รัฐบาลยอมชาวนายืดเวลาจำนำข้าว1.5 หมื่น
รัฐบาลยอมม็อบชาวนา กลับลำรับจำนำข้าว 1.5 หมื่น/ตันเหมือนเดิมถึง 15 ก.ย. หลังถูกม็อบชาวนากดดันหนัก พร้อมสั่งชดเชยใครจำนำ 1.2 หมื่น/ตันมารับเงินเพิ่ม วงเงินเดิม 5 แสนต่อครัว อ้างชาวนาตีทะเบียนแล้ว 2 แสนราย มีข้าว 2.9 ล้านตัน สั่งลุยแหลกเร่งระบายข้าวทั้งใน-นอประเทศ เปิดทางขยายจีทูจีขายข้าว พร้อมเร่งทำโซนนิ่งปลูกข้าว 43.9 ล้านไร่ ขณะที่ “ม็อบชาวนา” ปลื้มรัฐกลับลำ ยกพลขอบคุณนายกฯ ถึงทำเนียบฯ ด้าน ปชป.จวกยับเปิดทางโกง 2.6 แสนล้าน แต่ให้ชาวนาแค่กระดูกติดมัน 8.6 หมื่นล้าน ซัดนโยบายกลับกรอดแค่หวังคะแนนนิยม ไม่สนใจชาติพัง
วันที่ 1 ก.ค. เวลา 10.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) โดยมีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ และนายยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์ เข้าร่วมประชุม จากนั้น เวลา 13.00 น. ภายหลังการประชุม นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติคงราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้า 100% ที่ความชื้น 15% ที่ 15,000 บาท ขณะที่ชาวนาที่มีการนำข้าวมาจำนำในช่วงก่อนหน้านี้ที่ราคา 12,000 บาทนั้น ทางรัฐบาลก็จะดำเนินการชดเชยให้ ซึ่งเชื่อว่ามีจำนวนไม่มาก อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประชุม กขช.ที่มีมติดังกล่าวก็จะนำเรื่องเข้าเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 2 ก.ค. ให้มีการพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ จะรับจำนำข้าวเฉพาะปริมาณที่ไม่เกินที่ระบุไว้ในใบรับรองเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนแล้วเท่านั้น และในวงเงินไม่เกิน 5 แสนบาทต่อครัวเรือน ตามมติ กขช.เมื่อ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ สำหรับเหตุผลที่ให้กลับมาคงราคาเดิมนั้น เนื่องจากจำนวนเกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนไว้ 2 แสนกว่าราย ซึ่งจะมีปริมาณข้าว 2.9 ล้านตัน โดยยังอยู่ในกรอบที่ กขช.ได้เห็นชอบไว้ พร้อมทั้ง มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศ เพิ่มช่องทางและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐบาล ควบคู่ไปกับการดำเนินการรับจำนำข้าว ซึ่งการระบายข้าวนั้นเห็นชอบให้ขายเป็นการทั่วไปให้กับทั้งผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้จะเร่งรัดขยายช่องทางขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี ด้วย ขณะที่ปริมาณข้าวที่จะเข้าโครงการนาปรัง 56 คาดว่าจะมีปริมาณ 3 ล้านตันข้าวเปลือก ส่วนมาตรการช่วยเหลือชาวนา เพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าวและเพิ่มรายได้ให้ชาวนา ที่ประชุม กขช.เห็นชอบตามหลักการแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูก ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรห์ได้มีการเสนอไว้
