วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2556

5ล้านล.ใช้ขนของสด ‘ปู’แจงข้อดีรถไฟความเร็วสูง‘กรณ์’ท้า7ข้อทำไม่ได้โมฆะ ข่าวหน้า 1 29 March 2556



5ล้านล.ใช้ขนของสด ‘ปู’แจงข้อดีรถไฟความเร็วสูง‘กรณ์’ท้า7ข้อทำไม่ได้โมฆะ







ชำแหละงบสร้างหนี้ 2 ล้านล้านบาท รัฐบาลเรียงหน้าแจงข้อดี “ยิ่งลักษณ์” ชี้คนไทยจะได้บริโภคของสดใหม่ “โต้ง” ยอมรับ 50 ปีหนี้พอก 5 ล้านล้านบาท แต่ดอกเบี้ยตกเป็นของคนไทยทั้งหมด “มาร์ค” ย้อนเจ็บ ยกคำพูด ”พี่เหลี่ยม” เป็นนักธุรกิจเข็ดแล้วกู้เงิน ส.ส.ปชป.เรียงหน้าสับ เงินกู้หัวคิว ดบ.นาทีละ 150,000 บาท พร้อมยกป้ายหาเสียง พท. ”ล้างหนี้ให้ประเทศ” ตบหน้า กรณ์ท้ารัฐ 7 ข้อ อึ้ง! เหลิมแจงข้อสงสัย “นายกฯ-รมต.เศรษฐกิจ” หายหัว
    เมื่อวันพฤหัสบดี สภาผู้แทนราษฎรได้มีการประชุมวาระพิเศษเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ.... วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอ ซึ่งบรรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคักทั้งในและนอกสภา
โดยที่หน้าอาคารรัฐสภา ได้มีกลุ่มคนเสื้อแดงกว่า 200 คน เดินทางมาชุมนุมสนับสนุนรัฐบาลในการกู้เงินดังกล่าว และได้ปราศรัยโจมตีพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ว่าขัดขวางความเจริญ พร้อมตำหนิคนในพรรคตั้งแต่หัวหน้าพรรคลงมา ส่วนที่อาคารรัฐสภา นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ถอนญัตติดังกล่าวออก ซึ่งนายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาฯ ได้เป็นตัวแทนรับหนังสือ พร้อมให้สัมภาษณ์ว่า ประธานสภาฯ ไม่มีอำนาจถอน ขึ้นอยู่กับอำนาจผู้ที่เสนอร่าง
“ถือเป็นการแสดงความเห็นต่างที่ไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ดี และก็เป็นสิทธิของประชาชนที่จะแสดงความเห็นต่างได้” นายวัฒนากล่าวถึงกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยที่มาเรียกร้องในเรื่องดังกล่าว
           ขณะเดียวกัน นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา ปชป. ได้ยื่นรายชื่อสมาชิกรัฐสภา 76 คน แบ่งเป็น ส.ว.42 คน และ ส.ส.ปชป. 35 คน ต่อนายสมศักดิ์ เพื่อให้ส่งความเห็นต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.... มีความขัดแย้งรัฐธรรมนูญหรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
“ร่าง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.... นอกจากขัดรัฐธรรมนูญแล้ว ยังเปิดช่องให้ใช้เงินของรัฐร่วมธุรกิจกับเอกชนอย่างง่ายดาย เพื่อเป็นการรองรับการใช้ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท” นายไพบูลย์ระบุ
สำหรับการประชุม ได้เริ่มจากนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.การคลัง นำเสนอหลักการและเหตุผลในการเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ว่าเพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง และการเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างรวดเร็ว รวมทั้งรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนทั้งในและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเตรียมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
