1. จับสลากเลือกตั้งเลือด ตร.ใช้แก๊สน้ำตายันกระสุนจริงยิงใส่ผู้ชุมนุม ดับ 2 เจ็บกว่าร้อย ด้าน กกต.ถอดใจ ขอ รบ.เลื่อนเลือกตั้ง ด้าน “ยิ่งลักษณ์” เมิน! | ||||
หลังการชุมนุมใหญ่เสร็จสิ้นลง ช่วงดึกคืนวันเดียวกัน(22 ธ.ค.) แกนนำ กปปส.ได้นำผู้ชุมนุมไปปิดล้อมศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร(ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง เพื่อแสดงพลังไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. เนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กำหนดเปิดรับสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 23-27 ธ.ค. อย่างไรก็ตาม ได้มีเจ้าหน้าที่ กกต.และตัวแทนพรรคการเมืองบางพรรคเข้าไปนอนค้างคืนภายในอาคารกีฬาเวสน์ 2 สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นก่อนที่ผู้ชุมนุมจะไปถึง ขณะที่ตัวแทนอีกหลายพรรคที่ไม่สามารถเข้าไปภายในสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น จึงได้เดินทางไปแจ้งความที่ สน.ดินแดง ตามที่นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต.มีหนังสือแนะนำ เพื่อเป็นหลักฐานว่า ได้เดินทางไปแสดงเจตจำนงยื่นรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นแล้ว แต่ไม่สามารถเข้าได้ เป็นที่น่าสังเกตว่า รายชื่อผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 1 ยังคงเป็น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลำดับ 2 นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ขณะที่แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) เช่น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ,นายจตุพร พรหมพันธุ์ อยู่ในลำดับที่ 19-20 แม้การรับสมัครวันแรกจะขลุกขลัก แต่ กกต.ยังยืนยันไม่เปลี่ยนสถานที่รับสมัคร ขณะที่ผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส.ปักหลักชุมนุมที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น 2 วัน(23-24 ธ.ค.) ก่อนเคลื่อนขบวนกลับมายังถนนราชดำเนิน ด้าน กกต.เมื่อเห็นว่า กลุ่ม กปปส.ยุติการชุมนุมที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นแล้ว จึงได้นัดพรรคการเมืองที่ยื่นเอกสารสมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ให้มาจับสลากหมายเลขพรรคในวันที่ 26 ธ.ค.ที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นเหมือนเดิม ส่วนเหตุที่ กกต.ไม่นัดวันที่ 25 ธ.ค. เนื่องจากเห็นว่าอาจกระทันหันเกินไป เพราะหัวหน้าพรรคบางพรรคอาจอยู่ต่างจังหวัด หลังกลุ่ม กปปส.เคลื่อนกลับราชดำเนิน วันต่อมา(25 ธ.ค.) แกนนำกลุ่มนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย(คปท.) ได้เดินทางไปชุมนุมที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นบ้าง พร้อมกับนำธงชาติเข้าล้อมรอบอาคารกีฬาเวสน์ 2 เพื่อแสดงสัญลักษณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง 2 ก.พ. ก่อนเคลื่อนกลับมายังบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ข้างทำเนียบรัฐบาลในวันเดียวกัน ด้าน กกต.ยังยืนยันให้พรรคการเมืองจับสลากหมายเลขพรรคในวันที่ 26 ธ.ค.ที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 เหมือนเดิม ทั้งนี้ ช่วงเช้าวันที่ 26 ธ.ค.เวลา 07.00น.คปท.ได้เคลื่อนขบวนไปยังหน้าสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นอีกครั้ง ซึ่งปรากฏว่า มีการตรึงกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ชุดควบคุมฝูงชนประมาณ 12 กองร้อย นอกจากนี้ภายในสนามกีฬา รอบอาคารกีฬาเวสน์ 2 ยังมีการตรึงกำลังของเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธครบมือ โดยมีทหารจำนวนหนึ่งมาเสริมตามคำขอของศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ศอ.รส.) ด้วย ด้านผู้ชุมนุม คปท.