ปชป.ล้มกระดานมติพรรคปฏิเสธเลือกตั้ง
สรุปข้อยุติที่ประชุมใหญ่สาขา5ภาคจุดยืนชัดเจน
“ปชป.” ทิ้งไพ่ตาย มีมติบอยคอตเลือกตั้ง 2 ก.พ. เชื่อไม่ตอบโจทย์ประเทศขณะนี้ อ้าง ปชช.หมดความศรัทธาระบบการเมืองแล้ว ลั่นขอหลอมรวมเป็นหนึ่งกับ ปชช. ร่วมปฏิรูปประเทศ ล้างระบอบทักษิณอย่างยั่งยืน ขณะที่ “นายกฯ ปู” หลังพิงฝายันเดินหน้าเลือกตั้ง 2 ก.พ. พร้อมชงลงสัตยาบันตั้งสภาปฏิรูปประเทศไทยทันทีหลังเลือกตั้ง วาระ 2 ปี วอนทุกฝ่ายร่วมหาแนวทางแก้วิกฤติชาติ ขณะที่ “พท.” ถกเครียดพรรคร่วม ก่อนออกแถลงการณ์ ย้ำจุดยืนเดินหน้าเลือกตั้ง 2 ก.พ. ลั่นปฏิรูปคู่ขนานเลือกตั้ง ด้าน “ชทพ.” ประกาศพร้อมลงสนามเลือกตั้ง 2 ก.พ. “บรรหาร” ชูธงเป็นรัฐบาล ปฏิรูปประเทศภายใน 1 ปี ส่วน “บิ๊กบัง” หนุนเลื่อนวันเลือกตั้ง
ปชป.คึกถกส่ง-ไม่ส่งเลือกตั้ง
เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ มีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค อดีต ส.ส. และสมาชิกประชาธิปัตย์ เพื่อหารือเรื่องการจะลงหรือไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยตั้งแต่เวลา 14.30 น. ได้มีบรรดา ส.ส.ของพรรคต่างทยอยกันเดินทางเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก โดยแต่ละคน ต่างมีสีหน้าสดใส โดยบรรดาว่าที่รองหัวหน้าพรรคในแต่ละภาคต่างก็มีสีหน้าสดใส กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคก็ได้เดินทางมาถึงที่ทำการพรรคในเวลา 15.00 น. โดยประมาณ จากนั้นก็ตรงขึ้นห้องประชุมชั้น 3 อาคาร ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ไปในทันที อย่างไรก็ตามในการประชุมวันนี้ไม่ปรากฏว่ามีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตเลขาธิการพรรคและนายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคเข้าร่วมประชุมด้วยแต่อย่างใด และจากการพูดคุยกับอดีต ส.ส.ของพรรคหลายคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าหากพรรคมีมติออกมาอย่างไร ก็พร้อมรับมติ
มติ ปชป.บอยคอตเลือกตั้ง 2 ก.พ.
จากนั้น เมื่อเวลา 17 .20 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคว่า พรรคมีมติไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. มตินี้เป็นข้อสรุปที่เกิดขึ้นจากการพิจารณาและกระบวนการที่มีความรอบคอบ และการมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรคอย่างแท้จริง โดยในการประชุมนั้น มีการรายงานจากเลขาธิการพรรค ที่มีการสอบถามความคิดเห็นของสาขาพรรคทั่วประเทศต่อกรณีการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น รวมไปถึงการให้รองหัวหน้าพรรคในทุกภาค ที่มีการประชุมหารือกับอดีต ส.ส.แต่ละภาค ความเห็นของทุกฝ่ายไปในทางเดียวกันว่าพรรคไม่สมควรส่งผู้สมัคร เหตุผลที่ ปชป.ตัดสินใจเช่นนี้ เพราะวันนี้ ปชป.มองเห็นว่า การเมืองของประเทศไทย ได้อยู่ในภาวะที่ล้มเหลวมาเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 8-9 ปี สืบเนื่องจากระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะถูกบิดเบือนโดยบุคลบางกลุ่ม และทำให้วันนี้ประชาชน ขาดความศรัทธาในระบบนักการเมืองและการเลือกตั้ง หาสภาดังกล่าวดำรงต่อไปบ้านเมืองใหม่ มีการปฏิรูปเราจะตกอยู่ในภาพความขัดแย้งสูง และการทุจรติคอรัปชั่นจะดำรงไปอย่างต่อเนื่อง พรรคประชาธิปัตย์ยอมรับว่า ใน 8-9 ปีที่ผ่านมาเราพยายามแก้ไขสภาพการเมืองที่ล้มเหลว แต่วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ ต้องหาแนวทางในการแก้ปัญหาที่แท้จริง ประเทศไทยได้สูญเสียโอกาสมาเป็นระยะเวลายาวนาน ทั้งในแง่การทุจริตคอรัปชั่น นโยบายที่ล้มเหลว การเลือกตั้งครั้งนี้จึงไม่สามารถให้คำตอบหรือปฏิรูปประเทศให้หลุดพ้นวงจรนี้ และไม่อาจทำให้ประชาชนกลับมาศรัทธาระบบพรรคการเมืองและการเลือกตั้งได้
