สิ้นหวังดับไฟใต้...ไม่เคยเป็นแม้วาระแห่งชาติ!
วิกฤตการณ์ทางการเมืองในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 56 เป็นบทพิสูจน์อย่างหนึ่งว่ารัฐบาล ไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาความไม่สงบชายแดนภาคใต้ในฐานะที่เป็น "วาระแห่งชาติ" อย่างแท้จริงเลย
ผมนั่งกดคอมพิวเตอร์ดูข่าวย้อนหลังของศูนย์ข่าวอิศรา พบว่าตลอด 2 เดือนมีเหตุรุนแรงที่สร้างความสูญเสียใหญ่ๆ เกิดขึ้นไม่น้อย แต่รัฐบาลและข้าราชการระดับสูงในหน่วยงานความมั่นคงกลับไม่แสดงท่าทีให้ความสนใจ หรือแม้แต่พูดถึงแม้แต่น้อย
ดูเหมือนข่าวสุดท้ายจากปลายขวานของปีนี้ที่เป็นประเด็นระดับประเทศ คือ การสูญเสีย "ดาบแชน" ร.ต.ต.แชน วรงคไพสิฐ ตำรวจนักกู้ระเบิดคนดัง (อีโอดี) พร้อมเพื่อนอีก 2 นาย จากการปฏิบัติหน้าที่ที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันจันทร์ที่ 28 ต.ค.
แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้รัฐบาลสะดุ้งสะเทือนอะไร แม้จะมีการเผยแพร่ข้อมูลคุณภาพชีวิตที่ไม่ค่อยจะดีนักของ "อีโอดี" และการขาดแคลนเครื่องไม้เครื่องมือในการทำงานผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง ทั้งๆ ที่พวกเขาทำงานเสี่ยงชีวิตของตนเองเพื่อความปลอดภัยของคนอื่นก็ตาม
มีเพียงข้าราชการอย่าง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เท่านั้นที่ไปเยี่ยมเยียนและรับปากจะดูแลคุณภาพชีวิตอีโอดี ส่วนท่าทีของฝ่ายการเมืองนิ่งสนิท!
ช่วงนั้นเป็นช่วงของการขะมักเขม้นผลักดันร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ "ฉบับสุดซอย-เหมาเข่ง" ให้ผ่านสภาผู้แทนราษฎร ทำให้บรรดาผู้ทรงเกียรติไม่ค่อยว่าง ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นที่รู้กันดีว่ามุ่งล้างผิดย้อนหลังทุกคดีไม่เว้นแม้แต่คดีทุจริตเพื่อประโยชน์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พี่ชายของนายกฯคนปัจจุบัน และเป็นเจ้าของตัวจริงของพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำรัฐบาล
ขณะที่ความคืบหน้าของกระบวนการ "พูดคุยสันติภาพ" ซึ่งเป็นผลงานของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเอง เพราะเป็นผู้ตัดสินใจเปิดโต๊ะพูดคุยอย่างครึกโครมขึ้นมาเองเมื่อ 28 ก.พ.2556 แต่ปรากฏว่าการพบปะพูดคุยครั้งใหม่ถูกเลื่อนมาเป็นระยะ นับจากครั้งสุดท้ายเมื่อ 13 มิ.ย. ผ่านช่วงเดือนรอมฎอนก็แล้ว ผ่านรายอปอซอก็แล้ว ผ่านรายอฮัจญีก็แล้ว กระทั่งผ่านวันครบรอบเหตุการณ์ตากใบ (25 ต.ค.) ก็แล้ว แต่การนัดพูดคุยก็ไม่เกิดขึ้น
กระทั่งถึงต้นเดือน พ.ย.มีข่าว ดาโต๊ะ สรี อาห์มัด ซัมซามิน ฮาซิม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติภาพ เข้าพบ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ถึงที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอความมั่นใจว่าจะเดินหน้ากระบวนการพูดคุยสันติภาพต่อไป ก็มีข่าวว่าทางการไทยขอนัดใหม่เป็นช่วงต้นเดือน ธ.ค. แต่พอใกล้ถึงวันนัด ก็เจอโรคเลื่อนอีก โดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ยอมรับตรงๆ ว่าเหตุผลของการเลื่อนคือ "ปัญหาการเมืองรุมเร้า!"