นายกิตติรัตน์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้โครงการรับจำนำข้าวนาปี 56/57 นั้น ทางที่ประชุม กขช.จะมีการศึกษาและพิจารณาหลักเกณฑ์อีกครั้ง โดยจะพิจารณาในเรื่องของราคาข้าวในตลาด รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนประกอบด้วย อย่างไรก็ตาม ก็จะประกาศก่อนที่ชาวนาจะดำเนินการเพราะปลูกในฤดูการผลิตอย่างแน่นอน ส่วนการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกข้าว เพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าว และเพิ่มรายได้ให้ชาวนา (โซนนิ่ง) ที่ประชุมเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอ ซึ่งได้กำหนดเขตความเหมาะสมสำหรับปลูกข้าว โดยผลผลิตเฉลี่ยในเขตชลประทาน 700 กิโลกรัมต่อไร่ขึ้นไป และนอกเขตชลประทาน แต่อยู่ในเขตโซนนิ่ง ได้ 500 กิโลกรัมต่อไร่ รวมทั้งสิ้น 43.9 ล้านไร่ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะมีการพัฒนาคุณภาพข้าวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด จัดระบบการปลูกข้าวในเขตพื้นที่ชลประทาน ซึ่งจะมีการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ และปัจจัยอื่นๆ ที่มีความจำเป็นเพื่อเป็นมาตรการจูงใจ โดยจะดำเนินการปรับระบบการปลูกข้าวปีละไม่ต่ำกว่า 500,000 ไร่ ทั้งนี้จะเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย และผู้ประกอบการ เพื่อร่วมดำเนินการขับเคลื่อนในทุกๆ ด้าน และจะต้องมีมาตรการจูงใจเพื่อให้เกษตรกรได้พิจารณาเลือกในการตัดสินใจในการปรับเปลี่ยน และเพิ่มรายได้ของเกษตรกร โดยจะนำผลการประชุม กขช. เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 2 ก.ค.นี้
ขณะที่ นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า ได้ขอความร่วมมือกับผู้ค้าข้าวในประเทศที่จะร่วมมือกับภาครัฐในการระบายข้าวทั้งใน และนอกประเทศ โดยจะมีการระบายข้าวทุกประเภท ส่วนการระบายข้าวเปลือกเพื่อผลิตเป็นข้าวนึ่งส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ เช่นในภูมิภาคแอฟริกา ประเทศไทยถือเป็นตลาดผู้ค้าข้าวที่ผลิตข้าวนึ่งส่งออกอยู่ แต่จะขยายไปในภูมิภาคอื่นๆ เพื่อให้การระบายข้าวได้ในปริมาณ 1 แสนตันต่อเดือน นอกจากนี้จะเร่งรัดขยายช่องทางในการเจรจาขายแบบรัฐต่อรัฐ
ด้านนายยรรยง กล่าวว่า ราคารับจำนำข้าวทุกชนิดต่อตัน ประกอบด้วย ข้าวเปลือกเจ้า 5% ราคาอยู่ที่ 14,800 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 10% ราคาอยู่ที่ 14,600 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 15% ราคาอยู่ที่ 14,200 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 25% ราคาอยู่ที่ 13,800 บาท ส่วนข้าวเปลือกปทุมธานี 42 กรัม ราคาอยู่ที่ 16,000 บาท ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว 10% 42 กรัม ราคาอยู่ที่ 16,000 บาท ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดสั้น 10% 40 กรัม ราคาอยู่ที่ 15,000 บาท ทั้งนี้เรื่องการระบายข้าวรัฐบาลพยายามผลักดันทวงคืนความเป็นที่หนึ่งของตลาดข้าวนึ่ง ซึ่งได้เสียแชมป์ให้กับประเทศอินเดียไปเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา จากเดิมที่ขายได้ 4 ล้านตัน แต่ปัจจุบันขายได้เพียง 1 ล้านกว่าตัน ซึ่งรัฐบาลจะเน้นในการดึงตลาดข้าวนึ่งกลับมาให้ได้ ส่วนการระบายข้าวขาวจะมุ่งไปที่ตลาดใหญ่ คือประเทศอินโดนีเซีย ขณะเดียวกันรัฐบาลตั้งใจที่จะดำเนินการระบายข้าวในช่วงครึ่งปีหลังให้ได้ถึง 5-6 ล้านตัน ซึ่งปัจจุบันสามารถระบายข้าวไปแล้ว 4 ล้านตัน หรือคิดเป็นวงเงินจำนวน 7.2 หมื่นล้านบาท และขณะนี้มีข้าวอยู่ในสต๊อก 17 ล้านตัน