เชื่อเลือกตั้งไม่ตอบโจทย์ประเทศ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า แม้พรรคส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งก็ไม่อาจคลายวิกฤตศรัทธาได้ ซึ่งนับตั้งแต่มีการยุบสภาเป็นต้นมาได้ใช้ความพยายามอย่างถึงที่สุดที่จะกอบกู้ศรัทธาประชาชนให้มาสนับสนุนการเลือกตั้งและรัฐบาลหลังเลือกตั้งที่จะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศ แต่เราพบความจริงว่าการลงสมัครเลือกตั้งเป็นการช่วงชิงอำนาจแบบเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ตนพยายามถึงขั้นที่จะพิสูจน์ว่าความรู้สึกของประชาชนใช้ไม่ได้กับพรรคประชาธิปัตย์ โดยอาสาว่าพรรคจะเป็นเครื่องมือในการปฏิรูปเพราะเชื่อว่าการต่อสู้กับระบอบทักษิณในขั้นสุดท้ายจะประสบความสำเร็จได้ไม่ผ่านกระบวนการประชามติก็ต้องผ่านการเลือกตั้งแต่ขณะนี้ไม่สามารถดำเนินการได้ ตนพยายามค้นหาบุคคลที่ประชาชนเชื่อมั่นว่าจะปฏิรูปประเทศได้ โดยพรรคลงสมัครและให้บุคคลที่มีคุณสมบัติดังกล่าวเป็นนายกฯ คัดเลือกรัฐมนตรีปฏิรูปประเทศได้อย่างอิสระ พรรคจะเป็นเพียงเสียงข้างมากในสภาสนับสนุนให้การปฏิรูปสำเร็จแล้วคืนอำนาจให้กับประชาชน แต่บุคคลที่ตนไปพูดคุยและความรู้สึกของประชาชนที่ตนไปสอบถามก็ยังยืนยันว่าไม่สามารถทำให้เกิดความเชื่อมั่นการปฏิรูปหลังการเลือกตั้งได้ แม้แต่ตัวแทนภาคธุรกิจยังเห็นว่าแม้จะมีสัตยาบันของพรรคการเมืองก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดความเชื่อถือจากประชาชน ในฐานะพรรคการเมืองที่มีความเชื่อในการปฏิรูป ตนรู้สึกเสียใจเพราะการปฏิรูปหลายอย่างพรรคพยายามดำเนินการมาแล้วในช่วงที่มีอำนาจ เคยเสนอกฎหมายให้ความผิดทางทุจริตไม่มีอายุความ การปฏิรูประบบภาษีให้เก็บภาษีที่ดิน ทรัพย์สินและข้อเสนอจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศฯ ในอดีต แต่แม้ว่าพรรคจะทำงานสนับสนุนการปฏิรูปอย่างชัดเจน แต่ประชาชนก็ไม่เชื่อว่าพรรคจะทำให้เกิดการปฏิรูปได้ โดยมองว่าจะถูกขัดขวางโดยระบอบทักษิณ ทำให้ตกอยู่ในสภาพว่าพรรคจะลงสมัครหรือไม่ไม่สามารถตอบคำถามเรื่องความชอบธรรมของการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ เมื่อพรรคไม่ลงสมัครการเลือกตั้งจะชอบธรรมหรือไม่ประชาชนจะเป็นผู้ให้คำตอบ ถ้าประชาชน 70 % ขึ้นไปตัดสินใจไปเลือกตั้งการเลือกตั้งก็ชอบธรรม แต่ถ้าพรรคลงสมัครโดยประชาชนไปใช้สิทธิไม่ลงคะแนนให้พรรคใดเป็นจำนวนมากการเลือกตั้งก็จะไม่ชอบธรรม เพราะประชาชนได้แสดงออกแล้วว่าจะไม่รับรองความชอบธรรมจากการเลือกตั้งครั้งนี้
ลั่นต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า พรรคต้องการให้โอกาสกอบกู้ศรัทธาประชาชนต่อพรรคการเมืองในระบบรัฐสภา บ้านเมืองมาถึงวันนี้เพราะรัฐบาลทรยศต่อความไว้วางใจที่ประชาชนมอบให้ อย่าให้ฝ่ายค้านต้องทำเหมือนรัฐบาลเลย หลังปฏิรูปต้องมีสภา ต้องมีพรรคการเมือง ขอให้มีพรรคการเมืองสักพรรคหนึ่งที่พร้อมทำเพื่อประเทศชาติไม่ใช่ทำเพื่อตัวเอง เห็นแก่ความเปลี่ยนแปลงมากกว่าการช่วงชิงอำนาจ หลอมรวมให้พรรคการเมืองเป็นหนึ่งเดียวกับประชาชนเพื่อปฏิรูปประเทศ ผมขออภัยพี่น้องประชาชนที่ตั้งใจเลือกพรรคประชาธิปัตย์ เพราะไม่ได้คิดว่าจะแพ้หรือเป็นฝ่ายค้าน แต่เชื่อว่าในสถานการณ์ปกติพรรคจะได้คะแนนมากที่สุดตั้งแต่ตั้งพรรค และจะมีโอกาสเป็นรัฐบาลแต่จะมีการจัดตั้งมวลชนมาขัดขวางทำให้เกิดปัญหาเดิม