วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

“ปานเทพ” ชี้ไทยเสียเกือบพันไร่ให้เขมร แฉ 5 ข้อ “รัฐบาลปู” พูดไม่หมด โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 13 พฤศจิกายน 2556 08:58 น

“ปานเทพ” ชี้ไทยเสียเกือบพันไร่ให้เขมร แฉ 5 ข้อ “รัฐบาลปู” พูดไม่หมด

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์13 พฤศจิกายน 2556 08:58 น

อดีตโฆษกพันธมิตรฯ ชี้ผลคำตัดสินศาลโลกล่าสุด ไทยจ่อเสียดินแดนเขาพระวิหารเพิ่ม 625-937.5 ไร่ จากคำตัดสินเดิมไทยเสียแค่ 150 ไร่ บริเวณตัวปราสาท เหตุไทยต้องถอยออกจาก“ชะง่อนผา” ซึ่งรวมวัดแก้วฯ หมู่บ้าน ถนน พร้อมแฉ 5 ประเด็น“ทูตวีรชัย” และรัฐบาลพูดไม่หมด
      
       วันนี้ (13 พ.ย.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตแกนนำรุ่น 2 และโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ในหัวข้อ “แผ่นดินเล็กๆ” ทหารไทยจะต้องถอยไปเท่าไหร่? เพื่ออธิบายการตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี 2505 ที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก มีคำตัดสินเมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยนายปานเทพ ระบุว่า การถอยของทหารไทยครั้งนี้ศาลโลกได้ตีความโดยยึดเอาแผนที่มาตราส่วน 1:2 แสน ที่จัดทำขึ้นโดยฝรั่งเศสเป็นหลัก “เฉพาะส่วนเขาพระวิหาร” ส่วนไทยไม่เคยยอมรับแผนที่ดังกล่าวเพราะถือว่าแผนที่ดังกล่าวไม่ใช่บทปฏิบัติการของคำพิพากษา จึงได้ตีล้อมรั้วปราสาทพระวิหารเอาไว้โดยยังคงยึดถือขอบหน้าผาเป็นสันปันน้ำเหมือนบรรพบุรุษไทยมาร้อยกว่าปีที่แล้ว
      
       ในครั้งนี้ ศาลได้ให้ทหารไทยถอยออกจากพื้นที่ชะง่อนผาตามคำนิยามในวรรคที่ 98 ของการตีความครั้งนี้ โดย ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม ได้กรุณาแปลเป็นภาษาไทยได้ดังนี้
      
       “98. จากการให้เหตุผลในคำพิพากษา ค.ศ.1962 (พ.ศ.2505) ซึ่งเห็นได้ในการพิจารณาในการให้การในกระบวนการพิจารณาเดิม เห็นได้ชัดว่า ขอบเขตของชะง่อนผาของพระวิหารทางทิศใต้ของเส้นแผนที่ภาคผนวก 1 ประกอบด้วย ลักษณะธรรมชาติ ทางทิศตะวันออก ใต้ และตะวันตกเฉียงใต้ ชะง่อนผาลดต่ำลงเป็นหน้าผาที่สูงชันไปยังที่ราบของกัมพูชา คู่กรณีได้เห็นพ้องต้องกันใน ค.ศ.1962 ว่า หน้าผานี้ และพื้นดินที่ตีนของหน้าผา อย่างไรก็ตาม อยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา ทางทิศตะวันตก และทิศตะวันตกเฉียงเหนือ พื้นดินลดต่ำลงเป็นพื้นลาดเอียงซึ่งลาดชันน้อยกว่าหน้าผา ไปยังหุบเขาซึ่งแยกพระวิหารออกจากเนินเขาที่อยู่ใกล้เคียงของภูมะเขือ แต่อย่างไรก็ตาม เป็นหุบเขาซึ่งตัวมันเองอยู่ต่ำลงไปในทิศใต้ของพื้นที่ราบของกัมพูชา (ดูวรรค 89 ข้างบน) สำหรับเหตุผลที่ได้ให้ไว้แล้ว (ดูวรรค 92-97 ข้างบน) ศาลเห็นว่าภูมะเขืออยู่นอกเขตพื้นที่พิพาท และคำพิพากษา ค.ศ.1962 ไม่ได้หยิบยกคำถามว่ามันอยู่ในอาณาเขตของไทย หรือกัมพูชา ดังนั้น ศาลเห็นว่าชะง่อนผาของพระวิหารสิ้นสุดลงที่ตีนเนินเขาของภูมะเขือ ซึ่งพูดได้ว่า ที่ซึ่งพื้นดินเริ่มสูงขึ้นจากหุบเขา
      
