วันพุธที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2556

สรุปข่าววิเคราะห์จาก ไทยโฟสต์ 5 - 13 มี.ค.56




ข่าว 5 มี.ค.56
สมช.ชงต่ออายุ พรก.ฉุกเฉินชายแดนใต้อีก 3 เดือน จ่อยกเลิก 5อำเภอวัดใจ "บีอาร์เอ็น" หลังลงนามเจรจาสันติภาพ หน่วยข่าวมั่นคงแฉ น.ช.ทักษิณวางแผน 3 ขั้น ร่วมมือมาเลย์คุยโจรใต้-ดึงวาดะห์วางฐานมวลชนในพื้นที่-ให้ ส.ส.เพื่อไทยเดินหน้ายกร่างกฎหมาย "มหานครปัตตานี" มีเลือกตั้งผู้ว่าฯ-เลขาฯ ศอ.บต. หวั่นปฏิกิริยาตอบโต้รุนแรง เหตุ "ฮัสซัน ตอยิบเป็นคนรุ่นเก่า ไม่เชื่อมโยงบีอาร์เอ็นรุ่นใหม่ที่ปฏิบัติการเหมือน "เซลล์ไวรัส" จับตาเปิดทางผู้มีหมายจับคดีมั่นคงร่วมเจรจาด้วย ชี้ฝ่ายความมั่นคงรับไม่ได้ "สุกำพล" โวยพวกถ่วง
    เมื่อวันจันทร์ ที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มีการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) เป็นประธาน แต่ทั้งนี้ ร.ต.อ.เฉลิมงดให้สัมภาษณ์ตามที่เคยประกาศไว้หาก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ของพรรคเพื่อไทยแพ้การเลือกตั้ง
    ด้าน พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช.กล่าวถึงการนัดหมายกับผู้แทนของกลุ่มบีอาร์เอ็นในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้าว่า คงยังไม่มีการลงนามใดๆ เพิ่มเติม แต่จะมีการเปิดหัวข้อในการตั้งกลุ่มพูดคุย กรอบระยะเวลา และกฎเกณฑ์ในการพูดคุยกันต่อไป ส่วนที่มองว่าเป็นเพียงการสร้างภาพนั้น ยืนยันว่าเป็นการทำตามแนวนโยบาย และทุกฝ่ายมีส่วนร่วมตกผลึกผลักดันให้เกิดเวทีพูดคุยครั้งนี้ ไม่ได้มาจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเท่านั้น
       "เรามีความมั่นใจ เพราะจะใช้การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน, ประชาสังคม, วิชาการ และหน่วยความมั่นคงโดยจะดำเนินการตามมติของประชาชนเป็นหลัก 
       ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า แกนนำบีอาร์เอ็นที่ สมช.ไปลงนามด้วยนั้น เป็นกลุ่มอิทธิพลเก่าที่ไม่มีอำนาจสั่งการในปัจจุบัน เลขาธิการ สมช.กล่าวว่า คงต้องเดินหน้าพูดคุยต่อไป เนื่องจากบีอาร์เอ็นเป็นองค์กรใหญ่ ต้องมีกลุ่มผู้นำทางความคิด กองกำลังและแนวร่วม โดยในช่วงแรกต้องทำการพูดคุยตั้งแต่ผู้นำทางความคิด ก่อนที่จะขยายผลต่อไปในส่วนต่างๆ ส่วนกลุ่มอื่นยังอยู่ในระหว่างการประสานงาน ซึ่งหากกระบวนการเจรจากับบีอาร์เอ็นเดินหน้าไปได้ ก็คงมีผู้ออกมาแสดงตัวมากขึ้น
     ภายหลังการประชุม พล.ท.ภราดรเปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติให้มีการขยายการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน  พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ในทุกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ออกไปอีก 3 เดือน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 19 มี.ค.นี้ ทั้งนี้ ในการประชุมทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้มีการเสนอพื้นที่ที่เห็นว่า ควรจะมีการยกเลิกประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินใน 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี, อ.เบตง อ.กาบัง จ.ยะลา และ อ.แว้ง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ซึ่งที่ประชุมได้เห็นด้วย แต่ต้องการให้การดำเนินการเป็นไปตามโรดแม็ปของ สมช.ที่ต้องนำเรื่องนี้ไปพูดคุยหารือกับทางกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งหากในพื้นที่ 5 อำเภอนี้พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ก็สามารถยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และนำพระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักรพ.ศ.2551(พ.ร.บ.มั่นคง)เข้ามาใช้ในพื้นที่อีกได้
เลิกฉุกเฉิน5อำเภอวัดใจบีอาร์เอ็น
    พล.ท.ภราดรระบุว่า สำหรับเหตุผลในการที่จะให้พื้นที่ 5 อำเภอเปลี่ยนมาปรับใช้ พ.ร.บ.มั่นคงนั้น พิจารณาจากสถิติของสถานการณ์ซึ่งถือว่ามีน้อยมาก และดูจากความพร้อมของเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะนำฝ่ายมหาดไทยและตำรวจมาชดเชยเจ้าหน้าที่ทหาร และรับฟังความคิดเห็นจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก ซึ่ง ศอ.บต.ได้รายงานมาว่าใน 5 อำเภอควรยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยยืนยันว่าใน 5 อำเภอมีความมั่นใจที่จะประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงได้ เพียงแต่ขอให้มีกระบวนการในการพูดคุย เพราะเมื่อมีการลงนามกับกลุ่มบีอาร์เอ็นแล้ว ทางไทยก็อยากดูความจริงใจกับฝ่ายที่จะพูดคุย ว่าเราจะสามารถดำเนินการควบคู่ไปได้อย่างไร ซึ่งคาดว่าจะนำผลการประชุมวันนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในสัปดาห์หน้า
    แหล่งข่าวจาก สมช.กล่าวถึงการพิจารณายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อเปลี่ยนมาใช้ พ.ร.บ.มั่นคงในพื้นที่ 5 อำเภอดังกล่าว ว่า เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและแนวทางการแก้ปัญหาโดยกระบวนการสันติวิธี โดยการเปิดเวทีพูดคุยให้ผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ หรือมีคดีความมั่นคงเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามมาตรา 21 และให้สอดคล้องกับแถลงการณ์ประกาศเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกันระหว่างไทย-มาเลเซีย เพื่อการพูดคุยสันติภาพที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่3จังหวัดชายแดนภาคใต้
    แหล่งข่าวด้านความมั่นคง ประเมินผลของคำแถลงการณ์ไทย-มาเลเซีย ว่า เป็นเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองของทั้ง 2 ฝ่าย คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ได้วางเป้าหมายทางการเมืองไว้ 1 ปี ในการสร้างผลงานการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ โดยเป็นการเคลื่อนไหว 3 ระดับ คือ 1.ความร่วมมือกับประเทศมาเลเซีย ให้มาเป็นผู้อำนวยการพูดคุยกับขบวนการก่อความไม่สงบ อย่างไรก็ตาม นายราจิบ นาซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย หวังผลการเมือง 2 ประการ คือ การเข้ามาลงทุนทางเศรษฐกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และหวังผลทางการเมืองระดับชาติ ที่จะนำประเด็นความสำเร็จดังกล่าวไปรณรงค์หาเสียงช่วงเลือกตั้งเดือน มี.ค.นี้ เช่นเดียวกับกรณีมาเลเซียประสบผลสำเร็จในการเป็นผู้อำนวยการ เข้าไปไกล่เกลี่ยปัญหาชาวมุสลิมกลุ่มหนึ่งทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์
     2.ดึงแกนนำกลุ่มวาดะห์มาช่วยทำงานมวลชนในพื้นที่ เพื่อวางฐานการเมืองพรรค และ 3.ส่วนงานฝ่ายนิติบัญญัติ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อเดินหน้ายกร่างกฎหมายเขตปกครองพิเศษ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ "มหานครปัตตานี" มีเป้าหมายให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.)เป็นต้น
    แหล่งข่าวด้านความมั่นคง ประเมินว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการดำเนินการที่เร็วเกินไป แม้จะเป็นส่วนหนึ่งตามนโยบายข้อ 8 (2) ของ สมช. ที่ระบุว่า ส่งเสริมการพูดคุยสันติภาพ เนื่องจากกระบวนการพูดคุยสันติภาพในครั้งนี้ ตรงกันข้ามกับขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังคงผลิตหรือสร้างนักสู้ หรือนักรบออกมาก่อความไม่สงบได้อย่างต่อเนื่อง การที่ขบวนการยังหาคนมาต่อสู้ได้อย่างต่อเนื่อง แสดงว่ายังมีเงื่อนไขในพื้นที่ที่ยังคงดำรงอยู่ เอื้อต่อความรู้สึกนึกคิดในจิตใจ และอุดมการณ์ของประชาชนในพื้นที่ เช่น การใช้เงื่อนไขทางศาสนาในการต่อสู้ขับไล่ศัตรูหรือผู้รุกราน หรือ เจ้าหน้าที่รัฐ หรือผู้บริสุทธิ์ด้วยการฆ่า โดยไม่ขัดต่อหลักศาสนาหรือไม่บาปเป็นต้

โต้กลับรุนแรง-เรียกร้องเพิ่ม
    "มีความกังวล 2 ส่วน คือ ปฏิกิริยาตอบโต้รุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นจากขบวนการที่ไม่ยอมเข้าร่วมพูดคุยสันติภาพ และผู้ลงนามอย่างนายฮัสซัน ตอยิบ เป็นตัวจริงของขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี หรือบีอาร์เอ็นจริงหรือไม่ เนื่องจากทราบดีว่านายฮัสซันเป็นคนรุ่นเก่า ไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับขบวนการกลุ่มบีอาร์เอ็นรุ่นใหม่ ที่แตกออกมาเป็นกลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธ และกลุ่มบีอาร์เอ็น คองเกรสที่เน้นทำงานทางการเมืองและศาสนา"
    โดยทั้งหมดทำงานแยกส่วน กล่าวคือ ทั้งบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต และบีอาร์เอ็น คองเกรส เป็นองค์กรลับหรือ "องค์กรใต้ดิน" ไม่มีผู้นำ ไม่มีระบบปกครองชัดเจน แต่มีคณะบุคคล หรือสภาองค์กรผู้นำแบ่งหน้าที่ทำงาน โดยแบ่งเขตพื้นที่กันทำงาน 3 ระดับ คือ ตำบล อำเภอ และจังหวัด ซึ่งแต่ละเขตจะมีคนทำงาน 6-7 คน โดยแยกส่วนกันทำงาน และมีอิสระในการตัดสินใจปฏิบัติการเหมือน "เซลล์ไวรัส" เพื่อง่ายต่อการหลบหนี การถูกติดตาม ปกปิดตัวตน หรือการหาข่าว และปกปิดการปฏิบัติการ ดังนั้นจึงยากต่อการจับกุม แม้จะจับตัวผู้ก่อการได้ 1 คน แต่ไม่อาจสืบสาวขยายผลไปถึงตัวผู้บงการได้
        "จึงเกิดคำถามตามมาว่า รัฐบาลมาเลเซียมั่นใจได้อย่างไรว่า นายฮัสซัน จะเข้าถึงขบวนการบีอาร์เอ็นกลุ่มดังกล่าวในพื้นที่จริงหรือไม่ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสาเหตุที่ ผบ.ทบ.และแม่ทัพภาค 4 ไม่พอใจรัฐบาลและ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. เพราะการลงนามบันทึกความเข้าใจหรือเอ็มโอยูดังกล่าว ควรลงนามกับรัฐบาลมาเลเซีย ไม่ใช่หัวหน้าขบวนการ เพราะเอ็มโอยูดังกล่าวจะค่อยๆ พัฒนาไปสู่การจัดตั้งคณะทำงานร่วม (Joint Working Group) ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า ก่อนจะบรรลุการจัดทำทีโออาร์ (TOR) สุดท้ายจะนำไปสู่การตั้งโต๊ะเจรจาระหว่างกันภายใน1ปีตามที่พ.ต.ท.ทักษิณวางเป้าหมายไว้"
       แหล่งข่าวฝ่ายความมั่นคงกล่าวอีกว่า อีกข้อกังวลคือ จะมีข้อเรียกร้องต่างๆ ตามมามากมาย เพราะไม่มีความมั่นใจว่า นายฮัสซันจะดึงบุคคลใดมาร่วมนั่งหารือพูดคุย โดยไม่ขัดกับการทำงานด้านความมั่นคง เช่น คำร้องขอที่จะให้ผู้ที่มีหมายจับคดีความมั่นคงในพื้นที่เข้ามาร่วมพูดคุย ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงยอมรับไม่ได้ แม้จะเป็นบุคคลที่ไม่มีหมายจับก็ตาม แต่อยู่ในบัญชี "ทำเนียบกำลังรบ" ของขบวนการ ซึ่งฝ่ายความมั่นคงมีข้อมูลอยู่ในมือทั้งหมด และทางรัฐบาลจะดำเนินนโยบายอย่างไรต่อกลุ่มขบวนการที่ไม่ยอมเข้าร่วมกระบวนการพูดคุยสันติภาพ เช่น เมื่อปี 2536-2537 สมัย พล.อ.กิตติ รัตนฉายา อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เคยมีนโยบายในลักษณะดังกล่าว แต่มีความเข้มข้นกับกลุ่มที่ไม่เข้าร่วมกระบวนการพูดคุย 
    "ในที่สุดเกิดปฏิกิริยาตอบโต้รุนแรง เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้น โดยไม่ได้มีการวางกรอบการพูดคุยปัญหาระยะยาว โดยเฉพาะรูปแบบการปกครอง ตามที่คนในพื้นที่ต้องการอย่างแท้จริง และสิทธิของประชาชนที่ต้องการดำรงอยู่ในพื้นที่จะเป็นอย่างไร เพราะนี่คือแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาว" แหล่งข่าวระบุ
'บิ๊กโอ๋'โต้พวกถ่วง    
    พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีการลงนามกับกลุ่มบีอาร์เอ็นว่า สถานการณ์ภาคใต้จะดีขึ้น โดยหลังจากที่เราได้มีการหารือเจรจากับกลุ่มบีอาร์เอ็น ถือเป็นช่องทางในการแก้ไขปัญหามากขึ้น ทุกสมรภูมิและทุกการรบต้องมีการคุยกัน เพราะคู่ขัดแย้งต้องมีการพูดคุยกัน ทั้งนี้ การพูดคุยครั้งนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะทำให้ทราบต่อไปว่า การแก้ไขจะต้องดำเนินการอย่างไร ดีกว่ามาเดากันเอง โดยหน่วยงานด้านความมั่นคงรับผิดชอบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็จะต้องทำต่อไปเพื่อให้เกิดความสงบสุข การลงนามครั้งนี้เป็นกุญแจดอกแรก และต้องอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญไทย ส่วนขั้นตอนต่อไปจะต้องมีการพูดคุย เพื่อกำหนดว่าจะพูดคุยเรื่องอะไรและอย่างไรที่ไหนแต่ต้องคุยหลายฝ่าย
       เมื่อถามถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ระบุว่าเคยพูดคุยกับนายสะแปอิง บาซอ แกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น ในการยื่นข้อเสนอความต้องการของกลุ่มบีอาร์เอ็น พล.อ.อ.สุกำพลกล่าวว่า ยังไม่ได้คุยกัน และยังไม่เห็นข้อเสนอเพียงแต่มีการพูดกันไปมาเท่านั้นขณะนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น
    เมื่อถามว่า นายฮัสซัน ตอยิบ เป็นคนเดียวกับที่ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร อดีต รมว.กลาโหม นำมาแถลงการณ์ประกาศยุติการสู้รบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 (ททบ.5) เมื่อปี 2551หรือไม่พล.อ.อ.สุกำพลกล่าวว่า"คนที่พูดก็พูดกันไปเป็นพวกถ่วงและเป็นพวกเดิม"
       เมื่อถามถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณเคยระบุว่า ผู้ก่อเหตุในพื้นที่ภาคใต้เป็นโจรกระจอก แต่ทำไมวันนี้ถึงต้องไปลงนามกับกลุ่มดังกล่าว พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า อย่าไปถามแบบนั้น ขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป แต่ตอนนี้เรารู้แล้วว่าอะไรคืออะไร
    ในการประชุมสมาชิกวุฒิสภา ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว.สรรหา หารือว่า หลังจากที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ลงนามเจรจาสันติภาพกับกลุ่มบีอาร์เอ็น เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนสงสัยว่าเป็นการจัดฉากหรือไม่ เนื่องจากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว
    นพ.เจตน์กล่าวว่า ตนมีข้อสังเกตเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว คือ 1.การลงนามดังกล่าวเป็นไปตามที่ทางการไทยกดดัน หรือเป็นการลงนามเพื่อเข้าสู่แผนการแบ่งแยกดินแดนของกลุ่มโจรแบ่งแยกดินแดน เพราะตามข้อมูล กลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นกลุ่มที่แยกออกมาจากกลุ่มบีไอพีพี เมื่อปี 2006 ตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายสถาปนารัฐปัตตานีให้เป็นรัฐเอกราช ซึ่งแผนการของมาเลเซียมุสลิม คือ แยกดินแดน 4 จังหวัด มีการต่อสู้เพื่อสถานะรัฐบาลท้องถิ่น ดังนั้น การลงนามเจรจาดังกล่าวอาจนำไปสู่การนำเรื่องไปหารือต่อที่ประชุมโอไอซี 2.รัฐบาลเจรจาถูกกลุ่ม ถูกคนหรือไม่ ขอให้รัฐบาลเปิดเผยรายละเอียด หรือข้อมูลเกี่ยวกับนายฮัสซัน ตอยิบด้วย 3.การเจรจาดังกล่าว รัฐบาลไทยควรเจรจากับพรรคฝ่ายค้านของมาเลเซียด้วยเพราะอาจเกิดการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองหลังการเลือกตั้งในเดือน มิ.ย.นี้ และ 4.รัฐบาลไทยเคลียร์กับทหารที่ปฏิบัติงานในพื้นที่แล้วหรือไม่ ทั้งนี้ตนไม่ปฏิเสธการเจรจา แต่กรณีดังกล่าวควรมีการเจรจาทางลับจนตกผลึกเสียก่อน
.
