|
|
1. สภาฯ เสียงข้างมากลาก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านผ่านวาระแรก ด้าน “สนธิ” เตือน ไม่เกิน 4 ปี ประเทศไทยเจ๊ง เพราะหนี้ก้อนนี้! | ||||
จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แจงเหตุที่รัฐบาลต้องออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน แทนที่จะดำเนินการผ่านกระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปีว่า เพราะที่ผ่านมามีบทเรียนว่า โครงการใหญ่ๆ ถูกระงับยกเลิกเปลี่ยนแปลง เนื่องจากความผันผวนทางการเมือง ทำให้การลงทุนไม่ต่อเนื่อง “โครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท จะต้องมีการติดตามตรวจสอบเพื่อให้โครงการนั้นสามารถบรรลุผลตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ และขั้นตอนของการจัดซื้อจัดจ้างต้องมีความโปร่งใส ไม่เกิดทุจริตคอร์รัปชั่น... ดิฉันอยากเห็น ส.ส.และประชาชนได้ร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์และร่วมกันสร้างผลงานวางรากฐานอนาคตประเทศไทย และร่วมกันวางรากฐานเพื่ออนาคตลูกหลานคนไทยของเราต่อไป” ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) อภิปรายโดยยืนยันว่า พรรคมีมติไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน เพราะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องมีกฎหมายฉบับนี้ ไม่จำเป็นต้องกู้ ใช้ระบบงบประมาณก็มีเงินเพียงพอ และหากให้เอกชนมาร่วมลงทุนอย่างจริงจัง ตัวเลขการลงทุนคงไม่สูงขนาดนี้ นายอภิสิทธิ์ ยังเหน็บรัฐบาลด้วยว่า รัฐบาลหาเสียงว่าจะไม่กู้เงิน ขึ้นป้ายทั่วประเทศว่าล้างหนี้ให้ประเทศ แต่นี่ถือเป็นหนี้ก้อนใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ มากกว่าสถิติที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เคยทำไว้ 7,000 ล้านบาท “ที่บอกว่าใช้หนี้ 50 ปี หนี้ที่คนไทยต้องใช้คือ 5 ล้านล้านบาท ดอกเบี้ย 3 ล้านล้านบาท อยู่บนสมมติฐานว่า เศรษฐกิจโลกจะมีดอกเบี้ยต่ำไปอีก 50 ปี อยากถามว่า หากวันข้างหน้าเกิดความผันผวนของเศรษฐกิจโลก อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น แผนของรัฐบาลจะผิดหมด ไม่ใช่ 50 ปี ไม่ใช่ชาติหน้า แต่เป็นชาติโน้น” ขณะที่นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย อภิปรายตั้งข้อสังเกตว่า พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน คนคิดคือ พ.ต.ท.ทักษิณ คนพูดคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ คนใช้เงินคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แต่คนใช้หนี้คือประชาชนทั้งแผ่นดิน พร้อมยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยกับการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน เพราะอ่านรายละเอียดหมดแล้ว ไม่เห็นบอกเลยว่ากระทรวงการคลังและรัฐบาลจะเอารายได้จากไหนมาคืนหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย 5.16 ล้านล้านบาท หมายความว่าหนี้ก้อนนี้จะอยู่ชั่วลูกชั่วหลาน คนคิดคนกู้เสียชีวิตหมดแล้ว แต่หนี้อยู่กับลูกหลาน ดังนั้นจึงเห็นว่าการออกกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้าน เป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญ หมวด 8 การเงินการคลัง มาตรา 166 ,167 ,169 ด้านนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน มี 19 มาตรา มีบัญชีแนบท้าย 2 หน้า มี 3 ยุทธศาสตร์ แค่นี้ประเทศไทยก็อยู่ในมือรัฐบาล ส่วนที่รัฐบาลบอกว่ามีโครงการละเอียดเป็นเอกสารประกอบ 231 แผ่น ก็เป็นการยัดไส้และไม่ชัดเจน เนื่องจากเอกสารดังกล่าวเป็นเพียงเอกสารประกอบ ไม่มีข้อผูกมัดใดใด เพราะไม่ใช่บัญชีแนบท้าย จึงสามารถโยกไปโยกมาได้อย่างสะดวก “ถ้าแน่จริงเอาเอกสาร 