วันอังคารที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2556

ขู่อาญาแก้รธน. แนะปชป.ชงกม.เมื่อ 26 มี.ค.56



ขู่อาญาแก้รธน. แนะปชป.ชงกม.


วงเสวนานิรโทษกรรมธรรมศาสตร์ "กิตติศักดิ์" แนะใช้โมเดลมีวงจำกัด ให้ผู้ขอต้องสารภาพเหตุทำความผิด และให้คำมั่นจะไม่ทำอีกแล้ว "โคทม" จวก ปชป.เอาแต่ตั้งแง่เล่นการเมือง แนะให้ความร่วมมือเสนอ กม.ประกบ วิปรัฐบาลยันดัน กม.นิรโทษฯ ไม่ทันประชุมสภาสมัยนี้ กลุ่ม 40 ส.ว.ขู่ไม่เลิก พท.-ส.ว. สมคบคิดแก้ รธน.เพื่อประโยชน์ตัวเอง อาจติดร่างแหโดนคดีอาญาถึงชั้นศาลฎีกาฯ 
    นายอำนวย คลังผา ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล กล่าวว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยประชุมนี้ เหลือเวลาอีก 2 สัปดาห์เศษ ก็จะปิดสมัยประชุมสภา จะต้องพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท และสัปดาห์ถัดไปจะต้องพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เสนอโดย ส.ส.และ ส.ว. ที่มีการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม จึงไม่ทัน นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ที่เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมก่อนหน้านี้ก็ยังขอใช้เวลาทำความเข้าใจกับ ส.ส. ก่อน
     วันเดียวกัน ที่ห้องจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการเสวนาในหัวข้อเรื่อง "แนวทางการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน และการสร้างบรรทัดฐานทางการเมือง” 
    นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การออกกฎหมายนิรโทษกรรม ภาคประชาชนควรจะเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานทางการเมือง เพราะที่ผ่านมาจากประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางการเมืองไทย ไม่เคยมีการนิรโทษกรรมที่เป็นบรรทัดฐานได้เลย การจะทำนิรโทษกรรมมองว่าไม่ได้หมายถึงจะนำไปสู่ความปรองดองภายในสังคมได้ แต่ต้องอยู่กับความรับผิดชอบของรัฐบาล ที่จะนำไปสู่การปรองดอง แต่เป็นแค่การแก้ปัญหาเบื้องต้นที่มีความสำคัญ เพราะต้องยอมรับว่าขณะนี้บรรดาแกนนำต่างได้รับอานิสงส์ให้ไปอยู่ในตำแหน่งดีๆ แต่ประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมกลับต้องติดคุกอยู่ในเรือนจำ โดยส่วนตัวคิดว่าแนวทางการออกกฎหมายนิรโทษกรรมต้องอยู่ภายใต้ความเชื่อมั่นและความเชื่อใจ ไม่เช่นนั้นจะมีหลายฝ่ายจะออกมาหวาดระแวงแบบเดิม ว่ากฎหมายออกมาเพื่อช่วยเหลือใครหรือไม่ ต้องมีการวางเป้าหมายของการนิรโทษกรรมให้ชัดเจน ภายใต้ข้อแม้ที่สถานการณ์สุกงอม ซึ่งประชาชนต้องตาสว่างหลังจากได้เห็นผลกระทบ ทั้งจากคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดง เพื่อทำให้เกิดกระบวนการการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อกำหนดรูปแบบการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ที่ไม่ใช่แค่ให้กลุ่ม ส.ส.มาร่วมกันเขียนและออกกฎหมายนิรโทษกรรมเท่านั้น 