ข่าว 6 มี.ค.56
ประชาธิปัตย์เมินหารือ 4 ฝ่ายคลอด พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ระบุไม่มีหลักประกันจะไม่ล้างผิดให้ทักษิณ-แกนนำแดง กังขา เจริญ จรรย์โกมลรับงานมาหรือไม่ ย้ำต้องนิรโทษฯ เฉพาะผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขณะที่พันธมิตรฯ ยื่นหนังสือแสดงจุดยืนต่อรองประธานสภาฯวันพุธนี้ก่อนร่วมถก11มีนาคม
    ความคืบหน้าการเสนอให้ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม กรณีนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร นัดหารือวันที่ 11 มีนาคม กับ 4 ฝ่าย ซึ่งประกอบไปด้วย พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาธิปัตย์, กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติและกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
    นายณัฏฐ์ บรรทัดฐาน รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงผลการประชุม ส.ส.พรรค ถึงเรื่องดังกล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึงกรณีที่นายเจริญได้มีหนังสือเชิญตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ร่วมหารือเพื่อผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กับแกนนำพรรคเพื่อไทย, แกนนำพันธมิตรฯ และแกนนำ นปช. ซึ่งในที่ประชุมได้ใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าจะได้ผลสรุปว่า 1.พรรคประชาธิปัตย์จะไม่เข้าร่วมการหารือครั้งนี้ เพราะพรรคมีจุดยืนที่ชัดเจนแล้วว่าจะมีการจำกัดขอบเขตโดยนิรโทษกรรมให้เฉพาะผู้ที่ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินเท่านั้น 
    2.รัฐบาลเองยังมีร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ล้างผิดอื่นๆ ค้างอยู่ในสภาถึง 4 ฉบับ โดยหากนายเจริญจริงใจต่อการพูดคุยในครั้งนี้ ก็ควรไปเจรจาให้รัฐบาลถอนร่าง พ.ร.บ.ล้างผิดทั้ง 4 ฉบับนี้ออกจากสภาก่อน และ 3.กลุ่มที่นายเจริญเชิญร่วมพูดคุยหารือในครั้งนี้นั้น ในที่ประชุมเห็นว่ายังไม่ครบถ้วน เพราะยังมีผู้เสียหายกลุ่มต่างๆ ยังไม่ได้รับคำจำกัดความว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบ โดยกลุ่มที่ถูกเชิญเป็นเพียงกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสียเท่านั้น จนทำให้เห็นว่าการพูดคุยในครั้งนี้ไม่น่าจะนำไปสู่การปรองดองอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นพรรคประชาธิปัตย์จึงไม่ส่งตัวแทนเข้าหารือในครั้งนี้
    รายงานข่าวจากที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์แจ้งว่า มี ส.ส.หลายคนลุกขึ้นให้เหตุผลว่าไม่ควรส่งตัวแทนในนามพรรค เพราะเห็นได้ชัดว่านายเจริญรับงานมา และที่สำคัญคือไม่มีหลักประกันอะไรว่าเมื่อคุยแล้ว และตกลงไป เขาจะทำตามข้อตกลงหรือไม่ ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์และบรรดาแกนนำพรรคเองเกรงว่าไม่มีหลักประกันใดเลยที่จะไม่โดนหักหลัง ไม่มีหลักประกันใดที่รัฐบาลจะไม่ใช้วิธีผ่านร่างกฎหมายและมีการแก้ไขให้ครอบคลุมไปยังแกนนำพรรค และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งอาจจะมีการใช้ ส.ว.บางกลุ่มเป็นเครื่องมือเพื่อโหวตผ่านกฎหมาย
    ขณะที่ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์  โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เผยว่า ได้รับมอบหมายจากแกนนำพันธมิตรฯ ให้ไปยื่นจดหมายถึงนายเจริญ ในวันที่ 6 มีนาคม ต่อกรณีการเชิญ 4 ฝ่ายหารือเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยเนื้อหาในจดหมายจะแสดงจุดยืนและเงื่อนไขในการประชุมปรึกษาหารือที่จะมีขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม    
    ด้านนายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวในเรื่องนี้ว่า นายเจริญทำงานนี้ถือเป็นงานส่วนตัว ไม่ใช่ในนามรัฐสภา โดยทำตัวเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจาคู่ขัดแย้งต่างๆ หากแนวทางของนายเจริญมุ่งไปสู่สันติภาพจริงทางพรรคภูมิใจไทยก็ยินดีจะช่วยเหลือ
    นายศุภชัยกล่าวต่อว่า แต่สิ่งที่อยากตั้งข้อสังเกต อยากถามว่า พรรคเพื่อไทยจะร่วมกับแนวทางนี้หรือไม่ เพราะทิศทางในพรรคก็ยังไม่มีความชัดเจน ยังแสดงความคิดเห็นในทางคลุมเครือ ดังนั้น ทางพรรคจะขอติดตามสถานการณ์อีกครั้ง หากพรรคเพื่อไทยไม่เอาด้วย แนวทางดังกล่าวก็ไม่มีทางพบความสำเร็จ
ข่าว 6 มี.ค.56
"ผบ.ตร." ยอมรับ "พงศพัศ" ติดต่อขอกลับมาเป็นตำรวจแล้ว สั่งลูกน้องเตรียมเก้าอี้ "รอง ผบ.ตร." รอ "นักวิชาการ" ติง "จูดี้" คัมแบ็กไม่เหมาะตามหลักคุณธรรม-จริยธรรม เหตุข้าราชการต้องเป็นกลาง "อดีต อ.ตร." เตือนคิดให้ดี ห่วงองค์กรเสียหาย "ปชป." จี้เคารพ 1 ล้านเสียงที่เลือก "มาร์ค" บอกลูกพรรคอย่าเหลิง "พท." โวยโดนยุทธศาสตร์เผาเมืองเล่นงาน"เรืองไกร"ตามร้องกกต.สอบ"สุขุมพันธุ์"
    เมื่อวันอังคาร พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวถึงกรณี พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พรรคเพื่อไทย จะกลับเข้ามารับราชการในตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) หลังลาออกไปลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ว่า ได้มีการพูดคุยเป็นการส่วนตัวกับพล.ต.อ.พงศพัศโดยยืนยันจะขอกลับเข้ามารับตำแหน่งเดิม
    พล.ต.อ.อดุลย์กล่าวว่า ตามขั้นตอนการขอกลับเข้ารับราชการจะต้องรอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองผลการเลือกตั้งก่อน จากนั้น พล.ต.อ.พงศพัศจะใช้สิทธิ์ยื่นเรื่องขอเข้ารับราชการกับตน และเมื่อเห็นชอบแล้ว ก็จะส่งเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เพื่อให้มีการเห็นชอบและเสนอให้โปรดเกล้าฯต่อไป
    "ทางฝ่ายอำนวยการจะพิจารณาเรื่องข้อกฎหมายและลำดับอาวุโสตามสิทธิ ซึ่งจะสามารถนำเข้าที่ประชุม ก.ตร. ภายในเดือนนี้ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ กกต.จะประกาศผลเลือกตั้งด้วย" ผบ.ตร.กล่าว
    พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อ กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็พร้อมจะดำเนินการรับ พล.ต.อ.พงศพัศกลับเข้ามาเป็นตำรวจทันทีโดยทุกหน่วยพร้อมเสมอที่จะรับลูกพี่กลับมา 
    "ขอยืนยันไม่ว่าจะเป็นข้าราชการตำรวจ หรือข้าราชการอื่นๆ ที่ลาออกไปลงสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งระดับชาติหรือท้องถิ่น ก็สามารถเข้ามารับราชการตามเดิมได้ปกติ ไม่มีปัญหา แต่จะต้องมีการลาออกจากสมาชิกพรรคการเมืองนั้นเสียก่อน เชื่อว่า พล.ต.อ.พงศพัศ ในฐานะผู้มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ คงรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ฉะนั้นตรงนี้ไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน"โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าว
    อย่างไรก็ตาม ข่าวการขอกลับเข้ารับราชการตำรวจอีกครั้งของ พล.ต.อ.พงศพัศ หลังจากออกจากราชการมาสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก่อนจะพ่ายแพ้การเลือกตั้งต่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีเสียงท้วงติงถึงความเหมาะสมอย่างกว้างขวางจากหลายฝ่าย
    นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์ประจำคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายเลือกตั้ง และมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.ต.อ.พงศพัศสามารถกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิมได้ แต่ตามหลักคุณธรรมและจริยธรรม คนที่ลาออกไปสังกัดพรรคการเมืองแล้ว จะกลับเข้ามารับตำแหน่งเดิมก็ไม่เหมาะสมเท่าไร เพราะปกติแล้วข้าราชการควรวางตัวเป็นกลางทางการเมือง การลาออกไปแล้ว โดยมีการสังกัดพรรคก็อาจทำให้คนรู้สึกว่าข้าราชการดังกล่าวเมื่อกลับมาจะวางตัวเป็นกลางหรือไม่ ซึ่ง พล.ต.อ.พงศพัศเองก็มีความใกล้ชิดกับพรรคเพื่อไทยที่เคยสังกัดเมื่อตอนลงสมัครรับเลือกตั้ง 
    นายพิชายกล่าวว่า กฎหมายที่เปิดช่องให้ตามระบอบประชาธิปไตยถือเป็นเรื่องดี แต่ควรจะมีมาตรการหรือการกำหนดให้บุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งระดับสูง อาทิ ผู้บังคับการ อธิบดี รองอธิบดี ซึ่งมีการทำงานที่ใกล้ชิดกับฝ่ายนโยบาย เมื่อลาออกจากราชการไปลงเลือกตั้ง หากแพ้เลือกตั้งแล้วจะกลับมารับราชการอีกครั้งควรให้อยู่ในตำแหน่งใหม่ที่ไม่มีอิทธิพลกับนโยบาย และไม่มีผลกระทบในวงกว้าง เพราะต้องอย่าลืมว่าตำแหน่งระดับสูงเหล่านี้มีการทำงานที่ใกล้ชิดกับฝ่ายบริหารที่เป็นผู้กำหนดนโยบายในฐานะผู้ใต้ผู้บังคับบัญชา ซึ่งเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลก็เกิดคำถามว่าข้าราชการเหล่านี้ยังจะสามารถทำงานสนองนโยบายรัฐบาลใหม่ได้หรือไม่
    "ผมคิดว่า พล.ต.อ.พงศพัศไม่ควรอย่างยิ่งที่จะกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งรอง ผบ.ตร. เพราะได้ออกไปลงสมัครในสังกัดพรรคการเมืองอย่างชัดเจนแล้ว ทุกคนรับรู้หมดแล้ว ทางที่ดีควรจะไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ไปลงการเมือง หรือเป็นข้าราชการการเมืองแทน ซึ่งรัฐบาลเองก็สามารถเปิดตำแหน่งให้ได้อยู่แล้ว ไม่ควรเป็นข้าราชการประจำอีกอาจารย์จากนิด้าผู้นี้ระบุ
    เช่นเดียวกับนายสมเกียรติ อ่อนวิมล อดีตสมาชิกวุฒิสภา และนักวิชาการด้านสื่อมวลชน ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ลาออกจากราชการไปสมัครรับเลือกตั้งแล้วไม่ควรให้กลับมารับราชการที่เดิมอีก ผู้ลาออกจะได้สำนึกในคุณค่าของการรับราชการว่าไม่ใช่ที่พักพิงชั่วคราว 
    "ลาออกจากราชการไปสมัครรับเลือกตั้งแล้วไม่ควรกลับมารับราชการที่เดิมอีก ผู้ลาออกจะได้มีจิตสำนึกมุ่งมั่นทำงานการเมืองรับใช้ประชาชนอย่างไร้รอยต่อ งานรับราชการอาจเป็นที่สร้างแรงดลใจ ให้มุ่งสู่งานการเมืองรับใช้ประชาชนอีกแบบหนึ่ง แต่ไม่ใช่ที่พักพิงหาเงินเดือนใช้ชั่วคราวของผู้แพ้เลือกตั้ง" นายสมเกียรติกล่าว
    พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ กล่าวว่า การจะกลับเข้ารับราชการอีกครั้งสามารถทำได้ก็จริง แต่การที่ลาออกไปสังกัดพรรคภายใต้ความขัดแย้งทางการเมืองที่สูงขึ้น พล.ต.อ.พงศพัศจะต้องถูกตั้งคำถามเรื่องความเป็นกลางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นสิ่งที่ พล.ต.อ.พงศพัศต้องคิดให้ดี เพราะนั่นอาจจะเป็นผลเสียต่อองค์กรตำรวจได้
    นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องว่า แม้จะเป็นสิทธิ์ที่ทำได้ตามรัฐธรรมนูญ แต่อยากให้พรรคเพื่อไทยและ พล.ต.อ.พงศพัศรักษาน้ำใจคน กทม. ล้านกว่าคนที่ลงคะแนนให้ เพราะแพ้เลือกตั้งไม่ถึง 2 วันก็แสดงให้เห็นว่าไม่มีเจตนามาเป็นผู้ว่าฯ กทม.จริง เปรียบเสมือนเป็นโบนัส ที่หากได้ก็ดี ไม่ได้ก็กลับไปทำงานเหมือนเดิม
    "อยากให้ พล.ต.อ.พงศพัศพูดให้ชัดเจน ที่ได้หาเสียงตลอดกว่า 40 วันที่ผ่านมานั้น เป็นเพียงแค่การสร้างภาพเพื่อรอรับบำเหน็จในตำแหน่งผบ.ตร.หรือไม่"โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าว
    ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานประชุม ส.ส.และกรรมการบริหารพรรค รวมทั้ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. ร่วมประชุม โดยก่อนเริ่มประชุม ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้เดินยกมือไหว้ขอบคุณบรรดาแกนนำพรรค พร้อมกล่าวว่า ขณะนี้กำลังรอ กกต.รับรองผลเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าน่าจะภายในสัปดาห์นี้ และรับตำแหน่งในวันจันทร์ที่ 11 มี.ค.นี้ โดยจะเดินหน้าทำงานทันที 
    ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวว่า ในส่วนการคัดเลือกบุคคลมาเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา โดยหลังจาก กกต.รับรองผลแล้วก็น่าจะมีการประกาศรายชื่อรองผู้ว่าฯ ทั้ง 4 คนได้ แต่ในขณะนี้ยังไม่มีการเคาะรายชื่อใดๆทั้งสิ้น 
    มีรายงานข่าวว่า หลังจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ออกจากการประชุมพรรค นายอภิสิทธิ์ได้วิเคราะห์ผลการเลือกตั้งว่า หากเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งก่อน คะแนนของพรรคประชาธิปัตย์คงที่ อยู่ที่ 1.2 ล้านคะแนนเศษ ซึ่งลดลงราว 1 แสนคะแนน แต่ของพรรคเพื่อไทยกลับลดลงมากกว่า 2 แสนคะแนน แต่ไม่ต้องตกใจ และขอให้ลงพื้นที่พบปะชาวบ้านให้มากขึ้นไม่ใช่แค่กทม.แต่ในทุกพื้นที่ 
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของรองผู้ว่าฯ ที่ค่อนข้างจะเห็นพ้องตรงกันแล้วมี 2 คนคือ นายจุมพล สำเภาทอง รองปลัด กทม. ฝ่ายโยธา และนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่พรรคมองว่ามีความเหมาะสมที่จะเข้าไปปรับและประสานการทำงานระหว่างฝ่ายการเมืองในสภา กทม. เพราะที่ผ่านมามีจุดอ่อนระหว่างผู้บริหาร กทม.กับฝ่ายข้าราชการการเมืองในสภา กทม. แต่ก็ขึ้นอยู่ที่ว่านายองอาจจะยอมรับตำแหน่งหรือไม่ นอกจากนั้นนายอภิสิทธิ์ยังกล่าวอีกว่า ในตำแหน่งรองผู้ว่าฯ หนึ่งในนั้นต้องมีผู้หญิงด้วย โดยขณะนี้กำลังพิจารณากันอยู่ 
    ด้านพรรคเพื่อไทย นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า สาเหตุที่ พล.ต.อ.พงศพัศแพ้การเลือกตั้งเกิดจากพรรคประชาธิปัตย์เลือกใช้ความกลัวในการรณรงค์หาเสียง โจมตีประเด็นการเผาบ้านเผาเมือง และยังใส่ร้ายป้ายสีกันต่างๆ นานา แต่พรรคเพื่อไทยมีความเป็นลูกผู้ชายหรือแสดงความเป็นสุภาพบุรุษอย่างมาก พรรคก็ไม่มีการตอบโต้ ทั้งนี้ คิดว่าต่อไปทางพรรคไม่ควรเป็นสุภาพบุรุษมากนัก และเมื่อถูกโจมตีก็ควรออกมาโต้บ้าง เพื่อสร้างความกระจ่างแก่ประชาชน เมื่อประชาชนพบว่าสิ่งที่ปชป.พูดไม่เป็นความจริงความนิยมในพรรคก็จะกลับมา
    นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ถ้าจะให้วิเคราะห์ประเมินสาเหตุที่ผลออกมาเป็นเช่นนี้ คิดว่าน่าจะเป็นวาระที่พรรคเพื่อไทยต้องจับเข่าคุยกันภายในพรรค วิเคราะห์สถานการณ์ประเมินเหตุปัจจัยต่างๆ ให้ครบถ้วนเพื่อที่จะเดินหน้าทำงานกันต่อไป 
    นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่า สาเหตุที่พรรคเพื่อไทยแพ้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ส่วนหนึ่งมาจากคะแนนจัดตั้งที่พรรคประชาธิปัตย์มีมากกว่า เนื่องจากเป็นผู้ว่าฯ กทม. มา 3 สมัย รวม 9 ปี อีกทั้งยังมี ส.ส. ส.ก. และ ส.ข. มากกว่าพรรคเพื่อไทย จึงมีฐานคะแนนจัดตั้งใน กทม.มากกว่า ที่สำคัญพรรคประชาธิปัตย์ใช้วาทกรรมการเมืองในการสร้างความกลัวให้คน กทม.ช่วงโค้งสุดท้ายการเลือกตั้ง ขณะที่พรรคเพื่อไทยใช้วิธีหาเสียงแบบสร้างสรรค์แม้ไม่ชนะแต่ได้คะแนนเกินเป้า 
    วันเดียวกัน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา เข้ายื่นหนังสือต่อนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. เพื่อขอให้ตรวจสอบ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ นายอภิสิทธิ์ และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กรณีออกนโยบายหาเสียงว่าจะตั้งผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 31 คน ที่พร้อมจะทำงานร่วมกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ หากได้กลับไปเป็นผู้ว่าฯ กทม.อีกสมัย เข้าข่ายเป็นการสัญญาเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ตนเอง.
ข่าว 7 มี.ค.56
เผาห้างเซนไม่ใช่ก่อการร้าย ศาลแพ่งสั่ง เทเวศ ประกันภัยชดใช้สินไหมทดแทน 1.7 พันล้าน ปรับเพิ่มกว่าที่ร้อง เหตุจากจงใจไม่เหลียวแล เพลิงไหม้ เป็นแค่จลาจล ไม่มีความรุนแรงกระทบเศรษฐกิจชาติ ยกคำนิยามระบุพฤติการณ์การใช้อาวุธสงครามต่อสู้เจ้าหน้าที่และยิงสถานที่ราชการถือเป็นก่อการร้าย ขณะที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาระบุ แม้ศาลแพ่งจะมีคำพิพากษาไม่ใช่เป็นการก่อการร้าย แต่คำพิพากษานี้ไม่มีผลผูกพันต่อคดี 24 แกนนำนปช.ร่วมกันก่อการร้าย
    ที่ห้องพิจารณาคดี 403 ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 5 มี.ค. ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ ผบ.1212/2555 ที่บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด (มหาชน) เป็นโจทก์ ฟ้องบริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลย เพื่อขอให้ชำระค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยทรัพย์สินและประกันภัยก่อการร้าย กรณีเกิดเพลิงไหม้ห้างสรรพสินค้าเซน ย่านแยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 เป็นเงิน 1,712,199,701.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี รวมทั้งขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายเชิงลงโทษให้แก่โจทก์ไม่เกิน2เท่าของค่าเสียหายด้วย
    คดีนี้โจทก์ฟ้องสรุปว่า โจทก์ได้ทำสัญญาประกันอัคคีภัยอาคารพาณิชย์ในศูนย์การค้าสยามสแควร์ จำนวน 53 คูหา ไว้กับจำเลย ต่อมาเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 มีคนร้ายลอบวางเพลิงเผาทรัพย์จนเพลิงไหม้ไปยังอาคารพาณิชย์ที่เอาประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย แต่จำเลยไม่ยอมจ่ายเงินค่าประกันอัคคีภัย ตามสัญญาฯ ระบุว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากการก่อความไม่สงบของประชาชน การจลาจล และการก่อการร้าย อันเป็นข้อยกเว้นความรับผิดชอบของกรมธรรม์ประกันภัยอัคคีภัย
    พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยแล้วเห็นว่า แม้จะมีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง หรือ นปช. เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลขณะนั้นยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ บริเวณพื้นที่สี่แยกราชประสงค์และบริเวณใกล้เคียงต่อเนื่องกันมาจนถึงวันที่ 19 พ.ค.2553 ระหว่างการชุมนุมมีกลุ่มก่อการร้ายใช้อาวุธสงครามร้ายแรงก่อวินาศกรรมหลายครั้ง แต่ทางนำสืบของจำเลยไม่ปรากฏชัดว่าการก่อวินาศกรรมหรือเหตุการณ์รุนแรงเหล่านั้น เป็นการกระทำของผู้เข้าร่วมชุมนุมคนใด หรือเป็นการสั่งการโดยแกนนำให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมกระทำการนั้น 
    ส่วนที่แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง หรือ นปช.บางคน ปราศรัยยั่วยุให้เกิดความรุนแรง ก็อยู่บนเงื่อนไขที่ว่า ถ้ามีการสลายการชุมนุมหรือมีการทำร้ายคนเสื้อแดงจึงจะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น เพื่อป้องกันมิให้มีการสลายการชุมนุม มิใช่เรื่องที่ว่าถ้ารัฐบาลไม่ยุบสภา นายกรัฐมนตรีไม่ลาออก จึงเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น จะถือว่าเป็นการกระทำอันมีลักษณะเป็นการข่มขู่เพื่อผลทางการเมืองมิได้ การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง หรือ นปช.ก่อนเกิดเหตุจึงยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการก่อการร้าย 
    สำหรับเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ เห็นว่า ขณะคนร้ายเผาโรงภาพยนตร์สยามนั้น แกนนำ นปช.ประกาศยุติการชุมนุมแล้ว ไม่มีข้อเรียกร้องทางการเมืองเหลืออยู่ และเหตุการณ์เผาโรงภาพยนตร์สยามนั้น ทางจำเลยนำสืบไม่ได้ว่าเกี่ยวโยงหรือเชื่อมโยงกับกลุ่มคนเสื้อแดงหรือ นปช.อย่างไร และไม่ว่าจะกระทำโดยคนใดหรือกลุ่มใด ก็มิใช่การกระทำที่หวังผลทางการเมือง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันเกิดเหตุฟังไม่ได้ว่าเป็นการก่อการร้ายเช่นกัน 
    และมีประเด็นต้องพิจารณาว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของการก่อความไม่สงบของประชาชนถึงขนาดลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลหรือไม่ เห็นว่า การกระทำที่จะฟังได้ว่าเป็นการก่อความไม่สงบของประชาชนถึงขนาดลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลนั้น จะต้องแยกพิจารณาเป็น 3 ส่วน คือ จะต้องเป็นการก่อความไม่สงบของประชาชนจำนวนมากและมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านรัฐบาล และประชาชนที่ว่านั้นต้องเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ แต่เหตุการณ์ที่มีการชุมนุมต่อเนื่องบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมเป็นเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้น
     แม้การชุมนุมจะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้อื่นที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมอยู่บ้าง แต่ก็เป็นเพียงในวงจำกัด ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ ไม่ปรากฏว่าเกิดความรู้สึกตื่นตระหนกหรือหวาดกลัว ว่าจะเกิดอันตรายขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินของตน เช่นนี้ ยังถือไม่ได้ว่าการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง หรือนปช.เป็นการก่อความไม่สงบของประชาชนถึงขนาดลุกฮือต่อต้านรัฐบาล
    อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังแกนนำประกาศยุติการชุมนุม เป็นการไม่นำพาต่อคำสั่งรัฐบาล ก่อให้เกิดความปั่นป่วน วุ่นวาย และไม่มีระเบียบจนไม่สามารถควบคุมได้ ถือได้ว่าอยู่ในความหมายของคำว่าการจลาจล อัคคีภัยที่เกิดขึ้นจึงเป็นภัยที่เกิดจากการจลาจล อันเป็นข้อยกเว้นความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ตามกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยดังกล่าว มีเพียงกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่โจทก์ได้ทำไว้จำนวน 2 แห่งที่ไม่ปรากฏว่ามีข้อยกเว้นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการจลาจลไว้ จำเลยจึงต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ในความเสียหายของอาคารพาณิชย์จำนวน 2 คูหา รวมเป็นเงิน 1,780,000 บาท พิพากษาว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี 
    นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวว่า แม้ศาลแพ่งจะมีคำพิพากษาว่า ไม่ใช่เป็นการก่อการร้าย แต่เป็นเหตุจลาจล แต่คำพิพากษาดังกล่าวไม่มีผลผูกพันต่อคดีที่มีการยื่นฟ้องคดีอาญากับแกนนำ นปช. 24 ราย ในศาลอาญาฐานร่วมกันก่อการร้าย จากเหตุการณ์ชุมนุมตลอดปี 2553 เนื่องจากคดีที่มีการฟ้องแพ่งกัน โดยคู่ความเป็นเรื่องเอกชนฟ้องเอกชนเกี่ยวกับการประกันภัยซึ่งเป็นคนละคนกับจำเลยคดีที่เป็นคดีอาญา
    ด้านนายณรัช อิ่มสุขศรี เลขานุการศาลแพ่ง กล่าวว่า คดีนี้ศาลแพ่งได้ให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นคดีพิเศษ ซึ่งหมายถึงคดีที่มีทุนทรัพย์สูง คดีที่คู่ความเป็นบุคคลสำคัญ หรือเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ทั้งนี้ ศาลแพ่งจะดำเนินคดีเหล่านี้ให้เสร็จโดยเร็ว และตัดสินไม่เกิน 6 เดือน หรืออย่างช้าสุดไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันฟ้อง
    นายนริศ เชยกลิ่น รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้บริหารห้างสรรพสินค้าเซน กล่าวว่า หลังจากฟ้องเรียกค่าสินไหมจากบริษัท เทเวศฯ แล้ว ยังไม่คิดฟ้องร้องทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดที่ก่อเหตุเผาห้างสรรพสินค้าเซนแต่อย่างใด
    ขณะที่บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) ออกคำชี้แจงระบุว่า เคารพในคำวินิจฉัยของศาล แต่เนื่องจากคดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด และในการรับประกันภัยตามกรมธรรม์ทั้งสองฉบับนี้ บริษัท เทเวศฯ ได้กระจายความเสี่ยงโดยจัดให้มีการประกันภัยต่อไปยังบริษัทรับประกันภัยต่อทั้งในประเทศและต่างประเทศ (Re-insurer) หลายบริษัท ดังนั้น บริษัท เทเวศฯ จึงจำเป็นต้องปรึกษาและประสานงานกับบริษัทรับประกันภัยต่อ (Reinsurer) เพื่อขอแนวทางในการดำเนินการต่อไป ขอเรียนว่า บริษัทฯ มิได้เพิกเฉยต่อผู้เอาประกันภัย ได้ตั้งสำรองค่าสินไหมทดแทนไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ฐานะการเงินของบริษัทฯ ยังคงมีความมั่นคง.