231 หน้ามาใส่ในบัญชีแนบท้าย ท่านกล้าหรือไม่ และอันไหนที่กรรมาธิการฯ เห็นว่าไม่ดี ก็ตัดทิ้งเอาหรือไม่ ถ้าใจถึงก็เอาสิ บริหารชาติร่วมกันอย่างโปร่งใส ขนาดความใหญ่ของการกู้ครั้งนี้ใหญ่เป็น 4 เท่าของการกู้ไอเอ็มเอฟ และทำแบบวันเวย์ทิกเก็ต คือไปอย่างเดียวไม่มีกลับ ไม่เหมือนงบประมาณปกติ และเป็นการกู้ไม้สุดท้ายที่ยัดไส้และเป็นเช็คเปล่า เชื่อว่าหนี้สาธารณะติดเพดานแน่นอน” เป็นที่น่าสังเกตว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้ลุกขึ้นชี้แจง หลังแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ระบุว่า รัฐบาลเคยหาเสียงจะล้างหนี้ แต่กลับมาก่อหนี้ให้ประชาชน โดยอ้างว่า ที่รัฐบาลเคยหาเสียงว่าจะไม่สร้างหนี้นั้น หมายถึงจะไม่สร้างหนี้จากการทุจริต แต่หนี้จำนวนนี้เป็นการสร้างหนี้เพื่อการลงทุน ร.ต.อ.เฉลิม ยังอ้างอีกว่า “แนวทางการล้างหนี้คือการหาเงินเพื่อไปขยายการลงทุน เมื่อเศรษฐกิจเติบโตขึ้น หนี้ก็จะหายไปเอง...” ส่วนบรรยากาศการอภิปรายวันที่สอง(29 มี.ค.) ที่น่าสนใจ ได้แก่ กรณีที่นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายโดยตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดนายวิป วิญญรัตน์ บุตรชายนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานโยบายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงได้รับงานจากรัฐบาลให้วิจัยเกี่ยวกับโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นโครงการใน พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ทั้งที่นายวิปไม่มีความรู้ด้านวิศวกรรมและรถไฟความเร็วสูงเลย ขณะที่นายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายชี้ให้เห็นว่า ค่าก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงและค่าปรึกษาสูงเกินเหตุและสูงกว่าต่างประเทศมาก โดยยกตัวอย่างว่า เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ค่าก่อสร้าง 2.8 แสนล้านบาท ค่าที่ปรึกษา 7,000 ล้านบาท แต่ในสหรัฐฯ มูลค่าก่อสร้างแค่ 2 แสนล้านบาท ส่วนค่าที่ปรึกษาแค่ 120 ล้านบาทเท่านั้น เท่ากับว่าค่าที่ปรึกษาของไทยแพงกว่าเกือบ 60 เท่า ด้านนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย อภิปรายว่า ไม่สามารถเห็นชอบการกู้เงินครั้งนี้ พร้อมเสนอให้รัฐบาลลดวงเงินกู้จาก 2 ล้านล้าน เหลือ 5 แสนล้านบาท เพื่อให้สภาได้ดูผลงานว่าเหมาะสมที่จะกู้ 2 ล้านล้านหรือไม่ ขณะที่นายชัย ชิดชอบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย อภิปรายแสดงความเป็นห่วงว่า ถ้า พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ชอบ การประชุมสภาก็จะสิ้นเปลืองเวลาโดยใช่เหตุ ดังนั้นน่าจะใช้วิธีขอประชามติจากประชาชนว่าควรออก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านหรือไม่ ทั้งนี้ หลังใช้เวลาอภิปราย 2 วันเต็ม แม้ฝ่ายค้านจะไม่เห็นด้วยกับการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน แต่ในที่สุดเมื่อถึงเวลาลงมติ เสียงข้างมากของรัฐบาลก็สามารถทำให้ร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฉบับนี้ผ่านสภาในวาระ 1 ได้ ด้วยเสียง 284 ต่อ 152 เสียง งดออกเสียง 21 และไม่ลงคะแนน 7 เสียง จากนั้นที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 36 คน ขึ้นมาเพื่อแปรญัตติใน 30 วัน ด้านนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พูดถึงการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท โดยเชื่อว่า ไม่เกิน 4 ปี ประเทศไทยจะล้มละลาย เพราะหนี้ก้อนนี้ "วันนี้คนบอกว่าเป็นหนี้ 50 ปี มองแต่ว่าต้องผ่อนถึง 50 ปี แต่ตนมองอีกประเด็นหนึ่ง ไม่เกิน 4 ปีประเทศไทยเจ๊ง