หลังทราบว่าตัวแทนพรรคการเมืองเดินทางเข้าไปภายในอาคารกีฬาเวสน์ 2 เพื่อจับสลากหมายเลขแล้ว จึงพยายามจะเข้าไปภายในบริเวณสนามกีฬาฯ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ระดมยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ใช่แค่ยิงแก๊สน้ำตา แต่ยังยิงกระสุนยาง และกระสุนจริงเข้าใส่ผู้ชุมนุมด้วย ส่งผลให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ขณะที่ด้านในอาคารกีฬาเวสน์ 2 ยังคงเดินหน้าจับสลากหมายเลขพรรคต่างๆ ต่อไป แม้ภายหลังการจับสลากเสร็จสิ้น และ กกต. รวมถึงตัวแทนพรรคการเมืองจะขึ้น ฮ.ออกจากสนามกีฬาแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่ยอมหยุดยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม โดยการยิงแก๊สน้ำตาและอาวุธต่างๆ ดำเนินไปจนถึงช่วงเย็น ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ 157 คน ในจำนวนนี้ 63 คน อาการสาหัส ทั้งนี้ ผู้บาดเจ็บมีสื่อมวลชนรวมอยู่ด้วย ทั้งสื่อไทยและเทศ โดยสื่อไทยที่ถูกยิง ได้แก่ นักข่าวไทยรัฐ และช่างภาพ ASTV นอกจากนี้ยังมีผู้เสียชีวิต 2 ราย เป็นผู้ชุมนุม คปท. 1 ราย คือ นายวสุ สุฉันทบุตร อายุ 30 ปี ถูกยิงที่ท้อง ทั้งนี้ นายวสุจบการศึกษาปริญญาโทจากประเทศออสเตรเลีย เป็นบุตรชายคนเดียวของครอบครัว และเป็นลูกของนายตำรวจที่เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ที่ จ.ปัตตานี ส่วนตำรวจที่เสียชีวิต คือ ด.ต.ณรงค์ ปิติสิทธิ์ ผบ.หมู่จราจรตลาดพลู ถูกยิงที่หน้าอก ซึ่งแพทย์ที่พิสูจน์วิถีกระสุนยืนยันว่า ถูกยิงจากมุมสูง เป็นที่น่าสังเกตว่า มีผู้ถ่ายคลิปเหตุการณ์ในวันดังกล่าวได้ว่า มีชายชุดดำอยู่บนดาดฟ้าของอาคารกระทรวงแรงงานหลายคน ดังนั้นผู้ที่ถูกยิงจากมุมสูง อาจเป็นฝีมือของชายชุดดำดังกล่าว ซึ่งหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ที่จะขึ้นไปบนอาคารดังกล่าวได้ ต้องเป็นฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะผู้ชุมนุมไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ดังกล่าวได้ เนื่องจากต้องผ่านด่านตำรวจ นอกจากนี้ยังปรากฏคลิปตำรวจนับสิบนายใช้กระบองรุมทุบรถของอาสาพยาบาลที่พยายามเข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ส่งผลให้กระแสสังคมโจมตีการกระทำของตำรวจดังกล่าวอย่างหนัก ไม่เท่านั้นยังมีคลิปที่ตำรวจรุมซ้อมผู้ชุมนุมก่อนนำตัวไปคุมขังที่ จ.ปทุมธานี 14 คน ซึ่งภายหลังกลุ่ม คปท.ได้เคลื่อนขบวนไปปิดถนนวิภาวดี เพื่อเรียกร้องให้ตำรวจปล่อยตัว 14 ผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมไป ทั้งนี้ ในเวลาต่อมา ผู้ชุมนุมที่ถูกจับได้รับการประกันตัว แต่สภาพผู้ชุมนุมหลายคนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจซ้อมจนหน้าตาบวมปูด บางคนยังต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า การใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจครั้งนี้ ตำรวจได้นำรถขนอาวุธหลายชนิด ทั้งแก๊สน้ำ กระสุนยาง กระสุนจริงและปืนลูกซองมาเตรียมไว้ในสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นจำนวนมากซึ่งภายหลังทหารที่ประจำการอยู่ภายในสนามกีฬาฯ ได้ร่วมตรวจค้นต่อหน้าสื่อมวลชน อย่างไรก็ตาม ภายหลัง กองทัพบกกลับแถลงว่า สิ่งที่อยู่ในรถตำรวจดังกล่าวเป็นแค่อุปกรณ์ควบคุมฝูงชนที่ตำรวจยังไม่ได้นำออกไป จึงได้ส่งคืนให้ตำรวจแล้ว ทั้งนี้ คำแถลงของกองทัพบก ขัดแย้งกับภาพที่ปรากฏ รวมทั้งคำยืนยันจากกลุ่ม 40 ส.ว.ที่เห็นว่า อาวุธในรถตำรวจดังกล่าว มีปืนลูกซองพร้อมกระสุนกว่า 120 นัดด้วย ด้าน กกต. หลังจากให้พรรคการเมืองจับสลากหมายเลขพรรคท่ามกลางกระสุนและแก๊สน้ำตาภายนอกสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ได้ขึ้น ฮ.กลับไปยังสำนักงาน ก่อนประชุมด่วน และเปิดแถลงจุดยืนของ กกต. โดยนอกจากแสดงความเสียใจต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นแล้ว ยังได้ขอให้รัฐบาลเลื่อนการเลือกตั้งออกไป เพราะหากความขัดแย้งยังคงอยู่ กกต.คงไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้อีกต่อไป และว่า หากยังไม่มีการดำเนินการใดใดเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ กกต.จะใช้สิทธิและอำนาจหน้าที่ของ กกต.