ด้านนายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ดีใจกับการตัดสินใจของรัฐบาล ที่เห็นชอบให้รับจำนำข้าวเปลือกที่ตันละ 1.5 หมื่นบาท ต่อไป จนถึงสิ้นฤดูการผลิตในเดือน ก.ย. และในวันที่ 2 ก.ค.นี้ตัวแทนชาวนาจะขอเข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อให้กำลังใจ กรณีที่รัฐบาลรวมถึงคณะรัฐมนตรี ได้ตัดสินใจอย่างถูกต้อง ในการช่วยเหลือชาวนา ขอยืนยันว่าชาวนาจะสนับสนุนพรรคเพื่อไทยต่อไป เพราะที่ผ่านมามีแต่พรรคเพื่อไทยเท่านั้น ที่กล้าลงมาช่วยเหลือชาวนาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยไม่เกรงกลัวว่า จะถูกพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามจ้องเล่นงาน อย่างไรก็ตาม ชาวนาเข้าใจและเห็นใจการทำงานของพรรคเพื่อไทยด้วยที่มีหลายฝ่ายทั้งกลุ่มนายทุน และนักการเมืองที่เสียผลประโยชน์จากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลและเพียรพยายามจะล้มโครงการนี้ให้ได้
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการที่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) พลิกมติเดิมให้กลับไปใช้ราคารับจำนำข้าวเปลือกในราคา 1.5 หมื่นบาทจนถึงสิ้นสุดโครงการวันที่ 15 ก.ย.นี้ เพราะสะท้อนว่า กขช.รับฟังเสียงเรียกร้องของชาวนา รวมถึงข้อเรียกร้องจาก ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่ลงพื้นที่รับฟังปัญหาของประชาชน อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ต้องรอมติจากคณะรัฐมนตรีก่อนว่าจะเห็นชอบหรือไม่ แต่ในเบื้องต้นถือว่ามติของ กขช.ถือว่าน่าพึงพอใจ เพราะสะท้อนว่ารับฟังเสียงของประชาชน
ด้านนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคไม่เห็นด้วยกับการจำนำข้าวมาตั้งแต่ต้นและถ้าจะดำเนินการรับจำนำต่อต้องรับจำนำ 15,000 บาท ตลอดอายุรัฐบาล เพราะมีการเปิดช่องทุจริตมาสามฤดูกาลจนเงิน 2.6 แสนล้านถูกละลายไปกับการทุจริตคอรัปชั่น แต่ชาวนาได้ประโยชน์เพียงแค่ 8.6 หมื่นล้าน ดังนั้นหากรัฐบาลสามารถปิดช่องว่างการทุจริตได้ก็จะมีเงินเพียงพอที่จะรับจำนำข้าว 15,000 บาทตลอดอายุของรัฐบาลชุดนี้ อย่างไรก็ตาม อยากทราบว่าหลักการและพื้นฐานข้อมูลของรัฐบาลในการเปลี่ยนแปลงราคารับจำนำจาก 12,000 บาท กลับมาเป็น 15,000 บาทคืออะไร เพราะประชาชนสับสนหมดแล้วว่าปลูกข้าวฤดูนี้จะขายได้เท่าไหร่ เนื่องจากรัฐบาลไม่มีจุดยืนที่ชัดเจน หรือเป็นเพราะว่าทนแรงกดดันไม่ได้ เพราะพรรคเพื่อไทยและโครงการจำนำข้าวเหมือนคนไข้อยู่ในห้องไอซียู