เพราะหนี้ก้อนนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ค่าเงินบาทจะกลายเป็น 38 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เหมือนเดิม ประเทศไทยจะอยู่ในสภาวะล้มละลาย ทรัพย์สินต่างๆ ถูกเลหลังขายหมด รัฐวิสาหกิจถูกขาย และวันนั้นคนที่มาซื้อก็คือฝรั่งหัวดำ ที่มันมีเงินรออยู่แล้วจากการคดโกงไป และเอาเงินออกไปข้างนอก เพราะฉะนั้นแล้วไอ้พวกนี้มันมีทางออกเผื่อไว้เรียบร้อยแล้ว ทำไป ถ้าไปได้ก็ดี ถ้าไปไม่ได้เจ๊ง กูเข้ามาช้อนซื้อ ไม่ใช่เงินกู เป็นเงินของประเทศไทย" 2. “สมศักดิ์” นัดประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณา 3 ร่างแก้ รธน. 1-3 เม.ย. พร้อมเชื่อ ไม่ทำเดือน เม.ย. เป็นเดือนเดือดทางการเมือง! | ||||
2.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190 ที่ ส.ส. และ ส.ว. 314 คนเป็นผู้เสนอ โดยเสนอแก้ไขให้หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตประเทศหรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และ 3.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 68 และมาตรา 237 ที่ ส.ส. และ ส.ว. 311 คนเป็นผู้เสนอ โดยมาตรา 237 เสนอแก้ไขให้ยกเลิกการยุบพรรคและการตัดสิทธิหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค ส่วนมาตรา 68 เสนอแก้ไขให้ประชาชนที่พบเห็นการกระทำที่อาจเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ไม่สามารถยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยตรงได้ ต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุดเท่านั้น ซึ่งก่อนหน้านี้ แกนนำพรรคเพื่อไทยบางคน ได้ยอมรับว่า การแก้ไขมาตรา 68 เพื่อเปิดทางให้มาตรา 291 ที่ค้างอยู่ในสภา สามารถเดินหน้าโหวตในวาระ 3 ได้ หลังหยุดชะงัก เพราะมีประชาชนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 และศาลฯ วินิจฉัยทำนองว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่สามารถทำได้ ดังนั้น หากสามารถแก้ไขมาตรา 68 สำเร็จ จะเท่ากับเป็นการลดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ และตัดสิทธิประชาชนในการร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญทันที ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เชื่อว่า การประชุมพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับดังกล่าว จะไม่ทำให้เดือน เม.ย.เป็นเดือนเดือดทางการเมือง เพราะสาระที่แก้ไม่มีอะไรมาก อาจจะมีการมองต่างมุมบ้างก็แค่มาตรา 68 ซึ่งนายสมศักดิ์ อ้างว่า การแก้ไขมาตรา 68 โดยปิดช่องทางไม่ให้ประชาชนยื่นเรื่องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการคานอำนาจ ไม่ใช่การตัดสิทธิประชาชน เพราะประชาชนยังมีสิทธิยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุดได้ ด้านนายอำนวย คลังผา ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) เผยว่า ที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายเห็นตรงกันเรื่องการกำหนดเวลาการอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญระหว่างวันที่ 1-3 เม.ย.แล้ว โดย ส.ว.ได้อภิปราย 8 ชั่วโมง ,รัฐบาล 15 ชั่วโมง ,ฝ่ายค้าน 11 ชั่วโมง รวมเป็น 34 ชั่วโมง 3. กกต. มีมติ 4 ต่อ 1 รับรอง “สุขุมพันธุ์” เป็นผู้ว่าฯ กทม.แล้ว ขณะที่เจ้าตัว ยัน พร้อมทำงานกับรัฐบาล-เดินหน้านโยบายที่หาเสียง! | ||||