หรือหากประชาธิปัตย์แพ้ก็พิสูจน์แล้วว่าทำหน้าที่ฝ่ายค้านเต็มความสามารถด้วยความเต็มใจ เราไม่ใช่พรรคการเมืองที่เห็นคุณค่าความเป็นพรรคการเมืองเพื่อก้าวสู่ผลประโยชน์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยไม่ต้องคิดถึงตนในสภาเพราะในวันที่ตนอยู่ในสภา น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ไม่มาสภา ถึงเวลานักการเมืองส่องกระจกตัวเอง กลับมากอบกู้ศรัทธา พวกตนเลือกเส้นทางที่ยากและยาวในการที่จะเป็นตัวแทนประชาชน ขอให้ประชาชนร่วมเดินกับพรรค จะเกิดการปฏิรูปที่ยั่งยืนทำให้ศรัทธากลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยอีกครั้งอย่างยั่งยืน
“ปู” ยันเดินหน้าเลือกตั้ง 2 ก.พ.
ขณะที่ เมื่อเวลา 14.30 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ จากศาลากลาง จังหวัดกาฬสินธุ์ ผ่านช่อง 11 ถึงสถานการณ์บ้านเมืองว่า ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ซึ่งกำหนดวันเลือกตั้งไว้ในวันที่ 2 ก.พ.57 แล้วนั้น รัฐบาลขอยืนยันเจตนารมณ์ที่ต้องการพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญและปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ด้วยการให้ประชาชน มีสิทธิ มีเสียงทั่วประเทศ และมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน เป็นผู้กำหนดทิศทางของประเทศ และร่วมกันหาทางออกจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองภายใต้กรอบกติกาประชาธิปไตยอันเป็นที่ยอมรับของสากล ในขณะเดียวกัน จากเวทีการระดมความคิดเห็นต่างๆ รัฐบาลมีความเห็นที่สอดคล้องว่า การดำเนินการปฏิรูปประเทศทั้งในมิติของการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมนั้น มีความจำเป็น ซึ่งรัฐบาลก็พร้อมที่จะร่วมในการผลักดันและสนับสนุนให้เกิดการปฏิรูปที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์กับประชาชนทั้งประเทศอย่างแท้จริง รัฐบาลขอยืนยันด้วยว่ากระบวนการปฏิรูปประเทศนั้นสามารถที่จะดำเนินการคู่ขนานกันไป โดยไม่ขัดแย้งกับกระบวนการเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งอาณาจักรไทย ตรงกันข้ามกลับเป็นความจำเป็นด้วยซ้ำที่การเลือกตั้งจะต้องเดินหน้า เพื่อให้มีฝ่ายนิติบัญญัติเป็นกลไกลหลักในการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่า ภายหลังการเลือกตั้ง สภาและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะเกิดขึ้นใหม่ ต้องผลักดันให้การปฏิรูปประเทศเดินหน้า
เสนอลงสัตยาบันปฏิรูปหลังเลือกตั้ง
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลจึงขอประกาศดังนี้ 1.พรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้งและองค์กรภาคส่วนต่างๆ ต้องร่วมให้สัตยาบันว่า ภายหลังมีสภาและ ครม.แล้ว ต้องตั้งสภาปฏิรูปประเทศโดยทันที 2.การตั้งสภาปฏิรูปประเทศประกอบด้วย องค์กรวิชาชีพ พรรคการเมือง ที่ประชุมอธิการบดี กระทรวง ส่วนราชการ สถานบันการศึกษา กลุ่มที่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่สำคัญ 3.สภาปฏิรูปประเทศดังกล่าว จะทำงาน 2 ปี เพื่อจัดทำกลไกลปฏิรูปประเทศในระยะยาว โดยเน้นที่การปฏิรูปการเมือง ข้อเสนอดังกล่าวเป็นเบื้องต้น เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นให้ส่วนต่างๆ ได้ระดมความเห็น เพื่อให้กลไกลเดินหน้า รัฐบาลตั้งใจไว้ว่า หากทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน การปฏิรูปประเทศจะเกิดขึ้นเร็วที่สุด ขอให้ประชาชนร่วมกัน เราจะหาแนวทางแก้ไขวิกฤตทางการเมือง เพื่อความสงบสันติของประเทศต่อไป
“พท.” ยันเดินหน้าเลือกตั้ง 2 ก.พ.
นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้อ่านแถลงการณ์พรรคเพื่อไทย ว่า 1. พรรคเพื่อไทยสนับสนุนการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.57 เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยและปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาฯ 2.พรรคเพื่อไทยมุ่งมั่นผลักดันการปฏิรูปประเทศควบคู่ไปกับการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 2 ก.พ.57 3.หากพรรคเพื่อไทยได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชน และมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะเร่งดำเนินการปฏิรูปประเทศหลังจากนั้นจะคืนอำนาจให้พี่น้องประชาชนโดยเร็ว คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณ 1 ปี และ 4.พรรคเพื่อไทยขอร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันการปฏิรูปประเทศเพื่อให้ประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตย ความยุติธรรม และความโปร่งใส ในเรื่องดังกล่าวได้มีการหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลแล้วซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลมีความเห็นที่สอดคล้องกับพรรคเพื่อไทย แต่ก็ต้องให้แต่ละพรรคแถลงจุดยืนของตัวเองส่วนกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์บอยคอตการเลือกตั้ง ถือว่าไม่เหนือความคาดหมายรู้มานานแล้ว รู้มาเป็นเดือน ส่วนวันรับสมัครเลือกตั้งวันที่ 23 ธ.ค. ที่มีข่าวว่ามวลชน กปปส. จะไปปิดล้อมสถานที่รับสมัครพรรคพร้อมและไม่ประมาทกับเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงบ่ายวันที่ 21 ธ.ค. แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล อาทิ นายจารุพงศ์ นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แกนนำพรรคชาติพัฒนา และ นายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล ได้มาหารือร่วมกันถึงแนวทางการเลือกตั้งควบคู่กับการจัดตั้งสภาปฏิรูปที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ก่อนที่พรรคเพื่อไทยจะมีแถลงการณ์ดังกล่าวออกมา
“พท.” ซัด ปชป.สร้างความชอบธรรม
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การเดินสายของแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ไปยังพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อชวนให้เลื่อนการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.57 ออกไปก่อนนั้น ก็เพื่ออ้างความชอบธรรมว่าได้เสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป เพื่อจะได้รองรับมติการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคและอดีตผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ 21 ธ.ค.ใช่หรือไม่ ทั้งนี้ ตนได้รับข้อมูลว่า ประธานสาขาพรรคประชาธิปัตย์โดยเฉพาะในภาคใต้นั้นได้ออกมาบอกว่าอาจจะไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งแสดงให้เห็นนัยยะได้ว่า การประชุมของพรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ 21 ธ.ค. น่าจะมีมติให้บอยคอตการเลือกตั้งใช่หรือไม่ นอกจากนี้ เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมาที่ จ.ชลบุรี มีการจัดเวทีของฝ่ายค้านเพื่อรณรงค์ให้มีการเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การประชุมของพรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ 21 ธ.ค. น่าจะช่วยหาทางออกให้ประเทศ นำประเทศออกจากวิกฤติความขัดแย้ง ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ที่สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่ม กปปส. เพราะถ้าพรรคประชาธิปัตย์บอยคอตการเลือกตั้งคนอาจจะมองว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ลงเลือกตั้งเพราะต้องการเล่นการเมือง 2 ขา ทำการเมืองสอดคล้องกับกลุ่ม กปปส. ทั้งๆ ที่เป็นพรรคที่มีอุดมการณ์เก่าแก่ที่สุดของประเทศ