ข่าว 8 มี.ค.56
แยกกันเดิน ร่วมกันตี 21 ส.ส.เพื่อไทยเข้าชื่อเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม มามุกเดิม ยกเว้นผู้มีอำนาจสั่งการ ยันคิดเองทำเองพรรคไม่เกี่ยว ส่วน "เจริญ" เปิดทางทหารร่วมถกแนวทางนิรโทษฯ "คณิต" บอกปัดไม่ขอร่วม ระบุทำมาแล้ว2ปีแนะไปศึกษาในรายงานของคอป."มาร์ค"เชื่อเจอทางตัน 
    เมื่อวันพุธ ส.ส.พรรคเพื่อไทย 21 คน นำโดยนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ, นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พร้อมด้วยนายคารม พลพรกลาง ทนายความ นปช. ร่วมกันลงชื่อเพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ.... ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรให้บรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภา
    จากนั้นนายวรชัยแถลงว่า ร่างกฎหมายนี้มีทั้งสิ้น 7 มาตรา  เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทยหรือรัฐบาล แต่เป็นการใช้เอกสิทธิ์ของ ส.ส.เสนอกฎหมายตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ การดำเนินการครั้งนี้ต้องการช่วยเหลือประชาชนที่มาร่วมชุมนุมทางการเมืองและถูกดำเนินคดีในข้อหาก่อการร้าย  ยึดทำเนียบรัฐบาล และยึดสนามบิน เป็นต้น ซึ่งจะเห็นว่าขณะนี้ศาลได้ชี้ชัดแล้วว่าการชุมชุมของกลุ่ม นปช.ไม่ได้เป็นการก่อการร้าย และในกรณีการเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ก็ไม่ใช่ฝีมือของกลุ่ม นปช. เห็นได้จากที่ศาลได้สั่งให้บริษัท เทเวศประกันภัยฯ จ่ายเงินชดเชยให้ห้างเซ็นทรัล แสดงให้เห็นว่ากลุ่ม นปช.มีความชอบธรรมในการเรียกร้องประชาธิปไตย
    เขาบอกว่า ขณะนี้มีผู้ต้องหาไม่ว่าจะเป็น นปช.หรือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) กว่า 1,000 คน ที่กำลังถูกดำเนินคดีในเรื่องนี้อยู่ ขณะที่สถานการณ์ในประเทศต้องการความสงบ และต้องการการขยายตัวทางเศรษฐกิจพวกตนเองจึงอยากคืนความชอบธรรมให้กับพี่น้องประชาชนเหล่านี้
    สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.นี้ อยู่ที่มาตรา 3 ซึ่งระบุว่า ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลที่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่การกระทำนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง การกระทำใดๆ ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือแสดงออกทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.2549 ถึง วันที่ 10 พ.ค.2554 ไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ไม่รวมถึงการกระทำของบรรดาผู้มีอำนาจตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว
    ด้าน นพ.เชิดชัยยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่มีเบื้องหลังแอบแฝง แต่เป็นเพราะพวกตนทนไม่ได้ที่จะเห็นประชาชนมาทุกข์ทรมานทางใจ ดังนั้นเรื่องนี้จึงจำเป็นต้องหาข้อยุติเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไป อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเมื่อกฎหมายเข้าสภาจะต้องให้คณะกรรมาธิการพิจารณา ซึ่งก็อาจจะเชิญตัวแทนทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง หรือแม้แต่เสธ.อ้าย พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ อดีตประธานองค์พิทักษ์สยาม มาร่วมในการพิจารณาด้วย
    สำหรับการหารือแนวทางออกกฎหมายนิรโทษกรรม ในวันที่ 1 มีนาคม ที่มีนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นแกนกลางในการเคลื่อนไหวนำกลุ่มต่างๆ เข้าหารือด้วยกันนั้น วันเดียวกันนี้ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษก พธม. ได้ยื่นข้อเสนอเรื่องขอให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขก่อนเข้าร่วมหารือแนวทางการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมต่อนายเจริญ 
    โดยนายปานเทพกล่าวว่า เมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา แกนนำ พธม.มีมติว่า 1.ขอแจ้งจุดยืนว่าไม่เห็นด้วย และจะคัดค้านถึงที่สุดในการออกกฎหมายใดๆ เพื่อนิรโทษกรรมหรือล้างความผิดให้ผู้ทำความผิดทางอาญา หรือความผิดในการทุจริตทุกกรณี  2.การนิรโทษกรรมให้ผู้มีความผิดลหุโทษและไม่ใช่กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา แต่ผิดกฎหมายเนื่องจากการใช้อำนาจรัฐช่วงเวลาเฉพาะกิจ เช่น การฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.บ.มั่นคง แกนนำพันธมิตรฯ เห็นว่าการหารือต้องอยู่บนเงื่อนไขการมีส่วนร่วมของกลุ่มคนที่มีส่วนได้เสียกับเหตุการณ์ทุกกลุ่ม โดยควรเพิ่มตัวแทนองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ตัวแทนครอบครัวเจ้าหน้าที่รัฐผู้สูญเสีย รวมทั้งตัวแทนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมโดยที่ไม่ใช่ผู้ชุมนุม เช่น ร้านค้าที่สี่แยกราชประสงค์กับสยามสแควร์ และผู้แทนคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.)
    3.การนิรโทษกรรมต้องไม่ใช้มติเสียงข้างมาก แต่ต้องลงมติเป็นเอกฉันท์ 4.หากเงื่อนไขที่เสนอให้เพิ่มกลุ่มต่างๆ ปฏิบัติไม่ได้ ตนก็จะไม่เข้าร่วมหารือในวันที่ 11 มี.ค.นี้ หรือหากปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ แต่ต่อมามีการแปรญัตติหรือเปลี่ยนแปลงร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่ไม่เป็นไปตามที่มีข้อยุติอย่างเป็นเอกฉันท์จากผู้แทนกลุ่มต่างๆพธม.จะคัดค้านและจะชุมนุมนอกสภาอย่างถึงที่สุด 
    และ 5.หากท่านมีเจตนาดีต่อบ้านเมือง และไม่อยากเห็นความขัดแย้งนอกสภา ส.ส.ควรแสดงความจริงใจโดยหยุดเสนอกฎหมายที่เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมทุกฉบับ และควรถอนร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติทุกฉบับที่ยังค้างอยู่ในวาระการประชุมสภาออกจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
    ด้านนายเจริญกล่าวว่า การหารือเพื่อความสงบและสามัคคี ทุกฝ่ายต้องใช้ความอดทน ตนไม่ขัดข้องกับข้อเสนอของ พธม. และจะมีการเพิ่มทหารเข้ามาอีก 1 กลุ่มในการหารือเรื่องนี้ เพราะทหารเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.มั่นคง ซึ่งจะทำหนังสือไปยัง รมว.กลาโหม ทั้งนี้ต้องดูในวันที่ 11 มี.ค.เป็นหลัก ว่าแต่ละกลุ่มจะตอบรับอย่างไร
    "มั่นใจว่าถ้าแต่ละฝ่ายที่เข้าใจขอบเขต หลักการนิรโทษกรรมประชาชนก่อน ก็ไม่น่ามีปัญหา แต่ที่เป็นปัญหาคือเงื่อนไขของแต่ละกลุ่ม"
    เขาบอกว่า การที่กลุ่ม พธม.และพรรคประชาธิปัตย์เสนอให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ 4 ฉบับออกจากการพิจารณาของสภานั้น ไม่สามารถบังคับสมาชิกที่เสนอกฎหมายได้ จึงเป็นเรื่องของผู้เสนอที่จะพิจารณาถอนร่างกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ แต่ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีการพิจารณากฎหมายดังกล่าว ซึ่งอีกไม่นานก็จะปิดสมัยการประชุมแล้ว
    ขณะที่ นายคณิต ณ นคร อดีตประธาน คอป. กล่าวว่า ตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แล้ว เนื่องจากการทำหน้าที่ในฐานะประธาน คอป.จบสิ้นไปตั้งแต่ปีที่แล้ว และเป็นการทำงานผ่านมาถึงสองรัฐบาล คงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปร่วมชี้แจงอะไรต่อใครอีกแล้ว ซึ่งถ้าอยากทราบข้อเท็จจริง ให้ไปศึกษาในรายงานของ คอป.ที่ตนใช้เวลาศึกษาและค้นหาความจริงมาตลอดสองปี
    ด้าน พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ อดีตประธานองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.)  ยืนยันว่า จะไม่ไปร่วมหารือ เพราะคิดว่าตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรม แม้ส่วนตัวจะเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม เพราะการยกโทษอภัยให้แก่กันถือเป็นเรื่องดีแต่เรื่องนี้ไม่เกี่ยวอพส.
    “ไม่รู้จะไปปรองดองกับใคร ผมไม่ได้เป็นอะไรกับใคร เราคงไม่ไปหารือ แล้วแต่เขาจะว่ากันไป เราจะขับไล่รัฐบาลอย่างเดียว เราคงไม่คิดว่าจะมีปัญญาหาทางออกให้ประเทศหรอก เราไม่มีข้อเสนอ ข้อเสนอคืออยากให้รัฐบาลออกพล.อ.บุญเลิศกล่าว
    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์คุยกันชัดเจนว่ากรณีของนายเจริญเป็นคนประสานให้ไปหารือเกี่ยวกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมนั้น ไม่ใช่รูปแบบที่จะเดินหน้าเรื่องปรองดองได้เชื่อว่าพวกเขามีความพยายามที่จะเดินทุกทางที่ทำได้
    "ผมเชื่อว่าเจอทางตัน เพราะถ้าเป้าหมายคือสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามหลักการ ระบบนิติรัฐ นิติธรรม ไม่ว่าจะเดินทางไหนก็ตัน แต่ถ้าเลือกเส้นทางที่ยึดประโยชน์ส่วนรวมก็ไปได้ไม่ตัน ซึ่งหากเดินทางนี้ไม่ได้ ก็มีอีกหลายทางที่รัฐบาลพยายามทำ คงมีการสลับไปสลับมากับช่องทางที่มีอยู่ รวมถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย ดังนั้นในระหว่างการเปิดสมัยประชุมนี้ จึงยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้ง ซึ่งขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลอยากจะให้เกิดความขัดแย้งหรือไม่ หากไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งก็ต้องแสวงหาหนทางที่สร้างปรองดองจริงๆ ไม่ใช่ผลประโยชน์ของกลุ่ม โดยเริ่มต้นจากการถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง 4 ฉบับที่ค้างอยู่ในสภาก่อน แต่ถ้าไม่ทำก็แสดงให้เห็นว่ายังวนเวียนอยู่ที่เดิม"หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว
    ขณะที่นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดา น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตจากเหตุความไม่สงบทางการเมือง  กล่าวว่า ยังไม่ได้รับการติดต่อให้ร่วมหารือแต่อย่างไร และหากมีการติดต่อมา ตนพร้อมที่จะร่วมพูดคุย เพราะอยากทราบความเห็นจากหลายฝ่าย คิดว่าการนิรโทษกรรมนั้นจำเป็นที่จะต้องนำบทสรุป และความเห็นของเหยื่อผู้สูญเสียจากเหตุการณ์การชุมนุมเข้าร่วมหารือด้วย เพื่อหาทางออกร่วมกัน
ข่าว 9 มี.ค.56
อัปยศ! ส.ส.เพื่อไทยกดบัตรแสดงตัวแทนกัน 144 คนหวังผ่านกฎหมายที่เสนอโดยรัฐบาล ทั้งที่มีตัวตนอยู่ในห้องประชุมเพียงแค่ 121 คน แต่กระเหี้ยนกระหือรือทำหน้าที่ยื่นร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเข้าสภาแล้ว เปิด 7 มาตราล้างความผิดให้ผู้ชุมนุม ยกเว้นผู้มีอำนาจสั่งการ   “ทักษิณ-หัวโจก นปช.ส่อได้เฮลั่น หลังปฏิเสธมาตลอดตัวเองไม่มีอำนาจสั่งการ พิรุธ! มาตรา 4 ก้าวล่วงอำนาจตุลาการ ให้ศาลสั่งจำหน่ายคดี และกรณีมีคำพิพากษาถึงที่สุดลงโทษบุคคลใดให้ถือว่าคนนั้นไม่มีความผิด 
    เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสวนดุสิต พ.ศ..... ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ โดยมีสาระสำคัญคือการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ซึ่ง ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาลอภิปรายให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันว่าควรจะนำร่างกลับไปทบทวนใหม่ให้รอบคอบกว่านี้ 
    หลังการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ประธานในที่ประชุมได้ปิดการอภิปรายและขอให้มีการลงมติ โดยก่อนการลงมติจะต้องให้สมาชิกเสียบบัตรแสดงตน ปรากฏว่ามีส.ส.แสดงตน 265 คน ทำให้ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นประท้วงทันทีว่า ดูด้วยสายตาจำนวนไม่ถึง ขอให้นับองค์ประชุมใหม่แบบรายหัว 
    อย่างไรก็ตาม นายเจริญเลือกที่จะให้มีการเสียบบัตรแสดงตนใหม่ แต่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อาทิ นายณัฏฐ์ บรรทัดฐาน ส.ส.กทม., นายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้ลุกประท้วง แต่นายเจริญยังยืนยันที่จะใช้สิทธิ์ของประธานในที่ประชุมให้มีการเสียบบัตรตามเดิมเพราะมองด้วยสายตาแล้วน่าจะครบจำนวน
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แต่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่ยอมจนทำให้นายเจริญต้องสั่งให้เจ้าหน้าที่ในห้องประชุมนับ ส.ส.ที่นั่งอยู่ในห้องแบบรายหัว และขอให้ปิดประตูห้องประชุมสภาด้วย ปรากฏว่ามี ส.ส.อยู่ในห้องประชุมเพียง 121 คน ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม ทำให้นายเจริญต้องสั่งปิดการประชุมทันทีในเวลา 16.05 น.
    น.ส.รังสิมากล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ได้นับ ส.ส.พรรคเพื่อไทย มีไม่ถึง 150 คน แต่เมื่อมีการกดบัตรกลับมีถึง 265 คน เป็นการยืนยันว่ามีการกดบัตรแทน เพราะเมื่อการตรวจรายหัวมีแค่ 121 คนเท่านั้น เชื่อว่าตัวเลข 265 คนนั้นเหมือนเป็นการล็อกเวลามีการนับองค์ประชุมเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายที่เสนอโดยรัฐบาล 
รายชื่อที่การกดบัตรแทน บางคนตัวก็ไปอยู่สนามบิน เพื่อกลับบ้าน บางคนก็ไปอยู่ดูงานกรรมาธิการฯ อยู่ต่างประเทศ ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์จะมีการแถลงประจานยืนยันเรื่องการกดบัตรแทนในเร็วๆ นี้
วันเดียวกันนี้ นายวรชัย เหมะ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้ยื่นร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมี ส.ส.พรรคเพื่อไทยร่วมกันเข้าชื่อจำนวน 42 คน
        นายวรชัยกล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้มีจำนวน 7 มาตรา โดยมีสาระสำคัญในมาตราที่ 3 ว่าให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 ถึง 10 พฤษภาคม 2554 ไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิด แต่ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้มีอำนาจสั่งการในห้วงระยะเวลาดังกล่าว 
นายวรชัยอ้างว่า เป็นการช่วยเหลือประชาชนที่มาร่วมชุมนุมทางการเมือง และถูกดำเนินคดีในข้อหาการก่อการร้าย รวมทั้งขณะนี้ศาลแพ่งก็ชี้ชัดแล้วว่าการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ไม่ได้เป็นการก่อการร้าย การเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ก็ไม่ใช่ฝีมือของกลุ่ม นปช. โดยหวังให้บรรจุร่างพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมทันสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ และขอให้พรรคฝ่ายค้านให้ความร่วมมือด้วย
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมมีทั้งสิ้น 7 มาตรา ประกอบด้วย มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชนพ.ศ...."
มาตรา2พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใด เพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการชุมนุม การประท้วงหรือการแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ อันอาจเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554 ไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง
การกระทำในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว
มาตรา 4 เมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับแล้ว ถ้าผู้กระทำการตามมาตรา 3 วรรคหนึ่ง ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาลหรืออยู่ในระหว่างการสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนผู้ซึ่งมีอำนาจสอบสวน หรือพนักงานอัยการระงับการสอบสวนหรือการฟ้องร้อง หากถูกฟ้องต่อศาลแล้วให้พนักงานอัยการ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้องหรือให้ถอนฟ้อง ถ้าผู้นั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีไม่ว่าจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นเอง ให้ศาลพิพากษายกฟ้องหรือมีคำสั่งจำหน่ายคดี ในกรณีที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ถ้าผู้นั้นอยู่ระหว่างการรับโทษให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและปล่อยตัวผู้นั้น
มาตรา 5 การนิรโทษกรรมตามพระราชบัญบัตินี้ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในอันที่จะเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น
มาตรา 6 การดำเนินการใดๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิของบุคคลซึ่งไม่ใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐในการเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่ง จากการกระทำของบุคคลใดซึ่งพ้นจากความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้และทำให้ตนต้องได้รับความเสียหาย
มาตรา7ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในมาตรา 3 วรรคสอง ระบุว่า การกระทำในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าวนั้น 
ก่อนหน้านี้ แกนนำ นปช. เช่น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ  และนายก่อแก้ว พิกุลทอง ต่างออกมาปฏิเสธว่าไม่มีอำนาจในการตัดสินใจหรือสั่งการ  
       ขณะที่นายสมศักดิ์กล่าวว่า หากตรวจสอบรายชื่อถูกต้องคงใช้เวลาไม่ถึงอาทิตย์ ส่วนการจะเลื่อนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมขึ้นมาเป็นเรื่องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้เป็นไปตามระเบียบวาระและตามมติที่ประชุม โดยตนมองว่าเป็นหน้าที่ของทุกพรรคการเมืองที่จะต้องหันหน้ามาพูดคุย  เชื่อว่าหากทุกฝ่ายมีเจตนาที่ดี ไม่มีเจตนาที่แอบแฝงซ่อนเร้นทุกอย่างจะดำเนินการไปได้ด้วยดี 
ประธานสภาฯ กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวทางร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เพราะอยากให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้ามาพูดคุยกันเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือคนใดคนหนึ่ง รวมทั้งการเกิดความหวาดระแวงยิ่งต้องหันหน้ามาพูดคุยกัน ซึ่งควรจะคุยกันนอกรอบ อย่าคุยกันในกรอบ เพราะคุยกันในสภาคุยไม่รู้เรื่อง จากประสบการณ์ทำให้เสียเวลา 
หากไม่มีเจตนาอย่างอื่นมาแอบแฝง ผมเชื่อว่าจบส่วนร่างของนายเจริญจะให้เสร็จทันสมัยประชุมนี้ ผมมองว่าขึ้นอยู่กับพวกเราทุกฝ่ายไม่สามารถคาดการณ์อย่างนั้นคงจะลำบาก ขอยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับคนที่อยู่ต่างประเทศ ไม่เกี่ยวกับใครทั้งนั้น เอาประโยชน์ของประเทศ เอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งนายสมศักดิ์กล่าว
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีกลุ่ม ส.ส. 21 คนของพรรคเพื่อไทยเข้ายื่นเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ว่าการเข้ายื่นดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวกับที่ประชุมพรรคส่วนกลาง แต่เป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ที่รวมตัวเสนอกฎหมายตามมาตรา 152 ซึ่งสามารถทำได้ โดยในส่วนของพรรคยังไม่มีความเห็นหรือข้อสรุปในเรื่องนี้
เขาบอกว่า วันที่ 11 มีนาคม จะมีการประชุมพรรค และจะเชิญนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯ เข้าหารือร่วมหารือเกี่ยวกับกฎหมายนิรโทษในส่วนที่นายเจริญเป็นตัวกลางอยู่ โดยจะมีในส่วนของ นปช. อาทิ นางธิดา ถาวรเศรษฐ,นายจตุพรพรหมพันธุ์และนายณัฐวุฒิใสยเกื้อเข้าร่วมด้วย 
วันเดียวกัน พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะแกนำคนเสื้อแดง จ.ชุมพร เผยว่าขณะนี้ตนไม่ได้รับการประสานมาจากนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ ต่อประเด็นที่เคยยื่นหนังสือขอความร่วมมือให้ลงชื่อและแจ้ง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่เป็นคนเสื้อแดงลงชื่อยื่นประกันตัวคนเสื้อแดงที่ถูกจับกุมระหว่างการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา พร้อมยื่นเงื่อนไขให้ร่วมลงชื่อถึงวันที่ มีนาคมที่ผ่านมา ว่าได้มี ส.ส.หรือบุคคลใดร่วมลงชื่อหรือไม่ 
ภายใน 1 -2 วันนี้ ผมและคณะเตรียมไปยื่นบัญชีรายชื่อ ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่เป็นคนเสื้อแดง เพื่อให้มีการลงลายมือชื่อในการขอยื่นประกันตัวคนเสื้อแดงเพิ่มเติม คาดหวังว่าจะได้รับความร่วมมือ แต่หากไม่ได้รับความร่วมมือ ผมเตรียมดำเนินการทำหนังสือถึงพรรคเพื่อไทย เพื่อขอให้พิจารณา ส.ส.เสื้อแดง ต่อการทำหน้าที่ช่วยเหลือพี่น้องคนเสื้อแดง และเตรียมตั้งเวทีปราศรัยที่หน้ารัฐสภา ไม่ใช่เป็นการกดดันหรือบีบบังคับพรรคเพื่อไทย
ด้าน นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสี กล่าวถึงกรณีนายเจริญเตรียมหารือกฎหมายนิรโทษกรรมกับกลุ่มต่างๆ ว่า นายเจริญไม่ได้มีการเชิญตนไปหารือ ส่วนตัวไม่ได้สนใจ สำหรับการนิรโทษกรรม ตนอยากเสนอว่าควรเร่งรัดกระบวนการยุติธรรม จากนั้นเมื่อมีคำพิพากษาของศาลแล้ว มีชื่อใครได้รับโทษบ้างค่อยมีพูดถึงการนิรโทษกรรมจะดีกว่า เพราะขณะนี้พรรคเพื่อไทยพยายามเดินหน้าก็มีเหมือนช่วยพวกพ้องตัวเองที่มาชุมนุมช่วงปี 2552-2553 ที่มีการย้อนถึงปี 2549 ก็แค่แก้เกี้ยวเท่านั้น.
