วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2556

‘ปู’:หลังปีใหม่มีเรื่องมาก เมื่อ 27 ธ.ค.56

‘ปู’:หลังปีใหม่มีเรื่องมาก


“ยิ่งลักษณ์” ปัดคำท้าดีเบต “สุเทพ”  แนะกำนันไปพูดบนเวทีปฏิรูปดีกว่า ยัน 11 อรหันต์ไม่ใช่ผู้กำหนดสเปก พูดเฉยที่เสนอเพื่อเป็นจุดเริ่มต้น โอดเลยความรู้สึกช้ำทั้งตัวไปแล้ว ตอนนี้มุ่งปกป้องประชาธิปไตย อวยพรปีใหม่แบบมีปริศนาจะมีเรื่องเกิดขึ้นมากมาย “ทั่นเต้น” เกาะชายกระโปรงขอจ้อแทน เด็กเพื่อไทยรับเองสภาปฏิรูปไร้น้ำยา “มาร์ค” อัดรัฐบาลไม่ชอบธรรมที่จะผุดเวที “ริตสีดวง” ขู่ออกรายชื่ออายัดรอบ 3
       เมื่อวันพฤหัสบดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ที่จังหวัดเชียงใหม่ ถึงกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกลุ่มประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ท้าดีเบตระหว่างสภาปฏิรูปประเทศกับสภาประชาชนว่า ไม่ใช่คู่ดีเบตด้วย เพราะเวทีที่เสนอเพื่อรับฟังข้อคิดเห็น และเวทีสภาปฏิรูประเทศที่เสนอนั้นเป็นเวทีสาธารณะ อยากให้ดีเบตกับเวทีสาธารณะมากกว่า และถ้าให้ดีอยากเชิญ กปปส.มาดีเบตในเวทีสภาปฏิรูปประเทศที่เป็นเวทีสาธารณะที่เป็นกลางดีกว่า      
ถามอีกว่า นายสุเทพมองว่าคณะกรรมการสภาปฏิรูปประเทศ 11 คน มี 8 คนที่นายกฯ ควบคุมได้ สุดท้ายกลับเข้าสู่ระบอบทักษิณเหมือนเดิม น.ส.ยิ่งลักษณ์ตอบว่า คณะกรรมการทั้ง 11 คนที่เสนอนั้น เป็นเพียงผู้บอกว่าสัดส่วนต่างๆ ใน 2,000 คนนั้น ประกอบไปด้วยใครบ้าง ไม่มีหน้าที่กำหนดว่าจะเป็นใคร เพื่อให้แน่ใจว่าในกลุ่มผู้ที่จะมาคัดเลือก 2,000 คน มีการกระจายทุกกลุ่มทุกสาขาอาชีพเท่านั้นเอง และทุกสาขาอาชีพก็ต้องเสนอตนเอง อาสาเข้ามาเป็นตัวแทน ซึ่งการเลือกก็ไม่ใช่ 11 คน เพราะ 2,000 คน จะเลือกคณะที่จะมาทำงานในเวทีสภาปฏิรูป 499 คนเอง ไม่เกี่ยวกับ 11 คนเลย รัฐบาลไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องเลย เป็นเวทีสาธารณะจริงๆ
ซักต่อว่า มั่นใจว่าเป็นข้อเสนอที่ดีที่สุดแล้วหรือยัง นายกฯ กล่าวว่า ไม่เคยพูดอย่างนั้น เป็นเพียงข้อเสนอที่จะรับฟัง เพราะถ้าไม่มีข้อเสนอตั้งต้นเป็นกรอบก็ไม่สามารถผลักดันเข้าสู่ขั้นตอนการปฏิบัติได้ รัฐบาลก็รับฟังจากข้อคิดเห็นหลายๆ ท่านว่า ในแต่ละเวทียังไม่มีแผนลงลึกในทางปฏิบัติ เราจึงได้เสนอขึ้นมา และยินดีที่จะรับฟัง ถ้าแนวทางนี้เห็นชอบได้เร็ว จะประกาศได้เร็ว แต่ถ้าหลายๆ ท่านยังมีข้อคิดเห็นต่างๆ ไม่ตรงกัน รัฐบาลก็ต้องรับฟังไปเรื่อยๆ เพราะอยากให้ประเทศมีทางออกได้เร็ว มีความสบายใจ เพราะแม้รัฐบาลที่มาหลังจากการเลือกตั้งก็สามารถดำเนินการต่อได้ตามเจตนารมณ์ หรือปรับเปลี่ยนได้อยู่ เพราะ ณ วันนี้เราทำได้เต็มที่ในช่วงก่อนมีรัฐบาล    
