วันอังคารที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2556

โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เมื่อ 25 มี.ค.56




โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย
 
ทวาย ตั้งอยู่ทางตอนใต้ประเทศเมียนมาร์ และอยู่ทางตะวันตกจากกรุงเทพฯ โดยมีระยะทางประมาณ 350 กิโลเมตร รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ได้ให้สิทธิในการพัฒนาพื้นที่ของโครงการทวายแก่บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
 
เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นลักษณะ Greenfield และอยู่ภายใต้กฎหมาย Special Economic Zone จึงมีแผนที่จะพัฒนาทวายให้ศูนย์รวมของอุตสาหกรรมต่างๆ สาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญโครงการทวายจะประกอบไปด้วยการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรม และท่อส่งก๊าซธรรมชาติผ่านทางถนนเชื่อมโครงการทวาย-ประเทศไทย โดยท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายคลอบคลุมพื้นที่ประมาณ 205 ตารางกิโลเมตร หรือ 50,675 เอเคอร์
 
รัฐบาลไทยได้ลงนามความร่วมมือกับรัฐบาลพม่า ตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2551 และบริษัท อิตาเลียนไทย ดิเวลลอปเม้นท์ จํากัด (มหาชน) ได้ MOU กับการท่าเรือของประเทศพม่า “เกี่ยวกับการเป็นผู้สำรวจเส้นทางและพื้นที่ของโครงการ” โดยได้ศึกษาเมื่อเดือนมิถุนายน 2551 (1 เดือนถัดมา) ในพื้นที่ภูมิภาคทวาย
 
ต่อมาบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ได้จดทะเบียน บริษัท ทวาย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด ที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2554 เพื่อดำเนินกิจการบริหารโครงการทวาย โดยบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ได้รับสิทธิ์จากรัฐบาลสหภาพเมียนมาร์ในการพัฒนาพื้นที่
 
การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายนิคมอุตสาหกรรมและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ถูกคาดหวังว่าจะส่งผลให้ทวายก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการค้าของภูมิภาค ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองต่อการค้าที่เจริญก้าวหน้าและการเจริญ เติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีนตอนใต้ และเพื่อตอบสนองความต้องการอย่างต่อเนื่องในการขนส่งทางทะเลในมหาสมุทรอินเดียและทะเลอันดามัน
 
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2551 รัฐบาลไทยและรัฐบาลแห่งสหภาพเมียนมาร์ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือน้ำลึกทวายและถนนเชื่อมต่อไปยังประเทศไทย บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ได้ลงพื้นที่ในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการและทำแผนงานพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด
 
เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2551 การท่าเรือสหภาพเมียนมาร์ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เกี่ยวกับการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ซึ่งครอบคลุมท่าเรือน้ำลึกทวายและโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ภายใต้บันทึกความเข้าใจดังกล่าวมีข้อเสนอที่จะพัฒนาถนนเชื่อมโยงจากพรมแดนทวายไปสู่ประเทศไทยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในระบบขนส่งแบบบูรณาการ
 
ต่อมาเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2553 บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ได้ลงนามในข้อตกลงเรื่องสิทธิในการพัฒนาและดำเนินการบริหารโครงการทวายตามระยะเวลาการเช่าที่ดิน เป็นเวลามากกว่า 75 ปี ซึ่งประกอบไปด้วยโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายและสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องกับนิคมอุตสาหกรรม ถนนเชื่อมโยงพรมแดน และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ
 
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2555 กระทรวงการคลังไทยได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางการให้การสนับสนุนทางการเงินสำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย เพื่อสนับสนุนภาคเอกชนไทยในการพัฒนาโครงการทวาย โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นประธานคณะทำงาน โดยมีคณะทำงานประกอบด้วย ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (NESDB) ผู้แทนธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Thailand) และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น
 
วันที่ 23 กรกฎาคม 2555  ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลสหภาพเมียนมาร์ ว่าด้วยการขยายความร่วมมือในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับการสนับสนุนและผลักดันโครงการทวาย ซึ่งมีบริษัท อิตาเลียนไทยฯ เป็นผู้ได้รับสิทธิในการพัฒนาโครงการจากรัฐบาลเมียนมาร์ โดยกำหนดกรอบความร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐอย่างเป็นทางการ
 