ข่าว 11 มี.ค.56
ดีล "เจริญ" นัดถกนิรโทษกรรมจันทร์นี้ " พันธมิตรฯ-เสื้อหลากสี-ปชป.-เมียร่มเกล้า" เมินสังฆกรรม "สุกำพล" เด้งรับสั่งการส่ง 2 บิ๊กกองทัพตบเท้าร่วมวง ซัดคนขวางพวกใจแคบ "วรชัย" ห้าวเป้ง เตรียมเสนอกลางสภาสัปดาห์นี้ ลัดคิวดัน กม.ขึ้นพิจารณาเป็นเรื่องด่วน ขู่ พท.ซื้อเวลา ระวังมิตรร่วมรบแปรเปลี่ยน วิปรัฐบาลไฟเขียวหากเสียงส่วนใหญ่เอาด้วยประธานวุฒิฯหวั่นปมซ่อนเงื่อนในร่าง42ส.ส.เพื่อไทย 
    การนัดหารือตัวแทนกลุ่มการเมืองและฝ่ายขั้วอำนาจกลุ่มต่างๆ ของนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันจันทร์ที่ 11 มีนาคมนี้ เพื่อหารือเรื่องแนวทางการสร้างความปรองดองและการออกกฎหมายนิรโทษกรรมกับผู้ร่วมชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 19 กันยายน 2549 ได้ถูกจับตามองอย่างมาก หลังจากก่อนหน้านี้กลุ่ม 42 ส.ส.เพื่อไทยร่วมกันเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา 
    พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ได้รับหนังสือจากนายเจริญแล้ว ที่ให้กระทรวงกลาโหมจัดตัวแทนทหารเข้าร่วมในการหารือ 2 คน จึงไม่สามารถให้ทั้งเหล่าทัพส่งตัวแทนไปร่วมพูดคุยได้ เพราะเขาจำเพาะเจาะจงให้ 2 คน จึงมอบหมายให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ส่งคนเข้าร่วมพูดคุย แต่ไม่ได้ให้แนวทางหรือกรอบการพูดคุย เพราะเป็นการไปพูดคุยเฉยๆ 
    "เรื่องการสร้างความปรองดองควรจะต้องมีเพื่อลดความขัดแย้ง และให้ประเทศชาติสามารถขับเคลื่อนไปได้ ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วย ก็ใจแคบนิดหนึ่ง เรื่องเล็กๆ น้อยๆ และก็ผ่านไปแล้ว อะไรที่ควรอภัยได้ก็อภัยกัน เรื่องแค่คนคนเดียวอย่ามาตั้งแง่กันเลยถือเสียว่าทำเพื่อประเทศชาติ"รมว.กลาโหมกล่าว 
    เมื่อถามว่า ส่วนตัวมองว่าควรนิรโทษกรรมให้ทุกคนที่เกี่ยวข้อง หรือเฉพาะบางส่วน พล.อ.อ.สุกำพลกล่าวว่า เราอย่าไปเล่นแง่แบบนั้น ไม่ได้ หลายๆ ฝ่ายต้องมาร่วมพูดคุยกัน อย่างไรก็ตามไม่จำเป็นต้องทำความเข้าใจกับกำลังพลหรือญาติของกำลังพลที่ได้รับผลกระทบ เพราะคิดว่าทุกคนทราบข้อมูลดีอยู่แล้ว เขารู้กันหมด ไม่ต้องอธิบายอะไรมาก 
    ส่วนกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่าจะขัดขวางทั้งในและนอกสภานั้น พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า นั่นแหละคือความใจแคบของคน อย่าไปสนใจ เสียงส่วนมากที่เห็นด้วยก็คุยกันไป
    ด้าน พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ(ผบ.ทร.) ระบุว่า ยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว รวมถึงยังไม่ได้รับหนังสือเชิญให้ไปร่วมพูดคุย อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ ผบ.เหล่าทัพ ยังไม่ได้มีการหารือกันเรื่องนี้
    ขณะที่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ กล่าวว่า ในส่วนของกองทัพอากาศ เราไม่ได้รับเชิญให้ไปพูดคุยก็เลยไม่ได้ส่งตัวแทนไปร่วมต้องให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องดำเนินการไป 
วิปรัฐบาลไม่ขวางลัดคิวกม.นิรโทษฯ 
    นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย แกนนำกลุ่ม 42 ส.ส.เพื่อไทย ที่เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ระบุว่า เรื่องนี้ไม่มีวาระซ่อนเร้นช่วยเหลือแกนนำคนเสื้อแดง หรือแม้แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จึงอยากขอร้องทุกฝ่ายอย่ามัวแต่เล่นการเมือง วันนี้คนติดคุกมานานพอแล้ว กำลังรอการช่วยเหลืออยู่ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวคาดว่าจะบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมของสภาในสัปดาห์นี้ โดยจะประสานกับทางวิปรัฐบาล และ ส.ส.ในพรรคเพื่อไทยให้ใช้เสียงกึ่งหนึ่งเลื่อนขึ้นมาพิจารณาทันที เพราะเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน และในวันที่ 11 มี.ค. จะพูดในที่ประชุมพรรคเพื่อไทยให้เลื่อนขึ้นมาพิจารณา เป็นไปได้ก็ในสัปดาห์นี้เลย
    “ถ้าพรรคยังรั้งรอหรือไม่เอาด้วย ผมก็จะใช้เอกสิทธิ์ ส.ส.เสนอให้สภาดันวาระนี้มาพิจารณาก่อน เพราะเลื่อนมาหลายรอบแล้ว บอกให้รอหลังเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก็รอจนเสร็จสิ้นแล้ว ไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องชักช้าอีกแล้ว ผมจะเสนอสภาให้โหวตเลื่อนวาระขึ้นมาเลย วัดใจให้เห็นไปเลยว่า ส.ส.แต่ละคนมีจุดยืนอย่างไร จะสนับสนุนการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางการเมืองหรือไม่ เรื่องนี้คนจะค้านอย่างไรก็ค้านอยู่วันยังค่ำ อย่าไปกลัว อย่าไปห่วงเสถียรภาพรัฐบาลมากนัก  ถามหน่อยว่าถ้าเจอคนกันเอง มิตรร่วมรบออกมาประท้วง จะมีผลกระทบมากกว่าหรือไม่ขอให้ผู้ใหญ่ในพรรคพิจารณาเรื่องนี้ให้ดีนายวรชัยกล่าว
    นายอำนวย คลังผา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงความเป็นไปได้ในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ 42 ส.ส.เพื่อไทยเสนอเข้าสภา เพื่อให้ทันก่อนสภาปิดในเดือนเมษายนนี้ว่า ส่วนตัวมองว่าไม่น่าจะทัน แต่ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวก็ขึ้นอยู่ที่เสียงสมาชิก เพราะหากประธานสภาฯ ไม่มีการบรรจุเรื่องดังกล่าวเข้ามา ก็ไม่สามารถเลื่อนขึ้นมาได้ หรือหากมีการบรรจุเข้ามาหากต้องการจะเลื่อนก็จะต้องใช้มติของที่ประชุมดังนั้นจึงขึ้นอยู่ที่ส.ส. 
    นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ตนเองและนายสามารถ แก้วมีชัย อดีตรองประธานสภาฯ ได้รับมอบจากพรรคเพื่อไทยให้เป็นตัวแทนไปหารือ จะไปรับฟังความเห็นความรู้สึกจากฝ่ายต่างๆเสียก่อนเพราะพรรคไม่ใช่เจ้าภาพส่วนใครไม่มาก็ไม่เป็นปัญหา
พธม.-เสื้อหลากสีไม่ร่วมสังฆกรรม 
    ขณะที่ฝ่ายซึ่งปฏิเสธชัดแล้วว่าจะไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมการหารือในวันที่ 11 มี.ค.นี้ นอกจากนางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภริยา พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม และพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ล่าสุดฝ่ายคนเสื้อเหลืองและเสื้อหลากสีก็ปฏิเสธการเข้าร่วมพูดคุยเช่นกัน โดยนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า กลุ่มพันธมิตรฯ จะไม่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว เนื่องจากเงื่อนไขที่เคยให้ไว้ไม่เป็นไปตามที่ตกลง ทั้งการไม่มีตัวแทนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดที่จะนำไปสู่ความปรองดองเข้าร่วมประชุมทุกกลุ่ม รวมทั้งการที่ 42 ส.ส.เพื่อไทยเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งทำให้เกิดความหวาดระแวงและแสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจ หากนายเจริญตั้งใจจะหาหนทางปรองดองจริง ควรไปพูดคุยกันกับ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ให้ยุติการเสนอกฎหมายดังกล่าว ยืนยันว่าหากกฎหมายนิรโทษกรรมหรือกฎหมายปรองดองเข้าสู่การพิจารณาในสภา กลุ่มพันธมิตรฯ จะชุมนุมต่อต้านจนถึงที่สุด และจะทำทุกทางเพื่อไม่ให้พิจารณากฎหมายดังกล่าวได้  
    ขณะที่ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ผู้ประสานงานกลุ่มเครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน (กลุ่มเสื้อหลากสี) กล่าวว่า ได้ปฏิเสธคำเชิญของนายเจริญ จรรย์โกมล เนื่องจากเห็นว่าไม่สมควรที่จะให้มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในขณะนี้  ควรจะเร่งรัดกระบวนการยุติธรรมที่กำลังดำเนินการอยู่ให้เสร็จสิ้น และเมื่อมีคำพิพากษาของศาลแล้ว มีบุคคลใดบ้างได้รับโทษ จึงควรมาพิจารณาถึงการนิรโทษกรรมจะดีกว่า การเสนอพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไม่เพียงแต่ไม่เกิดความปรองดอง ยังปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวล จึงขอคัดค้านการออก พ.รบ.นิรโทษกรรม 
    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่พรรคจะเข้าร่วม อีกทั้งเห็นว่าสิ่งที่นายเจริญทำก็ไม่ส่งผลอะไร อีกทั้ง ส.ส.พรรคเพื่อไทยอีกกลุ่มหนึ่งก็ได้เสนอกฎหมายเข้าสภา หากนายเจริญอยากให้การพูดคุยมีผลอย่างแท้จริง จะต้องคุยกับรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลก่อน เพราะเดิมนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย แกนนำ ส.ส.เสื้อแดง ที่เป็นผู้ยื่นร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่สภา ก็เคยเป็นผู้ร่วมหารือกับนายเจริญมาก่อนแล้ว พรรคประชาธิปัตย์จึงมองว่ารัฐบาลยังมีความตั้งใจที่จะใช้คำว่าปรองดองมาอ้าง เพื่อผลักดันให้เกิดการล้างผิดให้กับแกนนำ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 
    “เรื่องนี้จะนำไปสู่ความขัดแย้งมากกว่าความปรองดอง หากรัฐบาลไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งในสังคม ก็ต้องมีท่าทีชัดเจนที่จะระงับเรื่องนี้ ปัญหาก็จะจบ แต่ถ้ารัฐบาลลอยตัวปล่อยให้มีการเดินหน้าต่อไปปัญหาก็จะยืดเยื้อ หากเดินหน้าเรื่องนี้ ความขัดแย้งจะย้อนกลับมา ไม่อยากให้สภากลับเข้าสู่จุดเดือดอีกครั้ง ดังนั้นหากนายกฯ ประธานสภาฯ และนายเจริญ มีความตั้งใจ ไม่อยากให้มีความวุ่นวาย จะต้องระงับเรื่องทุกอย่าง เชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณต้องการผลักดันเรื่องนิรโทษกรรมอย่างจริงจัง เพราะปลายทางยังเป็นประโยชน์ของ พ.ต.ท.ทักษิณอยู่นายอภิสิทธิ์กล่าว
ปธ.วุฒิฯหวั่นซ่อนเงื่อนกม.42ส.ส.พท.
    ด้านทัศนะจากฝ่ายวุฒิสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย 42 คนเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า เท่าที่ดูสาระของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีความเป็นห่วง 2 มาตราคือ มาตรา 3 และมาตรา 4 ซึ่งในมาตรา 3 เรื่องของขอบเขตความคุ้มครองผู้กระทำความผิดจากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 49-54 ซึ่งกว้างเกินไป อาจจะทำให้บางคนที่ไม่เกี่ยวข้องฉวยโอกาสได้รับประโยชน์ในจุดนี้ รวมทั้งผู้ใช้และผู้จ้างวานก็ยังไม่มีความชัดเจน และมาตรา 4 การให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการใช้อำนาจมากเกินไป ซึ่งหากเข้าสู่การพิจารณาและผ่านสภา 3 วาระรวด ตั้งคณะกรรมาธิการ ก็ต้องปรับปรุงแก้ไขให้รอบคอบและรัดกุมยิ่งขึ้น
    เมื่อถามว่า ขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์และโพลระบุว่าจะเป็นการสร้างปมขัดแย้งรอบใหม่ให้บ้านเมือง นายนิคมกล่าวว่า คิดกันไปเอง แค่เสนอกฎหมายเข้าสภาเท่านั้น กว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการใช้เวลาอีกนาน เพราะฉะนั้นในช่วงนี้กระบวนการยุติธรรมต้องเร่งพิจารณาคดีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทางการเมืองจะได้ทราบว่าคดีไหนคนไหนยกฟ้องไปแล้วจากนั้นค่อยบรรจุเข้าไปในเนื้อหากฎหมายนิรโทษกรรม 
    เมื่อถามว่า การเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมดังกล่าวทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ นายนิคมกล่าวว่า คิดกันเอาเอง ถ้าตั้งใจที่จะปรองดองกันจริงๆ ก็ควรหันหน้าเข้าหากัน ร่วมกันหาทางออก เพราะในร่างที่ 42 ส.ส.พรรคเพื่อไทยเสนอมา เป็นการนิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุมทางการเมือง แต่คดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นการใช้อำนาจในการบริหารบ้านเมืองเป็นคนละประเด็นเพราะในช่วงเวลานั้นมีเสื้อเหลืองเสื้อแดง
        นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี กล่าวว่า ร่างของ 42 ส.ส.พรรคเพื่อไทยเป็นแนวเดียวกันกับที่ คอ.นธ.เสนอในการนิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุมทางการเมืองปี 49-54 ซึ่งตนรับได้ เพราะหลักการสมานฉันท์โดยการคืนสิทธิ์ให้กับประชาชนที่ชุมนุมทางการเมือง หรือทำผิดกฎหมาย ถือเป็นการนิรโทษกรรมอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นถ้าทางการเมืองไม่มีการอภัยให้กันก็สำเร็จยาก ทุกคนต้องใจกว้าง โดยยึดผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นตัวตั้ง ไม่ยึดตัวเองหรืออคติอยู่ แล้วช่วยกันคิดช่วยกันทำ แต่ถ้ายังอคติและหาเหตุผลไปเรื่อยๆ บ้านเมืองไม่มีทางที่จะปรองดองกันได้ บ้านเมืองก็มีแต่เสียหาย และล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นผมอยากให้ยอม ๆ กันบ้างเพื่อประเทศชาติของเรา
    นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. เห็นว่าเรื่องการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ถ้ามีการให้สัตยาบันว่าจะนิรโทษฯ เฉพาะประชาชนที่เดือดร้อนจริงๆ ไม่มีแกนนำ ไม่เกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณก็รับได้ แต่คิดว่าคงเป็นได้ยาก และสุดท้ายประธานสภาผู้แทนราษฎรก็คงเอาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ฉบับที่... พ.ศ.... 4 ฉบับที่ค้างอยู่ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของนายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธาน คอ.นธ. และร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของ 42 ส.ส.เพื่อไทยมายำรวมกัน เพื่อจะเอาเสียงข้างมากลากไป ดังนั้นจึงเชื่อว่าเดินไปยาก.
ข่าว 12 มี.ค.56
"แม้วเฉ่งก๊วน "เจ๊หน่อยไม่ช่วยเต็มที่ทำให้แพ้เลือกตั้งผู้ว่าฯกรุงเทพฯ ขู่อาจพิจารณาไม่ส่งลง ส.ส.ครั้งหน้า ขณะที่ทีมกฎหมายเพื่อไทย-เรืองไกรแจ้นร้อง กกต.กทม.สกัด "สุขุมพันธุ์จินตนาการยุบประชาธิปัตย์ อ้างปราศรัยให้ร้าย "พงศพัศ-พท.ว่าเผาบ้านเผาเมืองทั้งที่ไม่เป็นความจริง "มาร์ค"  ไม่หวั่น เชื่ออีกหน่อยก็รับรองผลเลือกตั้ง
    เมื่อวันจันทร์ แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย (พท.) เผยภายหลังการประชุมส.ส.พรรคว่า การประชุมครั้งนี้ใช้เวลานานกว่าปกติ เพราะมีวาระสำคัญหลายประการ โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้สไกป์มายังห้องประชุมด้วยโดยใช้เวลากว่า30นาที 
    พ.ต.ท.ทักษิณพูดถึงเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ที่ผ่านมาว่า ที่ประชาธิปัตย์ชนะเพราะสร้างความกลัวให้เรา ไม่ใช่เพราะนโยบาย แม้พรรคเพื่อไทยจะแพ้แต่คะแนนเพิ่มขึ้นมา ต้องชมในหลายพื้นที่ที่มีความขยัน บางพื้นที่ยังเจาะไม่ได้ ก็ต้องทำต่อไปอย่าท้อถอย มีหลายพื้นที่ที่มีปัญหาแล้วไม่บอก บางพื้นที่ทำงานไม่เต็มที่ โดยเฉพาะพวกที่เชียร์คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากนี้ไปต้องมีการประเมิน พื้นที่ไหนทำงานไม่ดีก็ต้องพิจารณาว่าจะได้ลง ส.ส.หรือไม่ 
    "ต้องยอมรับว่าพรรคประชาธิปัตย์ใช้วาทกรรมเก่ง ยกเรื่องที่มันคลุมเครือมาเล่นเกมการเมือง เรื่องเผาบ้านเผาเมือง เรื่องเปลี่ยนแปลงรัฐไทย หรือแม้แต่เอานายจตุพร พรหมพันธุ์ มาเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. ทำเหมือนที่เคยโจมตี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ว่าพาคนไปตาย พรรคเรามี ส.ส.มากแต่ปากน้อย และพวกรัฐมนตรีก็ไม่พูด กลัวพูดไปแล้วไม่หล่อ ถึงจะเป็นรัฐมนตรีก็ต้องพูดต้องชี้แจงบ้าง เวทีผ่าความจริงของพรรคประชาธิปัตย์ก็เช่นกัน เราต้องออกมาแก้กันบ้างไม่ควรปล่อยให้เขาออกมาพูดฝ่ายเดียวพ.ต.ท.ทักษิณกล่าว
    วันเดียวกัน นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทีมกฎหมายของพรรคเพื่อไทย เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพฯ (กกต.กทม.) เพื่อขอให้ตรวจสอบการกระทำของแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 4 คน ประกอบด้วย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายอิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ปราศรัยในช่วงโค้งสุดท้ายการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯกรุงเทพฯ อาจจะเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 57 (5) ของ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นพ.ศ.2545หรือไม่ 
    พร้อมกันนี้ ยังได้นำคลิปวิดีโอการปราศรัยของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ยูทูบดอตคอม มายื่นเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาของกกต.กทม.ด้วย
    นายวิญญัติกล่าวว่า จากการถอดเทปคำปราศรัยของทั้ง 4 บุคคล พบว่าเป็นการปราศรัยที่มีลักษณะจูงใจใส่ร้าย พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ หมายเลข 9 พรรคเพื่อไทย ที่เป็นคำปราศรัยเชื่อมโยงกับเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมือง กินรวบประเทศ และผูกขาดประเทศ จึงเห็นว่าเป็นการจงใจให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเข้าใจผิดในคะแนนนิยม และการปราศรัย ทำให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งให้กับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ได้รับเลือกตั้ง อีกทั้งยังพบว่า ในช่วงหาเสียงยังได้มีแจกสติกเกอร์สีชมพู มีข้อความระบุว่า "รวมพลังต้านการผูกขาดประเทศ 
    เขากล่าวต่อว่า การที่ใช้สติกเกอร์ในการหาเสียง ถือเป็นการจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยม ขณะเดียวกันพบว่าบทความของ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ที่ลงบทความในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันที่ 22 มกราคม 2556 ชื่อบทความว่า "สงครามชิงกรุงเทพฯ สงครามชิงเมืองไทยทำให้ผู้สมัครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ โดยการกระทำทั้งหมดตนคิดว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้ รู้เห็นและรับทราบการกระทำ แต่ไม่ยอมยับยั้งการกระทำดังกล่าว 
    ทั้งนี้ มั่นใจว่าคำร้องที่ยื่นต่อ กกต.กทม.มีข้อมูลและหลักฐานที่ชัดเจน จะนำไปสู่การพิจารณาประกาศรับรองผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ในทางใดทางหนึ่งอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม การยื่นคำร้องของตนในครั้งนี้ เป็นการยื่นในฐานะผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองใดๆ จึงอยากให้ กกต.กทม.เร่งพิจารณาในคำร้องดังกล่าว และถ้าหากต้องการเอกสารอะไรเพิ่มเติมก็ยินดีที่จะให้ความร่วมมือ
    วันเดียวกัน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา ก็ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ กกต.กทม. ขอให้ตรวจสอบเพิ่มเติมกรณีการปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ของพรรคประชาธิปัตย์ ว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ฝ่าฝืนมาตรา 57 (1) พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ประกอบมาตรา 57 พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 หรือไม่ และการกระทำของบุคคลทั้งสองอยู่ในการสนับสนุน ความรู้เห็นเป็นใจของกรรมการบริหารพรรค ที่เป็นเหตุให้ต้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ตามมาตรา104ของพ.ร.บ.พรรคการเมืองหรือไม่
    นายเรืองไกรกล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นการปราศรัยของนายจุรินทร์ บนเวทีของพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ที่สวนเบญจสิริ เพื่อช่วยหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายให้กับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ โดยนายจุรินทร์ปราศรัยตอนหนึ่งระบุว่า กับกลุ่มที่ 2 กลุ่มนี้ยังไงก็ไม่เอาพรรคเพื่อไทย เพราะเขาไม่เลือกพรรคเผาบ้านเผาเมือง แต่ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าที่สุดจะเลือกผู้สมัครอิสระหรือประชาธิปัตย์ดี
    จากนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ก็ได้ปราศรัยต่อว่า "ส่วนข้าราชการที่ยอมเป็นขี้ข้าเขา ผมไม่แช่งหรอกครับ มันบาปครับ บาปครับ และจุดหมายปลายทางของคนที่ทำบาป มีอยู่แห่งเดียวใช่ไหมครับ อะไรนะครับ ที่ไหนนะครับ ผมก็ไม่รู้อยู่ที่ไหน แต่พวกนี้คงหาทางไปได้อยู่แล้วครับ วันนี้ฟังท่านจุรินทร์พูด เลยเป็นโรคติดต่อแล้วครับ ธรรมดาผมปากไม่ดีอย่างนี้หรอกครับ"  
    นายเรืองไกรกล่าวว่า ถ้อยคำปราศรัยดังกล่าวอาจเข้าลักษณะเป็นการใส่ร้ายให้เข้าใจผิดในเรื่องใดอันเกี่ยวกับผู้สมัครหมายเลข 9 สังกัดพรรคเพื่อไทย ว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคเผาบ้านเผาเมือง และเข้าข่ายกระทำการเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครหมายเลข 16 ซึ่งสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ โดยได้นำหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอการปราศรัยดังกล่าวซึ่งได้จากเว็บไซต์ของพรรคประชาธิปัตย์มามอบให้ด้วย
    เขากล่าวว่า นอกจากนี้ในคลิปการปราศรัยของนายจุรินทร์และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ยังปรากฏภาพกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์หลายคน อาทิ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรค, นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรค นั่งเก้าอี้อยู่ร่วมฟังการปราศรัยด้วย จึงอาจทำให้พิจารณาต่อได้ว่า นายอภิสิทธิ์, นายอลงกรณ์ และนายชวนนท์นั้น เข้าข่ายเป็นพรรคการเมือง หรือผู้ใดสมคบรู้เห็นเป็นใจ หรือสนับสนุนให้นายจุรินทร์ดำเนินการปราศรัยหาเสียงเลือกตั้ง เพื่อกลั่นแกล้งพรรคเพื่อไทยว่าเป็นพรรคเผาบ้านเผาเมือง โดยปราศจากมูลความจริง อันเข้าลักษณะความผิดฐานยุบพรรคและอาจถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี ตามมาตรา 104 พ.ร.บ.พรรคการเมือง จึงขอให้ กกต.กทม.เร่งดำเนินการสอบสวน
    ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ไม่กังวลที่ กกต.ยังไม่รับรองผลการเลือกตั้งให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เพราะการรับรองของ กกต.ตามแนวปฏิบัติที่ผ่านมา จะพิจารณาเรื่องร้องเรียนก่อนการเลือกตั้ง   ส่วนคำร้องทีหลังก็พิจารณาหลังจากกระบวนการรับรองผ่านไปแล้ว จึงค้างอยู่เฉพาะเรื่องที่ร้องก่อนการเลือกตั้ง 
    ส่วนกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เรียก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ไปรับทราบข้อกล่าวหาเรื่องเงินบริจาคเข้าพรรคนั้น ก็เป็นเรื่องเก่า ซึ่งตนมั่นใจว่าไม่มีการทำอะไรผิดกฎหมาย จึงไม่มีเหตุผลที่จะทำให้การดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์สะดุดลง และเป็นเรื่องธรรมดาที่ดีเอสไอเดินหน้าเรื่องนี้ ซึ่งทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย เพราะไม่มีข้อกล่าวหาใดที่จะมีการทำผิดกฎหมาย สำหรับการประกาศรายชื่อรองผู้ว่าฯ กทม.นั้น จะต้องรอให้ กกต.ประกาศรับรองผลก่อน.