“อยู่ที่คนมอง อยู่ที่คนคิด แต่เราทำอย่างเต็มที่ ถามว่าสายหรือไม่สาย คงตอบไม่ได้ แต่สิ่งที่พูดคือเราพยายามอย่างเต็มที่ เราต้องการเห็นทางออกจริงๆ เพราะถ้าเราบอกว่าเราสายหรือเราไม่สาย ก็กลายเป็นไม่จบซะที เราต้องดูตามเหตุการณ์และรับฟังด้วย ความจริง รัฐบาลไม่อยากจะออกไป แต่ถ้ามีเวทีต่างๆ ที่จะสรุปกันได้เราก็ยินดีอยู่แล้ว” น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว     
เมื่อถามว่า นายกฯ จะประคับประคองตัวเองอยู่ตรงนี้ได้นานแค่ไหน น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า มีหน้าที่ที่จะต้องทำ เราต้องประคับประคองอย่างดีที่สุดภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ วันนี้เราต้องพยายามทำอย่างดีที่สุด และทำอย่างละมุนละม่อม เมื่อซักต่อว่า คิดว่าตัวเองช้ำไปทั้งตัวหรือยัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ตอบว่า ไม่ต้องถามความรู้สึกตัวเองอีกแล้ว วันนี้เลยความรู้สึกไปแล้ว วันนี้เรามีหน้าที่ปกป้องระบอบประชาธิปไตย เรามีหน้าที่ประคับประคองให้ประเทศหาทางออก เดินไปข้างหน้าได้     
"แม้ว่าข้างหน้าถ้าเราเทียบเป็นถนน เราเห็นถนนอยู่เป็นถนนที่ขรุขระมีขวากหนาม แต่ก็ยังดีกว่าที่เราจะเลี่ยงถนนที่เรามีอยู่เส้นเดียวที่ต้องเดิน ไปเดินในป่า ซึ่งเราไม่รู้ว่าตรงนั้นจะเป็นทางลัดหรือเป็นอะไร" นายกฯ กล่าว
บอกปีใหม่จะมีเรื่องเยอะ!   
ต่อมาในช่วงเย็น ที่โรงแรมรวี วารี รีสอร์ทแอนด์สปา อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้กล่าวอวยพรปีใหม่ที่จะถึงว่า ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พี่น้องประชาชนเคารพนับถือ และพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ คุ้มครองให้พี่น้องประชาชนคนไทยให้มีความสุข สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง สำหรับปีใหม่ปีนี้จะมีเรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย หวังว่าปีใหม่ที่จะมาถึงจะเป็นปีที่คนไทยจะมีแต่ความรัก ให้อภัยซึ่งกันและกัน มีความสามัคคีเพื่อทำให้ประเทศไทยของเราก้าวพ้นปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ให้ลุล่วงไปให้ได้ และหวังว่าปีหน้าจะเป็นปีที่สดใสของประเทศไทย เป็นปีที่เราร่วมกันสร้างรอยยิ้มและความสุขให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รักษาการ รมช.พาณิชย์ ในฐานะแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในเรื่องนี้ว่า แนวคิดตั้งสภาประชาชนไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจน แต่พอนายกฯ เสนอตั้งสภาปฏิรูป กปปส.กลับหยิบยกรัฐธรรมนูญมาอ้าง ซึ่งมีข้อมูลว่าไม่ใช่ผลงานของนายสุเทพ แต่เป็นผลงานของกุนซือกฎหมายที่ทำงานเบื้องหลังคือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งหากเป็น 10-20 ปีก่อน นายมีชัยอาจได้รับความเชื่อถือ แต่ที่ผ่านมานายมีชัยใช้ความรู้ทางกฎหมายมารับใช้รัฐประหารและฝ่ายเผด็จการ ดังนั้นสถานะนายมีชัยจึงไม่ใช่ผู้รู้ทางกฎหมายอีกต่อไป แต่กลายเป็นสิ่งชำรุดทางประชาธิปไตย
