วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2556

รอ‘โต้ง’อนุมัติเงินคงคลัง รถคันแรกหนี้พุ่ง1.3หมื่นล. ข่าวหน้า 1 29 March 2556


รอ‘โต้ง’อนุมัติเงินคงคลัง รถคันแรกหนี้พุ่ง1.3หมื่นล.






คลังย้ำมีเงินพอจ่ายคืนรถคันแรก ยัน 5 เม.ย.ได้ครบทุกราย แค่รอ "โต้ง" เซ็นอนุมัติล้วงเงินคงคลัง อ้างเป็นเรื่องปกติใช้ได้ตาม กม. JMT คาดโครงการนี้ทำหนี้พุ่ง 1.3 หมื่นล้าน
    เมื่อวันที่ 28 มีนาคม นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังมีเงินเพียงพอสำหรับการจ่ายคืนให้กับประชาชนที่ได้สิทธิ์ในโครงการรถคันแรก โดยยืนยันว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้งบกลางมาดำเนินการในส่วนดังกล่าว เนื่องจากยอดการจ่ายเงินให้ประชาชนที่ได้สิทธิ์ยังมีจำนวนไม่มากนัก ดังนั้นผู้ได้สิทธิ์รับเงิน 1 แสนบาทคืนจากโครงการรถคันแรก รอบวันที่ 5 เม.ย.นี้ จะได้รับเงินในส่วนนี้อย่างครบถ้วน
    "เรื่องนี้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ซึ่งควบคุมดูแลกรมบัญชีกลางอยู่ รู้ดีว่าเงินอะไรอยู่ตรงไหน จะรู้ถึงความสำคัญและความเหมาะสมว่าจะเอาเงินตรงไหนมาใส่มากกว่าผม ผมเป็นแค่คนหาเงินอย่างเดียว ไม่ใช่คนจ่ายเงิน ซึ่งทราบว่านายกิตติรัตน์จะพิจารณาภาพรวมการใช้จ่ายเงินทั้งหมด ว่าเงินส่วนไหนที่ยังไม่จำเป็นต้องเร่งใช้จ่ายก็จะดึงวงเงินในส่วนนั้นมาจ่ายคืนในโครงการรถคันแรกไปก่อน  ส่วนข่าวที่ว่าเงินที่ใช้จ่ายคืนในโครงการรถคันแรกเหลือ 392 ล้านบาทจนหลายคนกังวลนั้น ก็อยากให้ติดตามดูกันไป พอถึงวันจ่ายจริงก็รู้ว่าทำไมจะไม่พอจ่าย เพราะถึงวันจ่ายเราก็ต้องมีจ่ายอยู่แล้ว” นายทนุศักดิ์กล่าว
    ทั้งนี้ การดำเนินโครงการรถคันแรกยังไม่มีเรื่องใดที่น่ากังวล โดยที่ผ่านมาได้สั่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบรายงานความคืบหน้าทุกเดือน โดยเฉพาะในเดือน เม.ย.นี้ ยังไม่ได้รับรายงานเกี่ยวกับข้อกังวลอย่างมีนัยสำคัญของโครงการดังกล่าว ทุกอย่างยังเป็นปกติดี ส่วนกรณีที่มีประชาชนทิ้งใบจองนั้น คงมีในส่วนน้อยเท่านั้น และยังไม่ส่งผลกระทบหรือสร้างความปั่นป่วนให้กับผู้ผลิตรถยนต์ ขณะที่ยอดการสละสิทธิ์ในโครงการรถคันแรกยังไม่เพิ่มขึ้น จากก่อนหน้านี้มีอยู่ 2 พันราย ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวยังอยู่ในเกณฑ์ปกติที่ 1% เท่านั้น
    นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ยืนยันว่า โครงการรถคันแรกสามารถดึงเงินคงคลังมาใช้ได้ ซึ่งเรื่องนี้อยู่ภายใต้อำนาจของ รมว.การคลัง ที่จะต้องอนุมัติอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร โดยเรื่องนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ.2491 มาตรา 7 (1) ที่กำหนดไว้ว่า หากมีการตั้งงบประมาณสำหรับดำเนินโครงการใดแล้วไม่เพียงพอสำหรับใช้จ่าย สามารถดึงเงินส่วนนี้มาใช้ได้ ซึ่งที่ผ่านมามีการใช้เงินคงคลังในการใช้จ่ายเป็นประจำทุกปี เช่น การชำระหนี้เงินกู้ เป็นต้น
    “รัฐบาลไม่สามารถคาดเดาได้อย่างถูกต้องจริงๆ ว่าจะมีประชาชนเข้าร่วมโครงการรถคันแรกมากขนาดไหน จึงได้ตั้งวงเงินดำเนินการไว้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่เมื่อดำเนินการจริงปรากฏว่าโครงการได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก งบประมาณที่ตั้งไว้ไม่เพียงพอ ก็ต้องดึงเงินคงคลังมาใช้ แค่นั้นเอง เพราะเมื่อถึงที่สุดแล้วถ้าหางบส่วนอื่นมาใช้แทนไม่ได้ ก็ต้องใช้เงินคงคลัง ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะปัจจุบันมีเงินคงคลังอยู่ในระดับสูงถึง 3 แสนล้านบาท โดยส่วนนี้เมื่อดึงเงินคงคลังมาใช้แล้ว จะต้องดำเนินการตั้งงบประมาณมาชดใช้ในปีงบประมาณถัดไป” นายมนัสระบุ
    อธิบดีกรมบัญชีกลางชี้แจงว่า โครงการรถคันแรกรัฐบาลมีการเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์มาก่อนหน้าแล้ว จำนวน 1.2-1.3 แสนล้านบาท ขณะที่ต้องดำเนินการจ่ายเงินคืนให้ผู้ที่ได้รับสิทธิ์ในโครงการทั้งสิ้น 1.25 ล้านราย หรือคิดเป็นเงิน 9.1 หมื่นล้านบาท ดังนั้นรัฐบาลยังมีส่วนต่างที่เหลืออีก 2-3 หมื่นล้านบาท ส่วนแนวทางการจ่ายเงินคืนจะทยอยจ่ายจริง เมื่อประชาชนถือครองรถยนต์ครบ 1 ปี ไม่ได้เป็นการจ่ายครั้งเดียวทั้งหมด
    ด้านนายปิยะ พงษ์อัชฌา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส หรือ JMT ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการติดตามเร่งรัดหนี้ บริหารหนี้ด้อยคุณภาพ และให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มือสอง เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดสินเชื่อปีนี้มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยหนี้กลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตมีอัตราที่เพิ่มขึ้น โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ในช่วงปี 2555 ที่ผ่านมา มีมูลหนี้เสียในระบบมูลค่าราว 4.7 หมื่นล้านล้านบาท และคาดว่าในปีนี้มูลหนี้เสียจะเพิ่มขึ้นเป็นราว 5.6 หมื่นล้านล้านบาท ซึ่งจะเป็นโอกาสของบริษัทที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นได้อีกมาก รวมไปถึงโครงการรถคันแรกที่คาดว่าจะมีหนี้เสียอยู่ที่ราว 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัทคาดว่าจะเข้าไปซื้อหนี้เสียจากโครงการดังกล่าวนี้ประมาณ 3 พันล้านบาท.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น