แม้ช่วงต้นเดือน ธ.ค.จะมีถ้อยแถลงของ นายฮัสซัน ตอยิบ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายบีอาร์เอ็นผ่านคลิปวีดีโอเผยแพร่ทางเว็บไซต์ YouTube เน้นย้ำเงื่อนไขที่บีอาร์เอ็นยื่นข้อเรียกร้องเบื้องต้น 5 ข้อให้ไทยนำเข้าหารือในรัฐสภาและประกาศเป็น "วาระแห่งชาติ" แต่ไทยก็ไม่ดำเนินการ ถัดจากนั้นไม่กี่วันก็มีแถลงการณ์ของบีอาร์เอ็นอ้างมติสภาซูรอว่าจะไม่มีการส่งตัวแทนร่วมโต๊ะพูดคุยสันติภาพกับรัฐบาลไทยอีกต่อไป
แต่ฝ่ายการเมืองของไทยก็ยังเฉยๆ ราวกับว่าไม่ได้ร่วมปลุกปั้นโต๊ะพูดคุยนี้ขึ้นมาเอง!
ถัดจากนั้นสถานการณ์ก็วนย่ำรอยเดิม คือ เต็มไปด้วยเหตุรุนแรงที่สร้างความสูญเสียขนาดใหญ่ ตั้งแต่ไล่ฆ่ากลุ่มชาวบ้านหาปูเปี้ยวริมทะเลที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เสียชีวิต 5 ราย ลอบวางระเบิดทั้งในและรอบๆ บริเวณโรงเรียนไม่ต่ำกว่า 3-4 ครั้ง มีเด็กถูกลูกหลงจากเหตุยิงรายวันอีกอย่างน้อย 4-5 คน ในจำนวนนี้มี หนูน้อยมูซา สะมะแอ วัยแค่ 2 ขวบที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากเหตุคนร้ายลอบยิงบิดาเสียชีวิต เมื่อ 11 ธ.ค. และ เด็กหญิงซูนฟาร์ มะสา อายุ 6 ขวบ ที่ต้องสังเวยชีวิตจากกระสุนปืนที่คนร้ายยิงถล่มหวังสังหารบิดาที่เป็นผู้ใหญ่บ้านใน อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เมื่อ 28 ธ.ค.ด้วย
เป็นเหตุการณ์ที่สร้างความสลดหดหู่ให้กับทุกคนที่ทราบข่าว และมีการเรียกร้องจากหลายฝ่ายให้รัฐบาลรวมทั้งหน่วยงานภาครัฐใส่ใจปัญหาเด็กท่ามกลางความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้มากกว่านี้ เพราะที่ผ่านมาไม่มีการมอบหมายภารกิจให้หน่วยงานใดรับผิดชอบเป็นการเฉพาะ แม้แต่การเก็บสถิติเด็กที่ได้รับผลกระทบจากไฟใต้ก็ไม่มีหน่วยงานไหนทำ...แต่ข้อเรียกร้องเหล่านี้ก็ปลิวหายไปกับสายลม ไม่มีสัญญาณตอบรับใดๆ จากรัฐบาล
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 ธ.ค. ยังเกิดเหตุระเบิดครั้งรุนแรง 3 จุดใน อ.สะเดา จ.สงขลา เมืองเศรษฐกิจหน้าด่านที่ไม่เคยมีสถานการณ์ความไม่สงบมาก่อน แต่ก่อนหน้านี้ถูกบีอาร์เอ็นผนวกรวมในแถลงการณ์ลดเหตุรุนแรงช่วงรอมฎอนว่าเป็นพื้นที่เป้าหมายด้วย เหตุระเบิดหนึ่งใน 3 จุดนั้นเป็นคาร์บอมบ์ โดยคนร้ายใช้รถกระบะที่ชิงจากชาวบ้านหาปูเปี้ยวที่ถูกฆ่า 5 รายไปติดตั้งระเบิดแล้วนำไปก่อเหตุ!