“คนที่เป็นนายกฯ ไม่จำเป็นต้องไปนั่งออกทีวีดีเบตกับผู้ต้องหากบฏ หากนายสุเทพต้องการดีเบต ในฐานะแกนนำ นปช. เคยเป็นแกนนำชุมนุม เคยมีหมายจับเหมือนกัน พร้อมรับคำท้าของนายสุเทพ และหวังว่านายสุเทพจะไม่ถอนคำท้ากลับ จะให้ขึ้นเวทีที่ไหนก็ได้ ถือว่าดีกรีชกกันได้ ถ้าผมแพ้ยืนยันยุติบทบาททางการเมืองตลอดชีวิต ถ้านายสุเทพแพ้เดิมพัน เอาแค่ว่าให้นายสุเทพยุติชุมนมแล้วเดินทางกลับบ้าน” นายณัฐวุฒิประกาศ
 นายพนัส ทัศนียานนท์ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ยอมรับว่า การตั้งสภาปฏิรูปประเทศไม่มีอำนาจตามกฎหมาย และไม่มีผลผูกพันให้รัฐบาลชุดต่อไปต้องปฏิบัติตาม เป็นเพียงสัตยาบันหรือสัญญาประชาคมเท่านั้น ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวไม่ใช่การยื้อเวลา แต่เป็นสิ่งดีที่สุดที่รัฐบาลทำได้ตามเงื่อนไขในขณะนี้
ด้านนายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส. กล่าวว่า สภาปฏิรูปที่รัฐบาลจัดขึ้น ไม่สามารถหาทางออกให้กับประเทศได้จริง เพราะอยู่ภายใต้อาณัติกำกับของรัฐบาล เป็นเพียงสภาที่หลอกประชาชนเท่านั้น
ซัดขาดความชอบธรรม
เช่นเดียวกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า ไม่ตรงกับเจตนารมณ์และข้อเสนอของหลายองค์กรที่ทำงานด้านนี้ เพราะรัฐบาลยังไม่มีคำตอบในการแก้ปัญหาสถานการณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันรัฐบาลยังยืนยันจัดเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. และยังมีคำถามเรื่องกฎหมายที่ผูกมัดให้รัฐบาลหลังเลือกตั้งต้องมาดำเนินการตามนี้
“นายกฯ และรัฐบาลขาดความชอบธรรมที่จะเป็นเจ้าภาพในเรื่องนี้ แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์พยายามบอกว่ารัฐบาลไม่เกี่ยวข้อง แต่กลับเป็นผู้กำหนดกรรมการสรรหาสภาปฏิรูปเสียเอง” นายอภิสิทธิ์กล่าว และว่า หากดูจากประวัติของรัฐบาลมีท่าทีไม่สนองต่อการปฏิรูปประเทศมาโดยตลอด ที่ผ่านมามีการตั้งกรรมการหลายชุด แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง เมื่อบทสรุปไม่ตรงตามที่ต้องการ และยังมีการใช้วิธีการตั้งคนของตัวเองมาลดทอนน้ำหนัก เช่น มี คอป.ก็ตั้ง ปคอป.  มีคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ก็ไปตั้ง คอ.นธ.  แสดงให้เห็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มุ่งแต่ทำเรื่องที่เป็นประโยชน์แก่ครอบครัว ชิงความได้เปรียบทางการเมือง เบี่ยงเบนประเด็น แต่ยังคงเดินไปสู่เป้าหมายที่ตัวเองกำหนด