ต่อมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ได้แจงว่า รัฐบาลตั้งใจพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า โดยจำเป็นต้องลงทุนขนาดใหญ่ในโครงสร้างพื้นฐานตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายไว้ หลังจากปัจจัยการเมืองมีความขัดแย้งในปี 2549 ทำให้ประเทศพัฒนาถดถอย และไม่ได้รับการยอมรับ ซึ่งแนวคิดลงทุนโครงสร้างพื้นฐานได้ตอบโจทย์เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาที่เชื่อมโยงการลงทุนทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ
2 ล้านล.ลงทุนเพื่อได้ของสด
“แนวคิดในการสร้างความแข็งแรงทางเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืนโดยเชื่อมห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจ เกษตรกรรม การผลิตและการส่งออกเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดการลดต้นทุนการผลิตและการส่งออก รวมถึงลดเวลาขนส่งสินค้า และที่สำคัญอาหารก็จะสดขึ้น ผู้บริโภคก็จะได้รับอาหารที่มีคุณภาพที่ดีขึ้น ราคายุติธรรม” น.ส.ยิ่งลักษณ์เอ่ยถึงประโยชน์ของการลงทุน
นายกฯ ยังอธิบายถึงหลายคนสงสัยว่าทำไมต้องกู้เงินผ่านการออก พ.ร.บ. แทนการใช้งบประมาณประจำปีว่า งบประมาณรายปีไม่สามารถเอื้อต่อการลงทุนขนาดใหญ่เป็นระยะนาน เช่นในอดีตการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ จึงไม่ควรถูกแปรเปลี่ยนในสภาวะการเมืองที่มีความผกผัน ซึ่งตลอดเวลาของโครงการนี้ หนี้ของประเทศจะอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ คือต่ำกว่า 50% ของจีดีพี และเรายังมีช่องอีก 10% ต่อจีดีพี เพื่อรักษาวินัยการคลังไม่ให้สูงเกิน 60%
“ขอยืนยันว่าการดำเนินการจะโปร่งใสและเข้มงวดกว่างบประมาณประจำปี โครงการจะมีการติดตามตรวจสอบและดำเนินการตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ดิฉันไม่อยากให้ถกเถียงว่าใครจะริเริ่ม แต่อยากเห็นประชาชนร่วมกันมีส่วนร่วมในการวางรากฐานเพื่ออนาคตของลูกหลานคนไทยต่อไป" น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว
ต่อมานายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ได้ชี้แจงพร้อมเปิดวีดิทัศน์ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 2020 อธิบายถึงความจำเป็นในการทำโครงการ โดยระบุว่าหากปล่อยไปอย่างนี้ อนาคตเราจะแข่งกับเพื่อนบ้านและชาติอื่นลำบาก จะยิ่งถอยหลังและสูญเสียความสามารถการแข่งขัน ซึ่งงบจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเป็นเส้นเลือดใหญ่เป็นกระดูกสันหลังประเทศ ส่วนงบปกติจะเป็นเส้นเลือดฝอย เมื่อรวม 2 งบนี้ประเทศเราจะสมบูรณ์แบบ
นายชัชชาติยังได้อธิบายถึงโครงการภายใต้แผนงานตาม 3 ยุทธศาสตร์ พร้อมยกตัวอย่างโครงการที่จะดำเนินการว่ามีแผนรายละเอียดชัดเจนอยู่ในเอกสารแนบท้าย ปีไหนทำอะไร งบประมาณเท่าไหร่