จวก ปชป.จูงประเทศสู่ทางตัน
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ ส่งตัวแทนไปยื่นหนังสือให้พรรคการเมืองต่างๆ รวมถึงพรรคเพื่อไทย เพื่อให้เลื่อนกำหนดวันเลือกตั้งออกไปก่อนนั้น พรรคเพื่อไทยเป็นสถาบันการเมืองเป็นพรรคการเมืองของประชาชนที่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และได้มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.57 ไว้แล้ว จะเลื่อนได้อย่างไร เลื่อนวิธีไหน เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 108 กำหนดให้มีการเลือกตั้งภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน หลังจากยุบสภา ถ้ารัฐบาลเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด ก็จะกลายเป็นผู้กระทำผิดรัฐธรรมนูญเสียเอง และถ้าพวกหัวหมอไปยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ก็อาจจะทำให้ไม่มีการเลือกตั้งหรือผลการเลือกตั้งเป็นโมฆะอะไรก็เกิดขึ้นได้ แล้วจะทำให้บ้านเมืองถึงทางตันทำไม จะฉุดรั้งประเทศไปถึงไหน ช่องทางรองรับการเลือกตั้งกับการปฏิรูปประเทศเดินไปพร้อมกันได้ ทำคู่ขนานกันไป หรืออาจจะเสนอเป็นนโยบายต่อประชาชนในการเลือกตั้งก็ทำได้และระหว่างพรรคที่ลงเลือกตั้ง กับพรรคที่จะบอยคอตการเลือกตั้ง ใครกันแน่ที่ควรจะต้องรับผิดชอบหากเกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง
นปช.ไว้อาลัย ปชป.บอยคอต ลต.
วันเดียวกัน ที่ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียล ลาดพร้าว แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ร่วมกันแถลงข่าว โดยนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ แกนนำ นปช. กล่าวว่า วันนี้จะมีเรื่องสำคัญ 2 เรื่อง คือ 1.พรรคประชาธิปัตย์จะประกาศว่าบอยคอตการเลือกตั้งหรือไม่ โดยทั่วไปคนเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์น่าจะบอยคอตการเลือกตั้ง ซึ่งหมายความว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้ทำลายพรรคการเมืองของตัวเองเรียบร้อยขอให้คนไทยตระหนักว่าพรรคการเมืองที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด 60 ปี เป็นที่น่าผิดหวังอย่างยิ่งที่พรรคการเมืองนี้ทำลายความเป็นพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบ เราขอไว้อาลัยให้พรรคประชาธิปัตย์ที่ปิดฉากทางการเมืองอย่างสิ้นเชิงถ้าบอยคอตการเลือกตั้ง 2.กกต.ได้รับการสนับสนุนจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แต่พูดเรื่องการเลื่อนเลือกตั้ง วันนี้ยังออกมาชี้นำว่า ถ้ามีการฉีกบัตรเลือกตั้งเป็นแสนคนจะทำอย่างไร ท่านพูดทำไม หน้าที่ กกต.คือจัดการเลือกตั้งให้ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าอยากขัดขวางการเลือกตั้งมาก ขอให้ กกต.ทั้งหมดลาออกทั้งคณะอาจจะได้เลื่อนการเลือกตั้งแน่นอน อย่างไรก็ตามทางสภาหอการค้าไทย ซึ่งเป็นตัวแทนของ 7 องค์กรภาคเอกชน ได้โทรศัพท์มาหารือกับตนว่า จะขอเป็นตัวแทนในการดูแลการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม
ชี้ปิดฉากพรรคเก่าแก่ทำลาย ปชต.
ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. กล่าวว่า ในช่วง 3 วันนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออีกครั้งหนึ่ง พรรคประชาธิปัตย์จะบอยคอตการเลือกตั้งก็ช่างหัวพรรคประชาธิปัตย์ สมาชิกที่เขาต้องการลงเลือกตั้ง ไปหาพรรคใหม่สังกัดภายใน 30 วันก็พอแล้ว เราจะได้เห็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ลาออกไปลงสมัครรับเลือกตั้งกับพรรคอื่นในหลายพื้นที่ เรื่องการจัดการเลือกตั้งมีการปลุกระดมว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม อยากให้ กกต.รับทราบว่าถ้าจะจัดการเลือกตั้งก็ขอให้ประกาศจุดยืนชัดเจนว่าจะจัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม ตนคิดว่าปีใหม่นี้ก็ยังไม่จบ ช่วงปีใหม่คงได้พักกันบ้างเพื่อเที่ยวฉลองปีใหม่ แต่อาจจะยังไม่จบ นายสุเทพอาจเลื่อนการนัดอัยการคดีสลายการชุมนุมในวันที่ 8 ม.ค. แต่เชื่อว่าถึงช่วงต้นปีนายสุเทพอาจจะเครียดมากกว่า เราต้องสู้กันอีกยาวไกลปีนี้ไม่จบก็สู้กันถึงปีหน้า
ชทพ.ปฐมนิเทศผู้สมัคร ส.ส.
วันเดียวกัน เมื่อเวลา 09.30 น. ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ พรรคชาติไทยพัฒนา จัดงานปฐมนิเทศผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคชาติไทยพัฒนา โดยมีแกนนำพรรคเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก อาทิ นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค นายธีระ วงศ์สมุทร หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา นายประภัตร โพธสุธน นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล นายนิกร จำนง และนายยุคล ลิ้มแหลมทอง นายธีระ กล่าวเปิดงานว่า พรรคชาติไทยพัฒนา มีความจำเป็นต้องดำเนินการทางการเมือง ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ นอกจากนั้น ในทางพฤตินัยพรรคการเมืองมีหน้าที่นำเสนอนโยบายของพรรคต่อประชาชน ให้ประชาชนสนับสนุนนำไปให้เกิดการปฏิบัติต่อไป ทั้งนี้ จากสถานการณ์ทางการเมืองมีปัญหา มีความขัดแย้งอย่างรุนแรง พรรคชาติไทยพัฒนายึดถือความสามัคคีปรองดองมาตลอด พรรคไม่เคยมีปัญหาความขัดแย้งกับพรรคการเมืองใด พรรคชาติไทยพัฒนาพยายามทำให้ความขัดแย้งใดๆ ในสังคมกลับเข้าสู่ความสมานฉันท์ของคนไทยด้วยกัน เห็นได้จากนายบรรหาร เดินสายพบปะแกนนำกลุ่มต่างๆ สร้างความสามัคคีปรองดองให้เกิดขึ้น จากนั้นรับทำหน้าที่ประสานพูดคุย เชิญบุคคลสำคัญเข้าร่วมเวทีเดินหน้าประเทศ แสดงให้เห็นถึงความพยายามอย่างสุดความสามารถในการสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง ปณิธานของพรรคชาติไทยพัฒนาคือการ “ก้าวข้ามความขัดแย้ง ร่วมแรงปฏิรูปประเทศไทย” สิ่งสำคัญที่สุด และขอให้สมาชิกพรรคมีความเชื่อมั่นในความเป็นพรรคการเมืองที่มีเกียรติภูมิ ความเป็นมาที่สำคัญ อยากให้ทุกคนปฏิบัติต่อสถานการณ์การเมืองขณะนี้ คือสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นทุกทาง ทั้งการหาเสียงเลือกตั้งกับประชาชน และการปฏิบัติต่อผู้แข่งขันทางการเมือง ซึ่งขอให้ทุกคนปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยบริสุทธิ์ ยุติธรรม
“บรรหาร” หนุนเลือกตั้ง
ขณะที่นายบรรหาร กล่าวว่า พร้อมลงเลือกตั้ง และตนจะเป็นผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 และจะถือธงนำหาเสียงทุกภาค จึงอยากขอให้ผู้สมัครของพรรคยึดและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน ยืนยันว่าตนต้องวางตัวเป็นกลาง และถอยทีถ้อยอาศัยกัน ซึ่งมองวิกฤติของบ้านเมืองขณะนี้ยังมีทางออกคือ ให้เดินเข้าสู่การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.57 และไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาล ต้องบริหารประเทศคู่ไปกับการปฏิรูปประเทศ และทำให้เสร็จภายใน 1 ปี จากนั้นให้ยุบสภาผู้แทนราษฎรและเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งนี้จากปัญหาทางการเมืองที่ผ่านมา ที่มีทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง ตนตกเป็นผู้ถูกกระทำ ซึ่งตนได้คุยกับ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา บุตรสาว และนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาพรรค ว่าจะให้ตนอยู่ข้างไหนดี เพราะไม่ว่าอยู่กับเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์ก็ถูกกระทำทั้งนั้น ซึ่งนายสมศักดิ์ ระบุว่า ให้เป็นรัฐบาลเสียเอง โดยตนมองว่าไม่แน่ เพราะที่ผ่านมายังเคยมีพรรคการเมืองที่มี ส.