วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2556

ปูปัดแดงขู่ปปช. ทักษิณส่งการ์ด อารักขานายกฯ ข่าวหน้า 1 27 March 2556


ปูปัดแดงขู่ปปช. ทักษิณส่งการ์ด อารักขานายกฯ





วิปฝ่ายค้านฟันธงรัฐบาลไม่สามารถแถลงผลงานในสมัยประชุมนี้ได้ ย้ำแก้ รธน.รายมาตรา ต่างตอบแทน ส.ว.เลือกตั้งกับรัฐบาล "เหลิม" แหลจนชิน ไปฮ่องกงไม่ได้พบทักษิณ "ปู" ทำงงข่าว ป.ป.ช.สอบปล่อยกู้ 30 ล้าน โบ้ยว่าไปตามข้อมูลข้อเท็จจริง "พี่แม้ว" ส่งบอดี้การ์ดประจำตัวอดีตหน่วยซีลมาอารักขา "น้องปู"
    ที่รัฐสภา วันที่ 26 มีนาคม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) แถลงหลังการประชุมว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภาในสมัยประชุมนี้ที่กำลังจะปิดลงในเดือน เม.ย. สามารถวิเคราะห์ได้ว่า 1.การแถลงผลการทำงานของรัฐบาลต่อสภาคงจะไม่สามารถกระทำได้ในสมัยประชุมนี้ แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีมติประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อให้พิจารณาได้ก็ตาม แต่เป็นเพียงการเล่นละครตบตาสภาและวุฒิสภาเท่านั้น ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการบรรจุระเบียบวาระเรื่องดังกล่าว 
    2.การหนีตอบกระทู้ถามสด ซึ่งปรากฏว่าฝ่ายรัฐบาลได้หลบหนีและเลื่อนการตอบกระทู้กว่า 50% จากกระทู้ถามทั้งหมด และจากนี้ไปฝ่ายค้านก็จะไม่สามารถตั้งกระทู้ถามสดได้อีกในเวลาที่เหลือในสมัยประชุมนี้ เพราะสภาต้องพิจารณาทั้งร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ..... หรือร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
    "เราจะเห็นได้ว่ารัฐบาลพยายามเร่งรัด 2 เรื่องสำคัญและเห็นได้ว่าเป็นผลประโยชน์ทางการเมืองของรัฐบาลเข้าไปเกี่ยวข้องและสร้างปัญหาระยะยาวให้กับประเทศ" นายจุรินทร์กล่าว
    นายจุรินทร์กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า เป็นการแก้ไขเพื่อการต่างตอบแทน แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่าง ส.ส.รัฐบาล และ ส.ว.บางส่วน โดยมีข้อแลกเปลี่ยนคือ การต่อวาระการดำรงตำแหน่งให้ ส.ว.ได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่จำเป็นต้องเว้นวรรค และแลกกับการนิรโทษกรรมความผิดให้กับสมาชิกบ้านเลขที่ 109 ที่ถูกตัดสิทธิ์การเมืองจากคดียุบพรรค ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เพื่อเปิดทางให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถกระทำสะดวกมากขึ้น ป้องกันไม่ให้บุคคลสามารถเข้าไปยื่นเรื่องกับศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยได้โดยตรง ทั้งนี้ หลังจากการพิจารณาการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทแล้ว ทางวิปฝ่ายค้านจะกำหนดท่าทีเกี่ยวกับการอภิปรายการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป
    ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวการเดินทางไปเกาะฮ่องกงเพื่อพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ว่า ไป แต่ไม่ได้พบ ก็ไปเที่ยวบ้างสิ ตนไปฮ่องกงจริง แต่ไม่ได้เจอ อยากเจอใจจะขาด ไม่ได้นัด สัญญาณต่อไม่ติด ตนไปอยู่ 2 วัน
    เมื่อถามว่า มีข่าวว่าการเดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ เนื่องจากใกล้ช่วงปรับคณะรัฐมนตรี รองนายกฯ กล่าวว่า ตนไม่รู้จริงๆ คนที่ออกมาพูดรู้ได้อย่างไร ว่านายกฯ จะปรับเล็กหรือยังไม่ปรับ เมื่อถามว่า ไม่ได้พบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และได้คุยโทรศัพท์กันหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่บอก
    น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เตรียมทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้เข้าร่วมประชุมสภา เนื่องจากที่ผ่านมาถูกท้วงติงถึงการทำหน้าที่ในสภาของนายกฯ ว่า ยังค่ะ ขณะนี้ยังไม่เห็นหนังสือ ขอเรียนว่าตนให้ความสำคัญกับสภาและก็แวะไปสภาอยู่แล้ว แต่บางอย่างก็มีภารกิจของฝ่ายบริหารที่ต้องทำงาน และอย่างที่เรียนว่าถ้ากฎหมายที่สำคัญๆ เราก็เข้าไปร่วมค่ะ
    ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ โฆษกกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระบุว่า หากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) วินิจฉัยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีความผิดกรณีปล่อยกู้เงิน 30 ล้านบาทให้บริษัท แอ็ด อินเด็กซ์ จำกัด ที่มีนายอนุสรณ์ อมรฉัตร คู่สมรสเป็นผู้ถือหุ้น จะออกมาชุมนุมใหญ่เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม โดยก่อนตอบคำถามนายกฯ ได้หยุดนิ่งสักครูหนึ่ง และทำหน้างง พร้อมกับกล่าวว่า เหรอคะ อะไรนะ ตอนนี้อย่างที่ได้เรียนไว้ว่าตนได้ยื่นรายละเอียดทั้งหมดตามขั้นตอนของข้อกฎหมายแล้ว คงต้องรอผลจากทาง ป.ป.ช.ก่อน
    ผู้สื่อข่าวถามว่า นปช.กดดันการทำงานขององค์กรอิสระหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ทุกคนมีหน้าที่ของการทำงาน ทุกคนก็มีสิทธิ์แสดงออกทางความคิดเห็น เรื่องของความคิดเห็นเราก็ไม่อยากให้พัฒนาไปในทางความขัดแย้ง ทุกคนมีความคิดเห็นและมีความห่วงใยมากกว่า ดังนั้น จึงถือว่าเป็นความห่วงใยมากกว่า เพราะยังไม่มีการกดดันใดๆ ทั้งสิ้น ในส่วนของ ป.ป.ช.คงจะพิจารณาตามข้อมูลและข้อเท็จจริง และให้ความเป็นธรรม 
    ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ภายหลังการประชุม ครม.แล้วเสร็จ ที่บริเวณด้านหน้าตึกแดง สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้สังเกตเห็น ร.ท.ธวัชชัย กลีบเมฆ อดีตนายทหารเรือประจำศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) ในสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่ง ร.ท.ธวัชชัยได้เข้ามาทักทายกับผู้สื่อข่าวที่มีความคุ้นเคยกันมาในสมัยปฏิบัติงานในทำเนียบรัฐบาล โดยผู้สื่อข่าวได้พยายามสอบถามว่ามาทำอะไร ทำให้ ร.ท.ธวัชชัยกล่าวตอบเพียงว่า “มาช่วยงาน” ก่อนขอตัวและเดินจากไป 
    แหล่งข่าวจากตึกไทยคู่ฟ้าเปิดเผยว่า ร.ท.ธวัชชัย จะเข้ามาทำหน้าที่หัวหน้าชุดรักษาความปลอดภัยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งปัจจุบันมี พ.ต.ท.วทัญญู วิทยผโลทัย หรือ สารวัตรหนุ่ย ทำหน้าที่อยู่ ทั้งนี้ ร.ท.ธวัชชัย เป็นนายทหารหน่วยซีลแห่งกองทัพเรือ และได้โอนย้ายมาสังกัด ศรภ. ทำหน้าที่ในทีมบอดี้การ์ดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ช่วงที่เป็นนายกฯ ภายหลังเหตุการณ์ 19 ก.ย.49 ได้ลาออกจากราชการและติดตามให้การอารักขา พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะบอดี้การ์ดส่วนตัวตลอดช่วงที่อยู่ต่างประเทศ รวมไปถึงทำหน้าที่เป็นช่างภาพ และนำภาพโพสต์ผ่านโซเชียล
เน็ตเวิร์กให้ พ.ต.ท.ทักษิณบ่อยครั้ง
    วันเดียวกัน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม แถลงกรณีการแก้กฎกระทรวงกำหนดกฎเกณฑ์และวิธีการจำคุกโดยวิธีอื่นที่สามารถจำกัดการเดินทางและอาณาเขตว่า การปฏิบัติตามกฎกระทรวงดังกล่าว ผู้ต้องขังที่จะเข้าข่ายมีอยู่ 4 กลุ่ม โดยญาติผู้ต้องขังจะต้องร้องขอต่อเจ้าหน้าที่และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ยื่นคำร้องต่อศาลอีกครั้ง หากศาลอนุญาตแล้วจึงจะสามารถดำเนินการได้ ซึ่งกรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรมไม่ใช่สามารถดำเนินการได้เองตามลำพัง อุปกรณ์ดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า อีเอ็ม หรือ Electronic Monitoring จะเป็นระบบจีเอสเอ็มในการติดตามตัว การทำงานของตัวอุปกรณ์ดังกล่าว หากมีการจำกัดพื้นที่และอาณาเขตต่างๆ จะสามารถติดตามดูได้ว่าบุคคลอยู่จุดไหนเวลาไหนได้ 
     "ขณะนี้ประเทศไทยมีจำนวนนักโทษที่ถูกจำคุกประมาณ 2,600,000 คน มีเรือนจำทั้งหมด 143 แห่ง ขณะที่มีความสามารถในการรองรับนักโทษได้เพียง 190,000 คน จึงต้องมีแนวคิดเสริมในการระบายนักโทษออกไปคุมขังยังสถานที่ข้างนอก เพื่อลดจำนวนนักโทษในเรือนจำ" พล.ต.อ.ประชากล่าว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น