ต่อมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำฝ่ายค้าน ได้อภิปรายย้ำว่า รัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอดำเนินโครงการเหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องกู้เงินนอกระบบปกติ ซึ่งไม่มีใครไม่ต้องการเห็นการลดต้นทุนทางโลจิสติกส์ และมีกฎหมายหลายฉบับที่สามารถอนุญาตให้ทำโครงการได้ โดยเมื่อพรรคเป็นรัฐบาล ฝ่ายค้านซึ่งคือรัฐบาลขณะนี้คัดค้านการกู้เงินมาก คำก็บอกว่าสร้างหนี้ คำก็บอกว่ากู้มาโกง คำก็ว่าเก่งแต่กู้ และรัฐบาลนี้ก็ไปหาเสียงว่าจะสร้างอนาคตประเทศ 2020 ซึ่งอยากย้อนถามว่าเอาเงินจากไหน เพราะเห็นต่อว่ารัฐบาลอื่นๆ ว่ากู้เงิน พรรคเพื่อไทยตอบประชาชนว่าไม่กู้ แถมขึ้นป้ายหาเสียงทั่วประเทศด้วยว่าล้างหนี้ให้ประเทศ ซึ่งการกู้เงินครั้งนี้ ถือเป็นการกู้เงินก้อนใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มากกว่าไอเอ็มเอฟ ยิ่งกว่าที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เคยสร้างสถิติไว้ที่กู้ 7 แสนล้านบาทในหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
ย้อนไหนบอกเข็ดเงินกู้
“ผมแปลกใจ ช่วงประชุมพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 23 เม.ย.2554 ปราศรัยในที่ประชุมพรรค มีคนหนึ่งบอกในที่ประชุมพรรคเพื่อไทยว่า สังหรณ์ใจว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้ง เพราะพรรคประชาธิปัตย์สร้างหนี้ แต่พรรคเพื่อไทยล้างหนี้ และพูดถึงโครงการต่างๆ แล้วยังบอกอีกว่าไม่ต้องกู้ ผมเป็นคนไม่ชอบกู้ เพราะผมเป็นนักธุรกิจ เข็ดแล้วกู้เงิน ตอนนี้มาช่วยการเมืองไม่อยากให้กู้ ผมไม่ใช่นักกู้ อันนี้เป็นคำพูดของคนที่คิดแล้วเพื่อไทยทำ” นายอภิสิทธิ์กล่าว
ผู้นำฝ่ายค้านยังได้อภิปรายลงไปในรายละเอียดทั้งเรื่องของภาระหนี้สาธารณะ การตรวจสอบ และความโปร่งใสของโครงการ เพราะเอกสารประกอบบัญชีแนบท้ายไม่ได้อยู่ในสถานะบังคับสภาพกฎหมายเหมือนเอกสารของกฎหมายงบประมาณ รวมถึงรายละเอียดโครงการว่าจะเป็นไปตามที่รัฐบาลโฆษณาไว้หรือไม่
“วันนี้ไม่รับหลักการของกฎหมายฉบับนี้ได้ อย่าทำเหมือนหลังน้ำท่วม เอาภาพสวยงามมาฉายอนาคตบังหน้า เพื่อที่จะกู้มากอง กู้มาโกง เพิ่มหนี้ เพิ่มความเสี่ยงให้ประเทศ 50 ปี 5 ล้านล้านบาท คือผลที่จะได้จากการอนุมัติกฎหมายฉบับนี้ และโครงการต่างๆ ไม่มีหลักประกัน” นายอภิสิทธิ์ทิ้งท้าย
นายกิตติรัตน์ได้ชี้แจงว่า ครม.มีเจตนาดำเนินการตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ด้วยความมุ่งมั่น ซื่อตรง โปร่งใส และเกิดผลประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศในระยะยาวอย่างแท้จริง ซึ่งการกู้เงินครั้งนี้หากมองว่าการใช้หนี้บาทสุดท้ายภายใน 50 ปีนั้นเป็นเรื่องระยะยาว แต่ทรัพย์สินที่จะลงทุนจะยืนยาวอีกเป็นศตวรรษ จึงอยากให้ทุกคนสบายใจ ไม่ได้ซุกซ่อนอะไร
“การที่พูดว่าเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท มีดอกเบี้ย 3 ล้านล้านบาท เป็นเรื่องจริง เพราะเป็นระยะเวลาที่ยาวนานถึง 50 ปี ซึ่งการกู้เงินครั้งนี้จะเน้นกู้เงินในประเทศเป็นหลัก เพราะรัฐบาลเห็นว่าดอกเบี้ย 3 ล้านล้านบาทควรตกเป็นของคนไทยเกือบทั้งหมด” นายกิตติรัตน์กล่าว และว่า ความกังวลเรื่องหนี้สาธารณะนั้น ยืนยันได้ว่ารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์เอาใจใส่ชำระหนี้ เพราะได้เริ่มชำระหนี้ข้ามทศวรรษ 1.14 ล้านล้านบาท ที่ถูกทิ้งตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งแล้ว