ทั้งนี้ มีรายงานว่า กกต.เสียงข้างน้อย 1 เสียง คือ นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ โดยเห็นว่า ยังไม่ควรประกาศรับรองผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เนื่องจากยังมีเวลาพิจารณาสำนวนคำร้องคัดค้านอีกหลายวัน อีกทั้งมติของ กกต.กทม.ที่เสนอมายัง กกต.กลาง ก็มีมติชี้ว่าควรให้ใบเหลืองหรือใบแดง แต่ยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกร้อง ดังนั้นเวลาที่เหลืออยู่ ควรมีการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงและเชิญผู้ถูกกล่าวหาเข้าชี้แจงให้ครบตามขั้นตอน หากการสอบสวนไม่แล้วเสร็จ กกต.ก็สามารถประกาศรับรองผลเลือกตั้งในวันที่ 1 เม.ย.ได้ เป็นที่น่าสังเกตว่า หลัง กกต.ประกาศรับรอง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์เป็นผู้ว่าฯ กทม. นพ.เหวง โตจิราการ และ นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ไม่พอใจ พร้อมเปิดแถลงเรียกร้องให้ กกต.ทบทวนการรับรองผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. โดยอ้างว่า มีหลายกรณีที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ถูกร้องเรียนและมีความผิดชัดเจน ฐานใส่ร้ายป้ายสีจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยม เหตุใด กกต.จึงประกาศรับรอง ด้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ หลังทราบว่า กกต.ประกาศรับรองผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.แล้ว ได้ส่งตัวแทนเข้ารับหนังสือรับรองจาก กกต.เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ก่อนเข้าทำงานที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครเป็นวันแรกเมื่อวันที่ 29 มี.ค. พร้อมเปิดแถลงข่าวขอบคุณข้าราชการและลูกจ้างในสังกัด กทม.ทุกคนที่ช่วยกันดูแลการเลือกตั้งให้ผ่านไปด้วยความเรียบร้อย และว่า เมื่อการเลือกตั้งผ่านพ้นไป ข้าราชการทุกคน ไม่ว่าจะชื่นชอบผู้สมัครพรรคใด ต้องหันกลับมาช่วยกันทำงานเพื่อ กทม. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ยังเผยความรู้สึกที่ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเกิน 1 ล้านคะแนนด้วยว่า นอกจากเป็นความภาคภูมิใจส่วนตัวแล้ว ยังแสดงถึงภาระหน้าที่ที่จะต้องทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้สมกับที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนที่ต้องการให้กลับมาพัฒนา กทม.ต่อเนื่องอีก 4 ปี พร้อมยืนยันว่า จะเดินหน้าทำตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้โดยเร็วที่สุด และพร้อมทำงานร่วมกับรัฐบาล ส่วนการกำหนดตัวทีมรองผู้ว่าฯ กทม.นั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ คาดว่า จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการได้ในวันที่ 1 เม.ย. 4. การเจรจา “ไทย-บีอาร์เอ็น” ไร้ข้อยุติ ออกแถลงการณ์ร่วมนัดถกรอบใหม่ 29 เม.ย. - “ประยุทธ์ ลั่น ไม่แบ่งแยกดินแดน-ไม่ถอนทหารพ้นใต้! | ||||
ทั้งนี้ ก่อนการประชุมกับกลุ่มบีอาร์เอ็นจะเริ่มขึ้น พล.ท.ภราดร ได้ประชุมหารือย่อยกับคณะเจรจาฝ่ายไทย ที่โรงแรมเจดับบลิว แมริออต กรุงกัวลาลัมเปอร์ เพื่อเตรียมพร้อม โดยผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย พล.ท.ภราดร ,พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ,พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม ,พล.ต.ท.สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ,พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ,พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) ,พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาส ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธี สถาบันพระปกเกล้า ,พล.ท.สุรวัฒน์ บุตรวงษ์ รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานข่าวกรอง สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ,นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วยผู้แทนกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ส่วนผู้แทนภาคประชาชน ประกอบด้วย นายศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และนายอาซิส เบ็ญหาวัน ประธานสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังประชุม พล.