วันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2556

วิเคราะห์′ไพ่หลายหน้า′ หลังเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. วันที่ 03 มีนาคม พ.ศ. 2556 เวลา 10:36:07 น.




วิเคราะห์′ไพ่หลายหน้า′ หลังเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.

วันที่ 03 มีนาคม พ.ศ. 2556 เวลา 10:36:07 น.
  


หมายเหตุ - มุมมองของนักวิชาการวิเคราะห์ถึงข้อดีข้อเสียในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ รวมทั้งทิศทางการเมืองและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังประกาศผลการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 2 มีนาคม



พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หากการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นผู้ชนะได้กลับมาบริหาร กทม.อีกครั้ง ระบบการบริหารจัดการ กทม.ยังคงเหมือนเดิมและคงทำโครงการที่ได้สัญญาไว้ต่อประชาชน ส่วนที่จะไม่เหมือนเดิมคือต้องโฟกัสไปที่ศึกเลือกตั้ง ส.ก.-ส.ข. ทั้งนี้ คงต้องมองในแง่บวกด้วยว่า กทม.กับรัฐบาลไม่ได้ขัดแย้งกันทุกเรื่อง สามารถทำงานกันได้ เพียงแต่ว่า การบริหารการจัดการน้ำท่วมรอบที่แล้วออกมาชัดเจน เป็นเรื่องการประสานการทำงาน ส่วนการบริหารระดับชาติจะทำให้ประชาธิปัตย์มีที่ยืนมากกว่าขึ้น จะทำให้ฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลและคนเสื้อแดงยังมีที่ยืนทางสัญลักษณ์ทางการเมือง และทำให้ประชาธิปัตย์มีเสียงกระแสการปรองดองมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการพิสูจน์บารมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค และนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค ที่เป็นเสาหลักของพรรค

แต่หาก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครพรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นฝ่ายชนะได้เป็นผู้ว่าฯกทม. เราจะได้ผู้ว่าฯประชาสัมพันธ์เยอะขึ้น แต่ความสัมพันธ์ที่มีกับข้าราชการ กทม. คงต้องใช้เวลา เนื่องจากข้าราชการ กทม.เคยชินกับการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นเวลานาน สิ่งที่ท้าทาย พล.ต.อ.พงศพัศ คือบริหาร กทม. เพราะ ส.ก.-ส.ข.ยังเป็นของประชาธิปัตย์ ต้องรอดูว่าหาก พล.ต.อ.พงศพัศ ได้เป็นผู้ว่าฯกทม.จะมีนโยบายอะไรออกมาที่ชัดเจนเป็นระบบที่รองรับนโยบายส่วนกลาง เท่าที่ผ่านมาประชาชนอาจรู้จักนโยบายส่วนกลางมากกว่ารู้จักนโยบายของ พล.ต.อ.พงศพัศ ทั้งนี้ สำหรับการเมืองในระดับชาติจะทำให้พรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงตื่นเต้นกับชัยชนะ แต่อาจทำให้กระบวนการต่อต้านรัฐบาลรวมตัวออกมาอีกครั้งหนึ่ง ข้อกล่าวหาต่อรัฐบาลอาจมีมากขึ้นและช่องทางในเชิงสัญลักษณ์ในการต่อสู้อาจลดลงไป สุดท้ายจะมีผลต่อภาวะผู้นำของนายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ด้วย

ถ้าผู้สมัครอิสระชนะได้เป็นผู้ว่าฯกทม.หรือมีคะแนนเลือกตั้งที่สูง จะสะท้อนให้เห็นว่าพลังเงียบใน กทม.มีจริง และทำให้เห็นว่าระบบการเมืองปัจจุบันที่แบ่งขั้วเป็นสองพรรคไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่ต้องการ อาทิ 1.ข้ามพ้นความขัดแย้ง 2.ต้องการความใฝ่ฝันใหม่ๆ ของ กทม. 3.เบื่อหน่ายการเมืองที่ผ่านมา แต่สำหรับในแง่บวกประชาชนยังมีศรัทธาในระบบการเลือกตั้งจากที่ประชาชนออกไปเลือกตั้งในครั้งนี้ ส่วนในระดับประเทศจะสะท้อนให้เห็นว่ามีเสียงอื่นๆ ที่ยังไม่ถูกนับในการต่อสู้บริหารประเทศ ที่สำคัญทำให้เห็นว่าคนไม่เอาพรรคประชาธิปัตย์ก็มี ไม่ใช่แค่ไม่เอาพรรคเพื่อไทยอย่างเดียว

ทั้งนี้ ข้อดีของการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งนี้ จะทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนที่นำไปสู่ความพยายามการเลือกตั้งในที่อื่นๆ ยิ่งหากพรรคประชาธิปัตย์ชนะ ยิ่งทำให้ประชาชนอยากเลือกตั้งผู้ว่าฯในที่ต่างๆ เยอะขึ้น และหากเพื่อไทยชนะก็จะเป็นแรงจูงใจในการผลักดันให้เกิดการกระจายอำนาจในพื้นที่ต่างๆ


ศิโรฒน์ คล้ามไพบูลย์
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

หาก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้เป็นผู้ว่าฯกทม. พล.ต.อ.พงศพัศอาจจะต้องใช้เวลาในการปรับตัว เนื่องจากไม่มีประสบการณ์ในการบริหารงาน กทม. เพราะเป็นตำรวจได้สัมผัสมาแต่งานทางด้านการประชาสัมพันธ์ รวมทั้งต้องปรับตัวให้เข้ากับสมาชิกสภา กทม.ด้วย อย่างไรก็ตามจะได้นโยบายใหม่และนโยบายที่สร้างสรรค์มากกว่าแผนแม่บทของ กทม.ที่ได้วางไว้ และจะได้เห็นว่านโยบายที่พรรค พท.ประกาศออกมาจะสามารถทำให้เป็นจริงได้หรือไม่

ขณะที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้รับเลือก ไม่จำเป็นต้องปรับตัวเพราะว่าเคยทำงานผู้ว่าฯกทม.มาแล้วหนึ่งสมัย อย่างไรก็ตามในเรื่องนโยบายจะเป็นนโยบายเดิมที่เคยทำไว้แต่ยังไม่เสร็จ นโยบายที่จะได้ก็จะเป็นไปตามแผนแม่บทของ กทม.