ข่าว 13 มี.ค.56
มติ กกต.กทม.ชงคำร้องค้าน "สุขุมพันธุ์" นั่งผู้ว่าฯ กทม. ส่ง กกต.กลางพิจารณา 14 มี.ค.นี้ "เหลิม" ท้าแน่จริงก็ยกคำร้อง มั่นใจหลักฐานมัดผิดชัดเจน "ปชป." ซัด "รองนายกฯ" ชี้นำกดดันคำตัดสิน เหน็บหรือรู้ผลล่วงหน้า
    เมื่อวันที่ 12 มี.ค. มีการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (กกต.กทม.) ที่มี พล.ต.ท.ทวีศักดิ์ ตู้จินดา ประธาน กกต.กทม.เป็นประธานประชุม เพื่อพิจารณาคำร้องเรียนคัดค้านผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. กรณีนายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมือง และกรณีนายเสรี วงษ์มณฑา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในทำนองที่ว่า ให้เลือกผู้สมัครหมายเลข 16 เพื่อต้านไม่ให้พรรคเพื่อไทยยึดครองกรุงเทพฯ อาจเข้าข่ายความผิดมาตรา 57 (5) ของพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นพ.ศ.2545      
    พล.ต.ท.ทวีศักดิ์แถลงผลประชุมว่า ที่ประชุมมีมติเสียงส่วนใหญ่เสนอความเห็นคำร้องคัดค้านเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ทั้ง 2 เรื่องไปยัง กกต.กลาง โดยจะรวบรวมข้อมูลส่งไปให้พิจารณารับรองผลการเลือกตั้งได้ในวันที่ 14 มี.ค.นี้ 
    "จะมีการให้ใบเหลืองใบแดงหรือไม่นั้น เป็นเรื่องระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยได้ นอกจากนี้ยังได้รับทราบคำร้องของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา กรณีการแต่งตั้งที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. 31 คน และการปราศรัยของแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ โดยได้มอบให้คณะทำงานไปสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว"พล.ต.ท.ทวีศักดิ์กล่าว
    ประธาน กกต.กทม.กล่าวว่า ตามกฎหมายถ้า กกต.จะพิจารณาไปในทิศทางใด ต้องดูองค์ประกอบกับหลักฐานประกอบกัน ถ้าเห็นว่าการกระทำนั้นไม่ได้เป็นการกระทำของผู้สมัครรับเลือกตั้ง แต่เป็นการกระทำของบุคคลอื่น ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ในการที่จะได้รับชัยชนะการเลือกตั้ง กกต.มีหลักอยู่ว่าการจัดการเลือกตั้งนั้นจะต้องเป็นไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรม การที่การเลือกตั้งนั้นไม่สุจริต ไม่โปร่งใส ไม่เที่ยงธรรม อันเกิดจากการกระทำของผู้อื่นมีผลให้ผู้สมัครได้รับเลือกตั้ง ก็ต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่ถ้าหากการกระทำนั้นเป็นการกระทำของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเองอาจเข้าข่ายความผิดมาตรา 57 (5)  ของพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น 
    "ขอยืนยันกรณีของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ยังไม่ถึงขั้นจะนำไปสู่การให้ใบแดง เพราะจะมี 3 ขั้นตอนในการพิจารณา คือ 1.รับรองหรือเห็นชอบ 2.ไม่รับรอง และ 3.ส่งเรื่องตีกลับให้มีการสอบสวนใหม่" ประธาน กกต.กทม.กล่าว
    วันเดียวกัน พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ ข้าราชการการเมืองประจำสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ได้เดินทางมายื่นเรื่องร้องคัดค้านการประกาศผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ต่อนายอภิชาต สุขัคคานนท์ประธานกกต.เนื่องจากพบว่ามีการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งไว้เกินจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง
    นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเหยี่ยวข่าวอาสาพิทักษ์ประชาธิปไตย นำโดยนางผุสดี แย้มสกุลณา ประธานเครือข่ายฯ และคณะ กว่า 10 คน เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต.กลาง เพื่อขอให้ดำเนินการพิจารณาตรวจสอบการกระทำของแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ในกรณีการปราศรัย ใส่ร้ายป้ายสี พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ การโพสต์ภาพเผาบ้านเผาเมืองในเฟซบุ๊ก การออกนโยบายหาเสียงจะตั้งที่ปรึกษาหากม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.จำนวน31คน 
     ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวก่อนออกเดินทางไปสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเพื่อ เข้าร่วมการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) ครั้งที่ 5 ถึงกรณี กกต.กทม.มีมติเสนอคำร้องคัดค้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ให้ กกต.กลางพิจารณา ว่ายังไม่รู้ และยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว 
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีท่าทีสนใจต่อเรื่องดังกล่าว โดยได้สอบถามข้อมูลจากผู้สื่อข่าวก่อนเดินขึ้นเครื่องด้วย
    ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่ กกต.จะชี้ขาดจะรับรองผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์หรือไม่ คนที่ตื่นเต้นคือพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่พรรคเพื่อไทย เพราะดูจากเทปกับคำให้สัมภาษณ์แล้วค่อนข้างมั่นใจว่าไม่ใบเหลืองก็ใบแดงแน่หากกกต.รับรองก็ถือว่าเก่งมาก 
    "มีการด่าว่าลักษณะกล่าวหาว่าเป็นเผด็จการยึดบ้านยึดเมือง อย่างนี้ไม่ใส่ร้ายหรือ ผมท้าทาย กกต. กล้าก็ยกคำร้อง อย่าไปตื่นเต้น ในพรรคไม่มีใครตื่นเต้น ดีใจกันร้อยละ 99 ที่ผ่านมาเคยมีกรณีการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งโดยตำแหน่งสามารถแต่งตั้งผู้ช่วยได้ 2 คน แต่กลับมีการประกาศว่าจะแต่งตั้งทั้งหมด 9 ตำแหน่ง ทำให้กรณีนี้โดนเล่นไปซึ่งไม่สามารถบอกตำแหน่งหรือบุคคลในเหตุการณ์ดังกล่าวได้ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว
    ถามว่า ยังหวังเรื่องใบเหลืองใบแดงอยู่ใช่หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า มุมมองของตนหวังมาก หวังโดยไม่มีเปอร์เซ็นต์ ถึงยังไม่อยากพูดถึงเรื่อง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคเพื่อไทย กลับเข้ารับราชการ และถ้า พล.ต.อ.พงศพัศมาถาม ก็จะเอาไม้เรียวเฆี่ยน เพราะเรื่องผู้ว่าฯ กทม.ยังไม่จบ 
    ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี ร.ต.อ.เฉลิมให้สัมภาษณ์เชิงกดดัน กกต.พิจารณาร้องคัดค้านผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ว่ามีความรู้สึกไม่สบายใจกับคนที่เป็นรองนายกรัฐมนตรี พูดจาในลักษณะของการชี้นำหรือล่วงรู้ผลของการตัดสินของ กกต.ล่วงหน้า เพราะพรรคประชาธิปัตย์ยินดีที่จะรอการพิจารณาของ กกต. และมั่นใจไม่ได้กระทำการใดๆ ที่ผิดกฎหมายเลือกตั้งทุกอย่างที่มีการพูดบนเวทีปราศรัยนั้นเป็นเรื่องจริงทั้งสิ้น
    "การให้สัมภาษณ์ลักษณะนี้ของรองนายกฯ ทำให้เกิดข้อสงสัยมีการเมืองเข้าไปแทรกแซงการทำงานของ กกต. หรือเพราะเหตุใด ร.ต.อ.เฉลิมถึงมีความมั่นอกมั่นใจหนักหนา ผมอยากให้ทุกฝ่ายเคารพการทำงานขององค์กรอิสระ เพื่อให้เป็นที่น่าเชื่อถือของสาธารณะ และอยากให้ ร.ต.อ.เฉลิมหยุดพูดจาในลักษณะแทรกแซง ชี้นำ หรือกดดันการทำงานของ กกต. และขอให้เคารพ 1 ล้าน 2 แสนกว่าเสียงที่เลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร มาเป็นผู้ว่าฯ กทม. ด้วย อย่าใช้อำนาจรัฐเข้ามาก้าวก่ายหรือสร้างแรงกดดันให้กับประชาชน" นายชวนนท์กล่าว
    โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ประเด็นต่างๆ ที่มีการร้องเรียนขณะนี้ไม่เกี่ยวกับการรับรองผลการเลือกตั้ง เพราะเรื่องที่ร้องเรียนก่อนการเลือกตั้งนั้นขณะนี้มีเพียง 3 เรื่องเท่านั้น ซึ่ง กกต.จะพิจารณาเฉพาะในส่วนนี้ก่อนการรับรองผล ส่วนเรื่องที่มีการยื่นหลังวันเลือกตั้ง หาก กกต.จะพิจารณา ก็ต้องเป็นภายหลังจากการรับรองผลการเลือกตั้งไปแล้ว จึงไม่อยากให้คนในฝั่งรัฐบาล หรือพรรคเพื่อไทยออกมาสร้างข่าวสร้างความสับสนให้กับประชาชน และควรเอาเวลาไปทบทวนว่าเหตุใดพรรคเพื่อไทยหรือพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชนเดิมในอดีตที่มี พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายใหญ่นั้น จึงไม่เคยเอาชนะใจคนเมืองหลวงได้.
ข่าว 13 มี.ค.56
ปัตตานีกึ่งรัฐอิสระ ปลายทาง สมช.ถก BRN- รวม 3 จว. เลือกตั้ง ผู้ว่าฯ ปกครอง
ครม.ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 3 เดือน เลขาฯ สมช.ยอมรับปลายทางเจรจาบีอาร์เอ็นคือตั้งนครปัตตานี อ้างลดโทนจากแบ่งแยกดินแดน "ผบ.ทบ." ฮึ่ม! พูดเลยไปนิด ยังไม่มีการตกลงอะไรทั้งนั้น แนะถ้าโทษเจ้าหน้าที่รัฐไม่ดีก็แก้ที่เจ้าหน้าที่รัฐ แต่ "วาดะห์" ขานรับ เปิดร่างกฎหมายนครปัตตานีฉบับเพื่อไทย เลือกตั้งนายกฯ น้อย มีสภาวาระ4ปีคนใบ้หูหนวกห้ามเป็นถ้ารัฐส่งข้าราชการไปประจำต้องตกลงกับนครปัตตานีก่อน 
    วันที่ 13 มีนาคม ซึ่งตรงกับวันครบรอบวันสถาปนากลุ่มบีอาร์เอ็น หรือขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี  ก่อตั้งเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2503 ถูกจับตามองจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเกรงว่าจะมีการสร้างสถานการณ์เหมือนที่ทำมาในปีก่อนๆ  
    พ.ต.ต.เอกภพ ประสิทธิ์วัฒนชัย ผบก.ภ.จ.ปัตตานี ได้สั่งการให้ ผกก.ทกสภ.ใน 12 อำเภอของจังหวัดปัตตานี พร้อมประสานกำลังในพื้นที่ทุกฝ่าย ร่วมสนธิกำลังหามาตรการป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้น โดยให้ตั้งจุดตรวจจุดสกัดทุกมุมเมือง และตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย เพื่อป้องกันกลุ่มผู้ไม่หวังดีพยายามเข้ามาสร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรงตามห้วงเวลาดังกล่าว
    ที่ทำเนียบรัฐบาล วันเดียวกัน พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวให้สัมภาษณ์หลังประชุม ครม.ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ออกไปอีกเป็นเวลา 3 เดือน เนื่องจากการอนุมัติครั้งก่อนจะครบกำหนดในวันที่19มี.ค.นี้ไปจนถึงวันที่20มิถุนายน2556
    เมื่อถามว่า จะมีการพูดคุยกับนายสะแปอิง บาซอ และนายมะแซ อุเซ็ง สองแกนนำบีอาร์เอ็นเมื่อไร พล.ท.ภราดรกล่าวว่า ตอนนี้ยังให้คำตอบไม่ได้ แต่จากการที่นายฮัสซัน ตอยิบ มาก็ได้ร่วมความเห็นชอบจากทั้งสองคนอยู่แล้ว โดยจากนี้หากมีการพัฒนาการพูดคุยจนทำให้มีความไว้วางใจในระดับสูงขึ้น ก็เชื่อว่าทั้งสองคนจะออกมาพูดด้วย อย่างไรก็ตาม นับจากที่เรามีการประสานกัน นายฮัสซัน ตอยิบ ระบุว่าจะมีการเชื้อเชิญกลุ่มอื่นๆ มาร่วมพูดคุยในวันที่ 28 มี.ค. หากสามารถมาได้ แต่หากยังมาไม่ได้ อีกสักระยะหนึ่งเขาจะสามารถจูงใจให้กลุ่มอื่นมาร่วมพูดคุยได้แต่จะไม่มีการลงนามแล้วเพราะได้มีการแสดงเจตนารมณ์แบบองค์รวมไปแล้ว 
    ส่วนกลุ่มผู้ก่อเหตุในระดับล่างนั้น ที่ผ่านมาฝ่ายทหารก็ได้มีการพูดคุยในระดับปฏิบัติมาอยู่แล้ว เพียงแต่ดำเนินการแบบไม่เปิดเผยและมีพัฒนาการจนนำไปสู่กลุ่มผู้นำทางความคิดได้ 
    ซักว่า สรุปสุดท้ายการเจรจาจะจบที่การตั้งมหานครปัตตานีใช่หรือไม่ พล.ท.ภราดรกล่าวว่า ใช่ แนวโน้มจะต้องออกมาเป็นแบบนั้น
    "เรื่องดังกล่าวเป็นการคาดการณ์ของเราว่าทางกลุ่มบีอาร์เอ็นจะยื่นข้อเสนอนี้ เพราะอุดมการณ์ของเขาคือการแบ่งแยกดินแดน แต่เมื่อไม่สามารถแบ่งแยกดินแดน จึงจำเป็นต้องลดโทนลงมา ส่วนจะยื่นข้อเสนอเป็นรูปแบบใด เช่น มหานครรัฐปัตตานี หรือเขตปกครองพิเศษ ตรงนี้เรายังไม่ทราบ เพราะยังไม่ได้มีการหารือกันเลย และเมื่อมีการหารือจริงๆ ก็ไม่ทราบว่าเขาจะเสนอมาในรูปแบบใด คงต้องรอให้มีการพูดคุยกันก่อน แต่ทั้งนี้ในรัฐธรรมนูญเองก็เปิดช่องให้สามารถดำเนินการได้เพื่อให้เหมาะสมกับท้องถิ่นนั้นๆ อย่างในประเทศไทยเองก็มี เช่น เมืองพัทยา กรุงเทพมหานคร หรือนครแม่สอด ที่มีการพูดถึงกันอยู่ ตลอดจนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเอง แต่เรายังไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่าเขาจะเสนออย่างไรมา และหากเสนอมาก็ต้องมาพูดคุยกันในหลายฝ่ายให้ตกผลึกก่อนแต่เรายืนยันจะยืนหยัดตามกรอบรัฐธรรมนูญ"เลขาฯสมช.ระบุ
"ผบ.ทบ."ฮึ่ม!ยังไม่ตกลงอะไร
    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ได้ฟัง พล.ท.ภราดรพูดอย่างนั้นหรือ คิดว่ายังไม่ไปถึงข้อสรุปเช่นนั้น ท่านอาจจะพูดเลยไปนิดหนึ่ง อาจจะเผื่อไว้ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ขั้นตอนแรกต้องพิสูจน์ฝ่ายให้ชัดเจนก่อนว่ามีบทบาทแค่ไหน อย่างไร สิ่งที่น่ายินดีคือ ประเทศเพื่อนบ้านให้ความร่วมมือเพราะที่ผ่านมาเราไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ 
    "เรื่องการพูดคุยยังไม่ได้ตกลงอะไรกันทั้งสิ้น ไม่ได้บอกว่า สุดท้ายแล้วจะเป็นอย่างไร แต่เรายืนยันไปแล้วว่าต้องทำตามรัฐธรรมนูญไทย แบ่งแยกดินแดนไม่ได้ ส่วนเรื่องเขตปกครองพิเศษต่างๆ มองว่ายังอีกไกล ต้องผ่านตรงนี้ไปก่อนว่าวันนี้ไม่ดีตรงไหน เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นอย่างไร ให้ความเป็นธรรมได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็ต้องอยู่ที่เจ้าหน้าที่กฎหมายหรือการกระจายอำนาจอย่าพูดก้าวข้ามขั้นไปเพราะจะไม่ได้คำตอบ"
    ผบ.ทบ.กล่าวว่า ในการก้าวสู่กระบวนการสันติภาพ ทั้งหมดต้องไม่มีการกระทำใดๆ ที่ผิดกฎหมาย รวมถึงการป้องกันการแทรกแซงจากภายนอกและการยกระดับจากฝ่ายตรงข้าม ทุกวันนี้น่ายินดีว่าเรื่องความมั่นคงมีความก้าวหน้าไปตามลำดับ
     ส่วนในวันที่ 13 มี.ค.นี้ ที่จะเป็นวันครบรอบ 53 ปีสถาปนาบีอาร์เอ็นนั้น ทุกคนรับทราบ แต่อย่าไปเพิ่มค่าให้มากนัก ถ้าประกาศแทนเขาทุกวันคงไม่มีวันจบสักที ถือเป็นวันหนึ่งที่เขาให้ความสำคัญ แต่เราอย่าไปให้ความสำคัญตาม เราเฝ้าดูไป แต่อย่าไปเพิ่มราคา และความหวาดกลัวให้คนในพื้นที่ คิดว่าคนทั้งประเทศห่วงใย แต่ถ้าเราไม่ให้ค่ามาก แรงสะท้อนกลับของฝ่ายฏิบัติจะน้อยลง และจะย้อนกลับไปทิ่มแทงเขาเอง การไปโฆษณาคือสิ่งที่เขาต้องการ
    ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) กล่าวถึงการพบกับนายมหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะผู้ดูแลด้านพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนมาเลเซีย-ไทย ในวันที่ 28 มี.ค.ว่า จะพบกันที่โรงแรมลังกาวี เชอราตัน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลจะอำนวยความสะดวกให้ ตนจะจ่ายค่าใช้จ่ายเอง ทั้งนี้ มีข่าวดีที่มาเลเซียพอใจที่สามารถจับแก๊งค้าเฮโรอีนได้เมื่อคืนวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา จำนวน 65 กิโลกรัม อยากบอกว่านักการเมืองคนอื่น อย่าแปลกใจเลยที่รัฐบาลมาเลเซียดีกับรัฐบาลชุดนี้ เพราะตนทำงานลึกๆและมีความเชื่อมโยงกัน 
    ถามว่า ยังมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ แสดงว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นคุมพื้นที่ไม่ได้หรือไม่ รองนายกฯ ตอบว่า ต้องยอมรับใหม่ๆ ไม่สามารถสั่งการได้หมด เหมือนการปล้น ลูกพี่เลิกแล้ว แต่ลูกน้องไม่มีรายได้ก็มาปล้นต่อ ส่วนว่าสถานการณ์ดีขึ้นจะประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงใน 5 อำเภอหรือไม่นั้น อย่าเพิ่งไปบอก เดี๋ยวไม่เป็นไปตามนั้น พรรคประชาธิปัตย์จะมากระทืบตน แต่คิดว่าจะต้องดีขึ้น นายนาจิบ ราซัก เป็นนายกรัฐมนตรีตามระบอบประชาธิปไตยแต่ลงมาเต็มตัวเพราะมั่นใจเหตุการณ์จะดีขึ้น 
"วาดะห์"เอาด้วย
    นายซูการ์โน มะทา หนึ่งในสมาชิกกลุ่มวาดะห์ ที่ ร.ต.อ.เฉลิมตั้งขึ้นมาเป็นที่ปรึกษาเพื่อหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวถึงกรณีแนวคิดการร่างกฎหมายนครรัฐปัตตานีว่า กลุ่มวาดะห์มีแนวคิดจะร่าง พ.ร.บ.ปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เพียงแต่ยังไม่ตกผลึกทางแนวความคิดว่าจะให้ออกมารูปแบบใด หรือจะให้ใช้ชื่อกฎหมายว่าอะไร แต่ในหลักการกว้างๆ คงเหมือนกับกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่ใช้กับกรุงเทพมหานครหรือพัทยา ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นคนละฉบับกับร่างที่เคยมีแนวคิดที่จะผลักดันก่อนหน้านี้
    เขาบอกว่า ทราบว่านายประสพ บุษราคัม คณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ กำลังร่าง พ.ร.บ.การปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เช่นเดียวกัน แต่ไม่ทราบว่าเนื้อหาสาระ รายละเอียดเป็นอย่างไร แต่มีความเป็นไปได้ หากในอนาคตจะมีการผลักดันกฎหมายฉบับนี้จริงๆ ก็จะนำร่างของนายประสพมาเทียบเคียงกับของกลุ่มวาดะห์เพื่อหาข้อสรุปว่าจะเอาอย่างไร ก่อนนำเสนอต่อสภา
    ขณะที่นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลพื้นที่ภาคใต้ กล่าวว่า พล.ท.ภารดรได้ตอบคำถามสื่อชัดแล้วว่าที่สุดแล้วต้องมาคุยถึงเขตปกครองพิเศษ และในการพูดคุยในครั้งหน้า จะมีการพูดคุยเรื่องทรัพยากรในพื้นที่คือก๊าซและน้ำมันที่มีมากซึ่งมีอีกหลายหลุมที่อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนไทย-มาเลเซีย
    “การที่ พ.ต.ท.ทักษิณไปเจรจาในครั้งนี้ ล้วนทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว และทางการเมืองของสองฝ่าย ในลักษณะทำนองเดียวกับที่เคยเอื้อประโยชน์ให้กับกัมพูชาในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลฝั่งอ่าวไทย ครั้งนี้ก็เอื้อประโยชน์ให้นายนาจิบ ราซัก ผู้นำมาเลเซีย ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะพื้นที่ภาคเหนือของมาเลเซียนั้น พรรคอัมโนของนายราจิบไม่ได้รับความนิยม แต่หากมีการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ก็จะได้รับความนิยม ที่สำคัญก็จะเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนธุรกิจของ พ.ต.ท.ทักษิณเช่นเดียวกันรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว
    นายปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การคิดถึงเรื่องดังกล่าวยังเร็วไป เพราะสิ่งที่เราคาดหวังหลังจากนี้คือสถานการณ์การก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลง และต้องมีการประกาศยุติการใช้อาวุธก่อน การไปยื่นเงื่อนไขโดยการเจรจาทั้งที่เหตุการณ์ยังไม่มียุติ จะกลายเป็นผิดกฎหมายเสียเอง นอกจากนี้ในระดับนักเจรจา หากมีการยื่นข้อเสนอเร็วเขาจะไม่ให้ราคา ส่วนเรื่องเขตปกครองพิเศษนั้น ที่ผ่านมามีนักวิชาการคิดรูปแบบการบริหารท้องถิ่นกันมามากมายในวงวิชาการ ตนจึงเห็นว่าเราควรจะปล่อยให้นักวิชาการในพื้นที่ได้ศึกษาบริบทและวัฒนธรรมในพื้นที่กันไป ส่วนรัฐเองยังไม่ต้องไปถึงตรงนั้น
    ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยเคยเสนอร่างพระราชบัญญัตินครปัตตานี ในการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา มีทั้งสิ้น 121 มาตรา สาระสำคัญคือจัดตั้ง?องค์กร?ปกครอง?ท้องถิ่น?รูป?แบบ?พิเศษ เรียก?ว่านคร?ปัตตานี โดย?รวม?จังหวัด?ปัตตานี จังหวัด?ยะลา จังหวัด?นราธิวาส เข้าด้วยกัน  มี?สถานะ?เป็น?องค์กร?ปกครอง?ท้องถิ่น ?มี?ผู้?ว่า?ราชการ?นคร?ปัตตานี 1 คน รอง?ผู้?ว่าฯ ?ไม่?เกิน 3 คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
    นอกจากนี้ ให้?มี?การ?จัดตั้ง?สภา?นคร?ปัตตานี มี?สมาชิก?สภา? ซึ่ง?ประชาชน?เลือกตั้ง?โดย?ตรงอำเภอ?ละ 1 คน ดำรง?ตำแหน่ง 4 ปี?เช่น?เดียวกัน ขณะที่?กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายก อบ?จ. นายก?เทศมนตรี นายก อบต.ยัง?ปฏิบัติ?หน้าที่?ต่อ
    ร่างกฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจรัฐมนตรี?มหาดไทย ในการควบคุมดูแลคล้ายๆ กรณีกรุงเทพมหานคร ผู้?ว่าฯ นคร?ปัตตานีต้อง?ทำ?แผน?ยุทธศาสตร์ แผน?บริหาร?พื้นที่ แผน?พัฒนาเศรษฐกิจ ?และ?ต้อง?รายงาน?ผล?การ?ปฏิบัติ?งาน?ต่อ?คณะ?รัฐมนตรีและ?ต่อรัฐสภา?ทุก?ปี แต่นโยบายเสริมสร้างสันติสุข ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความมั่นคงและการรักษาความมั่นคงภายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของรัฐบาล
    อย่างไรก็ตาม มีมาตราที่น่าสนใจคือ มาตรา 102 ระบุว่า "เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการอื่นนอกเหนือจากที่พระราชบัญญัตินี้ และกฎหมายอื่นกำหนด ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนครปัตตานี  ถ้ากระทรวง ทบวง กรมใด เห็นสมควรส่งข้าราชการมาประจำนครปัตตานี เพื่อปฏิบัติราชการในหน้าที่ของกระทรวง ทบวง กรมนั้นๆก็ย่อมกระทำได้โดยทำความตกลงกับนครปัตตานี
    และอีกประเด็นที่จะมีการถกเถียงกันคือ การห้ามบุคคลหนูหนวกและเป็นใบ้สมัครเป็นสมาชิกสภานครปัตตานี
.
