วันอังคารที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2556

กู้ชาตินี้ใช้ชาติหน้า สว.ตั้งฉายาร่างพรบ.2ล้านล./40ขุนพลปชป.รอสับ เมื่อ 26 มี.ค.56


กู้ชาตินี้ใช้ชาติหน้า สว.ตั้งฉายาร่างพรบ.2ล้านล./40ขุนพลปชป.รอสับ



ชิมลางอภิปรายโคตรเงินกู้ "ปู" ลงทุนเขียนเฟซบุ๊กยกสารพัดเหตุผล เรียงหน้าแจงไม่กลัวยื่น "ป.ป.ช.-ศาล รธน." ทำมึนเรื่องประชามติ อ้างพรรคถูกเลือกมาแล้วเพราะกล้าคิดนอกกรอบ สั่งห้ามอภิปรายแตะนายใหญ่ "มาร์ค" ซัดเอกสารประกอบไร้สถานะทางกฎหมาย เผย 40 ขุนพล ปชป.รอสับ กรณ์อัดซ้ำสร้างหนี้ท่วม 5.16 ล้านล้านบาท "คำนูณ" ตั้งฉายาร่าง พ.ร.บ.กู้ชาตินี้ใช้ชาติหน้า ย้ำล้มล้าง กม.บริหารหนี้ยุคพี่ชาย "ออมสิน" แคะเงินเด็กรอประเคน
    ในวันจันทร์ รัฐบาลและฝ่ายค้านได้ชิมลางอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ.... วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 28-29 มี.ค.นี้ อย่างถ้วนหน้า โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กและผ่านเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลถึงเรื่องดังกล่าวว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับภูมิภาค ทั้งประเทศเพื่อนบ้านและอาเซียน
    โดยแนวคิดคือ 1.สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งขาดการลงทุนโครงการใหญ่มานาน  2.เชื่อมโยงและเชื่อมต่อเพื่อนบ้าน เพื่อไทยเป็นศูนย์กลางยุทธศาสตร์อาเซียน และเป็นฐานเชื่อมประชากร 600 ล้านคน รวมถึงใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนสู่อาเซียน 3.เชื่อมเส้นทาง บก น้ำ เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง รวมถึงร่นระยะเวลาเดินทาง ลดต้นทุนในการสูญเสีย 4.เชื่อมสถานที่ท่องเที่ยว 5.เพิ่มทางเลือกเชื่อมเส้นทางโดยสาร ลดความแออัดให้คนกรุง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทำให้เมืองชนบทเจริญขึ้น และ 6.ตัวเลขเศรษฐกิจที่เป็นผลลัพธ์ที่เห็นเป็นรูปธรรมได้จากค่าขนส่งที่ลดลง 2% ในช่วงการลงทุน จีดีพีเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 1% ต่อปี และการจ้างงานประมาณ 500,000 อัตรา 
    ในขณะที่นายอำนวย คลังผา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย (พท.) และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวหลังการประชุมวิปรัฐบาลว่า ที่ประชุมได้เชิญนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม, นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง และตัวแทนสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ มาชี้แจงให้ทราบถึงรายละเอียด พ.ร.บ. ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นด้วยที่รัฐบาลจะออกกฎหมายดังกล่าว เพราะเป็นประโยชน์ต่อโครงการก่อสร้างพื้นฐานของประเทศ ไม่กระทบต่อหนี้สาธารณะ และไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่วนกรอบเวลาอภิปรายนั้น เบื้องต้นพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์จะได้ฝ่ายละ 10 ชั่วโมง รัฐบาล 5 ชั่วโมง และสุดท้ายเชื่อว่าที่ประชุมสภาจะเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวนำไปสู่การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ
    “อยากให้ฝ่ายค้านตรวจสอบด้วยเหตุผล สมมติหากบริษัทหนึ่งมีการลงทุน ไม่กู้บริษัทจะเติบโตได้อย่างไร ประเทศเราก็เหมือนกัน หากช้าไปอีก 10 ปี อาจใช้ถึง 6 ล้านล้านบาท หรือ 7 ล้านล้านบาทก็ได้” นายอำนวยกล่าว
    ส่วนมาตรการเฉพาะหน้าป้องกันสภาล่มที่เกิดขึ้นมาแล้ว 2 ครั้งก่อนหน้านี้นั้น นายอำนวยกล่าวว่า เมื่อถึงเวลาที่ลงมติ ประธานที่ประชุมต้องกดออดนานอย่างน้อย 10 นาที เพื่อให้สมาชิกที่อยู่ในบริเวณสภามีเวลาเดินเข้าห้องประชุมเพื่อร่วมลงมติ
    มีรายงานจากพรรคเพื่อไทยว่า หลังจากที่ประชุมสภาล่ม 2 ครั้งติด ในขณะที่มีกฎหมายสำคัญคือ ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สั่งให้แกนนำพรรคตรวจสอบรายชื่อ ส.ส.พรรคที่โดดประชุมทั้ง 2 ครั้ง เพื่อมีมาตรการเฉียบขาดต่อไป เช่น อาจตัดเงินเดือน และไม่ให้ลงสมัคร ส.ส.ครั้งต่อไปแล้ว
ไม่กลัวถูกยื่นศาลตีความ
    นายชัชชาติกล่าวว่า ได้อธิบายถึงการใช้เงินและจ่ายหนี้ ซึ่งต้องเดินหน้าต่อไป อย่าให้ความกลัวว่ารัฐบาลจะโกงมาหยุดแนวทางพัฒนาประเทศ โดยนายกฯ และรัฐบาลพร้อมชี้แจง รวมทั้งพร้อมให้ตรวจสอบหากมีการร้องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลรัฐธรรมนูญ 
    นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงกรณีฝ่ายค้านจะยื่นร่าง พ.ร.บ.คู่ขนานกับร่างพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ว่าก็ยื่นได้ แต่ถ้าเป็นร่างเกี่ยวกับการเงินก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญคือ รัฐบาลต้องให้ความเห็นชอบก่อน และไม่เป็นห่วง เพราะที่ผ่านมาก็เปิดเผยมาโดยตลอด 
    วันเดียวกัน ที่พรรคเพื่อไทยได้ประชุมทีม ส.ส.ที่จะอภิปรายสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท โดยได้เชิญนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.การคลัง และนายชัชชาติ มาให้ข้อมูล
    นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ที่ประชุมประเมินว่าฝ่ายค้านจะอภิปรายโจมตีเรื่องความไม่โปร่งใส การหมกเม็ดผลประโยชน์ รวมถึงเป็นการก่อหนี้ แต่ไม่หนักใจและมั่นใจว่าชี้แจงได้ ส่วนที่ฝ่ายค้านจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้น ตัวแทนกระทรวงการคลังยืนยันว่า โครงการไม่ขัดรัฐธรรมนูญแน่นอน และนายชัชชาติชี้แจงว่า ไม่หนักใจ เพราะถ้าไม่ทำวันนี้ ต้นทุนโครงการจะยิ่งสูงขึ้น
    พ.ต.อณันย์ วัชโรทัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวเช่นกันว่า รัฐบาลได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ และได้สอบถามกฤษฎีกาแล้วว่าดำเนินการได้ ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย หากใครยื่นให้ศาลตีความก็มั่นใจว่าชี้แจงได้
    นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เผยว่า ในการประชุมพรรควันที่ 26 มี.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเข้าร่วม เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน และนายกฯ จะชี้แจงและทำความเข้าใจกับ ส.ส. และในการประชุมสภาก็ไม่จำเป็นต้องตั้งวอร์รูม หรือองครักษ์พิทักษ์นายกฯ แต่อย่างใด เพราะนายกฯ และรัฐบาลสามารถตอบคำถามได้