สำหรับการประสานร่วมกันระหว่าง กทม.กับรัฐบาลไม่น่าจะมีปัญหาเนื่องจากระบบของ กทม.ได้วางไว้เป็นอย่างดีแล้ว และที่ผ่านมาผู้ว่าฯกทม.ในอดีตก็ไม่เคยมีปัญหากับรัฐบาลที่มาจากคนละพรรค เช่นสมัยที่นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าฯกทม. ไม่เคยมีปัญหาในเรื่องการบริหารงานกับสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และนายสมัคร สุนทรเวช หรือแม้กระทั่งนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นรัฐบาล

ส่วนภาพใหญ่การเมืองของพรรค ปชป.หากไม่ได้รับเรื่องตั้ง แน่นอนว่าจะเป็นช่วงขาลงของ ปชป. เพราะสามารถรักษาฐานเสียงการเมืองเพียงแค่ภาคใต้เท่านั้น ที่น่าจับตามองน่าจะมีการปฏิรูป ปชป.เกิดขึ้นหลังผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ออกมา

ส่วน พท.หาก พล.ต.อ.พงศพัศชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ถือเป็นช่วงขาขึ้นอย่างมากในสมัยที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะสมัยที่ผ่านมา โดยเฉพาะการนำของ พ.ต.ท.ทักษิณไม่สามารถชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ได้เลย ในอนาคตหาก พท.สามารถชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ได้ จะทำให้เป้าหมายต่อไปที่จะต้องผลักดันคือการช่วงชิงจำนวนที่นั่งของ ส.ส.ในเขต กทม.ให้เพิ่มมากขึ้นเหนือ ปชป.ต่อไป


วิโรจน์ อาลี
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

หาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกตั้งอีกหนึ่งสมัย คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากหนักสำหรับคนกรุงเทพฯ แต่สำหรับตัวของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์คงมีความตั้งใจที่อยากจะทำให้คนกรุงเทพฯมากขึ้นกว่าเก่า เพราะการกลับมาครั้งนี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่หาก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะ แสดงให้เห็นว่าประชาชนอาจจะมองเห็นถึงความต่อเนื่องกันของนโยบายรัฐบาลกับนโยบายของกรุงเทพมหานครแล้ว ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมารัฐบาลพรรคเพื่อไทยประสบความสำเร็จในการนำนโยบายหาเสียงไปใช้ได้อย่างจริงจังในการบริหารประเทศในระดับชาติ อีกทั้งยังเป็นการบ่งบอกให้เห็นถึงการให้ความยอมรับของคนกรุงเทพฯที่อยากเห็นการประสานงานกันอย่างไร้รอยต่อระหว่างหน่วยงานของรัฐบาลกับกรุงเทพมหานคร สำคัญที่สุดนั่นคือ ชัยชนะครั้งนี้ เป็นชัยชนะครั้งแรกของพรรคเพื่อไทยในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.

หากพรรคประชาธิปัตย์แพ้ ความเปลี่ยนแปลงภายในพรรคจะเกิดขึ้นมากแน่นอน เพราะเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม.เป็นสิ่งสุดท้ายที่พรรคประชาธิปัตย์หลงเหลืออยู่ อย่างไรก็ตามจะต้องมีแรงกดดันจากบุคคลภายในพรรคประชาธิปัตย์เกิดขึ้นมาอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะทิศทางของการหาเสียง การคัดเลือกผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งจะเป็นประเด็นทั้งหมด จะมีการหยิบยกขึ้นมาพูดคุย จนกระทั่งนำไปสู่การปรับเปลี่ยนหลายสิ่งหลายอย่างและหลายเรื่องเกี่ยวกับนโยบายในภาพรวมของพรรคประชาธิปัตย์เองในอนาคต

ส่วนทัศนคติต่อพรรคเพื่อไทยของคนกรุงเทพฯ คงเปลี่ยนไปในแง่ที่ว่า อยากจะลองดูว่าพรรคเพื่อไทยจะสามารถบริหารงานในระดับการเมืองท้องถิ่นได้ดีแค่ไหน สามารถที่จะเชื่อมนโยบายต่างๆ ของรัฐเข้าสู่นโยบายของ กทม.ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะในรอบไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีการพูดเรื่องรถไฟความเร็วสูง สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน หรือนโยบายต่างๆ ที่มุ่งไปสู่นโยบายของชนชั้นกลาง ที่เป็นนโยบายในเชิงเศรษฐกิจมากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นความได้เปรียบของพรรคเพื่อไทย แต่ยังไม่แน่ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้หรือไม่ คงต้องดูกันวันที่ 3 มีนาคมนี้

อีกทั้งหากพรรคเพื่อไทยชนะ ยังเป็นการตอกย้ำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เห็นว่า การหยิบยกเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง หรือเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองมาใช้นั้น จะไม่มีประโยชน์อีกต่อไป และยังเป็นการบ่งบอกให้เห็นว่าคนกรุงเทพฯอยากจะลืมและอยากจะเดินไปข้างหน้า ที่จะทำให้คุณภาพชีวิตเกิดความเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น