ข่าว 2 มี.ค.56 บรรณาธิการ 
ผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์หน้าใหม่อีกครั้ง เมื่อมีผู้สมัคร 2 คน ได้คะแนนเกิน 1 ล้านคะแนน แต่ที่ต้องจารึกไว้บนสุดคือเป็นการต่อสู้ทางการเมืองของ 2 ขั้วการเมืองที่สูสีคู่คี่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เรื่องทำนองนี้อาจเป็นเรื่องดีสำหรับประเทศที่พัฒนาประชาธิปไตยไปไกลแล้ว แต่ไม่ใช่เรื่องดีสำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีนักฉกฉวยผลประโยชน์ทางการเมือง โดยใช้ประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือ 
    การบริหารกรุงเทพมหานครจะไร้รอยต่อ เพราะ ร.ม.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นสมัยที่ 2 แต่ระบอบทักษิณมีรอยด่างหลังใช้สรรพกำลังมหาศาล ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ คนเสื้อแดง แม้กระทั่งสำนักโพล ในการสร้างกระแสเพื่อให้ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างยาวนานตลอดเดือนกว่าที่ผ่านมา
    ระบอบทักษิณยังสร้างรอยด่างให้ปรากฏกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในหลายๆ กรณี เช่น การที่ กกต.ส่งคนไปเป็นวิทยากรอบรมให้คนเสื้อแดงทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตการเลือกตั้ง และกรณีที่ กกต.รับรองให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้มีสิทธิ์ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ทั้งๆ ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาพิพากษาให้จำคุก2ปีจากคดีทุจริตการซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษก 
    หน้าที่ตรวจสอบการทุจริตการเลือกตั้งเป็นหน้าที่หลักของ กกต. แม้ กกต.มีสิทธิ์ที่จะไปอบรมใครก็ได้ให้คอยตรวจสอบการทุจริตการเลือกตั้ง แต่การเฉพาะเจาะจงลงไปในมวลชนของพรรคเพื่อไทย กกต.น่าจะรู้ว่าคนเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อจับทุจริตฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น มิใช่ฝ่ายเดียวกัน และการที่แกนนำเสื้อแดงประกาศส่งคนเข้าไปประกบคนของ กกต.ทุกคูหาเลือกตั้ง ก็เป็นเหตุผลที่ชัดเจนในตัวเองอยู่แล้วว่า คนกลุ่มนี้มิได้มีจุดประสงค์เพื่อจับทุจริตโดยฝ่ายของตนเองแน่นอน 
    ส่วนกรณีที่ กกต.รับรองสถานะของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่าเป็นผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 100 (3) ระบุลักษณะบุคคลต้องห้ามมิให้ใชิสิทธิเลือกตั้งว่า "ต้องคุมขังอยู่โดยหมายศาล หรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย" นั้น จะต้องติดคุกจริงเท่านั้นถึงจะหมดสิทธิ์ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง หาก กกต.ตีความกฎหมายเช่นนี้ นายวัฒนา อัศวเหม จะต้องมีชื่อในรายชื่อผู้มีสิทธิ์ด้วยใช่หรือไม่ และ กกต.แน่ใจหรือว่าปัจจุบันนี้ นายวัฒนา อัศวเหม มีชื่ออยู่จริง ถ้ามีต้องนำมาเปิดเผย ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็น2มาตรฐาน
    หาก กกต.ยังยืนกรานเช่นนั้น บรรดานักโทษหนีคุกทั้งหลายในประเทศไทยล้วนสามารถใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้ทั้งสิ้น และหากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเป็นเช่นนั้น ก็คงเป็นประเด็นแรกๆ ที่ควรแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะไม่เช่นนั้นอาจมีการขยายการตีความไปถึงว่า นักโทษหนีคุกสามารถลงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น รวมไปถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ด้วยหรือไม่  
    สำคัญที่สุดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ผู้แพ้กับผู้ชนะมีทะลุล้าน แต่ห่างกันแค่ประมาณ 2 แสนคะแนนนั้น อาจไม่ได้ชี้ชนะในแง่ของมวลชน การที่ต่างฝ่ายต่างมีกลุ่มผู้สนับสนุนที่ใกล้เคียงกันนี้ จะทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองพร้อมที่จะปะทุขึ้นทันทีหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พอใจขึ้นมา เพราะต่างฝ่ายต่างถือว่ามีมวลชนมากพอที่จะสร้างเงื่อนไขทางการเมือง 
    ที่น่ากลัวคือ แม้จะมีการโหมกระแสว่า อย่าเลือกผู้สมัครที่มีคนเผากรุงอยู่เคียงข้าง แต่กลับกลายเป็นว่า ชนะกันไม่ขาด ผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจึงเป็นตัวเลขที่จะเตือนสติว่าความเห็นที่แตกต่างของคนในกรุงเทพฯ นั้นยังพร้อมที่จะเผชิญหน้ากันอย่างไร้รอยต่อจากเหตุการณ์เผาเมืองเมื่อปี 2553 ได้ทุกเวลา
.
ข่าว 2 มี.ค.56
มีเค้าลางมานานในเรื่องการเจรจาสันติภาพที่จะเกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากที่รัฐบาลได้จับปมสำคัญของปัญหาอันเกี่ยวข้องกับประเทศเพื่อนบ้าน การขยับตัวของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย ในการเดินทางไปประเทศมาเลเซีย ทั้งอย่างที่เป็นทางการกับไม่เป็นทางการ ที่เป็นข่าวมาตลอดช่วงปีที่ผ่านมา ยืนยันได้ว่ามีเป้าหมายอย่างยิ่งยวดที่อยากให้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้สงบลง
    ไม่มีอะไรของเกมในโลกที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะได้ประโยชน์ด้านเดียวจากการเจรจา หรือเป็นตัวกลางในการพูดคุย แต่การริเริ่มระหว่างผู้นำมาเลเซียกับผู้นำไทย บวกกับอดีตนักโทษที่ชื่อพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นั้น เดาไม่ยากว่าจะทั้ง 2 ฝ่ายย่อมวิน-วินกับกระบวนการริเริ่มในการจับมือไปสู่การพูดคุยเพื่อสันติภาพ โดยมีสภาความมั่นคงแห่งชาติของไทยกับรองเลขาธิการบีอาร์เอ็นมาลงนามในเอกสารจนเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก โดยที่ก่อนหน้านี้ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าคนระดับแกนนำบีอาร์เอ็นที่มาเลเซียหวงยิ่งกว่าไข่ในหินจะเปิดหน้าออกมาสู่สายตาสาธารณชนขนาดนี้
    หากแนวทางดังกล่าวที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่ความสงบในพื้นที่ได้จริง ในฐานะคนไทยคนหนึ่งก็ย่อมดีใจและภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง แต่สิ่งที่เราไม่อาจละเลยในการพิจารณาได้ คือเรื่องผลประโยชน์ระหว่างชาติ อันได้แก่ การแลกเปลี่ยน และการตอบแทนผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ซึ่งหลายคนก็ทราบดีแล้วว่าในส่วนของรัฐบาลมาเลเซีย ที่มีนายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำ ย่อมได้เครดิตในระดับสากล ยกระดับมาเลเซียให้มีคำสำคัญและมีบทบาทโดดเด่นในภูมิภาคอาเซียนในห้วงเวลานี้มากที่สุด
    ในส่วนของไทยยกแรกคือ การหวังผลที่จะได้เข้าสู่ตัวกลางหรือตัวแทนที่จะสื่อสารไปยังผู้ก่อเหตุในพื้นที่ ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าคนเหล่านั้นจะฟังหรือไม่ แต่หากการเสี่ยงของรัฐบาลไทยภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ น้องสาวของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ในครั้งนี้ออกมาได้ผลเชิงบวก ภาพความสงบที่เกิดขึ้นย่อมเกิดผลดีกับภาพของพันตำรวจโททักษิณไม่ใช่น้อย ในฐานะที่เป็นคนเริ่มพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และพูดคุยกับ17แกนนำของขบวนการเมื่อวันที่17มีนาคม2555
    ยังไม่นับรวมการแก้ไขปัญหาชายแดนไทยกับกัมพูชา ที่การพูดคุยในระดับรัฐบาลที่มีพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เป็นตัวเชื่อม ผ่านการแสดงภาพความสัมพันธ์ที่ดีและแนบแน่นระหว่าง 2 ประเทศ โดยมีภาพการจับมือระหว่างพลเอกเตีย บัณห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของกัมพูชา กับพลอากาศเอกสุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทย บนปราสาทพระวิหาร แม้จะมีความคิดเห็นจากหัวหน้าทีมทนายในศาลโลกได้ทำหนังสือทักท้วงไม่ให้กระทบคดีในศาลโลก 
    เหล่านี้เป็นปัญหาที่เกิดจากในอดีตที่เป็นจุดเริ่มต้น ตั้งแต่รัฐบาลของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ที่ฟังข้อมูลไม่รอบด้าน จนทำมีการประเมินสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ผิดพลาดจากความเป็นจริง จนซ้ำเติมให้สถานการณ์ในพื้นที่ซึ่งกลุ่มขบวนการเริ่มก่อตัวเริ่มแผนปฏิวัติแบ่งแยกดินแดนยิ่งเลวร้ายลงไปเช่นเดียวกับประเด็นการร่วมขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกจนนำไปสู่ความชัดเจนในข้อพิพาท 4.6 ตารางกิโลเมตร ก่อให้เกิดความตึงเครียดบริเวณชายแดน 2 ประเด็นดังกล่าวจึงเป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้พันตำรวจโททักษิณต้องหาทางแก้ไขปัญหาที่ตัวเองมีส่วนก่อเอาไว้ โดยมีเป้าหมายในเรื่องการขออภัยโทษที่จะเป็นแผนขั้นต่อไปในอนาคต
    ความพร่ามัวของรัฐบาลและการเดินเกมของพันตำรวจโททักษิณในประเด็นปัญหาทั้ง 2 เรื่อง แม้จะฉายภาพความพยายามในการแก้ไขปัญหาของประเทศชาติแต่เบื้องลึกเบื้องหลังก็คือเครื่องมือในการนำไปสู่กระบวนการพาตัวเองกลับบ้าน และผลประโยชน์แลกเปลี่ยนอย่างไม่เป็นทางการ ระหว่างพันตำรวจโททักษิณและผู้นำ 2 ชาติในอาเซียน โดยมีรัฐบาลของน้องสาวเป็นผู้แทนมีเป้าหมายสูงสุดเพื่ออะไรนั้น ในไม่นานคงจะมีคำตอบ
.
หลังจบเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครชนิดที่คูหาเลือกตั้งยังไม่ทันได้รื้อเพื่อเก็บ พรรคเพื่อไทยเดินหน้าจุดประเด็นออกกฎหมายนิรโทษกรรมในทันที เพราะต่างก็รู้ความจริงว่าไม่อาจผลักดันเรื่องนี้ได้ในระหว่างเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เนื่องจากอาจทำให้เสียคะแนน นี่คือการวางปฏิทินการเมืองเอาไว้ตั้งแต่ต้นว่าจะทำอะไรช่วงไหนและเพื่อประโยชน์ของใคร     
    โดยพฤติกรรมของพรรคเพื่อไทย แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งแล้วว่า พรรคการเมืองนี้มีความจริงใจต่อประชาชนและพูดความจริงกับประชาชนมากแค่ไหน และรัฐบาลมักใช้ตรรกะคล้ายๆ กันนี้ในการบริหารราชการแผ่นดิน หลายเรื่องมีความสำคัญ ถึงขั้นชี้เป็นชี้ตายประเทศ แต่รัฐบาลกลับมองเฉพาะผลประโยชน์ของตนเองเป็นที่ตั้ง เช่น กรณี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ไม่ยอมเดินทางลงไปในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยอ้างว่าหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้เสร็จสิ้นเสียก่อน และเลื่อนออกไปเรื่อยๆโดยอ้างว่ามีการวางแผนวางระเบิด50จุดส่งท้ายอยู่
    แน่นอนว่าเมื่อผ่านพ้นฤดูกาลต้องการคะแนนเสียงไปแล้ว หลังจากนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะตามมา และมิได้แก้ไขเพื่อความเป็นประชา
ธิปไตยเพิ่มขึ้น แต่เป็นการแก้ไขเพื่อทำลายระบบตรวจสอบการเข้าสู่อำนาจ และการใช้อำนาจของนักการมือง เป็นการทำให้รัฐธรรมนูญอ่อนแอลง ที่แน่ชัดแล้วคือ การรื้อระบบศาลเสียใหม่ โดยเฉพาะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่น่าจะมีอีกแล้ว เพราะถือว่าเป็นปฏิปักษ์กับระบอบทักษิณอย่างชัดเจน 
    การเริ่มต้นปฏิบัติการด้วยการให้ 21 ส.ส.พรรคเพื่อไทย ร่วมกันลงชื่อเพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ.... ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรให้บรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภาร่างกฎหมายนี้มีทั้งสิ้น7มาตรา   
    สาระสำคัญอยู่ที่มาตรา 3 ระบุว่า ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลที่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง แต่การกระทำนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้อง หรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง การกระทำใดๆ ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจาการการชุมนุมทางการเมือง หรือแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.2549 ถึงวันที่ 10 พ.ค.2554 ไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ไม่รวมถึงการกระทำของบรรดาผู้มีอำนาจตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว
    แม้ดูแล้วไม่มีอะไรใหม่ แต่เป็นความเคลื่อนไหวใหม่ ที่ขับเคลื่อนโดย ส.ส.แดง ที่นำโดย นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ เป็นการดำเนินการควบคู่ไปกับการเรียกกลุ่มต่างๆ ร่วมประชุมหารือแนวทางนิรโทษกรรม โดยมีนายเจริญจรรย์โกมลรองประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นคนขับเคลื่อน  
    ดูเหมือนว่าเป็นการขับเคลื่อนเพื่อความปรองดอง แต่จะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ เมื่อบรรดาแกนนำเสื้อแดงต่างออกมาระบุว่า ตัวเองไม่ใช่ผู้สั่งการ แม้บางคนจะยอมรับว่าเป็นแกนนำ แต่สั่งการอะไรไม่ได้ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ผู้มีอำนาจตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง คือใคร เพราะไม่มีกฎหมายใดๆ มารองรับสถานะสุดท้ายแล้วกฎหมายนิรโทษกรรมก็จะคุ้มครองคนผิดทุกคน 
    นอกจากอ้างว่าแก้ไขกฎหมายให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น ยังพบว่าบรรดาผู้รักประชาธิปไตยยิ่งชีพกลุ่มนี้ ยังได้เสนอพระราชบัญญัติการพนัน ฉบับร่างใหม่ กฎหมายนี้อยู่ระหว่างการศึกษา โดยผู้รักประชาธิปไตยที่กระทรวงมหาดไทย เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง พบว่า เป็นการส่งเสริมให้มีการเล่นพนันมากขึ้น หลากหลายขึ้น รวมทั้งให้การทวงหนี้พนันเป็นสิ่งถูกกฎหมาย 
    ในภาพรวมแล้วสิ่งที่ประเทศไทยจะได้จากรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นอกจากนโยบายประชานิยมที่เริ่มจะเกิดปัญหาด้านลบกับสังคมโดยรวม ไม่ว่าจะเป็น จำนำข้าว หรือ รถคันแรก ยังได้เห็นการฟอกคนเผาเมืองเป็นผู้บริสุทธิ์ เสวยสุขได้โดยไม่ต้องกลัวคุก เราจะได้รัฐธรรมนูญที่เปิดช่องให้โกงกินมากขึ้น และประชาชนผู้รักประชาธิปไตยจะติดการพนันกันงอมแงม
.
ข่าว 12 มี.ค.56
การหารือระหว่างฝ่ายต่างๆ ยกเว้น พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่มีนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธาน ซึ่งประโคมกันว่าเพื่อความปรองดอง และวางแนวทางออกกฎหมายนิรโทษกรรมได้ข้อสรุปเบื้องต้นออกมาแล้วจำนวน4ข้อ 
     1. ต้องการบรรเทาความขัดแย้งร่วมกัน โดยเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้เสนอข้อคิดเห็นเพื่อหารือเป็นทางออกร่วมกัน
        2. ต้องให้อภัยกัน มีความสำนึกและแสดงความรับผิดชอบ ส่วนวิธี รายละเอียด เงื่อนไข ของกฎหมายนิรโทษกรรม ทุกฝ่ายต้องออกแบบร่วมกัน โดยผู้ที่มาร่วมประชุมได้ถามว่า จะทำอย่างไรที่จะให้ พรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เข้าร่วมหารือ ซึ่งนายเจริญได้รับปากว่าจะพยายามเจรจากับนายอภิสิทธิ์เวชชาชีวะและกลุ่มพธม.ต่อไป
    3. การบรรเทาความขัดแย้งให้เกิดทัศนคติที่ดีในการออกกฎหมายนิรโทษกรรม อยากให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวสำหรับนักโทษการเมือง ที่ยังถูกคุมขังอยู่ เพื่อให้มีอิสระและเสรีภาพในการต่อสู้คดี ตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่นักโทษพึงจะมี และ
         4. การวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อและพรรคการเมือง ขอให้ยึดประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่เพื่อคนใดคนหนึ่ง
    ประเด็นที่น่าสนใจ คือข้อสรุปข้อ 3. อยากให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวสำหรับนักโทษการเมือง ที่ยังถูกคุมขังอยู่ เพื่อให้มีอิสระและเสรีภาพในการต่อสู้คดี ตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่นักโทษพึงจะมี ที่จะมีคำถามว่า 'นักโทษการเมือง'คือใครถูกคุมขังในฐานความผิดอะไร 
    โดยทั่วไปแล้วความผิดทางการเมืองนั้น ไม่ได้ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับใด นั่นหมายความว่า ผู้กระทำผิดในทางการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในทางกฎหมาย อย่างไรเสียในสภาวการณ์ที่เป็นจริง ปรากฏว่า 'นักโทษการเมือง' นั้น เป็นคำที่มีใช้ และมีบุคคลที่ถูกเรียกว่าเป็น 'นักโทษการเมือง' อยู่จริง ในกฎหมายระหว่างประเทศอาทิมาตรา9พระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดนพ.ศ.2551กล่าวว่า
    “รัฐบาลไทยอาจพิจารณาส่งบุคคลข้ามแดน เพื่อการฟ้องร้องหรือรับโทษตามคำพิพากษาของศาลในความผิดทางอาญา ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจดำเนินคดีของประเทศผู้ร้องขอให้แก่ประเทศนั้นๆ ตามคำร้องขอได้ในกรณีดังต่อไปนี้
    (1) กรณีเป็นความผิดที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ และไม่เข้าลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายไทย หรือมิใช่ความผิดที่มีลักษณะทางการเมืองหรือเป็นความผิดทางทหาร
    (2) กรณีที่มิได้มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน เมื่อประเทศผู้ร้องขอได้แสดงโดยชัดแจ้งว่าจะส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่ประเทศไทย ในทำนองเดียวกันเมื่อประเทศไทยร้องขอความผิดที่มีลักษณะทางการเมืองตามวรรคหนึ่งไม่หมายความรวมถึงความผิดดังต่อไปนี้
    (ก) การปลงพระชนม์ ประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือรัชทายาท 
    (ข) การฆ่าประทุษร้ายต่อร่างกายหรือเสรีภาพของประมุขแห่งรัฐ ผู้นำรัฐบาล หรือ สมาชิกโดยตรงในครอบครัวของบุคคลนั้น 
    (ค) การกระทำความผิดที่ไม่ถือว่าเป็นความผิดทางการเมือง เพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามสนธิสัญญาซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี 
    นั่นคือ 'นักโทษการเมือง' ที่มีการบัญญัติไว้ในกฎหมาย แต่มีการนำคำนี้มาใช้แพร่หลายกับคนเสื้อแดงที่ร่วมชุมนุม จนนำไปสู่การเผาบ้านเผาเมือง และคนเสื้อแดงที่ยังติดคุกอยู่ส่วนใหญ่มีฐานความผิดในคดีอาญา โดยเฉพาะร่วมเผาในหลายเหตุการณ์ และปล้นปืนไปจากเจ้าหน้าที่  เป็นความเข้าใจเอาเองว่าผู้ที่อยู่ในคุกคือ นักโทษการเมืองเช่นเดียวกับการที่คนเสื้อแดงเรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตย 
    ข้อเสนอที่อ้างว่าเพื่อนำไปสู่การปรองดองนี้ จึงมิได้เริ่มต้นเพื่อให้เกิดความปรองดองแม้แต่น้อย เพราะหากคนเผาบ้านเผาเมือง คนที่ใช้อาร์พีจียิงวัดพระแก้ว คนที่ร่วมกันทำร้ายทหารแล้วปล้นปืนไป ได้รับเกียรติเป็นนักโทษการเมือง ต่อไปกรุงเทพฯ คงจะราบเป็นหน้ากลอง
.

ข่าว 12 มี.ค.56
ตอนถูกยึดอำนาจ ก็เหี้ยนกระหือรือ สั่งสมุน "เผาบ้าน-เผาเมือง" ครั้นได้อำนาจคืน ก็เหี้ยนกระหือรือ สั่งสมุนออกกฎหมายล้างโทษเผาเมือง ถามว่า "พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" ที่เพื่อไทยเหย็งๆ จะเอาให้ได้นั้น ล้างโทษใคร คำตอบคือ หน้าฉากอ้างล้างโทษผู้ชุมนุมทางการเมือง แต่หลังฉากต้องการล้างโทษให้ทักษิณ ยกเลิกคดีอาญาอันว่าด้วยเรื่องโกง-กิน และคดีการเมืองทั้งหมด เป็นทักษิณผู้ผุดผ่อง แล้วทอดน่องกลับเข้ามาสถาปนา "แดงทั้งแผ่นดิน"!
    ได้ยินที่นายนิสิต สินธุไพร "อาจารย์ใหญ่" โรงเรียน นปช.เพื่อแดงทั้งแผ่นดิน และนางธิดา-นายเหวง ตลอดถึงพวกแกนนำเขาประกาศเป็นหลักสูตรล้างสมองชาวบ้านมั้ยล่ะ ภารกิจเร่งด่วนเฉพาะหน้าที่ นปช.สั่งให้ทำ ๓ ข้อ ๑ใน๓นั้นคือ   ต้องล้มล้าง"ระบบอำมาตย์"ให้หมดไปจากประเทศไทย!