ห้ามพาดพิงนายใหญ่
    “ขอให้พรรคประชาธิปัตย์อย่าพูดพาดพิงไปถึงบุคคลอื่นที่ไม่สามารถใช้สิทธิ์ชี้แจงได้ โดยเฉพาะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ” นายจารุพงศ์กล่าว
    ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ยืนยันว่า เอกสารรายละเอียดประกอบร่าง พ.ร.บ.เงินกู้จำนวน 268 หน้า จะเสร็จสิ้นก่อนสภาพิจารณาวาระ 1 แน่นอน และยืนยันว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงเส้นทางโครงการตามที่ฝ่ายค้านกล่าวหา รวมถึงเส้นทางสายรอง เพราะโครงการจะทำเฉพาะเส้นทางสายหลัก ส่วนสายรองจะใช้งบประมาณประจำปี
    “ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเห็นด้วยกับโครงการนี้ ส่วนเรื่องทำประชามตินั้น เมื่อประชาชนได้ให้ความเชื่อมั่นพรรคเพื่อไทยเข้ามาบริหารประเทศให้เจริญก้าวหน้า และมองว่าสิ่งที่พรรคแตกต่างจากพรรคการเมืองอื่น คือกล้าคิดนอกกรอบ แต่ยังคงไว้ซึ่งความสุจริตตรวจสอบได้ด้วย” ร.ท.หญิงสุณิสากล่าวในเรื่องข้อเสนอการประชามติกู้เงิน
    นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานกลุ่มกรีน ระบุว่า พ.ร.บ.ส่อเจตนาไม่บริสุทธิ์เป็นรัฐประหารทางการเงินว่า ไม่จริง และไม่มีใบสั่งจาก พ.ต.ท.ทักษิณ นายสุริยะใสทำงานการเมืองตรงข้ามรัฐบาลมาโดยตลอด ทำไมไม่ไปตรวจสอบโครงการไทยเข้มแข็งสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ บ้าง ถ้าไม่เลือกปฏิบัติ
    สำหรับความเห็นของพรรคฝ่ายค้านนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยพยายามทำให้เกิดความไขว้เขวว่า การกู้เงินครั้งนี้เหมือนการกู้เงินครั้งก่อนๆ ทั้งที่เงื่อนไขคนละเรื่อง และที่สำคัญสามารถใช้ระบบงบประมาณปกติได้ แต่กลับพยายามออกกฎหมายให้อำนาจกู้เงินรวดเดียว 2 ล้านล้านบาท ซึ่งการอภิปรายนั้น เราพยายามว่าทุกอย่างอยู่บนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย แต่ต้องเตรียมการหากมีการพาดพิงเรื่องกู้เงินในอดีต 
    “ยืนยันว่าฝ่ายค้านอภิปรายสร้างสรรค์แน่ และก็ขอให้รัฐบาลตอบอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งผู้อภิปรายนั้นกำลังดูรายชื่ออยู่ เพราะขณะนี้มีผู้แสดงเจตจำนงแล้ว 40 คน” นายอภิสิทธิ์กล่าว และว่า เอกสารประกอบร่าง พ.ร.บ. ไม่มีสถานะตามกฎหมาย ทำให้ตรวจสอบยาก ไม่ได้ผูกมัดว่ารัฐบาลต้องทำทุกโครงการ แตกต่างจากบัญชีแนบท้ายที่รัฐบาลเขียนไว้กว้างๆ เท่านั้น เป็นการเปิดช่องให้เปลี่ยนแปลงโครงการในแต่ละหมวดได้ 
สร้างหนี้ท่วม 5.16 ล้านล้าน
    ขณะที่ นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีต รมว.การคลัง ได้เขียนเฟซบุ๊กโดยได้ยกข้อสังเกตของอดีต รมว.การคลังในสมัยต่างๆ ถึงร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และตั้งคำถามว่านายกิตติรัตน์ไม่เคยตอบคำถามเหล่านี้เลย แต่กลับสร้างภาระท่วมหัวคนไทย 5.16 ล้านล้านบาท ด้วยเอกสารแค่ 6 แผ่น ซึ่งพรรคเห็นด้วยในหลักการว่าจำเป็นต้องสร้างเพื่อพัฒนาประเทศ แต่คัดค้านกรณีนำเงินนอกระบบงบประมาณมาใช้อย่างมหาศาล สร้างภาระให้ลูกหลานยาวนานถึง 50 ปี