การอภิปรายยังคงสลับกันไปมาระหว่าง ส.ส.ฝ่ายค้านและ ส.ส.รัฐบาล โดยฝ่ายค้านยังคงแสดงความไม่เห็นด้วย ในขณะที่ ส.ส.ซีกรัฐบาลก็อภิปรายสนับสนุน อาทิ นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์  ส.ส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า กฎหมายขัดต่อการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 ส.ค.2554 ที่ยึดแนวเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งโครงการนี้ต้องเรียกว่า ทักษิณคิด ยิ่งลักษณ์กู้ รัฐมนตรีคมนาคมใช้เงิน แต่ประชาชนร่วมใช้หนี้ ทุกคนเสียชีวิตไปหนี้ก็ยังใช้ไม่หมด และหนี้ก็ตกกับลูกหลานคนไทยจำนวน 1.5 แสนบาทต่อคน และคงหนีไม่พ้นที่ประชาชนต้องใช้หนี้ด้วยการถูกรีดภาษี
ซัดเงินกู้กินหัวคิว
    นายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. อภิปรายว่า การลงทุนมีความเสี่ยง แต่รัฐบาลกลับนำเสนอแค่ข้อดี เป็นการเอาเปรียบประชาชนทั้งประเทศ หากนายกฯ รัฐมนตรี และ ครม.มั่นใจก็อยากให้เซ็นค้ำประกันเงินกู้ครั้งนี้ และยังข้องใจว่าทำไมรัฐบาลรีบร้อน ยกตัวอย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ใช้งบ 9 แสนล้านบาท แต่ไม่เชื่อมต่อไปยังชายแดน และยังมีการซื้อหัวจักรรถไฟแล้วทั้งที่รางรถไฟยังไม่มีแผนสร้างแน่นอน และมีการกินเข้าไปเกือบ 50% ซึ่งจะกลายเป็นเงินกู้กินหัวคิว
ด้านนายสรรเสริญ สมะลาภา ส.ส.กทม. อภิปรายว่า เห็นด้วยกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่ไม่เห็นด้วยในวิธีการกู้เงินของรัฐบาล รวมทั้งวิธีใช้เงินที่จะนำไปสู่การทุจริตคอรัปชั่นในอนาคต จึงอยากเรียกว่า พ.ร.บ.บังคับให้ประชาชนใช้หนี้ 5 ล้านล้านบาทมากกว่า เพราะหากคิดคร่าวๆ เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ที่ดอกเบี้ย 4% ต่อปีนั้น ประเทศจะเสียดอกเบี้ย 8 หมื่นล้านบาทต่อปี คิดเป็นนาทีละ 150,000 แสนบาท
“การที่ไม่ทำในงบประมาณ เพราะ พ.ร.บ.นี้ใช้แล้วคล่องคอ เพราะรายละเอียดในบัญชีแนบท้ายไม่มีสถานะทางกฎหมาย ครม.สามารถปรับเปลี่ยนได้” นายสรรเสริญระบุ
นายศุภชัย ศรีหล้า ส.ส.อุบลราชธานี ปชป.ได้อภิปรายพร้อมนำป้ายมาหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่ระบุว่า “ล้างหนี้ให้ประเทศ สร้างรายได้ให้ประชาชน” มาโชว์พร้อมบอกว่า กฎหมายที่เสนออยู่ในขณะนี้ส่วนทางกับนโยบายหาเสียง และเรียกร้องให้รัฐบาลถอนร่างออกไป ซึ่งนายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นประท้วงทันทีว่า ป้ายเป็นทรัพย์สินของพรรคเพื่อไทย และไปเอามาได้อย่างไร ครั้งที่แล้วก็เอาข้าวแล้วครั้งหนึ่ง พอสิ้นเสียงของนายสุนัย ก็เรียกเสียงหัวเราะได้จากที่ประชุมพอสมควร
ต่อมาในเวลา 18.30 น. นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. ได้อภิปรายว่า รัฐบาลสามารถหารายได้ทางอื่นมากกว่าสร้างภาระให้ประชาชน และการกู้นอกระบบงบประมาณอาจเกิดปัญหาวินัยการคลัง และยังเสี่ยงขัดกับรัฐธรรมนูญ รวมทั้งรัฐบาลต้องพูดความจริงว่าแหล่งรายได้มาจากที่ใด หรือจะกลับมาปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือจริงๆ ไม่มีเจตนารับผิดชอบในอีก 10 ปีข้างหน้า เพราะไปไหนแล้วก็ไม่ทราบ เงินก็ใช้ไปหมดแล้ว