    "กระบวนการที่สำคัญในการออกกฎหมายนิรโทษกรรม คือการค้นหาความจริง โดยต้องยอมรับว่าขณะนี้เรายังขาดสิทธิที่จะได้รับรู้ความจริง เช่น ชายชุดดำคือใคร ใครเป็นฆ่าผู้ชุมนุมเสื้อแดง ใครเป็นคนฆ่า พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ใครเป็นคนฆ่า พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง หรือใครเป็นคนฆ่า 6 ศพวัดปทุมวนารามฯ กรมสอบสวนคดีพิเศษไม่ได้เอาความจริงมาพูดรายละเอียดที่ชัดเจนต่อสาธารณชน หากมีการพูดความจริงกันแล้ว และรู้ตัวผู้ที่ต้องรับผิดชอบ ก็นำคนผิดมาลงโทษต่อไป ตรงนี้เพื่อให้สังคมได้รับรู้ แต่จะให้อภัยกันหรือนิรโทษฯ กันหรือไม่ ก็ให้สังคมเป็นผู้ตัดสิน ไม่ใช่ให้อภัยกันจากพวกเพื่อนๆ นักการเมืองด้วยกันเอง ส่วนการเยียวยาผู้เสียหาย ไม่ใช่แค่คิดว่าเอาเงินมาอุดปากเท่านั้นแล้วเรื่องจะจบ" นายนิรันดร์กล่าว
    นายกิตติศักดิ์ ปรกติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เราสามารถแสวงหาแนวทางการนิรโทษกรรมได้ดังนี้ 1.เปิดให้มีการนิรโทษกรรมแบบไม่มีข้อจำกัด หรือแบบเหวี่ยงแห บุคคลใดทำอะไรผิดก็ไม่ต้องรับผิดชอบ และได้รับการนิรโทษกรรมทั้งหมด แต่เชื่อว่าหากมีการนิรโทษกรรมในรูปแบบนี้ จะมีผู้คัดค้านเป็นจำนวนมาก 2.นิรโทษกรรมแบบจำกัด หรือมีเงื่อนไข โดยกำหนดผู้ที่จะได้รับการนิรโทษกรรมแบบจำกัด 3.ดำเนินคดีอย่างเคร่งครัด หาตัวผู้กระทำความผิดและลงโทษอย่างต่อเนื่อง อย่างกรณีอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ที่ทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ตรงนี้จะเป็นวิธีการบังคับใช้กฎหมายที่เคร่งครัดที่สุด
    "ส่วนตัวคิดว่าแนวทางที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในไทยคือ รูปแบบที่ 2 นิรโทษกรรมแบบจำกัดวงมาใช้ โดยจะใช้กับผู้ที่ร้องขอให้ได้รับนิรโทษกรรม ซึ่งจะมีขั้นตอนต่างๆ เริ่มต้นจากการร้องขอนิรโทษกรรม แสดงหลักฐานว่าทำอะไรผิด หรือสงสัยว่าจะกระทำผิดต่อคณะกรรมการที่มีการตั้งขึ้นมา และผู้ที่ร้องขอต้องมีการกล่าวยอมรับผิดชอบ พร้อมกับให้คำมั่นว่าจะไม่ทำผิดซ้ำ โดยผู้ร้องขอต้องสารภาพผิดว่าได้กระทำไปเพราะมีมูลเหตุจูงใจที่มีคุณค่าที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองหรือไม่ เช่น ทำไปเพื่อแสดงสิทธิเสรีภาพ หรือทำไปเพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งนี้ ผู้รับผิดต้องยอมให้มีการเปิดเผยคำให้การต่อสาธารณชนได้ แต่หากพบว่ามีการให้การเท็จ หรือจงใจให้การเท็จ ทางอัยการสามารถร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนการนิรโทษกรรมนั้นๆ ย้อนหลังได้ 
    นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม กล่าวว่า หากเราเข้าสู่ช่วงเวลาที่พร้อมแล้ว ก็เห็นว่าควรจะมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ผู้เข้าร่วมชุมนุม โดยเป็นการนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข เพื่อให้เกิดการยอมรับผิดขึ้นมาเสียก่อน ที่ก่อให้เกิดความปรองดองตามขึ้นมา ทั้งนี้ เมื่อสังคมและการเมืองมีความพร้อมแล้ว จะมีการดำเนินการให้มีการนิรโทษกรรมแบบไม่จำกัด ส่วนการดำเนินการทางยุติธรรม จะต้องนำตัวผู้สั่งการและหัวหน้าตัวผู้ก่อเหตุให้ได้ แต่ขณะนี้ในความเป็นจริง แม้จะมีการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมมากี่ฉบับ จะเห็นว่าฝ่ายค้านก็ออกมาคัดค้านเสมอ โดยมองว่าการออกกฎหมายนิรโทษกรรมจะมีผลประโยชน์ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ฉะนั้นอยากเรียกร้องให้ฝ่ายค้านเลิกเล่นเกม หากยังหวาดระแวงก็ให้เขียนกฎหมายนิรโทษกรรมขึ้นมาเองเลย เพื่อให้สังคมได้เดินหน้าต่อไปเสียที
เตือนเลิกทำตัวเป็นทายาท คมช.
