วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สรุปข่าวในประเทศ 12/11/2556

สรุปข่าวในประเทศ 12/11/2556

๑ นรม. ยืนยันคำพิพากษาศาลโลกในคดีปราสาทพระวิหารเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย เน้นให้เจรจาหาทางออกร่วมกัน พร้อมกำชับทีมกฎหมายศึกษาผลคำพิพากษาก่อนหารือร่วมไทย-กัมพูชาต่อไป
    น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นรม.และ รมว.กห.แถลงการณ์หลังการอ่านคำพิพากษาคดีตีความคำพิพากษาปราสาทพระวิหาร ปี ๒๕๐๕ ของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก)ว่า ศาลโลกมีคำตัดสินที่เป็นประโยชน์และมีความสำคัญกับประเทศไทยใน ๓ ประเด็น คือศาลรับฟังข้อต่อสู้ของไทยที่ยืนยันในคำพิพากษาเดิมในปี ๒๕๐๕ ศาลรับฟังข้อต่อสู้ที่ยืนยันในคำพิพากษาเดิมไม่ตัดสินเส้นเขตแดน ซึ่งศาลไม่รับพิจารณาข้อเรียกร้องของกัมพูชาในเรื่องพื้นที่ ๔.๖ ตร.กม. และแผนที่ ๑ : ๒๐๐,๐๐๐ ไม่ผูกพันกับไทย และรับตีความเฉพาะพื้นที่ใกล้เคียงปราสาทพระวิหารตามคำพิพากษาเดิมที่เป็นพื้นที่เล็กมาก และไม่รวมภูมะเขือ โดยทั้งสองฝ่ายจะต้องหารือร่วมกันตามกรอบทวิภาคี ทั้งนี้ ศาลยังให้ความสำคัญโดยขอให้ไทยและกัมพูชาร่วมกันพัฒนาปราสาทพระวิหารในการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก นอกจากนี้ได้สั่งทีมกฎหมายศึกษาคำพิพากษา จากนั้นจะหารือร่วมกันระหว่างไทย - กัมพูชา ให้ได้ข้อยุติร่วมกันและเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย ยืนยันรัฐบาลจะรักษาอธิปไตยและปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ ส่วนการรักษาความปลอดภัยได้กำชับ ทหาร ตำรวจ และ จนท.ฝ่ายปกครอง ดูแลความสงบเรียบร้อยแก่ประชาชนในพื้นที่อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม การประชุม ครม.นัดพิเศษ เมื่อ ๑๑ พ.ย.๕๖ มีมติขอให้รัฐสภา เปิดประชุมร่วมกันของรัฐสภา ตามมาตรา ๑๗๙ ของ รธน.เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ด้วย ส่วนการกำหนดวันให้เป็นหน้าที่ของรัฐสภา
 
๒ ปล.กต.แถลงสรุปสาระของคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ยืนยันคำพิพากษาของศาลโลกไม่ได้มากกว่าคำพิพากษาเดิมเมื่อปี ๒๕๐๕
    นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปล.กต.แถลงสรุปสาระของคำพิพากษาคดีตีความคำพิพากษาปราสาทพระวิหาร ปี ๒๕๐๕ ของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ว่า ศาลรับตีความคำร้องของกัมพูชา แต่ไม่ได้รับตามคำขอของกัมพูชา ซึ่งการพิพากษาครั้งนี้เป็นไปตามแนวทางการต่อสู้คดีของไทยมาโดยตลอด และศาลได้ให้ข้อเสนอแนะให้ไทยและกัมพูชาทั้งสองฝ่ายไปหารือกันเพื่อรักษาสิ่งที่เป็นมรดกโลก ทั้งนี้ คำพิพากษาของศาลไม่ได้มากกว่าคำพิพากษาเดิมเมื่อปี ๒๕๐๕ พร้อมกันนี้ นรม.ได้ขอให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาวิเคราะห์ในรายละเอียดเพื่อเสนอแนะการทำงาน ก่อนที่จะพูดคุยกับกัมพูชาต่อไป
 