ซึ่งเป็นบทเรียนสำหรับพรรคการเมืองที่คิดแค่หวังคะแนนนิยมโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะสร้างความเสียหายไม่ใช่เฉพาะสภาวะการเงินการคลังของประเทศแต่กระทบเกษตรกรคนรากหญ้าด้วย แต่รัฐบาลต้องมีคำตอบกับประชาชนด้วยว่าจะนำเงินที่ไหนมาทำโครงการและจะลดความเสียหายอย่างไร ไม่ใช่ทำงานการเมืองเพื่อหวังคะแนนเสียงเพียงอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของบ้านเมือง และขอตั้งข้อสังเกตว่า มีข่าวตลอด ว่าอาจมีการยุบสภาเร็วๆ นี้ จึงสงสัยว่า ข่าวยุบสภาอาจเป็นเรื่องจริง เพราะรัฐบาลกำลังขยายเวลาการรับจำนำข้าวที่ 15,000 บาทออกไป เพื่อหลอกเกษตรกรว่าพรรคเพื่อไทยทำได้ตามที่หาเสียงใช่หรือไม่
ด้าน น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ฝากถึงนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมว.พาณิชย์ และทีมงาน ให้ปฏิบัติตามสัญญาในการรับจำนำข้าว 15,000 บาท ตามที่ได้หาเสียงไว้ หากทำไม่ได้ก็ต้องรับผิดชอบ ไม่เช่นนั้นแต่ละพรรคจะไม่รักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน โดยชาวนาฝากขู่มาว่า หากไม่ทำตามสัญญาเจอกันแน่ สำหรับกรณีการตรวจสอบการบริหารสต๊อกข้าวในโครงการจำนำของรัฐบาลนั้น ตนยืนยันว่า ไม่ควรทำในเชิงปริมาณเหมือนที่ทำไปก่อนหน้านี้ แต่ต้องทำในเชิงคุณภาพ คือต้องผ่าโกดังตรวจสอบ ซึ่งตนขอย้ำว่า ข้าวที่เสื่อมสภาพไม่ใช่แค่จัดเก็บ แต่เกิดจากการทุจริต ซึ่งเชื่อว่าการขาดทุนจะมากกว่า 2.6 แสนล้านบาท จึงขอให้ความสำคัญเกี่ยวกับข้าวเน่า และเสื่อมสภาพที่ถูกซุกไว้หรือที่เรียกว่า “ล้อมกอง หยอดลงหลุม” เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม น.พ.วรงค์ ยังได้นำคลิปข้าวเน่าที่โรงสีจำรัสท่าข้าว อ.พะยุหคีรี จ.นครสวรรค์ ซึ่งมีบันทึกไว้ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2555 และเคยนำไปเปิดประกอบการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรมาเผยแพร่อีกครั้ง เพื่อเตือนความจำประชาชนและ รมว.พาณิชย์คนใหม่ ให้ตรวจสอบข้าวแบบคุณภาพอย่างจริงจัง โดยเนื้อหาในคลิปมีการแทงกระสอบข้าวเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นข้าวเสื่อมคุณภาพมีลักษณะเป็นสีเหลืองและนำกระสอบข้าวดังกล่าวไปหยอดลงหลุมคือตรงกลางล้อมลอบด้วยข้าวดีด้านนอก ทำให้การตรวจสอบแบบปกติไม่พบข้าวเสื่อมคุณภาพที่ถูกซุกไว้ด้านใน
นายนิกร จำนง แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกรณีที่นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วยนั้น จะเป็นการกดดันพรรคชาติไทยพัฒนาหรือไม่ ว่า ถือเป็นเรื่องดี เพราะนายวราเทพจะมาดูแลเรื่องข้าว โดยเฉพาะที่ถือว่ามีปัญหามาอย่างต่อเนื่อง กระทรวงเกษตรถือเป็นต้นทางกระบวนการผลิต นายวราเทพจะได้ดูถึงเรื่องจำนวนข้าวที่ผลิตออกมา และควบคุมไม่ให้ออกมามากเกินไป ส่วนปัจจัยการผลิตต้องสมดุลกับเรื่องราคา ที่กระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้ดูแล แต่ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรไม่สามารถคุยกับกระทรวงพาณิชย์ได้จึงเกิดปัญหาข้าวล้นตลาด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น