    ด้านความเคลื่อนไหวการเตรียมพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีการยื่นไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
    นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวถึงกรณีที่พรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ว.เลือกตั้ง เตรียมเสนอแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราว่า เป้าหมายหลักคือต้องการแก้มาตรา 237 พ่วง 68 คือให้ยกเลิกการตัดสิทธิ์คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นเวลา 5 ปี และสิทธิ์การยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่กระทำโดยตรงไม่ได้ ต้องผ่านอัยการสูงสุดพิจารณาเท่านั้น และมาตรา 111-118 และ 120 โดยให้มี ส.ว.เลือกตั้ง 200 คน และสามารถลงสมัครรับเลือกติดต่อกันได้ โดยจะไม่มี ส.ว.สรรหา ซึ่งเป็นการแก้ไขที่ขัดกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลที่ประชาชนสามารถจะดำเนินการต่อภาครัฐได้ และยังเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 122 ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดกันซึ่งผลประโยชน์ นอกจากนี้ ยังทราบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยังได้สไกป์เข้ามาที่พรรคเพื่อไทย เพื่อต้องการแก้ไขและสั่งการให้สมาชิกพรรคเพื่อไทยแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเห็นชัดว่าเป็นการกระทำที่ขัดกับมาตรา 68 ที่ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นหากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว รัฐสภาได้รับหลักการในวาระแรก ทางกลุ่ม 40 ส.ว.และประชาชนก็จะทำการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามช่องทางตามมาตรา 68 ต่อไป
    "การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ แตกต่างตอนแก้ไขมาตรา 291 ที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถลงอาญาได้ เพราะขณะนั้นทางพรรครัฐบาลอ้างว่ายังไม่ได้บอกว่าจะมีการแก้ไขในเรื่องใด แต่ครั้งนี้ชัดเจนแล้ว ดังนั้นหากศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดการกระทำ ก็จะไม่กระทบไปถึงคดีทางอาญา มั่นใจว่าจะมีประชาชนไปร้องสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ตามช่องทางมาตรา 275 ในข้อหากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ในความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และหาก ป.ป.ช.ตรวจสอบและชี้มูลความผิด ส.ส.และ ส.ว.ที่ลงมติเห็นชอบหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. มาตรา 55 และส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นผู้ตัดสินต่อไป" นายไพบูลย์กล่าว 
    นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีกลุ่ม 40 ส.ว.ขู่ว่าจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราครั้งนี้ว่า หวังว่าคงจะไม่ใช้แนวทางนั้น เพราะศาลรัฐธรรมนูญระบุชัดเจนว่าการแก้ไขรายมาตราสามารถกระทำได้ ไม่อยากให้กลุ่ม 40 ส.ว.ถูกมองว่าเป็นปราการด่านสุดท้ายและทายาทของฝ่าย คมช.ที่ขัดขวางทุกความพยายามที่จะทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย
แห่พบนายใหญ่ที่ฮ่องกง 
    นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย และรองประธานวิปรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวส.ส.และรัฐมนตรีเพื่อไทยหลายคนเดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ฮ่องกง ว่าได้ยินข่าวว่ามีคนเดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณจริง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรัฐมนตรี แต่คงไม่ใช่ไปหารือเรื่องปรับ ครม. เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณพูดแล้วว่าจะยังไม่มีการปรับ ครม.ในส่วนของพรรค น่าจะไปหารือซักซ้อมความเข้าใจงานสภา เนื่องจากในเร็ววันนี้จะมีการอภิปราย พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 
    นายไพจิตกล่าวถึงกรณีนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ออกมาให้สัมภาษณ์หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของกลุ่ม ส.ส.และ ส.ว.เลือกตั้ง ที่ยื่นไป 3 ร่าง ขอแก้ไข 4 ประเด็น ผ่านการพิจารณาในวาระ 3 ในช่วงเดือน ส.ค.ไปแล้ว พรรคเพื่อไทยอาจยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมเข้าไปอีก โดยขอให้แก้ไขที่มาของ ส.ส.ให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม มี ส.ส.เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ว่าเป็นความเห็นส่วนตัวของสมาชิกพรรค ในพรรคยังไม่ได้มีการหารือกันอย่างตกผลึก ส่วนตัวมองว่าหากแก้ไขแบบนั้นก็เป็นเรื่องดี.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น