๓ วุฒิสภามติเอกฉันท์ ๑๔๑ ต่อ ๐ ไม่รับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ
     ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติไม่รับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ไว้พิจารณา ด้วยคะแนน ๑๔๑ ต่อ ๐ เสียง ภายหลังจาก ส.ว. อภิปรายร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ อย่างกว้างขวาง โดย นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม.พรรค พท.ในฐานะกรรมาธิการได้ชี้แจงว่า เมื่อประชาชนไม่ยอมรับ พวกตนก็คิดเช่นเดียวกับประชาชน ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการไม่ได้รับคำสั่งใครทำไปด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ซึ่งขณะนี้ วิปพรรคร่วมรัฐบาลได้เสนอถอนร่างที่คล้ายกันทั้ง ๖ ฉบับออกไปแล้ว และรัฐบาลยังได้แสดงเจตจำนงกับ ๔ พรรคร่วมรัฐบาลแล้วว่า จะไม่นำกลับมาพิจารณาอีก เพื่อแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจทั้งนี้ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา ในฐานะประธานการประชุม จึงสรุปต่อที่ประชุมอีกครั้งว่า ตาม รธน.มาตรา ๑๔๗(๒)และมาตรา ๑๔๘วรรคหนึ่ง ให้วุฒิสภาส่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กลับไปยังสภาผู้แทนราษฎร และเมื่อสภาไม่ได้แจ้งว่าเป็น พ.ร.บ.การเงิน ดังนั้น สภาผู้แทนราษฎร จะสามารถนำกฎหมายดังกล่าวนี้มาพิจารณาได้ก็ต่อเมื่อผ่านไปแล้ว ๑๘๐วัน และตามมาตรา ๑๔๙ ยังระบุว่า ครม. หรือสภาผู้แทนราษฎร จะเสนอร่าง พ.ร.บ. ที่คล้ายกันนี้ไม่ได้อีก
 
๔ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. เรียกร้องแกนนำกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติฯ อย่าสร้างความเข้าใจผิดในคำพิพากษาคดีตีความคำพิพากษาปราสาทพระวิหาร
    นายสุภรณ์อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการอ่านคำพิพากษาคดีตีความคำพิพากษาปราสาทพระวิหาร ปี ๒๕๐๕ ของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ(ศาลโลก)ว่า ได้ประสานกับ ผวจ.ศรีสะเกษ และ มทภ.๒ ให้ดูแลความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ชายแดนไทย -กัมพูชา หลังกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติฯ มีการปลุกระดมมวลชนเข้าไปในพื้นที่เพื่อร่วมปกป้องดินแดน พร้อมเรียกร้องให้ พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ และนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แกนนำฯ เลิกกระทำการยั่วยุปลุกปั่น สร้างความเข้าใจผิดแก่ประชาชน หากเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นขอให้แสดงความรับผิดชอบอย่างไรก็ตามขณะนี้ได้ทำความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนในพื้นที่แล้วว่าไทยไม่ได้เสียดินแดนพื้นที่ ๔.๖ตร.กม. ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทแต่อย่างใด
 
๕ นายสุเทพฯ ยืนหยัดต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ และจะนำ ๘ ส.ส. พรรค ปชป. ยื่นใบลาออก
    นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรค ปชป.ประกาศจะยืนหยัดต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ จนกว่าจะมีการถอดถอนออกจากสภาฯ และจะไม่มีการเสนอร่างในลักษณะดังกล่าวเข้าในสภาฯ อีก พร้อมยื่นคำขาดจะต่อสู้เคียงข้างประชาชนจนกว่าจะได้รับชัยชนะ ด้วยการประกาศลาออกจาก ส.ส.พรรค ปชป. พร้อมกับสมาชิกอีก ๘ คน ประกอบด้วย ๑) นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา ๒) นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง ๓) นายอิสสระ สมชัย ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ๔) นายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.นครศรีธรรมราช๕) นายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร ๖) นายพุทธิพงษ์ปุณณกันต์ ส.ส.กทม. ๗) นายเอกนัฎ พร้อมพันธุ์ส.ส.กทม. และ ๘) นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.กทม.
 
๖ ผบ.ตร. ยืนยัน ดูแลการชุมนุมของกลุ่ม คปท.ตามหลักมาตรฐานสากล
    พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษก ตร. ตรวจเยี่ยมความสงบเรียบร้อยการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.)บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ โดย ผบ.ตร.กล่าวว่า หลังจากมีข่าวว่าจะมีบุคคลที่สามเข้ามาก่อความไม่สงบระหว่างที่มีการชุมนุม ดังนั้น จนท.ตร. จึงจำเป็นต้องจัดเตรียมอุปกรณ์รักษาความสงบ อาทิ แก๊สน้ำตา กระบอง กระสุนยางนำมาใช้ในกรณีที่มีความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น พร้อมยืนยัน จะดูแลความสงบเรียบร้อยตามหลักมาตรฐานสากลอย่างเต็มความสามารถ และแม้กลุ่มผู้ชุมนุมได้ประกาศยกระดับการชุมนุม เชื่อว่า จนท.ตร.ที่มีในขณะนี้ จะสามารถดูแลได้ และยังไม่ถึงระดับที่ต้องมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ พร้อมขอให้ชุมนุมด้วยความสงบเรียบร้อย
 