       ในทิศเหนือ ขอบเขตของชะง่อนผาเป็นตามเส้นของแผนที่ภาคผนวกหนึ่ง จากจุดทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาทที่ซึ่งเส้นนั้นจดหน้าผา ไปยังจุดในทิศตะวันตกเฉียงเหนือที่ซึ่งพื้นดินเริ่มสูงขึ้นจากหุบเขาที่ตีนของเนินเขาของภูมะเขือ
      
       ศาลเห็นว่า วรรคที่สองของบทปฏิบัติการของคำพิพากษา ค.ศ.1962 กำหนดให้ประเทศไทยถอนจากอาณาเขตทั้งหมดของชะง่อนผาของพระวิหารดังที่ได้กำหนด ไปยังอาณาเขตของไทย บรรดาเจ้าหน้าที่ของไทยซึ่งได้ประจำอยู่ที่ชะง่อนผานั้น”
      
       ที่กล่าวมาข้างต้นคือ ข้อความวรรค 98 นิยามของชะง่อนผาที่ทหารไทยต้องถอยออกไป
      
       ประมาณการพื้นที่คร่าวๆ ที่ไทยต้องถอยรวมพื้นที่ 1-1.5 ตารางกิโลเมตร ถ้า 1 ตารางกิโลเมตร = 625 ไร่ ถ้า 1.5 ตารางกิโลเมตร = 937.5 ไร่
      
       ถ้านึกไม่ออกว่าใหญ่แค่ไหน มีผู้แนะนำให้เทียบกับ “สนามหลวง” มีขนาด 74 ไร่ 63 ตารางวา
      
       ถ้าพื้นที่ที่ทหารไทยต้องถอยไป 1.5 ตารางกิโลเมตร = 937.5 ไร่ = 12.5 เท่าของสนามหลวง
      
       นี่คือแผ่นดินเล็กๆ ที่ศาลโลกกล่าวถึง !!!
      
       ต่อมา นายปานเทพ โพสต์ข้อความอีกว่า “ตลกร้าย!? 51 ปีที่แล้ว พ.ศ.2505 ไทยล้อมรั้วรอบปราสาทพระวิหาร 150 ไร่ จากคำพิพากษาของศาลโลก ผู้นำไทยต้องแถลงถึงความเสียใจด้วยน้ำตา ด้วยความคั่งแค้น และประท้วงคำพิพากษา ตั้งข้อสงวนเอาไว้ที่องค์การสหประชาชาติ, 51 ปี ผ่านไป ศาลโลกตีความคำพิพากษาเดิมให้ไทยถอยอาจถึง 625-937.5 ไร่ (12.5 เท่าของสนามหลวง) รัฐบาลไทย และกระทรวงการต่างประเทศกลับบอกว่า 1.เราพอใจ 2. แผ่นดินเล็กนิดเดียว เพราะศาลโลกบอกมันเล็กนิดเดียว”
เปรียบเทียบการเสียดินแดนจากคำพิพากษาปี 2505 และการเสียดินแดนจากคำพิพากษาปี 2556
       ก่อนหน้านี้ นายปานเทพ ได้โพสต์ข้อความถึงประเด็นที่นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะหัวหน้าทีมกฎหมายไทย และรัฐบาลพูดไม่หมด ซึ่งมี 5 ข้อด้วยกัน ประกอบด้วย
      