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ข้อเสนอของ 7 องค์กรภาคเอกชนยังไม่ได้รับการตอบรับจากหลายฝ่าย จึงอยากให้ทุกฝ่ายที่ขัดแย้งได้มีโอกาสพูดคุยกัน และเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปร่วมกัน และขอเสนอให้รัฐบาลทบทวนรูปแบบและวิธีการที่ได้เสนอมาแล้ว โดยคำนึงถึงข้อเสนอของภาคเอกชน ซึ่งได้รวบรวมความเห็นของทุกฝ่ายจากเวทีกลางแล้ว เพื่อให้เกิดความสำเร็จในการสร้างความปรองดอง และการมีส่วนร่วม อันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และประเทศชาติโดยรวมอย่างยั่งยืน
    น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษก ปชป. กล่าวว่า กระบวนการปฏิรูปของนายกฯ เป็นแค่ชิงกระแส ไม่ตอบโจทย์ประเทศ และที่ผ่านมาก็ไม่เคยจริงใจ เพราะละเลยแผนปฏิรูปของทุกคณะมาตลอด จึงใคร่แนะนำนายกฯ ว่า สมควรใช้จังหวะนี้ประกาศการเสียสละอำนาจ ถอยจากการเป็นชนวนความขัดแย้ง
วันเดียวกัน ในเวลา 11.15 น. กลุ่ม กปปส.ที่นำโดย น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก ได้เคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมจากราชดำเนิน พร้อมรถบรรทุก 6 คัน มายังปากซอยโยธินพัฒนา 3 บ้านพักนายกฯ โดยมีตำรวจประมาณ 50 นายตั้งแถวขวางผู้ชุมนุมบริเวณสะพานข้ามคลองเกรียงเป็นด่านแรก ทำให้แกนนำเจรจาขอให้เปิดทาง ซึ่งหลังเจรจาไม่นานตำรวจก็ยอมปล่อยให้ผู้ชุมนุมผ่านไปโดยไม่มีเหตุกระทบกระทั่งกัน ทั้งนี้ ในระหว่างเดินไปบ้านนายกฯ ทั้งสองข้างทางมีชาวบ้านออกมาโบกมือต้อนรับ ร่วมชูธง เป่านกหวีด และบางส่วนนำน้ำมาเลี้ยงผู้ชุมนุมเพื่อให้กำลังใจ
มีรายงานว่า ก่อนที่ขบวนของกลุ่ม กปปส.จะเคลื่อนไปบ้านพัก น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีเหตุการณ์วุ่นวายเกิดขึ้นเมื่อมีรถบรรทุก 6 ล้อเข้าไปกลับรถภายในซอยโยธินพัฒนา 3 ก่อนขับออกมาด้วยความเร็วใส่กลุ่มผู้ชุมนุมที่อยู่ปากซอย แต่ผู้ชุมนุมนำรถมอเตอร์ไซค์เข้าขวางไว้ และนำคนขับรถลงมา จนเกิดการชุลมุนชกต่อยคนขับรถ ซึ่งเหตุการณ์ได้ยุติลงเมื่อแกนนำได้ห้ามปรามผู้ชุมนุม ก่อนที่เจ้าหน้าที่มูลนิธิกู้ภัยจะกันคนขับรถดังกล่าวออกไป
และเมื่อเวลา 12.00 น. ขบวนผู้ชุมนุมได้มาถึงบ้านพัก น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยได้หาที่ร่มหลบแดด และพักรับประทานอาหารกลางวัน ก่อนที่แกนนำ อาทิ  นายกิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์ หรือครูลิลลี่, นายจิตกร บุษบา และนักจัดรายการวิทยุชื่อดัง สลับกันปราศรัยโจมตีการทำงานของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ผ่านมา ทั้งนี้แกนนำได้ขอความร่วมมือผู้ชุมนุมอยู่ห่างแผงกั้นของตำรวจประมาณ 1 เมตร และไม่พูดกดดันการทำงานของเจ้าหน้าที่ โดยตั้งแต่ช่วงบ่ายผู้ชุมนุมยังทยอยเดินทางมาสมทบอย่างต่อเนื่องจนล้นซอยนวมินทร์ 111 แยก 15 ออกไปยังซอยประดิษฐ์มนูธรรม
ในขณะที่การรักษาความปลอดภัยบ้านพักนายกฯ ก็เป็นไปอย่างแน่นหนา ตลอดแนวกำแพงด้านหน้าตำรวจได้นำแผงเหล็กมากั้นแบ่งฝั่งผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่เพื่อป้องกันการกระทบกระทั่งกัน
ชี้ปูหมดโอกาสชนะ กปปส.