นายกรณ์ยังอภิปรายว่า รัฐบาลไม่สามารถอ้างเสียงข้างมากในสภาได้ เพราะหาเสียงไว้ว่าจะล้างหนี้และสามารถลงทุนในโครงการต่างๆ โดยไม่กู้ยืม ผู้ที่คิดแทนท่านบอกว่าเป็นนักธุรกิจเข็ดแล้วกับการกู้ แต่ถ้ายังจะใช้เสียงข้างมากต่อไป ก็ขอท้าเพื่อพิสูจน์ความจริงใจใน 7 ข้อ คือ 1.ถ้าจริงใจต่อโครงการต่างๆ ให้เอาทุกโครงการบรรจุเป็นบัญชีแนบท้ายเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมาย 2.โครงการใดที่เบิกจ่ายล่าช้ากว่ากำหนดการขอให้หมดสิทธิ์จากการกู้ยืมจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ 3.โครงการใดตัดสินใจไม่ทำ ยกเลิกไม่ให้โอนไปยังโครงการอื่น 4.ให้เขียนระเบียบว่าด้วยการพัสดุการจัดซื้อจัดจ้างลงในกฎหมายเลย และเพิ่มเติมบทบาทของภาคีภาคเอกชนต่อต้านคอรัปชั่น
5.ขอให้เขียนในกฎหมายว่าถ้าภาคีต่อต้านคอรัปชั่นเข้าถึงข้อมูลไม่ได้ หรือพบทุจริตในโครงการใดขอให้หมดสิทธิ์กู้ทันที 6.ที่ รมว.การคลังยืนยันว่าจะบริหารให้งบให้สมดุลได้ในปี 2560 ถ้างบประมาณขาดดุลมากกว่าที่อ้างไว้ขอให้ พ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้านบาทเป็นโมฆะทันที และ 7.นายกฯ พูดไว้ว่าหนี้สาธารณะจะไม่เกิน 50% ของจีดีพี ขอเขียนไว้ในกฎหมายว่าหากหนี้เกิน 50% ขอให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้โมฆะทันที
"ต่อให้โครงการนี้ถูกหมด และต้องกู้ทั้งหมด ก็สามารถกู้ในระบบงบประมาณตามปกติได้ รัฐบาลต้องตอบให้ได้ว่าทำไมจึงยอมเสี่ยงกู้นอกระบบงบประมาณโดยออกเป็นกฎหมายพิเศษ" นายกรณ์ระบุ
อึ้ง! เหลิมแจงแทน
ต่อมา ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ได้ลุกขึ้นชี้แจงข้อสงสัยของนายกรณ์ โดยยืนยันว่าพรรคมองว่าเรื่องนี้เป็นการก้าวกระโดด เพื่อต้องการเป็นผู้นำอาเซียน และยังได้อภิปรายพาดพิงไปยังโครงการของพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งโครงการไทยเข้มแข็ง และโครงการมิยาซาวา รวมทั้งยังใช้สไตล์การเป็นกูรูทางกฎหมายอภิปรายหลักการกฎหมาย ซึ่งทำให้เกิดการประท้วงและมีการใช้สทธิ์พาดพิงของ ส.ส.ประชาธิปัตย์อย่างต่อเนื่อง
น่าสังเกตว่าข้อสงสัยของ ส.ส.ฝ่ายค้าน โดยเฉพาะคำถามและคำท้าของนายกรณ์ ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ประชาชนให้ความสนใจ แต่กลับไม่ได้รับการชี้แจงจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ รมต.ที่รับผิดชอบโดยตรงอย่างนายกิตติรัตน์และนายชัชชาติ โดยทั้งหมดกลับไม่อยู่ในห้องประชุม กลับเป็น ร.ต.อ.เฉลิมที่รับผิดชอบฝ่ายความมั่นคงลุกขึ้นชี้แจงแทน
นายเกียรติอุดม เมนะสวัสดิ์ ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะวิปรัฐบาล กล่าวมั่นใจว่า การลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.จะได้รับเสียงเห็นชอบไม่ต่ำกว่า 300 เสียง เพราะฝ่ายค้านอภิปรายด้วยข้อมูลที่ไม่มีน้ำหนักมากพอ ในขณะที่เสียงพรรคร่วมรัฐบาลเป็นเอกภาพ รวมทั้งเสียงจากทางพรรคภูมิใจไทยที่คาดว่าจะเทให้จนทะลุ 300 เสียง เนื่องจากการอภิปราย ส.ส.ภูมิใจไทยมีท่าทีไม่คัดค้าน
นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคสนับสนุนโครงการ แต่ขอให้รัฐบาลใช้เงินด้วยความระมัดระวัง พวกเราพร้อมเป็นหนี้ 50 ปี เพราะเชื่อว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น