วันพุธที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2556

ธปท.เปิดตัวแบงก์ 20 บาทแบบใหม่ เมื่อ 27 มี.ค.56



ธปท.เปิดตัวแบงก์ 20 บาทแบบใหม่
 
ธนบัตรชนิดราคา 20 บาทแบบใหม่
ธนบัตรชนิดราคา 20 บาทแบบใหม่

นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้านบริหาร แถลงข่าวเปิดตัวธนบัตรใหม่ ชนิดราคา 20 บาท แบบใหม่ แบบที่ 16 เพื่อนำมาใช้ทดแทนธนบัตรชนิดราคา 20 บาท แบบ 15 เดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งออกใช้มาตั้งแต่ปี 2542 ภายใต้แนวคิดการเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ ซึ่งได้รับ “มหาราช” ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และได้เพิ่มการต่อต้านการปลอมแปลงให้ดีมากขึ้น

โดยธนบัตรชนิดราคา 20 บาทใหม่นี้ จะออกใช้ในวันที่ 1 เม.ย.ที่จะถึงนี้ พร้อมกันทั่วประเทศ และจะทยอยออกใช้ทดแทนธนบัตรชนิดราคา 20 บาทในปัจจุบัน ซึ่งเมื่อธนบัตรใหม่ออกใช้ ธนบัตร 20 บาทแบบเดิม ก็ยังสามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย โดยธปท.จะค่อยๆ ทยอยเก็บคืนธนบัตรรุ่นเก่า โดยคาดว่า จะใช้เวลาประมาณ 2 ปี ธนบัตรชนิดราคา 20 บาทที่ใช้หมุนเวียนในระบบจะเป็นธนบัตรแบบ 16 ใหม่ทั้งหมด โดยขณะนี้มีธนบัตร 20 บาทที่หมุนเวียนอยู่ในระบบทั้งสิ้น 1,400 ฉบับ หรือ 28,000 ล้านบาท ประชาชนที่สนใจสามารถแลกธนบัตรใหม่นี้ได้ที่ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง

สำหรับ ธนบัตรชนิดราคา 20 บาท แบบใหม่ (แบบ 16) มีขนาด และสีเช่นเดียวกับแบบที่ใช้ในปัจจุบัน (แบบ 15) โดยมีขนาด กว้าง 72 มิลลิเมตร ยาว 138 มิลลิเมตร และสีโดยรวมเป็นสีเขียว จะมีภาพประธานด้านหน้าเป็นภาพพระบรมฉายาสาทิศลักษณ์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงค์

ภาพประธานด้านหลังธนบัตร เป็นการเฉลิมพระเกียรติพ่อขุนรามคำแหง โดยภาพประธานเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ประทับบนพระแท่นมนังศิลาบาตร มีพานรอง พระแสงขรรค์อยู่ทางเบื้องซ้ายของพระองค์บนพระแท่น ซึ่งเป็นภาพจากอนุสาวรีย์ ซึ่งประดิษฐาน ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จ.สุโขทัย เพื่อแสดงถึงพระราชกรณียกิจด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชโปรดให้ข้าราชการ และราษฎรที่สนใจในการปกครองมีสิทธิที่จะมาประชุม เพื่อปรึกษาหารือในการบริหารราชการบ้านเมืองพร้อมกับพระองค์ทุกวัน เว้นวันธรรมสวนะ

ภาพประกอบ ด้านซ้าย เป็นรูปภาพศิลาจารึกหลักที่ 1 และ การประดิษฐ์อักษรไทย เพื่อแสดงถึงพระราชกรณียกิจด้านการประดิษฐ์ตัวอักษรไทยเป็นอักษรประจำชาติ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทย เรียกว่า “ลายสือไทย” เมื่อ พ.ศ. 1826 ซึ่งถือเป็นการวางรากฐานแห่งความเจริญ และเป็นคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อปวงชนชาวไทยรุ่นหลังให้ได้รับทราบความเป็นมาของชาติบ้านเมือง รวมถึงการถ่ายทอดศิลปวิทยาการต่าง ๆ ได้อย่างดียิ่ง

ภาพประกอบด้านขวา เป็นภาพพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงรับเรื่องราวร้องทุกข์ของราษฎร เพื่อแสดงถึงพระราชกรณียกิจด้านการปกครองและการยุติธรรม ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงเปิดโอกาสให้ราษฎรที่มีเรื่องทุกข์ร้อนสามารถมาสั่นกระดิ่งซึ่งโปรดให้แขวนไว้ที่ประตูพระราชวังเพื่อร้องทุกข์ เมื่อทรงได้ยินก็จะทรงเรียกผู้นั้นเข้าไปไต่ถาม ซึ่งเป็นการปกครองบ้านเมืองดูแลทุกข์สุขของราษฎรให้ร่มเย็นเป็นสุขประดุจพ่อปกครองลูก ขณะที่ภาพด้านล่างขวา และลายประกอบด้านซ้ายของภาพ เป็นลายเครื่องสังคโลก ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของสมัยสุโขทัย

ขณะที่เพิ่มการต่อต้านการปลอมแปลง 4 ข้อคือ โดย 1. ลายน้ำ พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน และเพิ่มลายน้ำที่เป็นตัวเลขไทย “๒๐” ที่มีความโปร่งแสงเป็นพิเศษ มองเห็นได้ชัดเจนเมื่อส่องดูกับแสงสว่าง2. แถบสีเขียวที่ ฝังไว้ในเนื้อกระดาษธนบัตรตามแนวยืน ปรากฏให้เห็นเป็นระยะที่ด้านหลังธนบัตร สามารถเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีม่วงแดงเมื่อเปลี่ยนมุมมอง จากแบบเดิมไม่เส้นดังกล่าวให้เห็นชัดเจน 3. ภาพซ้อนทับ ตัวเลข 20 พิมพ์แยกไว้บนด้านหน้าและด้านหลัง เมื่อยกธนบัตรส่องดูกับแสงสว่าง จะเห็นเป็นตัวเลข 20 ที่สมบูรณ์ 4. ลายพิมพ์นูน ที่ตัวอักษรและตัวเลขแจ้งราคา เมื่อใช้ปลายนิ้วลูบสัมผัสจะรู้สึกสะดุด นอกจากนี้ ยังมีสัญลักษณ์สำหรับผู้มีความบกพร่องทางสายตา เป็นรูปดอกไม้สีเขียวเข้มในแนวตั้ง 2 ดอก มาจากตัวเลข “2” ในอักษรเบรลล์ 
ธนบัตรชนิดราคา 20 บาทแบบใหม่
ธนบัตรชนิดราคา 20 บาทแบบใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น