       1.กัมพูชาไม่ได้พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร เพราะไม่ได้ใช้แผนที่ 1: 2 แสนทั้งระวาง แต่กัมพูชาได้พื้นที่ตามแผนที่ 1:2 แสน “เฉพาะในบริเวณเขาพระวิหาร” พูดง่ายๆ คือ แม้กัมพูชาไม่ได้พื้นที่ทั้งหมด 4.6 ตารางกิโลเมตร แต่ไทยต้องเสียพื้นที่บางส่วนใน 4.6 ตารางกิโลมตรเพิ่มเติมจากปี 2505 ให้กับกัมพูชา
      
       2.กัมพูชาไม่ได้ภูมะเขือ เพราะภูมะเขือ ไม่ได้อยู่ในขอบเขตคดีประสาทพระวิหาร แต่โชคร้ายคือทหารไทยต้องถอยจากยอดเขาพระวิหารลุกลามไปถึงตีนเขาของภูมะเขือ แต่การที่ศาลใช้แผนที่มาตราส่วน 1:2 แสนในบริเวณเขาพระวิหารได้ ในทางพฤตินัยกัมพูชาจึงอาจหยิบยกประเด็นนี้ในความชอบธรรมของแผนที่ดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาได้เข้ายึดยอดภูมะเขือไปเรียบร้อยแล้ว
      
       3.ศาลเน้นเรื่องพื้นที่เล็กๆ เล็กหรือไม่เป็นเรื่่องความรู้สึกของศาลต่อขนาดดินแดนที่ไม่ใช่ประเทศตัวเอง นายวีระชัย ตลอดจนรัฐบาลอ้างตามนั้นบ่อยๆ เพื่อปลอบใจให้คนไทยรู้สึกดี (คล้ายๆ กับว่าแผ่นดินนิดเดียวไม่ใช่เรื่องใหญ่) แต่แท้ที่จริงคือ เราต้องถอยไปไกลกว่าเดิม เพียงพอที่จะให้กัมพูชาได้ถนนทางขึ้น ได้หมู่บ้าน ได้วัดแก้ว ได้ตลาด (อาจลุกลามจนถึงผามออีแดง) จนสามารถขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารมรดกโลกอย่างสมบูรณ์ได้ฝ่ายเดียว โดยที่ทหารไทยต้องถอนกำลังออกจากบริเวณดังกล่าว
      
       4.ทั้ง 2 ฝ่ายต้องไปเจรจากันเองในรายละเอียดในการ “ทำหลักเขตแดน” แทนจากสิ่่งเดิมที่ไทยยึดขอบหน้าผาเป็นสันปันน้ำโดยไม่เคยต้องทำหลักเขตแดนมานับร้อยปี ซึ่งหมายถึงแผนที่ 1:2 แสนจะถูกนำมาใช้ได้ในบริเวณเขาพระวิหาร แม้จะสามารถยื้อได้ แต่ศาลได้เน้นเรื่องความสุจริตใจ นั่นหมายถึงหากเราเริ่มเจรจาทำหลักเขตแดนก็ต้องดำเนินไปตามแผนที่ 1: 2 แสนในบริเวณเขาพระวิหาร
      
       แต่ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ รัฐสภาไทยได้สมรู้ร่วมคิด รู้เห็นเป็นใจ เร่งรัด แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ดักไว้ล่วงหน้า เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2556 ถ้าปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญที่แก้ไขใกล้สำเร็จนี้ ขั้นตอนระหว่างการเจรจา ไม่จำเป็นต้องให้ประชาชนได้ต้องรับรู้อีกต่อไป
      
       5.เรื่องมรดกโลกที่ศาลโลกแนะนำให้ทั้ง 2 ฝ่ายร่วมกันดูแล เพราะความหมายคือ ให้ไทยยอมรับทะเบียนปราสาทพระวิหารในนามกัมพูชาที่ขึ้นฝ่ายเดียว โดยไทยต้องยอมเป็น 1 ใน 7 ชาติที่เข้าร่วมบริหารจัดการในสินทรัพย์ภายใต้ทะเบียนของชาติกัมพูชาไม่ใช่ของประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น