    แล้วเอาอะไรมาแทนข้าราชการประจำ ข้าราชการการเมือง ข้าราชการตุลาการ ส.ส.-ส.ว. ทหาร ตำรวจ ครู อันเป็นองคาพยพในระบบอำมาตย์ทุกวันนี้ล่ะคำตอบคือ...เอา"ระบอบไพร่ทักษิณ"สถาปนาแทน!
    นี่ไม่ใช่เรื่องลี้ลับอะไร เพราะเขาประกาศปาวๆ ทุกวันผ่านวิทยุ โทรทัศน์ เคเบิล ดาวเทียม วันละหลายๆ รอบ ก็รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลระบอบทักษิณเขา ใครจะไปทำอะไรได้ เพราะ ผู้ว่าฯ ผู้การ ผู้กำกับ "โจรตั้งให้"
    ไม่เชื่อก็ไปถามขวัญชัย ไพรพนา ดูก็ได้ ที่อุดรฯ และบางจังหวัดในอีสาน นายใหญ่มอบหมายให้ขวัญชัยมีอำนาจตั้งเป็นฐานานุกรมไว้รับใช้ได้!
    ไม่ใช่แค่ขวัญชัย อย่างนายกฯ รัฐมนตรี ผบ.ตร.-ผู้บัญชาการ รวมถึงเสาไฟฟ้า ต่างๆ นานานั้น...ใครล่ะตั้ง ไม่ใช่โจรหน้าเหลี่ยมหรอกหรือ?
    นี่แค่แผ่นดิน "ช้ำเลือด-ช้ำหนอง" ยังขนาดนี้ ถ้าถึงขั้น "แดงทั้งแผ่นดิน" แค่เอาชื่อทักษิณแขวนคอหมู หมา กา ไก่ มนุษย์ที่ไม่แดง แต่อยากสบาย ก็คงต้องกราบไหว้สัตว์เดรัจฉาน เพราะมันสามารถบันดาลลาภ ยศ สรรเสริญ สุขให้ได้  
     เอาล่ะ...แล้วทักษิณต้องการกลับเข้ามานำทัพสถาปนาด้วยตัวเองตอนนี้เลยหรือ พวกมือตีนทั้งในสภาฯ และนอกสภาฯถึงได้เร่งเครื่องเรื่องนิรโทษกรรมกันยกใหญ่?ผมนั่งทางในดูแล้วขอตอบว่า...ยังหรอก!
    ทักษิณยังไม่ต้องการกลับตอนนี้ ที่เห็นพวกทาสไพร่ใต้ตีนพล่านคล้ายเอาจริง นั่นเป็นแค่กลเกมส่ง "กองหลอน"ชั้นสถุลชูเรื่องปรองดองหลอกคนให้หันไปสนใจอีกทาง 
    เพื่อเปิดทางโล่งด้านรัฐบาล ให้นางน้องสาวกับนายกิตติรัตน์ลงมือ "มอมยาข่มขืนประเทศไทยแล้วลอกคราบ" ครั้งใหญ่ด้วยมูลค่า๒ล้านล้านบาท!
    ยึดมันมา ๔ หมื่นกว่าล้าน แต่มันเล็มเอาคืนไปแล้วจากโครงการน้ำ ๓.๕ แสนล้าน จากจำนำข้าว ร่วม ๕ แสนล้าน(เฉพาะปีแรก)เรียกว่าค้ากำไรเกินควรไปกี่แสนล้านแล้วก็ไม่รู้ 
    แต่ขณะนี้...เมกะโปรเจ็กต์โครงการพัฒนาประเทศเบื้องต้น ๒ ล้านล้าน มันอยู่ในช่วงปฐมกาลแห่งการลอกคราบฉะนั้น...เสี่ยดูไบยังไม่ใจเร็วด่วนได้ด้วยเหตุผลเบื้องต้นว่า 
    ๑.นางสาวยิ่งลักษณ์กำลังเอ็นจอยกับบทบาทนางแบบท็อปโมเดล ยังไม่อยากถูกประชาชนถีบตกเก้าอี้นายกฯ ตอนนี้ 
    ๒.ทักษิณและสมุนใช่โง่เง่าเบาความจนไม่ประสาว่า ขืนหักเอาด้วยกำลังประชาธิปไตยในรัฐสภาตอนนี้ มีหวังเจอสหบาทาประชาธิปไตยนอกสภาฯที่เงื้อง่ารอท่าอยู่แล้วและ
    ๓.เมกะโปรเจ็กต์ ๒ ล้านล้านยังไม่ผ่าน ขืนใจร้อนด้วยงานเล็ก จะทำให้เสียงานใหญ่ เพราะหลายโครงการเจรจาร่วมกับทุนนอกชาติไว้แล้ว เช่น โครงการปากบาราอันเป็น "ของจริง" ที่จีนกับทักษิณแอนด์โก ส่วนโครงการทวายซึ่ง"จีนไม่สนใจ"แต่แรกแต่พวกไทยสายไพร่เอามาหลอกปั่นหุ้นเป๋าตุงกันไป!
    ดังนั้น ทักษิณจะไม่สั่งกองกำลังแดงในสภาฯ-กองกำลังไม่ทราบฝ่ายในถนนทำอะไร เพราะเสี่ยงพลาดเป็นเหตุให้"สูญเสียสภาพกุมอำนาจรัฐ"ที่น้องสาวเป็นหุ่นเชิดอยู่ 
    เพราะถ้าพลาด "อำนาจจะเสีย" เมื่อเสียอำนาจบริหารประเทศ สเต๊กก้อนใหญ่ ๒ ล้านล้าน ก็จะเป็นอาหารให้ "ใครก็ยังไม่รู้"ที่จะมาเป็นรัฐบาลใหม่...งาบไปแด๊ก!
    เรื่องกู้ ๒ ล้านล้านนี้ อยากให้มองแยกเป็น ๒ นัย นัยแรก เห็นด้วยกับแนวทางที่ต้องลงทุนพัฒนาประเทศผ่านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน และการขนส่งระบบราง ซึ่งความจริงแผนนั้นมีอยู่แล้ว และแต่ละรัฐบาลก็สานรากต่อๆกันมาเพียงแต่แต่ละรัฐบาลในรอบทศวรรษนี้อายุสั้นงานจึงไม่เป็นชิ้น-เป็นอัน
    นัยที่สอง ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลนี้รวบยอดเอาโครงการทั้งหมดตั้งเป็นตัวเงิน ๒.๒ ล้านล้าน แล้วใช้พิมพ์เขียวในจินตนาการเป็น"แผนงานสำเร็จ"เพื่อกู้ทันทีทั้งก้อน!
    นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รมว.คลังบอก ใช้กรอบเวลา ๗ ปี ในการใช้เงิน ๒.๒ ล้านล้าน ดำเนินโครงการ ผมว่า ๒.๒ ล้านหมดได้ แต่การดำเนินโครงการ ผมให้ ๑๗ ปีด้วย กับโครงสร้างพื้นฐานจากเหนือจรดใต้ จรดออก จรดตกจรดอีสาน 
    อย่าว่าแต่ได้ประมูลเลย เอาแค่สำรวจเส้นทาง ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ วางแนว เวนคืนที่ดิน ตกลงกับชาวบ้านแต่ละพื้นที่ผ่านสิ่งแวดล้อมแล้วสรุปออกมาเป็นโครงการพร้อมลงมือประมูลได้ทันที  
    ทำแค่นี้แต่ละเส้นทาง-แต่ละสายให้สำเร็จเป็นรูปธรรมให้ได้เสียก่อนเถอะ เรื่องเงินน่ะ อย่าว่าแต่ ๒.๒ ล้านล้านเลย๑๐๐ล้านล้านประชาชนก็ยินดีแบกหนี้ให้!
    แต่นี่...รัฐบาลมีแค่งานการฝีมือเป็นโมเดลเด็กเล่นส่งครู ให้บริษัทหากินในเครือข่ายจัดอีเวนต์เป็น "นิทรรศการThailand2020หลอกชาวบ้าน...มาดูกันเร้ววววว
    ประเทศไทยในอีก ๗ ปีข้างหน้า ทั้งถนน ทั้งรถไฟ ทั้งรถความเร็วสูง ทั้งท่าเรือ เลื้อยได้ทั่วยุ่บยั่บเป็นรูไส้เดือน!
    แค่นี้ก็ฮาอยู่แล้ว ยังหลอกอีกว่า ๒.๒ ล้านล้านน่ะ ไม่กู้หรอก แต่จะออกพันธบัตรขายให้ประชาชนคนไทย เพื่อให้คนไทยได้มีส่วนรวมเป็นเจ้าของ ดูมันซี...แล้วอย่างนี้ไม่ให้พูดว่า "ข่มขืนแล้วลอกคราบ" ได้ไง!?
    รัฐบาลที่ชาวโลกนินทา ไม่โปร่งใสในการบริหาร ทุจริต-คอรัปชั่น "ติดอันดับโลก" และมีแค่โมเดลหลอกเด็กอันเดียวจะกู้๒.๒ล้านล้านมีใครในโลกนี้เชื่อใจบ้างว่า...หมาจะไม่แดกขี้!?
    ๗ ปีที่ว่านั้น ผมว่า ๑ ปีแรกแห่งเนื้อ-หนังที่ได้กู้เท่านั้นมั้ง...เป็นของรัฐบาลนี้ ส่วนอีก ๖ ปีที่เหลือ เป็น ๖ ปีแห่งหนี้และโครงกระดูกที่รัฐบาลอื่นๆต้องมาเก็บใส่โกฐ
    เรื่องนี้ ผมเห็นด้วยกับทรรศนะคุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่เขียนไว้ใน FB ของท่าน๘ข้อ
    ๑.ไม่คัดค้านที่จะลงทุนพัฒนาประเทศ แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการออกเป็นกฎหมาย เพื่อให้อยู่นอกระบบงบประมาณ
    ๒.รัฐธรรมนูญกำหนดช่องทางที่รัฐบาลจะใช้เงินไว้ดีแล้ว โดยให้ทำผ่านกระบวนการงบประมาณ ซึ่งมีทั้งงบประจำและงบลงทุนโดยจะผูกพันงบข้ามไปกี่ปีก็ได้
    ๓.ขั้นตอนการตั้งงบลงทุนในงบประมาณนั้น เริ่มที่กระทรวงที่จะเสนอโครงการ แล้วส่งให้สภาพัฒน์พิจารณาในแง่ความคุ้มค่าของโครงการ ซึ่งจะพิจารณากันตามลำดับชั้น เริ่มจากระดับเจ้าหน้าที่ ทำการศึกษาละเอียด แล้วจึงกลั่นกรองเสนอผู้บังคับบัญชาจึงมีความรอบคอบ
    ๔.เมื่อผ่านสภาพัฒน์แล้ว สำนักงบประมาณก็จะพิจารณาในแง่งบประมาณอีกชั้นหนึ่ง หากเห็นว่ามีการซ่อน หรือแฝงรายการที่แปลกปลอมเข้ามา ก็จะท้วงติงตัดออกไป ขั้นตอนการพิจารณาก็จะทำจากระดับเจ้าหน้าที่ มีการศึกษาละเอียดเช่นเดียวกับสภาพัฒน์ จึงมีการพิจารณาโดย ๒ หน่วยงานนี้อย่างรอบคอบ จากระดับเจ้าหน้าที่ขึ้นตามลำดับชั้น
    ๕.แต่กรณีนอกงบประมาณนั้น การดำเนินงานที่ผ่านมา ทั้งกรณีรัฐบาลก่อนและรัฐบาลนี้ ล้วนใช้วิธีตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมา เพื่อกลั่นกรองนำเสนอคณะรัฐมนตรี โดยไม่ผ่าน ๒ หน่วยงานหลักดังกล่าว
   ๖.ถึงแม้คณะกรรมการเฉพาะกิจดังกล่าวจะมีผู้บริหารระดับสูงของสภาพัฒน์กับสำนักงบประมาณนั่งเป็นกรรมการร่วมอยู่ด้วยก็ตาม แต่การพิจารณาเรื่องที่เสนอให้ตัดสินใจในที่ประชุม ย่อมไม่สามารถพิจารณาให้รอบคอบถี่ถ้วนได้ดีเท่ากับการทำงานตามลำดับชั้นในแต่ละองค์กร
    ๗.การพิจารณานอกกระบวนการงบประมาณ ด้วยขบวนการที่ลดขั้นตอน ทำให้การอนุมัติโครงการทำได้เร็วขึ้นก็จริง แต่มีความเสี่ยงต่อการหละหลวมมากขึ้น เพราะเดิมแต่ละองค์กรต้องรับผิดชอบการพิจารณาให้ครบถ้วนสมบูรณ์แบบเต็มๆเปลี่ยนเป็นรับผิดชอบกันเป็นคณะ
    ๘.หากเป็นเรื่องเร่งด่วนฉุกเฉิน ก็อาจจะพอรับได้ แต่การลงทุน ๒.๒ ล้านล้านบาท ไม่ใช่เรื่องฉุกเฉิน จึงไม่มีเหตุผลที่จะหลบเลี่ยงกระบวนการงบประมาณแต่อย่างใด
    จบครับ...สภาพัฒน์ตั้งขึ้นมาเพื่อกลั่นกรองงานลักษณะนี้โดยเฉพาะ รัฐบาลพลเอกเปรมใช้มาก แต่รัฐบาลนี้ งานหลักสภาพัฒน์กับสำนักงบประมาณ ถ้ายิ่งลักษณ์ไม่ใช้ให้สอยหรือซักกระโปรง ก็คงไม่มีงานต้องทำ?
.
ข่าว 13 มี.ค.56
ก็จริงอย่างที่ "นิวยอร์กไทมส์" เขานินทาไว้แหละครับว่า ประเทศไทยมีนายกฯ ๒ คน คนหนึ่งเป็นน้องสาว โชว์สวยอยู่ในประเทศ ส่วนอีกคนเป็นพี่ชาย โชว์ห่วยอยู่นอกประเทศ นายกฯ ท็อปโมเดลไม่ต้องกรี๊ดดด..กรี๊ดดด..ปฏิเสธหรอก การที่ทักษิณสไกป์เข้ามากระตุกโซ่กลางที่ประชุมพรรคเพื่อไทยวานซืน (๑๑ มี.ค.๕๖) มันเหนือคำตอแหลตอหลดตดใต้น้ำของใครทุกคนว่า...หัวหน้าโจรก่อการร้ายไม่ใช่ผู้สั่งการรัฐบาลประเทศไทย!
    ผมดูรูปการณ์แล้ว เมื่อชัดเจนว่าทุกปฏิบัติการของรัฐบาลล้วนขมวดปมสู่ ๒ เป้าหมาย "เอาเงิน-เอาประเทศแปลงเป็นทุน+กำไร" ให้ระบอบทักษิณ คู่ขนานไปกับเร่งออกกฎหมายล้างโทษให้ทักษิณ แบบนี้....เมษา-สงกรานต์ปีมะเส็งหนี"สงกรานต์เลือด"...ยาก!
    ๒.๒ ล้านล้าน ต้องเอาให้ได้ แก้รัฐธรรมนูญ กับกฎหมายนิรโทษกรรม ก็ต้องทำให้ได้ เมื่อเป็นประกาศิตทักษิณ "ขีดเส้นตาย" ด้วยอารมณ์ทั้งขู่ ทั้งปลอบ ทั้งตัดพ้อ กับบรรดาสมุนรับใช้เช่นนี้ จึงไม่แปลกที่เช้าวาน (๑๒ มี.ค.)จะเห็นไพร่สถุลแย่งกันเลียมือนายแต่เช้า นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกฯ.....
    "ต้องการให้ฝ่ายค้านเห็นด้วยกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งการนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองทุกคน ก็ควรจะรวมไปถึงตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะเคยเป็นผู้นำและหัวหน้าพรรคการเมือง"นายณัฐวุฒิใสยเกื้อรมช.พาณิชย์......
    "ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเดินหน้าในการนิรโทษกรรม โดยไม่ต้องรอพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากทุกอย่างต้องเร่งแก้ปัญหาเพื่อให้ประเทศลดความขัดแย้ง"
    มั้ยล่ะ...ตอนแรกอ้าง ที่เร่งออก พ.ร.บ.นิรโทษ เพราะต้องการช่วยคนร่วมชุมนุมทางการเมืองให้พ้นคุก เร่งถึงขนาดออกเป็นพ.ร.บ.ทางสภาฯไม่ได้ก็ให้รัฐบาลใช้อำนาจหักดิบออกเป็นพ.ร.ก.ไปเลย
    พอทักษิณสไกป์มาเบิ๊ดกระบาลเท่านั้นแหละ หางที่ซ่อนไว้โผล่ออกมาทันที คนร่วมชุมนุมที่อ้างยังอยู่ในคุก มันเป็นเพียงข้ออ้างบังหน้าเท่านั้น 
    คนที่เขาต้องการล้างโทษให้จริงๆ ก็คือทักษิณคนเดียว ส่วนพวกรากหญ้าที่จ้างบ้าง หลอกบ้างให้มาติดคุกบ้างมันแค่ "ผลพลอยได้" คล้ายโคลนติดตีน เมื่อล้างตีนให้ทักษิณ ก็เท่ากับล้างโคลนไปด้วย เลยอ้างเป็นความจริงใจจากฝ่ายแกนนำที่มีให้ผู้ตามซะเลย  
    ก็อย่างที่ทักษิณกับพวกแกนนำเขาว่านั่นแหละ ต้องเคลื่อนไหวให้เห็นจริงจังว่า..ช่วยแล้ว..ไม่ได้ทอดทิ้ง ไม่งั้นจะเสียมวลชน หลอกพวกเขามาเป็นทัพหน้าเดนตายจนถูกจับติดคุก ติดตะราง ตัวเองได้ดิบ-ได้ดี เป็นรัฐมนตรีไพร่สถุลบ้างได้กินบ้าน-กินเมืองกันอิ่มหมีพีมันบ้าง
    ก็ต้องแสดงบทบาทตบตาในเรื่องนิรโทษกรรมไปวันๆ ให้เห็น ซึ่งจริงๆ แล้ว "ยังหรอก" พวกชาวบ้านที่เขาหลอกมาติดคุกจะยังต้องติดคุกเพื่อทักษิณต่อไป 
    ต่อไป...จนกว่าทักษิณใช้อำนาจบริหารผ่านรัฐบาลน้องสาวหุ่นเชิด ควบคุมกระบวนการ ได้ทั้งบ้านทั้งเมือง ได้ทั้งเงินได้ทั้งความสยบยอมสวามิภักดิ์จากมวลหมู่ข้าราชการและองค์กรใต้อำนาจรัฐ!
   ถามว่า...ระยะเวลา"ตามแผน"ของเขาอีกนานไหม? 
    คำตอบคือ ต้องปิด "ดีลประเทศ" ภายในไตรมาส ๒ นี้ให้ได้ ซึ่งหมายความว่า "เรื่องสำคัญอันดับแรก" กฎหมายเงินกู้ ๒.๒ ล้านล้าน ต้องให้ได้อยู่ในกำมือ ก่อนปิดสมัยประชุมนิติบัญญัติ กลางเมษานี้ เพราะนี่คือ "ต้นน้ำ"ของการแปลงประเทศเป็นธุรกิจสัมปทานผูกขาด  ของกู.....!
   แล้วนางเอกท็อปโมเดลแสดงบทนี้ว่าไงก็อย่างนี้ไง....
    "คงต้องขออนุญาตเรียนคำตอบเดิมว่า เรื่องการออกพระราชบัญญัติเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งตอนนี้ทราบว่ามีหลายฉบับ คงต้องให้ทางวิปทั้ง ๓ ฝ่ายไปตกลงกันในรายละเอียดว่าจะอย่างไรต่อไป!"
    อืมมม...ความจำแม่นดีนี่ เขาให้ท่องไว้ตั้งนานก็ยังไม่ลืม แต่ขอถามหน่อย...ฝ่ายนิติบัญญัติที่ว่านั่น หน้าตามันเป็นยังไง มันแบบที่พี่ชายสไกป์ขู่ ใครหลังยาวคราวหน้าจะไม่ส่งลงเป็นเสาไฟฟ้าให้หมายกขาเยี่ยวรดใช่มั้ย แล้วมันคอตรงคอตั้งหรือคอหยักขออนุญาตเรียนคำตอบหน่อยซิเคอะ?
    ระหว่างฉายหนังรถไฟมหาสนุกหลอกให้ชาวบ้านเคลิ้ม เพื่อเคลมเอาเงิน ๒.๒ ล้านล้าน รัฐบาลก็ยังมีเรื่องรับจำนำข้าวเกวียนละ ๑๕,๐๐๐ เป็นออเดิร์ฟ ฤดูกาลจำนำที่แล้ว ร่วม ๕ แสนล้านหายวับไปกับตา แต่อ้างว่าขายจีทูจีได้เงินคืนธ.ก.ส.ไปราวๆ๖หมื่นล้าน
    นายบุญทรง ช่วยเปิดเผยประเทศคู่ค้า เปิดเผยจำนวน เปิดเผยราคา และเปิดเผยแอล/ซี ซิว่า เงิน ๖ หมื่นล้านมันเป็นเงินจีทูจีจากไหนราคาเท่าไหร่ซื้อขายกันกี่ตัน? 
    จำนำข้าวเปลือกรอบ ๒ ของปี ๒๕๕๖ มาอีกแล้ว เป็นข้าวนาปรัง เห็นบอกว่ามีประมาณ ๗ ล้านตัน ต้องใช้เงินหมุนเวียนอีกแสนกว่าล้าน ธ.ก.ส.จะเอาเงินที่ไหนมารับจำนำ คำตอบคือ ก็จะเงินของพ่อ-ของแม่ใครที่ไหนล่ะเงินประชาชนผ่านคำว่ารัฐบาล"กู้เอามาให้ธ.ก.ส."โดยกระทรวงคลังค้ำประกันนั่นแหละ
    เดือนก่อนบอกว่า คลังจะไม่ค้ำประกันเงินก้อนใหม่ให้ ธ.ก.ส.อีกแล้ว แล้วนี่...แมวหรือหมาที่ไหนกันล่ะ?
    นายบุญทรง รมว.พาณิชย์ลอยหน้าพูดวันก่อนว่า "ก็ไม่ได้บอกนี่ว่า รัฐบาลรับจำนำข้าวแล้วจะไม่ขายขาดทุน...."!?
    เอาก๊ะมันซี...ปีแรกซื้อมาร่วม ๕ แสนล้าน ขายได้เงินแค่ ๖ หมื่น แล้วปีที่สอง จะอีกกี่แสนล้าน ขี้เกียจจำตัวเลข ก็มันขาดทุนทับถมแบบไร้สาระ นอกจากคนกลุ่มหนึ่งพอใจในวันนี้ แต่ทั้งประเทศจะล่มจม กู้ไม่ฟื้นเหมือนอาร์เจนตินาในวันหน้ารวมทั้งชาวนาและเกษตรกรทั่วไปด้วย 
    ในเมื่อรัฐบาลใช้ "ราคาประชานิยม" ซื้อใจ-ซื้อคะแนน จนติดอก-ติดใจ เมื่อรัฐบาลนี้ฉิบหายตายจาก สังคมชาวไร่-ชาวนาก็จะอยู่กับความเป็นจริงตามระบบเป็นจริงไม่ได้! 
    เพราะไม่มีรัฐบาลไหนหรอก ถ้าซื่อสัตย์กับชาติบ้านเมืองและประชาชนแล้ว เขาจะบริหารแบบผลาญประเทศ ด้วยการเอาเงินภาษี+สร้างหนี้สะสมมาทำประชานิยม "มอมเมาชาวบ้าน" จนระบบสังคม ระบบธุรกิจการค้า ระบบตลาดระบบเงินออมระบบก่อร่างสร้างตัวระบบซื่อสัตย์-ขยันหมั่นเพียรต้องล่มสลายไปในที่สุด 
    การบริหารแบบทำลายระบบ ทำลายองค์กร ทำลายสังคม ทำลายคน ด้วยวิธีการ มอมเมา-แบ่งแยก-กัดเซาะ ก่อนครอบงำแล้วยึดครอง ว่าไปแล้ว มันเลวร้ายและน่ากลัวกว่าการล่าอาณานิคมของกลุ่มจักรวรรดินิยม และน่ากลัวกว่าระเบิดปรมาณูลงเสียอีก!