ขณะเดียวกันยังมีการพบรถกระบะคาร์บอมบ์ซึ่งเป็นรถที่ถูกปล้นชิงไปจาก อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ไปโผล่ถึงกลางเมืองภูเก็ตด้วย จึงกลายเป็นคำถามว่ากลุ่มก่อความไม่สงบชายแดนใต้ขยายพื้นที่ปฏิบัติการจากสามจังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี แล้วหรือ?
แม้ภายหลังจะตรวจพบว่าคาร์บอมบ์ที่เจอกลางเมืองภูเก็ต เป็นระเบิดถังแก๊สที่ตั้งเวลาระเบิดไว้เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่มีเหตุระเบิดข้างๆ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ภูเก็ต แต่นั่นก็ทำให้เกิดคำถามตามมาอีกมากมาย โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนใต้เป็นแหล่งส่งออกระเบิดไปใช้ในปัญหาขัดแย้งการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่อื่นๆ แล้วหรือ?
สถานการณ์นี้มีความอ่อนไหวอย่างยิ่ง แต่ก็ไม่ปรากฏท่าทีใดๆ จากรัฐบาลหรือแม้แต่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่เป็นดั่งแม่งานในภารกิจดับไฟใต้ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ไม่แม้แต่จะลงพื้นที่ไปตรวจจุดเกิดเหตุ เพราะสาละวนอยู่เฉพาะกับปัญหาทางการเมืองของตัวเอง
เท่าที่ไล่เรียงมาน่าจะทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าแท้ที่จริงแล้วรัฐบาลไม่เคยสนใจปัญหาชายแดนใต้อย่างจริงจังเลย ยกเว้นการใช้เป็นพื้นที่แสวงประโยชน์ทางการเมือง ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐบางคนบางหน่วยก็ใช้เป็นพื้นที่แสวงหาผลประโยชน์จากงบประมาณจำนวนมหาศาลที่ทุ่มลงไปกว่า 2 แสนล้านบาทแล้วตลอด 10 ปี...
จึงไม่น่าแปลกใจที่ไฟใต้ปะทุรอบนี้ได้กลายเป็นประเด็นปัญหายืดเยื้อเรื้อรังมานานถึงสิบปี หรือ 1 ทศวรรษ ทำให้เกิดภาวะสิ้นหวังแผ่กระจายไปทั่ว ไม่ว่าจะกับคู่เจรจาอย่างบีอาร์เอ็น กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ประชาชนทั่วไปในพื้นที่ หรือประชาชนคนไทยในภูมิภาคอื่น
ยิ่งนานวันผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเชื่อว่าเราอาจจะต้องสูญเสียดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปจริงๆ
ผมอยากให้เพ่งดูภาพประกอบเรื่องที่ผมนำมาจากที่เขาเผยแพร่กันในโซเชียลเน็ตเวิร์ค เป็นภาพที่อธิบายความจริงมากมายของประเทศไทย ณ เวลานี้ ปัญหาขัดแย้งแตกแยกทางการเมืองได้แบ่งประชาชนออกเป็น 2 สี และกำลังจะแบ่งประเทศออกเป็นสองส่วน
จริงๆ ในภาพมีตัวหนังสืออธิบายอะไรต่ออะไรมากกว่านี้ แต่ผมลบออกไป เพราะไม่ใช่เป้าหมายที่ผมนำภาพนี้มาเสนอ ผมอยากให้ดูพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งไม่ได้ถูกแต้ม "สีแดง" หรือ "สีเหลือง" เหมือนพื้นที่ส่วนอื่น แต่กลับเป็น "สีเทา" พร้อมตัวหนังสือที่เขียนเอาไว้ว่า "ให้เขาไป"
นี่เป็นความรู้สึกของคนธรรมดาๆ ทั่วไปที่สะท้อนผ่านการทำแผนที่แต้มสีเชิงประชดประชันในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งผมคิดว่าตรงกับความรู้สึกของผู้คนจำนวนไม่น้อยที่เกือบจะสิ้นหวังกับการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้แบบสุกเอาเผากินเต็มที...
และเราอาจต้องเสียดินแดนส่วนนี้ไปจริงๆ!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น