๗ อก. ชี้แจงทำความเข้าใจภาคเอกชน กรณี ขั้นตอนขอใบอนุญาตตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ร่นเวลาออกใบ รง.๔ เหลือ ๖๐วัน
   นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปล.อก.กล่าวภายหลังการประชุมชี้แจงขั้นตอนพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.๔)แก่ภาคเอกชน ว่า ได้เชิญตัวแทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตัวแทนหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมทั้ง ๓๙ กลุ่ม และภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน เข้าฟังคำชี้แจงขั้นตอนการออกใบอนุญาตตั้งโรงงาน เพื่อให้การพิจาณาเป็นไปด้วยความรวดเร็ว โปร่งใส และเกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่ง อก. ได้ปรับปรุงกระบวนการพิจาณาอนุญาต การออกใบอนุญาตตั้งโรงงาน จากเดิม ๙๐ วัน เป็น ๖๐ วัน เพื่อให้สะดวกและรวดเร็ว ส่วนสาเหตุการพิจาณาออกใบอนุญาตล่าช้า เนื่องจาก ผู้ประกอบการเตรียมเอกสารไม่ครบ และมีการตั้งโรงงานก่อนขออนุญาตเกือบร้อยละ ๙๐ โดยมอบหมายให้นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการและภาคเอกชนสำหรับการเร่งปรับปรุงระบบการออกใบอนุญาตในปี ๒๕๕๖ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนเตรียมพร้อมการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี ๒๕๕๘
 
๘ ธปท. กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองที่รุนแรงจะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ
    นางรุ่ง โปษยานนท์ มัลลิกะมาส ผอ.สำนักเศรษฐกิจมหภาค ธปท.เปิดเผยว่า หากสถานการณ์ทางการเมืองรุนแรงขึ้นจะทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถขยายตัวได้ตามที่คาดการณ์ไว้ที่ ร้อยละ ๓.๗ เนื่องจากมีผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว และการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งปกติในไตรมาสที่ ๔ เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ดีส่วนในปี ๒๕๕๗ เชื่อว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้น แต่ไม่มากนักโดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ ๓.๘ เพราะการส่งออกของไทยมีอุปสรรคในเรื่องการผลิต และหากการเมืองยังยืดเยื้อจะทำให้การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลง
 
 กสทช. เตรียมจัดสรรคลื่นความถี่โทรศัพท์ รองรับความต้องการใช้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
    นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)เปิดเผยว่า ไทยมีประชากรประมาณ ๖๖ ล้านคน มีผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ๙๐ ล้านเลขหมาย ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวการใช้งานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเป็นอัตราการเติบโตในลำดับต้นๆ ของโลก โดย กสทช.ได้เร่งรัดการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อนำคลื่นความถี่ไปใช้งานให้เกิดประโยชน์ และรองรับการขยายตัวของการใช้งานของประชาชนผู้บริโภคในระยะเวลา ๒ -๓ปีข้างหน้าและในอนาคต รวมถึงเตรียมการเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งในปี ๒๕๕๘ และปี ๒๕๖๐ สัญญาสัมปทานคลื่นความถี่โทรศัพท์ของ AIS และ DTAC จะสิ้นสุดลง กสทช.จึงเตรียมนำคลื่นดังกล่าวมาจัดสรรในระบบใบอนุญาตเพื่อเปิดให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รองรับการใช้งานต่อไป ขณะที่การใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ และอุปกรณ์เคลื่อนที่ประเภทสมาร์ทโฟนที่สามารถเข้าถึงSocial Network นั้น ในระยะ ๕ ปีข้างหน้าจะมีแนวโน้มการใช้เพิ่มสูงขึ้นกว่า ๕ เท่าจึงต้องเร่งรัดการคืนคลื่นความถี่ที่หมดสัญญาสัมปทานกลับมายัง กสทช.เพื่อนำไปจัดสรรใหม่ให้เพียงพอต่อการใช้งานต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น