ส.18 คนเป็นรัฐบาลมาแล้ว ในการเปิดรับสมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ วันที่ 23 ธ.ค. ส่วนตัวไม่ทราบว่าจะมีเหตุรุนแรงหรือไม่ ขอปล่อยให้เป็นเรื่องของอนาคต แต่คงจะไม่เข้าไปพูดคุยกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. เพื่อขอให้ยุติการนำประชาชนออกมาชุมนุมเพราะอาจจะพูดกันไม่รู้เรื่อง และไม่แน่ใจว่าปัจจุบันเขายังเห็นเป็นเพื่อนหรือไม่ ทั้งนี้พรรคชาติไทยพัฒนาพร้อมลงเลือกตั้งตามที่มีการกำหนด แต่ไม่ขอประเมินเรื่องจำนวน ส.ส. เพราะเป็นเรื่องของอนาคต ส่วนที่มีอดีต ส.ส. และสมาชิกจากพรรคการเมืองอื่นมาร่วมงานการเมืองถือเป็นเรื่องปกติ เช่นเดียวกับคนของพรรคที่ไปทำงานการเมืองกับพรรคอื่น
ภท.จัดเสวนาหาทางออกชาติ
วันเดียว เมื่อเวลา 13.15 น. ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นเจ้าภาพจัดเวทีหาทางออกประเทศร่วมกัน โดยเชิญพรรคการเมืองกว่า 19 พรรคและกลุ่มการเมืองต่างๆ มาร่วมหารือ อาทิ นายวัฒนา เมืองสุข ตัวแทนพรรคเพื่อไทย (พท.) พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ (มภ.) นอกจากนี้ ยังมีพรรคเล็กเข้าร่วมด้วย อาทิ พรรคไทยก้าวหน้า พรรคคนกีฬา พรรคชาติสามัคคี พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ฯ ลฯ รวมถึงนายถาวร เสนเนียม ที่เป็นตัวแทนจาก กปปส. ก็มาร่วมเช่นกัน ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมหารือ โดยนายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ แจ้งว่า หัวหน้าพรรคติดภารกิจ จึงมอบจดหมายมาแทน โดยมีเนื้อหาว่ายืนยันขอให้มีการเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปก่อน เพราะเกรงว่าจะเกิดความวุ่นวายในช่วงการเลือกตั้ง ด้านนายอนุทิน กล่าวว่า การมาร่วมหาทางออกในวันนี้ ทุกคนต่างมีเจตนาให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและหลังการเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย แต่ท่ามกลางความเห็นต่างเราจะทำอย่างไรให้ประชาชนยอมรับทุกฝ่ายได้ในห้วงที่มีความขัดแย้ง เพื่อจะทำให้ประเทศมีความสงบสุข สมานสามัคคี ไม่มีความขัดแย้งหลงเหลืออยู่ เพราะต้องยอมรับว่าสถานการณ์วันนี้ไม่ปกติ และอาจมีปัญหาหากทุกฝ่ายไม่พูดคุยกัน ดังนั้น พรรคภูมิใจไทย ในฐานะหนึ่งในพรรคการเมือง จึงได้เป็นคนกลางเชิญทุกพรรคการเมืองมาหารือด้วยเจตนารมณ์ต้องการเห็นบ้านเมืองเดินไปได้
“บิ๊กบัง” หนุนเลื่อนเลือกตั้ง
พล.อ.สนธิ กล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญของประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ย่อมหนีไม่พ้นการเลือกตั้ง แต่ต่างคนก็ต่างทัศนคติและวิกฤติชาติวันนี้ ก็เกิดจากความคิดที่ต่างกันของทุกภาคส่วนประเทศ แต่ในเมื่อรัฐบาลเองยอมถอยไปในระดับหนึ่งแล้ว คือการยุบสภา วิถีทางการเมืองจากนี้จึงต้องเข้าสู่การเลือกตั้งใหม่ ถึงแม้จะมีประชาชนบางส่วนมองว่าการเลือกตั้งอาจไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม เพราะระบอบการเลือกตั้งยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร แต่ในส่วนพรรคมาตุภูมิยังยืนยันว่า จะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง เพราะเราเห็นด้วยกับการเลือกตั้งและยังเห็นด้วยกับการปฏิรูปเพราะ 80 ปีมาแล้วที่ประเทศเคยมีการปฏิรูป มาวันนี้ก็ควรจะต้องมีการปรับสิ่งเก่าๆ บ้าง เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ แต่การเลือกตั้งหรือการปฏิรูป อะไรจะมาก่อนหรือหลัง ตนตอบไม่ได้ และไม่ทราบว่ามวลมหาชนคิดอะไรอยู่ เราไม่ทราบจริงๆ เลยต้องพูดกั๊กๆ แบบนี้
กปปส. แนะฟังเสียง ปชช.