    เพราะแบบนั้น สูญสลายเพราะถูกทำลายแค่วัตถุ อันเป็นภายนอก แต่แบบมอมเมา-แบ่งแยก-กัดเซาะ มันจะทำลายด้วยละลายจิตวิญญาณอันเป็นภายใน 
   ชาติไม่สูญ-ประเทศไม่สูญ.....แต่ประชาแห่งความเป็นชาติสูญ!
    สูญซึ่งจิตวิญญาณอันเป็นฐานรวมเอกลักษณ์ชาติ มีแต่แบบนี้แหละ เป็นแบบล้างชาติที่สามารถ ถอนราก-ถอนโคน "ระบอบ-สถาบัน" ได้ โดยไม่ทันรู้ตัว หรือกว่าจะรู้ตัวก็สายเกินไป ในเมื่อจิตวิญญาณฐานรวม ถูกสลายด้วยสารเสพติดประชานิยมเป็นส่วนใหญ่ไปแล้ว 
    มันไม่ใช่การดายหญ้า แต่เป็นการ "ขุดหัว-ขุดราก" ที่ฝังในดินให้ "สิ้นเชื้องอก" กันเลยทีเดียว!
    ที่พูดนี่อาจไม่เห็นภาพ คำไทยมีอยู่ว่า "ถ้าไม่ถึงหาม ก็ไม่ไปโรงพยาบาล" หรือ "สัญชาติคางคก ยางหัวไม่ตกก็ไม่สำนึก" ระวัง....สังคมรากลอยในวันนี้ จะเป็นอย่างนี้ อาร์เจนตินาก็ดี กรีซก็ดี อยู่คนละขั้วโลกกับไทย ส่วนใหญ่หลับตาก็ไม่เห็นภาพ 
   เลยไม่รู้ฤทธิ์"ประเทศตายผ่อนส่ง"ด้วยพิษประชานิยมเป็นยังไง?
    ด้วยทรัพยากร-ความมั่งคั่ง-เครดิตที่สะสมเป็น "ต้นทุนประเทศ" มันมีมากพอให้อำนาจเลวใช้เป็น "ต้นทุนล้างผลาญประเทศ" ได้ โดยคนไร้สำนึกจะไม่รู้สึกตัวถึงหายนะนั้น เป็นเวลานานกว่า ๑๐-๒๐ ปี 
    ก็ขอให้ "คนไทยทุกคน" จงโชคดี มีสุขถ้วนหน้ากับ "อนาคตประชานิยม" เถิด
ข่าว 12 มี.ค.56
เมื่อวานนี้...มีการประชุมที่น่าสนใจอยู่ 2 ชุด 2 เวทีด้วยกัน ชุดแรกนั้น มีท่านรองประธานรัฐสภาจากพรรคเผาไทย นั่งหัวโต๊ะ ทำหน้าที่เจรจาหารือกับสมาชิกพรรคเผาไทยด้วยกัน รวมทั้งพรรคภูมิใจทาส ตลอดไปจนตัวแทนกองทัพ และพ่อค้า-แม่ค้าแถวสี่แยกราชประสงค์ ว่าจะหาทาง ปรองดอง หรือ ปูดอง กันยังไงดี เพื่อให้เกิดการนิรโทษกรรม การเลิกแล้วต่อกันและกัน สำหรับการเผาบ้าน-เผาเมือง เพื่อประชาธิปไตย เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ โดยที่ผู้ซึ่งได้รับการเชื้อเชิญ ให้เข้ามาร่วมการประชุมคราวนี้ อีก 6 กลุ่ม 6 ฝ่ายด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น พรรคฝ่ายค้านอย่างประชาธิปัตย์, พันธมิตรฯ, กลุ่มเสื้อหลากสี, กลุ่มเพื่อนเสธ.อ้าย, คณะกรรมการ คอป.ของอาจารย์ คณิต ณ นคร ตลอดไปจนญาติเจ้าหน้าที่ผู้เสียชีวิตอย่างคุณนิชาธุวธรรมไม่คิดจะร่วมด้วยช่วยกันซะดื้อๆ!!!
                  ---------------------------------------------
    ซึ่งผลการประชุม ก็คงเป็นไปตามที่ใครต่อใคร คาดเอาไว้ก่อนล่วงหน้า...คือออกมาในทาง แบบบ์บ์แห้งง์ง์ง์ ซะเป็นหลัก แม้ว่าจะเป็นการประชุมแบบคู่ขนาน ไปกับการเคลื่อนไหวของ ส.ส.พรรคเผาไทยกว่า 20-30 คน ซึ่งพยายามดิ้นรนเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาสมัยนี้ หลังจากที่ พ.ร.บ.ชนิดเดียวกัน ถูกทิ้งค้างเอาไว้ ไม่รู้กี่ฉบับ ต่อกี่ฉบับ แต่ก็อย่างว่านั่นแหละ...การปรองดองใดๆ ก็ตาม มันคงขยับขับเคลื่อนได้ยากซ์ซ์ซ์เอามากๆ ตราบใดที่ยังไม่ได้มีการ ตอบโจทย์ ว่าแล้วจะเอายังไงกับ นายใหญ่ กันดี การเคลื่อนไหวใดๆ ก็ตามในเรื่องนี้ จึงออกไปทาง ดราม่า ซะเป็นส่วนใหญ่ คือเพื่อให้บรรดานักโทษติดคุก ติดคดี ทั้งหลาย ได้มีโอกาสกินลม-กินแล้ง สลับกับการกินข้าวแดงไปวันๆ ส่วนผู้ที่ออกแรงเคลื่อนไหว หรือออกมาแสดงจินตลีลาประกอบเพลงในฉากนี้ หลังเสร็จสิ้นการแสดง จะลงไปรับช่อดอกไม้ จากมวลชนคนเสื้อแดง หรือจะปีนขึ้นไปรับตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์เป็นของอภินันทนาการจากนายใหญ่ อันนี้...คงขึ้นอยู่กับรสนิยมของใคร-ของมันที่จะต้องไปว่ากันเอาเอง...
                       ----------------------------------------------------
    แต่เอาเป็นว่า...พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับใหม่ของกว่า 20 ส.ส.พรรคเผาไทย สุดท้ายคงต้องเข้าสู่กระบวนการ ปูดอง เช่นเดียวกับฉบับอื่นๆ อีกต่อไปนั่นเอง คือคงต้อง ดอง ไปจนกว่าจะมีการตอบโจทย์เรื่อง นายใหญ่ ออกมาชัดๆ มองเห็นหนทางสำเร็จ ลุล่วง เห็นหนทางทะลุ ทะลวง ไปได้แบบตลอดรอดฝั่งเท่านั้น ทุกสิ่ง ทุกอย่าง จึงพอจะก้าวสู่ขั้นตอนปรองดองในแบบ ตายเป็นตาย พร้อมจะแตกหักกับใครก็ได้ เพื่อให้ นายใหญ่ เหลือรอด อันถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของการปรองดอง ซึ่งได้ถูกตระเตรียมเอาไว้ตั้งแต่แรก ส่วนถ้าหากหนทางที่ว่านี้ ยังมิอาจเป็นไปได้...สู้หันมาปรองดองในอีกรูป อีกแบบ น่าจะเข้าท่ากว่าเป็นไหนๆ นั่นก็คือการปรองดองในเรื่องเงินๆ ทองๆ อันส่งผลให้เกิดการเรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องทุกๆ ฝ่าย ในแบบเต็มรูป เต็มคณะ โดยมีนายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะ เพื่อร่วมกันเจรจา หารือ มอบอำนาจให้กับกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อเอามาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นจำนวนถึง 2 ล้านล้านบาท ผ่าน พ.ร.บ.ซึ่งจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาให้ทัน ภายในเดือนมีนาคมนี้...
                       -----------------------------------------------------------
    อันนี้นี่แหละ...ที่น่าจะถือเป็น เมนคอร์ส ส่วน พ.ร.บ.นิรโทษกง นิรโทษกรรม อะไรทั้งหลาย ไม่ว่าฉบับไหน ต่อฉบับไหนก็เถอะ ส่วนใหญ่มันก็แค่ น้ำจิ้ม ไปด้วยกันทั้งนั้น เพราะอย่างที่ว่าเอาไว้แล้วนั่นแหละว่า ถ้าหากมันยังไม่สามารถตอบโจทย์ นายใหญ่ ออกมาได้ชัดๆ ว่า ติดคุกหรือไม่ติดคุก สู้หันมาตอบโจทย์ในเรื่องเงินๆ ทองๆ...อย่างน้อยมันก็ยังพอเป็นประโยชน์กับวีรบุรุษประชาธิปไตย ของชาวเสื้อแดงทั้งหลาย ที่ต้องกิน ต้องอยู่ ต้องมีค่าใช้จ่าย ไม่ต่างไปจากนักประชาธิปไตยรายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมันเติมเครื่องบินส่วนตัว ค่าซื้อบ้าน ซื้อช่อง ที่ฮ่องกง ดูไบ แอฟริกา มอนเตเนโกร ฯลฯ ค่าใช้จ่ายในการทำเหมืองทอง เหมืองเพชร แถมยังต้องควัก ค่าน้ำเลี้ยง จ่ายแบบมือเป็นระวิงมาโดยตลอด นับเป็นทศวรรษๆ เข้าไปแล้ว การหันมาใช้เสียงข้างมากในสภา เพื่อออก พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท แทนที่จะเอาไปออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จึงเป็นอะไรที่น่าจะคุ้มค่า คุ้มราคา แถมยังไม่ เสียของ อีกต่างหาก เพราะถ้ามัวแต่ไปดิ้นรน ลงทุน ลงแรง ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซะก่อนหน้า ไปๆ-มาๆ มันอาจไม่มีสิทธิ์ออก พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน เอาเลยก็ได้ คืออาจจะตายตั้งแต่ยังไม่ทันได้แ-ก...อะไรทำนองนั้น...
                 -----------------------------------------------------------
    การหันมาทุ่มเท กับการออก พ.ร.บ.เงินกู้...ซึ่งไม่ต่างอะไรไปจาก การเซ็นเช็คเปล่า ให้กับกระทรวงการคลัง หรือรัฐบาลทั้งรัฐบาล เป็นจำนวนถึง 2 ล้านล้านบาท จะเอาไปใช้อะไรก็ได้ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรอง ตรวจสอบ โดยปกติของสภาพัฒน์ ของสำนักฯ งบประมาณ แค่ลากเอาตัวแทนของ 2 หน่วยงานที่ว่านี้ มานั่งเป็น เจว็ด อยู่ในคณะกรรมการ แล้วใช้อำนาจที่ได้รับจากสภา หรือจากพระราชบัญญัติ ไปทำอะไรก็ย่อมได้ อันนี้...รับรองว่า ย่อมมีโอกาสอิ่มหมี พีมัน กันไปโดยถ้วนหน้า สามารถแบ่งกันกิน-แบ่งกันใช้ ตามแนวทาง ประชาธิปไตยที่กินได้ ไปอีกเป็นปีๆ ชาติๆ มีเรี่ยว มีแรง มีช่อง มีโอกาส ขึ้นมาเมื่อไหร่ ค่อยหันมา ปรองดอง ในแบบใครยอมข้าอยู่...ใครขวางข้าตายอันเป็นกรรมวิธีที่ถูกใช้มาโดยตลอดนั่นเอง...
           --------------------------------------------------------------
    ส่วนประเทศชาตินั้น...คงไม่ต้องไปเสียเวลาสนใจ ให้ต้องปวดเศียร เวียนเกล้า โดยใช่เหตุ โดยเฉพาะสำหรับนักประชาธิปไตย ที่ชอบเอาสมองถอดเก็บแช่ตู้เย็นไว้ที่บ้าน จนสามารถเผาบ้าน-เผาเมือง เพื่อประชาธิป
ไตยก็ยังได้ แม้ว่าตัวเลขหนี้สาธารณะ ในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา จะเพิ่มแบบพรวดๆ พราดๆ รวมจำนวนหนี้ที่รัฐบาลเป็นผู้ก่อโดยตรง หนี้รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นๆ พุ่งขึ้นไปถึงกว่า 5 ล้านๆ บาทเข้าไปแล้ว หรือคิดเป็น 44.6 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ตามคำแถลงของผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) วันวาน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นกว่า 7 หมื่น เกือบ 8 หมื่นล้านบาท อันนั้น...คงต้องปล่อยให้เป็น เรื่อง...ของมึง ที่จะไปว่ากันเอาเอง เพราะโดยวิถีทางประชาธิปไตยที่กินได้ หรือประชาธิปไตยแบบมึงมั่ง-กูมั่งทุกสิ่งทุกอย่างย่อมต้องเป็นไปเช่นนี้ย่อมเป็นเช่นนั้นเองหรือย่อมเป็นพรรค์นั้นแหละ...
             ---------------------------------------------------------------
ร้อนๆ ยังงี้...อันที่จริงน่าจะหาอะไรเย็นๆ มาราดหัว ราดหำ ให้ผู้คนเค้าพอได้สบายอก สบายใจ ขึ้นมามั่ง แต่ทั้งๆ ที่เพิ่งแพ้คาบ้าน คา กทม.ไปหมาดๆ ดูเหมือนว่าโดยลักษณะอาการของรัฐบาล ท่านออกจะเร่าร้อน เร่งร้อน พยายามหันไปสรรหาอะไร ต่อมิอะไร ก็ไม่รู้ ที่มันมักจะสร้างความเปรี้ยวจี๊ดด์ด์ด์ ให้ผุดขึ้นมา ตั้งแต่บริเวณหลังฝ่าเท้าไปยันถึงหัวสมองของผู้คนชนิดแทบไม่คิดเว้นว่างเอาเลยทีเดียวเจียว...
               -------------------------------------------
    ไล่มาตั้งแต่ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ไม่ว่าจะเป็นการหลอกแหลก หลอกรับประทาน กันเองก็เถอะ ไปจนถึง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามขุดช่อง หลบเลี่ยง ระบบการตรวจสอบ ถ่วงดุล แบบหน้าด้านๆ แถมล่าสุด รองนายกฯ ฝ่ายชิมไวน์ ยังหันมาจุดประเด็นเรื่องร้อนๆ เพิ่มขึ้นมาอีกดอก คือทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไร กับคณะกรรมการเลือกตั้ง หรือ กกต. เอาเลยแม้แต่น้อย เป็นแค่ ดกร. (ดอกเตอร์ทางกฎหมายจากรามคำแหง) เท่านั้นเอง แต่ออกมาฟันธงชนิดธงขาดเป็นผืนๆ ว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ของพรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม อย่างคุณชาย สุขุมพันธุ์ นั้น ถ้าหากไม่ได้ใบเหลือง อาจต้องเจอถึงขั้นใบแดง การควักเอา เสาไฟฟ้า จูดี้ กลับมาปัดฝุ่น ล้างน้ำ ส่งเข้าชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.รอบใหม่ ในแบบไม่ได้ด้วยเล่ห์ ก็เอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยมนต์ ก็เอาด้วยคาถา จึงแทบไม่ต่างไปจากความพยายามเหยียบหน้าชาว กทม.นับล้าน หลังจากที่เคยพยายามใช้กลไกต่างๆ เหยียบหน้าฝ่ายตรงข้ามมา คราวแล้ว คราวเล่า...
               ------------------------------------------
    ความร้อนของอุณหภูมิอากาศ กับความร้อนของอุณหภูมิทางการเมือง มันจึงผสมปนเป ชนิดแทบจะกลายเป็นคนละเรื่องเดียวกันไปแล้ว ทั้งๆ ที่คำพยากรณ์ว่าด้วยนางสงกรานต์ปีนี้ ได้ย้ำนัก ย้ำหนา เอาไว้แต่แรก ถึงภาวะความเป็นไปของเหตุการณ์บ้านเมือง ในช่วงสมัยของนาง มโหทรเทวี ไว้อย่างชัดเจนว่า จะฉิบหายเป็นอันมาก...แล แต่ดูเหมือนว่า...ผู้คนในรัฐบาล ท่านออกจะไม่ได้เกิดความตระหนัก สำนึก อะไรมากมายนัก ไม่ว่าตั้งแต่ระดับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรค หรือคณะกรรมการโปลิตบูโรของคนเสื้อแดง แม้กระทั่งสิ่งที่เรียกว่ายุทธศาสตร์ขั้นยัน หรือการยันกันไป ยันกันมา ระหว่างไพร่กับอำมาตย์ ชนิดที่ยังไม่มีใครแพ้ ใครชนะ โดยเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด นับวันมันชักจะพัฒนากลายเป็น ยุทธศาสตร์ขั้นถีบ ไปแล้ว คือเปลี่ยนจากการยัน กลายเป็นการถีบกันไป ถีบกันมา ไม่ใช่แต่เฉพาะระหว่างไพร่กับอำมาตย์เท่านั้น แต่กระทั่งไพร่ด้วยกันเอง ยังหันมาถีบกันเอง หรือไพร่ที่แปลงสภาพกลายไปเป็นอำมาตย์ หันมาถีบไพร่กระจอกๆ แบบเละคาตีน รายแล้ว รายเล่า...
       ------------------------------------------------
    แม้แต่อำมาตย์ไพร่ด้วยกันเองก็เถอะ...ใกล้ถึงคิวปรับคณะรัฐมนตรีคราวนี้ หลายต่อ หลายราย โดนตีนของพวกเดียวกันเอง ยันก้น ยันหลัง ชนิดหัวทิ่ม หัวตำ เซแซดๆ ชนิดหาทางกลับบ้านไม่เจอ จำบ้านเลขที่ไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะกลับไปนอนค้างที่วังจันทร์ส่องหล้า หรือที่ดูไบ หรือต้องไปเช็กอินขอค้างคืนชั่วคราว ณ โรงแรมโฟร์ซีซั่นกันดี อาทิรัฐมนตรี แมว กับรัฐมนตรี สันติ เป็นต้น ที่ข่าวล่า มาเรือ แจ้งว่า รอยเท้าซึ่งประทับอยู่กลางหลังเสื้อสูทนั้นดันเป็นรอยรองเท้าส้นสูงซะอีกต่างหากส่วนรัฐมนตรี 
เดอะโต้ง ที่เกาะชายกระโปรง เอาไว้ซะแน่นน์น์น์ แต่การถูกถีบ หรือการลาออก จากผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทยนั้น มันคล้ายๆ จะเป็น ลางสังหรณ์ ยังไงก็ไม่รู้ กระทั่งรัฐมนตรี อนุดิษฐ์ ที่ชอบบินเหนือเสียง เงียบ
กริ๊บบ์บ์ๆ กรึ๊บบ์บ์ๆ มาโดยตลอดก็เถอะ แนวโน้มที่จะมีเวลาได้พักผ่อน ได้ทำบุญสุนทาน มีโอกาสสร้างกุศล ด้วยการร่วมปั้นเทวรูป พระพุทธเจ้าน้อย ขึ้นมาประดิษฐาน ณ ตำบลกุฉินารา ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เอาเสียเลย...
            ----------------------------------------------------
    ส่วนว่าที่รัฐมนตรีตลอดกาล อย่างคุณน้อง จตุพร นั้น จะไปคิดประมาทคงไม่ได้อีกเช่นกัน แม้จะพลาดตำแหน่งแห่งที่ คราวแล้ว คราวเล่า กระทั่งล่าสุดแค่ตำแหน่งรองผู้ว่าฯ ฝ่ายระบายน้ำ (ลาย) ยังคว้าติดมือแทบมิได้ อย่างไรก็ตาม...ถ้าเป็นคางคกธรรมดานั้น คงต้องว่าไปอย่าง แต่สำหรับคางคกอย่างคุณน้อง จตุพร แล้ว ขนาดคางคกพิษแห่งแอฟริกายังต้องเรียกพี่ เรียกเฮีย โดยไม่กระดากปาก ในเมื่อต้องหลุดแล้ว หลุดอีก ถูกถีบ ถูกกระทำจากฝ่ายเดียวกันเองมาโดยตลอด ย่อมต้องเกิดแรงกระตุ้น แรงปรารถนา ในอันที่อยากจะเปลี่ยนความ โชว์ห่วย ของตัวเอง ให้กลายเป็นความ โชว์สวย อย่างใครๆ เค้าบ้างเช่นกัน ถ้าวัดจากจำนวนปริมาณของ 20 ส.ส. ที่กล้าลุกขึ้นมาสวนควันปืนของวิปรัฐบาล ในเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็คงต้องยอมรับว่า...ถึงไม่มากก็ไม่น้อย โอกาสที่จะส่งแรงถีบ ให้เกิดอาการกระเด็น กระดอน ไปทั่วทั้งพรรคนั้น ขึ้นอยู่กับจังหวะและโอกาสเท่านั้นเอง...
            -----------------------------------------------------
    โดยสรุปรวมความแล้ว...จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกสิ่ง ทุกอย่าง มันมีแต่ร้อนขึ้นๆ และแม้แต่ผู้ที่เคยคุ้นชินกับอากาศร้อนๆ เคยร่อนเร่พเนจรอยู่ในทะเลทรายดูไบ ทะเลทรายกาตาร์ และซาอุดีอาระเบีย มาเกือบ 4 ปี 5 ปี เข้าไปแล้ว อย่างเช่น นายใหญ่ เป็นต้น แต่การจะนำเอาประสบการณ์ความร้อนในทะเลทรายดูไบ มาใช้บริหารจัดการความร้อนทางการเมืองในประเทศไทยนั้น มันย่อมต้องเป็นคนละเรื่อง คนละม้วน อยู่แล้วแน่ๆ โดยเฉพาะในเมื่อผู้ที่ตัวเองจะต้องบริหารจัดการอยู่ในทุกวันนี้ คงไม่ใช่พวกอำมาตย์อีกต่อไปแล้วที่เป็นตัวปัญหา เพราะไม่ว่าอำมาตย์แบบไหน ลักษณะไหน แต่ภายใต้ เส้นทางอำนาจ ยังไงๆ คงพอพูดคุยกันรู้เรื่องได้บ้าง แต่ไอ้ที่กำลังเป็นปัญหาหนักขึ้นเรื่อยๆ กลับเป็นพวกเดียวกันเองซะเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นไพร่แท้ๆ ไพร่ที่กำลังปรับสภาพให้กลายเป็นอำมาตย์ หรือไพร่ที่กลายเป็นอำมาตย์ไปแล้ว ชนิดสมบูรณ์แบบ ฯลฯ ไอ้ประเภทนี้นี่แหละ ถ้าหากไม่ได้น้ำเลี้ยง น้ำเย็น ราดหัว ราดหำ ขึ้นมาเมื่อไหร่ นายใหญ่ก็นายใหญ่...มีสิทธิ์กลายเป็นนายห้างขายยาตราใบห่อได้ไม่ยากซ์ซ์ซ์ แล้วขณะที่ดุลบัญชีเงินสด เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ดันติดลบไปเป็นหมื่นๆ ล้านซะอีกต่างหาก ถ้าหากไม่คิดจะหาเงินมาโปะให้ทันท่วงที โอกาสที่น้ำเลี้ยงจะเหือดแห้ง เหือดหาย ต้องตายซากอยู่กลางทะเลทราย ย่อมเป็นไปได้สูงเอามากๆ ด้วยเหตุนี้...จึงเลี่ยงไม่พ้นต้องโยนความร้อนไปให้แก่บรรดาราษฎรทั้งหลาย แบกรับกันแทนที่ การกู้หนี้ระดับ 2 ล้านล้านบาท โดยไม่ผ่านบัญชีงบประมาณจึงอุบัติขึ้นมาด้วยประการฉะนี้...แล!!!
                   -------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น