     และเมื่อเวลา 16.45 น. ดร.เสรี วงษ์มณฑา แนวร่วม กปปส. ได้ขึ้นปราศรัย โดยระบุว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่มีทางจะชนะประชาชนแน่นอน เพราะมวลชนได้ขยายวงในการเข้าร่วม กปปส.มากขึ้นทุกๆ วัน ในขณะที่หัวเมืองต่างๆ ทั้งในภาคอีสานและเหนือก็ไม่เอา น.ส.ยิ่งลักษณ์แล้ว ซึ่งหลัง ดร.เสรีปราศรัยจบ น.ส.อัญชะลีก็ได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมกลับเวทีราชดำเนิน โดยก่อนกลับผู้ชุมนุมได้ร่วมกันเก็บขยะเพื่อรักษาความสะอานของพื้นที่ด้วย
    ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวกรณีนี้ว่า เป็นสิ่งที่น่าประณามและน่าเศร้าใจ เพราะเป็นการกระตุ้นการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก เยาวชน และสตรี
ขณะเดียวกัน นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้มอบหมายให้ พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผู้บัญชาการสำนักกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ นำคำร้องขอเพิกถอนการประกันตัวปล่อยชั่วคราว นายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.), นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ประธานสภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) นายรัชต์ยุตม์ หรือนายอมรเทพ ศิรโยธินภักดี หรืออมรรัตนานนท์, น.ส.อัญชะลี, นายพิชิต ไชยมงคล, พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์, ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ ผู้ประสานงานกองทัพธรรม และนายสมบูรณ์ ทองบุราณ แกนนำเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ ซึ่งเป็นจำเลยร่วมในคดีบุกสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ในปี 2551 เนื่องจากทั้ง 9 คน ได้นำมวลชนผู้ชุมนุม กปปส.และ คปท.บุกรุกสถานที่ราชการหลายแห่ง
และเมื่อเวลา 14.30 น. นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายกลุ่มพันธมิตรฯ ได้เดินมายื่นคัดค้านเพิกถอนการปล่อยชั่วคราว ซึ่งศาลได้รับคำร้องไว้พิจารณาและนัดไต่สวนพยานทั้งสองฝ่าย ในวันที่ 24 ก.พ.2557 เวลา 09.00 น. 
จ่ออายัดรอบ 3
นายธาริตยังกล่าวถึงการออกหมายเรียกแกนนำรวม 37 คนมารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 26 ธ.ค.ว่า แกนนำ 13 คนได้มอบหมายให้ทนายความมายื่นคำร้องขอเลื่อน โดยอ้างเหตุติดการชุมนุม ซึ่งดีเอสไอได้พิจารณาคำร้องก่อนขอศาลอนุมัติหมายจับต่อไป ซึ่งขณะนี้ดีเอสไอกำลังพิจารณาเพื่อออกหมายเรียกแกนนำเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่งเป็นรอบที่ 3 ซึ่งคาดว่าจะเปิดเผยรายชื่อได้หลังเปิดทำการในสัปดาห์หน้า
“มีธนาคารหลายแห่งอายัดบัญชีแกนนำแล้ว แต่มี 4 ธนาคารขอให้อธิบดีดีเอสไอยืนยันการใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อสั่งอายัด ซึ่งผมได้มีหนังสือยืนยันให้ธนาคารที่ร้องขอแล้ว” นายธาริตกล่าว
    ยังมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ เมื่อช่วงเช้าที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้นำคณะนายทหารระดับ 5 เสือกองทัพ พร้อมด้วยนายทหารระดับสูงสายบูรพาพยัคฆ์ และคณะนายทหารระดับสูงของกองทัพ เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต รมว.กลาโหม เพื่อขอรับพรเนื่องในโอกาสเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ โดย พล.อ.ประวิตรได้กล่าวขอบคุณ พร้อมระบุว่า ขอให้ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ประเทศเจริญก้าวหน้าตลอดไป และท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ต้องการความรักความสามัคคี จึงอยากให้ทุกคนช่วยกันนำพาประเทศให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้
          ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ได้นำคณะนายทหารระดับสูงเข้าขอรับพรจาก พล.อ.ประยุทธ์ ได้ร่วมรับประทานอาหารเช้ากับ พล.อ.ประวิตร พร้อมพูดคุยหารือเป็นการส่วนตัวประมาณ 30 นาที ก่อน พล.อ.ประยุทธ์เดินทางไปปฏิบัติภารกิจอื่นต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น