    “นอกจากใช้เงินนอกระบบงบประมาณแล้ว รายละเอียดว่าจะเอามาทำโครงสร้างพื้นฐานยังไม่มีรายละเอียด ไม่มีแผนที่ชัดเจน หากเอกสารแนบท้ายมี 200 กว่าแผ่น โปร่งใส ชัดเจน ตรวจสอบได้อย่างจริงใจ รัฐบาลควรบรรจุแนบกับร่างกฎหมายด้วย เพื่อป้องกันการโยกงบประมาณอย่างบ้าคลั่ง การแสดงความจริงใจให้ตรวจสอบ และความเชื่อมั่นในความโปร่งใส เป็นสิ่งที่ไม่มีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์อยู่แล้ว การทำอะไรลับๆ ล่อๆ ต่อไปอีก ยิ่งสร้างความเคลือบแคลงให้สังคมไทย” นายกรณ์เขียนในเฟซบุ๊ก และทิ้งท้ายว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์กู้ 2 ล้านล้านบาท แบกหนี้ 50 ปี จ้องใช้แค่ 7 ปี เป็นรัฐบาล 2 สมัย ดอกเบี้ยสะสม 3.16 ล้านล้านบาท ภาระท่วมหัวคนไทยรวม 5.16 ล้านล้านบาท
    นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา และรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในวันที่ 26 มี.ค.จะมีความชัดเจนว่าพรรคจะมีผู้อภิปรายกี่คนในเวลา 2 ชั่วโมง แต่ตนเองจะอภิปรายในประเด็นรายละเอียดของการกู้เงินที่ไม่มีความชัดเจนว่าจะนำเงินไปใช้สร้างรถไฟความเร็วสูงที่ไหน อย่างไร
    ส่วนนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวก่อนประชุมวุฒิสภาในเรื่องนี้ว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้มีผู้ให้ฉายาว่า ร่าง พ.ร.บ.กู้ชาตินี้ใช้หนี้ชาติหน้า และรัฐบาลนี้กำลังเขียนด้วยมือลบด้วยเท้า เพราะการเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการล้มล้าง พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 ที่ออกสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ และยังมีลักษณะล้มล้างระบบการจ่ายเงินแผ่นดินตามกฎหมายอีก 4 ฉบับ คือ พ.ร.บ.พิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502, พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ.2491, พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี และ พ.ร.บ.โอนงบประมาณ ที่สำคัญที่สุดคือ ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 169 ว่าด้วยการจ่ายเงินแผ่นดิน มาตรา 170 เกี่ยวกับเงินรายได้ของหน่วยงานของรัฐ และอาจจะรวมถึงมาตรา 167 ว่าด้วยเรื่องการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ด้วย ร่าง พ.ร.บ.กู้เงินเป็นกฎหมายที่สมควรตาย
    อีกด้านหนึ่ง นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ระบุว่า ในปี 2556 ธนาคารตั้งเป้าระดมเงินฝาก 1.7 แสนล้านบาท โดยคาดว่าช่วงไตรมาส 2 จะสามารถระดมเงินฝากได้ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท  ซึ่งการระดมเงินฝากของธนาคารมีความพร้อมรองรับกับโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาล โดยปีนี้จะทยอยปล่อยสินเชื่อ แต่คงไม่มากนัก และจะเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นในปี 2557 
    “การปล่อยสินเชื่อจะเป็นลักษณะทยอยปล่อยตามความคืบหน้าโครงการ ไม่ได้ปล่อยแบบครั้งเดียว ดังนั้นจึงมั่นใจว่าสภาพคล่องเพียงพอรองรับแน่นอน เพราะมีสภาพคล่องส่วนเกิน 1 แสนล้านบาท” นายวรวิทย์กล่าว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น