|
|
หลายหน่วยงานจับมือเร่งอนุรักษ์จระเข้น้ำจืด เผยขณะนี้เหลือแค่ประมาณ 200 ตัว เข้าสู่สถานะใกล้สูญพันธุ์ รองอธิบดีกรมอุทยานฯ เผยเทรนด์ใหม่คนไทยหันมาปล่อยจระเข้แก้บน โดยเฉพาะที่เขาใหญ่ กลายเป็นสร้างความเสียหายให้ระบบนิเวศ เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ กรมประมง ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สหกรณ์จระเข้แห่งประเทศไทย จำกัด แถลงข่าวโครงการอนุรักษ์จระเข้ในธรรมชาติ โดย ดร.วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า โครงการอนุรักษ์ดังกล่าวเป็นโครงการความร่วมมือดูแลที่จะอนุรักษ์จระเข้ในธรรมชาติให้มีโอกาสขยายพันธุ์เพิ่มจำนวน ไม่ตกอยู่ในสถานะที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ โดยมีการทำงานบูรณาการร่วมกันหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจแหล่งที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม การตรวจพันธุกรรมจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยเพื่อปล่อยสู่ธรรมชาติ พร้อมติดวิทยุสื่อสารเพื่อเฝ้าระวังและศึกษาพฤติกรรม ขณะที่นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า ปัจจุบันจระเข้น้ำจืดในธรรมชาติเหลือประมาณ 200 ตัว ถือว่าน้อยเกินไป อีกทั้งบางพื้นที่ เช่น พื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีจระเข้อยู่ 3 ตัว แต่เป็นตัวเมียไม่สามารถผสมพันธุ์กันได้ ประชากรของจระเข้จึงไม่เพิ่มขึ้น 3 ปีที่ที่ผ่านมาได้ทดลองนำร่องปล่อยจระเข้คืนสู่ธรรมชาติ 20 ตัว ในพื้นที่ป่าปางสีดา คาดว่าปัจจุบันสามารถรอดออกสู่ธรรมชาติได้ครึ่งหนึ่ง โดยการคัดเลือกสถานที่ปล่อยนั้น จะปล่อยในแหล่งน้ำในป่าที่ไม่มีเส้นทางน้ำเชื่อมออกมาสู่แหล่งชุมชน นายธีรภัทรกล่าวว่า สำหรับแหล่งจระเข้น้ำจืดของไทยพบได้หลายพื้นที่ เช่น บึงบอระเพ็ด อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ปางสีดา ภูเขียว เขาอ่างฤาไน เป็นต้น แต่สิ่งที่น่าห่วงคือ พบประชาชนนำจระเข้ไปปล่อยยังพื้นที่ที่มิใช่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของจระเข้มาก่อน เช่น พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พบว่าประชาชนนำจระเข้มาปล่อยเพื่อแก้บน ทำบุญสร้างกุศลด้วยการปล่อยสัตว์ใหญ่ เชื่อว่าได้บุญ รวมทั้งพื้นที่เขตป่าอื่นๆ สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศของพื้นที่ป่าบริเวณนั้น เพราะสัตว์เลี้ยงเหล่านี้จะไปผสมพันธุ์กับสัตว์พื้นถิ่นทำให้พันธุ์แท้ของสัตว์กลาย "นอกจากจระเข้แล้ว ยังพบว่ามีการปล่อยงูหลาม นกชนิดต่างๆ ปลา ในเขตอุทยานเพื่อแก้บน รวมทั้งสัตว์ที่ประชาชนเลี้ยงไว้แล้วเลี้ยงไม่ไหวก็นำมาปล่อยด้วย ที่ผ่านมาการพบจระเข้ 2 ตัวที่เขาใหญ่ เข้าใจว่าน่าจะเป็นจระเข้ที่มาจากการแก้บนเช่นกัน ขณะนี้ได้เฝ้าจับตาดูแลไม่ให้เคลื่อนไหวไปยังพื้นที่อื่น" นายธีรภัทรกล่าว รองอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า อยากขอร้องประชาชนที่จะนำสัตว์ต่างถิ่นไปปล่อยในพื้นที่เขตป่าและอุทยาน ให้แจ้งไปยังกรมอุทยานฯ ทางหน่วยงานจะจัดหาสถานที่ในการเลี้ยงดูสัตว์ดังกล่าวต่อไป. |
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น