แต่ละคน เพื่อตัดสินใจคลี่คลายสถานการณ์ ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นอกจากไม่สนคำขอของ กกต. แล้ว ยังพูดเหน็บ กกต.ด้วยว่า แต่ละคนต้องรู้บทบาทหน้าที่ของตนเอง ขณะที่แกนนำพรรคเพื่อไทย ต่างออกมาสำทับว่าไม่สามารถเลื่อนการเลือกตั้งได้ พร้อมขู่ กกต.หากไม่เดินหน้าจัดเลือกตั้ง อาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ด้านพรรคประชาธิปัตย์ ได้แถลงแสดงความเสียใจกับทุกฝ่ายที่สูญเสียทั้งชีวิตและบาดเจ็บ พร้อมชี้ นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเป็นผู้ดื้อดึงให้มีการเลือกตั้ง เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่เพียงผู้ชุมนุมกลุ่ม คปท.จะถูกยิงด้วยแก๊สน้ำตาและกระสุนจริงที่หน้าสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. แต่เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 27 ธ.ค.ล่วงเข้าวันที่ 28 ธ.ค. เวลา 03.20น.ได้มีคนร้ายใช้ปืนเอ็ม 16 กราดยิงการ์ดของกลุ่ม คปท.ที่บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ส่งผลให้การ์ดบาดเจ็บ 3 ราย และเสียชีวิต 1 ราย คือ นายยุทธนา องอาจ อายุ 26 ปี ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ปราศรัยที่เวทีอนุสาวรีย์ประชาธิไตยโดยเชื่อว่า เป็นฝีมือของตำรวจ เพราะถ้าไม่ใช่การรู้เห็นของตำรวจ ไม่มีใครแบกเอ็ม 16 ไปยิงประชาชนในที่ชุมนุมได้ โดยคนที่น่าสงสัยที่สุดคือพล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนคร เพราะมีตำรวจบอกตนว่าในงานศพของตำรวจมีการคุยกันว่าต้องเอาคืน นายสุเทพ ยังแฉด้วยว่า ตนรู้จักประวัติของ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ว่าเคยทำแบบนี้ที่ภาคใต้ กรณีฆ่าชาวมุสลิมที่มาเลย์เซียส่งตัวกลับมา สังหารหมด 5-6คน เพื่อล้างแค้นให้ลูกน้อง วันนั้น พล.ต.ท.คำรณวิทย์ต้องถูกย้ายออกจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เอามาชุบเลี้ยงไว้ จึงคิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นายสุเทพ ยังตั้งข้อสงสัยด้วยว่า ตำรวจจะมาแค้นผู้ชุมนุมทำไม ในเมื่อคนฆ่า ด.ต.ณรงค์ คือคนที่อยู่บนดาดฟ้ากระทรวงแรงงาน ซึ่งไม่ใช่พื้นที่ที่ประชาชนจะเข้าไปได้ นอกจากตำรวจหรือคนที่ตำรวจอนุญาตให้ขึ้นไป นายสุเทพ กล่าวด้วยว่า ขอประณาม พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ , พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ถ้ามีส่วนร่วมปลุกปั่นให้ตำรวจเกลียดประชาชน เป็นสิ่งที่ระยำที่สุด ไม่ควรเป็นตำรวจอีกต่อไป พร้อมตั้งคำถามว่า ถ้า ด.ต.ณรงค์ ตาย แล้วตำรวจโกรธมวลมหาประชาชน แล้วทำไมดาบยิ้มตายถึงไม่โกรธ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อีกทั้งเมื่อปี 53 แกนนำเสื้อแดงสั่งชายชุดดำฆ่าตำรวจ ทำไมวันนี้ตำรวจยังคบอยู่กับคนพวกนั้น ทำไมมานึกเจ็บปวดเอาวันนี้ ตนขอถามเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม นายสุเทพ ยังพูดถึงการรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตวันแรก(28 ธ.ค.)ด้วยว่า หลายจังหวัดในภาคใต้ไม่มีใครสามารถไปสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตได้ ดังนั้นถ้าพี่น้องยังเหนียวแน่นอย่างนี้ การสมัครเลือกตั้งคราวนี้ไม่สำเร็จแน่นอน พร้อมเชื่อว่า ต่อให้มีการสมัครได้ แต่ไม่มีวันที่การเลือกตั้ง 2 ก.พ. จะได้ผู้แทนฯ ครบจำนวนที่จะสามารถเปิดประชุมสภา หรือตั้งรัฐบาลได้ แต่ กปปส.จะไม่รอถึง 2 ก.พ. พ้นปีใหม่นัดหมาย ปิดกรุงเทพ โดยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ สู้อย่างสันติ สงบ ปราศจากอาวุธ ปฏิวัติโดยประชาชน ยึดอำนาจอธิปไตยมาเป็นของปวงชนชาวไทย พี่น้องต่างจังหวัดเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อเดินทางเข้า กทม. ส่วนพี่น้องกรุงเทพฯ คนที่ไม่พร้อมร่วมสู้ ให้เตรียมไปพักผ่อนต่างจังหวัด เพราะถึงตอนนั้นกรุงเทพฯ จะเป็นอัมพาต เพราะรถวิ่งไม่ได้ จะเป็นถนนคนเดินทั้งกรุงเทพ จะไม่มีที่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์หยั่งเท้าลงแม้แต่ตารางนิ้วเดียว 2. ป.ป.ช. นัดฟัน “สมศักดิ์-นิคม” แก้ที่มา ส.ว.ไม่ชอบ 10 ม.ค. พร้อมชี้ชะตาอีก 381 ส.ส.-ส.ว. 7 ม.ค. ด้านศาล รธน.นัดวินิจฉัยแก้ ม.190 8 ม.ค.! | ||||