ต่อมาคณะกรรมการร่วมระดับสูงไทย - เมียนมาร์ ได้มีการประชุม ครั้งที่ 1/2555 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2555 ณ โรงแรมแชงกรี - ลา กรุงเทพฯ ซึ่งประเทศไทยและเมียนมาร์ได้เห็นชอบการจัดตั้งกลไกคณะกรรมการร่วม 3 ระดับ คือ 1.คณะกรรมการร่วมระดับสูงระหว่างไทย - เมียนมาร์ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง (JHC) เป็นกลไกระดับนโยบายโดยมี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และนายญาณ ทุน รองประธานาธิบดีเมียนมาร์ เป็นประธานฯ ร่วม
 
2.คณะกรรมการประสานงานระหว่างไทย - เมียนมาร์ เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง (JCC) โดยมี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมเมียนมาร์ เป็นประธานฯ ร่วมกัน
 
3.คณะอนุกรรมการ (Sub - Committee) จำนวน 6 ด้าน ได้แก่ 1.โครงสร้างพื้นฐานและการก่อสร้าง (Infrastruture & Construction): กระทรวงคมนาคม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ 2.สาขาอุตสาหกรรมเฉพาะด้านและการพัฒนาธุรกิจ (Focused Industries & Business Development): กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ 3.พลังงาน (Power & Energy): กระทรวงพลังงานเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ 4.การพัฒนาชุมชน (Community Development): กระทรวงการต่างประเทศ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ 5.กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง (Rule & Regulation): กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ 6.การเงิน (Financing): กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ
 
ในการประชุมครั้งนี้ ประเทศเมียนมาร์ได้ขอให้ประเทศไทยเพิ่มเรื่อง การอพยพโยกย้ายประชาชนเมียนมาร์ออกจากพื้นที่โครงการ รวมถึงการบริหารจัดการแหล่งที่อยู่ใหม่ การให้ความช่วยเหลือทางอาชีพและการจ่ายค่าชดเชย และให้ประเทศไทยจัดทำ Action Plan ของโครงการ เพื่อนำเสนอประเทศเมียนมาร์พิจารณาต่อไป
 
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2555 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นำคณะเจ้าหน้าที่และบริษัทเอกชนเดินทางเยือนเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนม่าร์ เพื่อเจรจาและติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ร่วมกับนายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนม่าร์
 
ขณะที่ คณะกรรมการประสานงานร่วมฯ (JCC) มีการทำงานที่มีความคืบหน้าทั้งในส่วนของการทบทวนข้อมูลเชิงเทคนิคและประเด็นต่างๆ ที่ยังต้องหาข้อสรุป เช่น รูปแบบทางการเงินเพื่อการระดมทุน การออกกฎหมายเพื่อส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ และเงื่อนไขบางประการที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม
 
ทั้งนี้ คาดว่าคณะอนุกรรมการร่วมเมียนมาร์-ไทย 6 สาขา จะจัดทำรายละเอียดทั้งหมดภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2556  เพื่อเสนอให้คณะกรรมการร่วมระดับสูงฯ (JHC) พิจารณาเพื่อลงนามในข้อตกลง Framework Agreement ฉบับใหม่ และ Sectorial Agreement ทั้งหมดภายในเดือน มีนาคม 2556 โดยคาดว่าจะเริ่มระดมทุนและดำเนินการก่อสร้างภายในเดือนเมษายน 2556 ตามที่ทั้งสองฝ่ายได้กำหนดไว้
 
โครงการลงทุนในทวายนั้น เป็นการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งแบ่งได้เป็น 6 เขตอุตสาหกรรม ได้แก่ เขตที่อยู่อาศัย เขตการค้าและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องภายในนิคมอุตสาหกรรม ถนนและทางรถไฟเชื่อมโยงไปสู่ประเทศไทย รวมไปถึงน้ำมันและท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากอ่าวมะตะบันไปยังชายแดนไทย-สหภาพเมียนมาร์
 
ท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ตั้งอยู่ห่างจากจังหวัดทวายประมาณ 28 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ในตอนเหนือของอ่าวเมืองมะกัน  มีการลงทุนสร้างท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี ถนนเชื่อมโยงจากทวายไปยังประเทศไทย และด้วยการสนับสนุนของรัฐบาลสหภาพเมียนมาร์ในการเชื่อมโยงทางรถไฟจากทวาย ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ มูเซ เชื่อมต่อไปยังทางรถไฟจีนที่คุนหมิง ทำให้โครงการนี้ได้รับการเสนอให้เป็นจุดศูนย์กลางการขนส่งที่สำคัญของภูมิภาค
 
 
เรียบเรียงข้อมูลจาก:

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น