำลังเริ่มต้นสายนี้ ล้วนเดินอยู่บนความคาดหวังของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายของประชาชนในพื้นที่-นอกพื้นที่ โดยเฉพาะในส่วนของฝ่ายรัฐบาลยิ่งลักษณ์เอง 
    ต้องพึงตระหนักในเรื่องระยะเวลาที่จะนำไปสู่ความสงบในพื้นที่ในระยะยาว การรีบเร่งอย่างผิดทิศผิดทาง เพื่อผลลัพธ์ความสำเร็จอย่างรวดเร็ว เป็นเรื่องควรมองข้าม เพราะบทเรียนการทำงานสันติภาพในแต่ละพื้นที่กรณีศึกษาทั่วโลก ประจักษ์ชัดว่า การแก้ไขปัญหาไม่ต่ำกว่า 15-20 ปีเป็นอย่างน้อย 
     รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ต้องละเว้นวิธี หรือการเดินไปสู่กระบวนการตัดตอนสันติภาพ มุ่งหาทางลัด หรือรีบเร่ง  แต่กระบวนการ ต้องเดินอยู่บนหนทางของความสมัครใจ ประคับประคอง อย่าหวังแค่ผลสำเร็จทางการเมือง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเฉพาะอย่างเร่งด่วนที่สุด ต้องเปิดประตูทุกบานให้กว้าง มีโครงสร้างภาคประชาสังคมเข้าร่วมหลากหลาย เพราะท้ายสุด หากภารกิจสันติภาพครั้งนี้ล้มเหลว  เครือข่ายสังคมที่ได้สร้างไว้นี้จะสามารถเชื่อมต่อให้เดินต่อไปได้ 
    รัฐบาลต้องพึงสังวรทุกก้าวย่างว่า เดิมพันปัญหาไฟใต้ คือ ชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์ อย่าใจร้อน เร่งรีบสร้างสันติภาพ อย่างก้าวกระโดด การพูดคุยเจรจาสันติภาพนั้นเดินมาถูกทางแล้ว แต่ต้องทำงานควบคู่ไปกับแรงสนับสนุนจากสาธารณะ เพื่อให้เกิดสันติภาพในพื้นที่อย่างยั่งยืนแท้จริง. 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น