ท.ภราดร บอกว่า ตัวแทนฝ่ายไทยที่จะเจรจากับบีอาร์เอ็นและพูโล มี 9 คน ส่วนตนป็นเพียงผู้นำทาง ส่วนประเด็นที่จะคุยกันเป็นเรื่องการลดเหตุรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ “การเจรจาทุกข้อต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย เพียงแต่จะมีเงื่อนไขใดบ้าง ต้องเป็นที่ยอมรับกันทั้ง 2 ฝ่าย และเรื่องที่พูดคุยจะถูกหยิบยกมาพิจารณาว่า จะนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงหรือไม่ เพราะต้องรับฟังจากเสียงของคนไทยทั้งประเทศด้วย” เป็นที่น่าสังเกตว่า ทางการมาเลเซียซึ่งเป็นคนกลางในการจัดการเจรจาครั้งนี้ ได้ปิดสถานที่เจรจาเป็นความลับ โดยได้จัดรถยนต์ 6 คันมารับคณะเจรจาฝ่ายไทยไปยังสถานที่เจรจา หลังใช้เวลาเจรจาประมาณ 9 ชั่วโมง พล.ท.ภราดร เผยว่า กลุ่มบีอาร์เอ็นที่เข้าเจรจา ประกอบด้วย กลุ่มบีอาร์เอ็นคองเกรส กลุ่มบีอาร์เอ็นโคออดิเนต และกลุ่มพูโล โดยที่ประชุมได้ข้อสรุป 2 ประเด็น 1.คณะเจรจาที่จะพูดคุยครั้งต่อไปต้องไม่เกิน 15 คนตามเดิม โดย 6 คนแรกที่จะเป็นผู้ที่อยู่บนโต๊ะเจรจา คือ ตน ,พ.ต.อ.ทวี ,พล.ต.ท.สฤษฏ์ชัย ,พล.อ.นิพัทธ์ ,พล.ต.นักรบ และนายอภินันท์ ส่วนที่เหลือจะเป็นผู้สนับสนุน 2.หัวข้อที่หารือกัน คือการลดเหตุรุนแรงในพื้นที่ ซึ่งการเจรจาครั้งนี้มีการแลกเปลี่ยนข้อเสนอที่จะลดความรุนแรงของทั้งสองฝ่าย แต่เนื่องจากมีหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเสนอเพิ่มเข้ามาด้วย ทั้งสองฝ่ายจึงต้องนำข้อเสนอไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อสรุปให้ได้ก่อน แล้วค่อยนำกลับมาเจรจากันอีกครั้ง รายงานแจ้งว่า คณะเจรจาฝ่ายบีอาร์เอ็น มี 6 คน มีนายฮาซัน ตอยิบ เป็นผู้นำ ได้ตกลงกับตัวแทนฝ่ายไทยที่มี พล.ท.ภราดร เป็นผู้นำ และได้ออกแถลงการณ์ร่วมกำหนดกรอบปฏิบัติเพื่อการเจรจา โดยการเจรจาครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 29 เม.ย. ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย และยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศปก.กปต.) บอกว่า ได้แจ้ง พล.ท.ภราดรแล้วว่า ให้นำผลการเจรจามารายงานต่อ ศปก.กปต. โดยจะประชุม ศปก.กปต.ในวันที่ 2 เม.ย. เพื่อรับทราบการเจรจาและกำหนดทิศทางต่อไป เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้จะมีการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มบีอาร์เอ็นและพูโล แต่เหตุไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก พูดถึงเหตุไม่สงบว่า ส่วนหนึ่งอาจมาจากการคัดค้านการเจรจา เพราะผู้ก่อความไม่สงบมีหลายกลุ่ม ย่อมมีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย “สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงคือ การรักษาอำนาจรัฐไว้ให้ได้ การบังคับใช้กฎหมาย และแผ่นดินนี้แบ่งแยกไม่ได้... ไม่อยากพูดถึงข้อเสนอ 9 ข้อของบีอาร์เอ็น เพราะจากที่อ่านดูนั้นยาก และยังเป็นไปไม่ได้ ต้องใช้เวลาและต้องมาพูดคุยพิสูจน์ทราบกันก่อน ต้องมาแก้กันทีละข้อ จะแก้ทีเดียว 9 ข้อเลยไม่ได้ ส่วนข้อเสนอที่จะให้มีการถอนทหารออกจากพื้นที่ คงยังไม่ได้...” ทั้งนี้ มีรายงานว่า 9 ข้อเรียกร้องของกลุ่มบีอาร์เอ็น ได้แก่ ให้ถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมยกเลิกกฎหมายพิเศษ ,ให้จัดพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตปกครองพิเศษ ,ให้มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำผิด เป็นต้น |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น