ส่วนนายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส. กล่าวว่า ถึงแม้ตัวเลขผู้ชุมนุมที่เคลื่อนไหวจะมีไม่ถึง 15 ล้านคน เชิงปริมาณจะมากหรือน้อยไม่รู้ แต่ในเมื่อประชาชนออกมาเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องอำนาจของประชาชนเอง และเป็นการเตือนสตินักการเมืองและฝ่ายบริหารก็ควรฟังบ้าง แม้จะไม่รู้ว่า กปปส.จะทำได้ถึง 95 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ แต่ถ้าหากมีการเลือกตั้ง และมีพรรคที่ได้จัดตั้งรัฐบาล แต่ก็เชื่อว่ายังอาจมีปัญหาที่ไม่ได้รับการยอมรับอยู่ ดังนั้น ทุกพรรคการเมืองจึงควรหยุดการเลือกตั้งไว้สักระยะหนึ่ง แล้วมาคุยกันเพื่อสร้างกติกาใหม่ ทั้งนี้ ยืนยันว่าทุกสีทุกอาชีพได้มีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศ ส่วนที่กังวลว่า กปปส.จะเข้ามายุ่มย่ามพวกเราก็พร้อมออกมา เพราะแม้แต่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ยังกล้าออกประกาศเลิกเล่นการเมือง ส่วนตนยังต้องคิดก่อน หากนับในเชิงปริมาณประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหว ไม่สามารถเท่ากับประชาชนทั้งประเทศได้ก็จริง แต่ก็ควรเงี่ยหูฟังข้อเรียกร้องของพวกตนที่ให้ทุกฝ่ายปฏิรูปประเทศไทยก่อน แล้วค่อยมีการเลือกตั้งด้วย
กกต.ประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้ลงประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง จำนวนราษฎร จำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดและท้องถิ่นที่ที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้ง สำหรับการประกาศดังกล่าวนั้น เป็นไปตามหลักฐานทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2555 มีประชากร 64,456,695 คน ซึ่งมากกว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา 570,000 คน เมื่อนำมาคำนวณราษฎรโดยเฉลี่ย 171,884 คน ต่อ ส.ส. 1 คน ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงใน 2 จังหวัด ได้แก่ จ.นนทบุรี ที่เดิมมี 6 เขตเลือกตั้ง เพิ่มเป็น 7 เขตเลือกตั้ง และ จ.สุโขทัย เขตเลือกตั้งลดลงจาก 4 เขตเลือกตั้ง เหลือ 3 เขตเลือกตั้ง ทั้งนี้ท้ายประกาศลงชื่อนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.56 สามารถติดตามได้ที่ลิ้งค์ราชกิจจานุเบกษา
พร้อมรับสมัคร ลต. 23 ธ.ค.นี้
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ที่กำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 2 ก.พ.57 เป็นวันเลือกตั้งว่า สำนักงาน กกต.ขอประชาสัมพันธ์เน้นย้ำประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หากมีความจำเป็นไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 ได้ ขอให้ไปลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้งได้ที่นายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ระหว่างวันที่ 13-17 ม.ค.57 และสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ทำงาน หรืออาศัยอยู่คนละจังหวัดที่ตนมีชื่อในทะเบียนบ้าน สามารถไปลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. ล่วงหน้านอกเขตจังหวัดได้ ที่เลือกตั้งกลางของจังหวัดที่ท่านทำงานหรืออาศัยอยู่ได้ แต่ต้องยื่นคำขอลงทะเบียน เพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นได้ตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค.56 จนถึงวันที่ 2 ม.ค.57 อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เคยลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าไว้แล้ว โดยไม่ได้ขอเปลี่ยนแปลงที่ลงคะแนนก็สามารถไปขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าได้ตามวันเวลาที่กำหนด ซึ่งผู้ที่ลงทะเบียนฯ จะต้องไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในวันที่ 26 ม.ค.57 เท่านั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น