ทั้งนี้ หลังประชุม นายวิชา มหาคุณ กรรมการและโฆษก ป.ป.ช.แถลงว่า ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีคำสั่งให้ไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วรวม 6 ปาก มีการขอเอกสารหลักฐานจากศาลรัฐธรรมนูญ รัฐสภา และจากผู้ร้องเป็นจำนวนมากแล้ว พิจารณาเห็นว่า พยานหลักฐานตามที่ได้ในขณะนี้เพียงพอต่อการแจ้งข้อกล่าวหาว่ามีผู้กระทำผิดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 รวม 2 ราย คือ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติให้แจ้งข้อกล่าวหาบุคคลทั้งสอง โดยจะทำหนังสือแจ้งให้ทั้งสองคนมารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 10 ม.ค.2557 สำหรับประธานวุฒิสภา ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อยู่ เนื่องจากยังไม่มีการชี้มูล แต่จะเปิดโอกาสให้มาชี้แจง หากไม่มา จะต้องพิจารณาว่าจะชี้มูลต่อไปหรือไม่ ส่วน ส.ส.-ส.ว.อีก 381 คนที่เหลือ ซึ่งถูกร้องในข้อหาเดียวกันนั้น เนื่องจากมีจำนวนมากและมีรายละเอียดเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ถูกกล่าวหาแตกต่างกัน คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงเห็นควรให้สรุปสำนวนและลงมติว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาทั้ง 381 คนหรือไม่ในวันที่ 7 ม.ค. ด้านศาลรัฐธรรมนูญได้นัดอ่านคำวินิจฉัยกรณีที่นายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ขอให้ศาลฯ วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ,นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา และ ส.ส.-ส.ว. 378 คน กระทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เป็นการให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในวันที่ 8 ม.ค.นี้ เวลา 15.00น. 3. ศาล รธน.ไม่รับคำร้อง “สุเทพ” ล้มล้างการปกครอง ชี้ ไม่มีมูล พร้อมไม่รับคำร้องยุบพรรค ปชป. เหตุผู้ร้องไม่ใช่ผู้มีสิทธิ! | ||||
ทั้งนี้ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า การชุมนุมของ กปปส.เป็นการใช้เสรีภาพและเป็นการกระทำในนามประชาชนที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ โดยมีเหตุผลสืบเนื่องมาจากการต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และมาจากความไม่ไว้วางใจในการบริหารราชแผ่นดินของรัฐบาล และเป็นเพียงการเรียกร้องและแสดงพลังด้วยการสนับสนุนของประชาชนเป็นจำนวนมาก จึงยังไม่มีมูลกรณีที่จะเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องไว้วินิจฉัยได้ สำหรับการออกหมายจับผู้ถูกร้อง เป็นเรื่องที่ผู้รับผิดชอบในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจะดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วมีมติ 6 ต่อ 1 มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ส่วนประเด็นคำร้องขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์นั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ว่า ผู้ร้องมิใช่บุคคลที่มีสิทธิในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 มาตรา 95 ขอให้ยุบพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 แต่อย่างใด ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา 4. ดีเอสไอ ยื่นศาลถอนประกัน 9 อดีตแกนนำ-แนวร่วมพันธมิตรฯ อ้าง ร่วมเคลื่อนไหว กปปส. ด้านศาลนัดไต่สวน 24 ก.พ.! | ||||
ซึ่งต่อมา นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายพันธมิตรฯ ได้ยื่นคัดค้านการเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวบุคคลทั้งเก้า ด้านศาลได้รับคำร้องไว้พิจารณา และนัดไต่สวนพยานทั้งสองฝ่ายในวันที่ 24 ก.พ.2557 เวลา 09.00น. |
วันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2556
สรุปข่าวประจำสัปดาห์ 22 - 28 ธ.ค.56
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น