วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2556

แจ้ง‘สมศักดิ์-นิคม’ขัดรธน. 8มค.57นัดชี้ปมแก้ม.190 เมื่อ 27 ธ.ค.56

แจ้ง‘สมศักดิ์-นิคม’ขัดรธน. 8มค.57นัดชี้ปมแก้ม.190


“ป.ป.ช.” มีมติแจ้งข้อกล่าวหา “ขุนค้อน-นิคม” ปฏิบัติหน้าที่ขัด ม.270 ปมแก้ รธน. สั่งให้มาชี้แจงวันที่ 10 ม.ค.อีก 381 คน ที่เหลือรอลุ้น 7 ม.ค. ศาลรัฐธรรมนูญซ้ำอีกดอก เรียกคู่กรณีฟังคำวินิจฉัยคดีแก้ ม.190 วันที่ 8 ม.ค. 
    เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. เวลา 15.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายวิชา มหาคุณ กรรมการและโฆษก ป.ป.ช. แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ถึงความคืบหน้ากรณีกล่าวหา ส.ส.และ ส.ว. จำนวน 383 คน ว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ และร้องขอให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง กรณีเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มา ส.ว. ว่าตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีคำสั่งให้ไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งชุดร่วมเป็นองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริงตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค.56 นั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงรวม 6 ปาก มีการขอเอกสารหลักฐานจากศาลรัฐธรรมนูญ รัฐสภา และจากผู้ร้องเป็นจำนวนมากแล้ว     พิจารณาเห็นว่า พยานหลักฐานตามที่ได้ในขณะนี้เพียงพอต่อการแจ้งข้อกล่าวหาว่ามีผู้กระทำการส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 รวม 2 ราย คือ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา จึงมีมติให้แจ้งข้อกล่าวหา โดยวันที่ 26 ธ.ค. ป.ป.ช.จะทำหนังสือแจ้งไปยังทั้งสองคนให้มารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 10 ม.ค.57 ทั้งนี้ สำหรับประธานวุฒิสภายังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อยู่ เนื่องจากยังไม่มีการชี้มูล แต่จะเปิดโอกาสให้มาชี้แจง หากไม่มาเราจะต้องพิจารณาว่าจะชี้มูลต่อไปหรือไม่
    นายวิชากล่าวว่า ในส่วนของ ส.ส.และ ส.ว. จำนวน 381 คน ที่เหลือซึ่งถูกร้องในข้อหาเดียวกันนั้น เนื่องจากมีจำนวนมาก และมีรายละเอียดเกี่ยวกับพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาแตกต่างกัน คณะกรรมการป.ป.ช.จึงเห็นสมควรให้สรุปสำนวนและลงมติว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาทั้ง 381 คน ในวันที่ 7 ม.ค.57 ได้หรือไม่  
    วันเดียวกันนี้ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารข่าวระบุว่า มีคำสั่งในคดีที่นายวิรัตน์ กัลยาศิริอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา, นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา และสมาชิกรัฐสภา 381 คน ร่วมกันดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่จำกัดอำนาจรัฐสภาในการให้ความเห็นชอบการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศของฝ่ายบริหาร ว่าเข้าข่ายเป็นการกระทำล้มล้างการปกครองและกระทำการให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ โดยให้คู่กรณีมาฟังคำวินิจฉัยคดีในวันพุธที่ 8 มกราคม เวลา 15.00 น. 
    นอกจากนี้ มีมติไม่รับคำร้องที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา, นายสิงห์ทอง บัวชุม สมาชิกพรรคเพื่อไทย, นายกิตติ อธินันท์, นายวิชาญ นุ่มมาก ยื่นคำร้องรวม 7 คำร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำบุกยึดสถานที่ราชการ เสนอตั้งสภาประชาชน ให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากการรักษาการ  ให้หัวหน้าส่วนราชการมารายงานตัว ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุช หรือกปปส. และการกระทำของพรรคประชาธิปัตย์ที่จัดชุมนุมสนับสนุนการชุมนุมของ กปปส. เข้าข่ายเป็นการกระทำล้มล้างการปกครองและกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ 
    โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การชุมนุมของ กปปส.ตามคำร้องเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพกระทำในนามประชาชนที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ โดยมีเหตุสืบเนื่องมาจากการต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และมาจากความไม่ไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล เป็นเพียงการเรียกร้อง แสดงพลังด้วยการสนับสนุนของประชาชนจำนวนมาก ยังไม่มีมูลกรณีเป็นการกระทำล้มล้างการปกครอง ส่วนกรณีการออกหมายจับนายสุเทพและพวก เป็นเรื่องที่ผู้ต้องรับผิดชอบในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น