วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2556

สภาทักษิณูปถัมภ์! ‘ปู’ตั้ง11อรหันต์คัดคนปฏิรูป‘กปปส.’เมิน-จวกบริวารแม้ว เมื่อ 26 ธ.ค.56


สภาทักษิณูปถัมภ์! ‘ปู’ตั้ง11อรหันต์คัดคนปฏิรูป‘กปปส.’เมิน-จวกบริวารแม้ว

"ยิ่งลักษณ์" เสนอตั้งสภาปฏิรูปประเทศ 499 คน คัดเลือกจากสาขาอาชีพ 2 พันคน ล็อกสเปกกรรมการสรรหา 11 คน มาจากตัวแทนกองทัพและหัวหน้าส่วนราชการ มีหน้าที่ศึกษาทำข้อเสนอแก้ไข รธน.รายงานนายกฯ-ครม.เห็นชอบ "ธงทอง" เผยนายกฯ เซ็นคำสั่ง 27 ธ.ค.นี้ รับไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย กปปส.สวนกลับโหนกระแสเพื่อรักษาอำนาจตัวเอง เย้ยแค่สภาโจ๊ก ต้องพึ่งใบบุญนักการเมือง อดีตรอง ปธ.กมธ.ยกร่าง รธน.ปี 50 ชี้ขัด รธน.ม.181 รัฐบาลรักษาการต้องไม่อนุมัติงานหรือโครงการที่มีผลผูกพัน ครม.ชุดต่อไป
     เมื่อเช้าวันที่ 25 ธันวาคม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  รักษาการนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ถึงท่าอากาศยานทหารกองบิน 6 (บน.6) จากนั้นเดินทางด้วยรถยนต์มายังกองบัญชาการกองทัพอากาศ (บก.ทอ.) เพื่อเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์มีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ก่อนเดินเข้าห้องประชุม ครม. โดยเจ้าหน้าที่ได้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด
    จากนั้นเวลา 11.30 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยว่า ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ต้องขอขอบคุณนักวิชาการ นักธุรกิจ และพี่น้องประชาชนผู้มีความหวังดีต่อประเทศจากหลายภาคส่วน ที่ช่วยกันแสดงความคิดเห็นเพื่อหาทางออกจากวังวนแห่งความขัดแย้งให้กับประเทศไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเราทุกคน ตนประมวลได้ว่าส่วนใหญ่ก็คิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะในการที่จะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมือง การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ การสร้างความเข้มแข็งในทางการเมือง การพัฒนาการเมือง และการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในหลายเวทีมีการเสนอให้จัดตั้งองค์กรที่จะมาดำเนินการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว ไม่เป็นการขัดหรือแย้ง และสามารถทำคู่ขนานไปกับกระบวนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 ก.พ.57 ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดไว้เป็นที่แน่ชัดแล้ว
    "เห็นด้วยอย่างยิ่งว่า ถึงเวลาที่เราต้องช่วยกันพัฒนากลไกที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศให้เกิดขึ้น ในโอกาสนี้จึงใคร่ขอเสนอรูปแบบองค์กรที่จะจัดตั้งขึ้นรูปแบบหนึ่ง โดยอาจเรียกว่าเป็น “สภาปฏิรูปประเทศ” ขอยืนยันแต่ต้นเลยว่า สภาปฏิรูปประเทศจะไม่ใช่เวทีของรัฐบาล ซึ่งถ้าทุกฝ่ายเห็นร่วมกันรัฐเป็นเพียงผู้จัดตั้งโดยใช้คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้รับทราบ เพื่อให้เรื่องนี้สามารถเดินหน้าได้ทันที ทั้งนี้ สภาปฏิรูปประเทศจะเป็นสภาของตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง โดยการสรรหาสมาชิกจะเริ่มจากการสรรหาตัวแทนประชาชนจากสาขาอาชีพต่างๆ จำนวน 2,000 คน แล้วจึงให้ตัวแทนอาชีพจำนวน 2,000 คนดังกล่าวเลือกผู้ที่จะเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศจำนวน 499 คน"
ล็อกสเปก 11 อรหันต์
    สำหรับคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการสมัคร การสรรหา การคัดเลือก และการแต่งตั้งตัวแทนวิชาชีพ ตลอดจนการเลือกสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศในขั้นตอนต่างๆ จะถูกกำหนดโดยคณะกรรมการที่มีองค์ประกอบดังนี้ 1.ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หรือผู้แทนซึ่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดแต่งตั้งจากผู้ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ หรือผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นกรรมการ 2.หัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่าซึ่งที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงเลือก จำนวน 2 คน เป็นกรรมการ 3. เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการ 4.อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเลือกจำนวน 1 คน เป็นกรรมการ 5. ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หรือผู้แทน เป็นกรรมการ 6. ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือผู้แทน เป็นกรรมการ 7.ประธานสมาคมธนาคารไทย หรือผู้แทน เป็นกรรมการ และ 8.ประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 คน ซึ่งกรรมการที่กล่าวถึงเบื้องต้นเป็นผู้เสนอชื่อ และคณะกรรมการชุดนี้จะมีกรรมการรวมทั้งสิ้น 11 คน
    น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวถึงหน้าที่ของสภาปฏิรูปประเทศ ดังนี้ 1.ศึกษาและจัดทำข้อเสนอการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจรวมถึงการจัดเตรียมร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2.ศึกษาและจัดทำข้อเสนอการปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ศึกษาและจัดทำข้อเสนอการให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารภาครัฐ 3.ศึกษาและจัดทำข้อเสนอการจัดให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือการยกเลิกกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งต่างๆ เพื่อให้การเลือกตั้งในทุกระดับ การสรรหา และแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งต่างๆ การใช้อำนาจรัฐและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเป็นไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรม 4.ศึกษาและจัดทำข้อเสนอการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงการราชการทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายราชการประจำ เพื่อให้การดำเนินการในเรื่องนี้มีประสิทธิภาพ และ 5.ศึกษาและจัดทำข้อเสนอการปรับปรุงการกระจายอำนาจ การสร้างความรู้ความเข้าใจกฎหมาย การเตรียมความพร้อมและสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนและท้องถิ่น โครงสร้างการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินในทุกระดับ การปรับปรุงระบบและวิธีการงบประมาณ และการบริหารงานบุคคลภาครัฐ
     ทั้งนี้ เมื่อสภาปฏิรูปประเทศได้ดำเนินการในข้อใดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ทำรายงานเสนอนายกรัฐมนตรี และให้สภาปฏิรูปประเทศเปิดเผยรายงานดังกล่าวต่อสาธารณชน เพื่อที่จะได้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการตามเจตนารมณ์ต่อไป โดยกรอบเวลาการดำเนินการขึ้นอยู่กับสภาปฏิรูปประเทศเป็นผู้กำหนดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว สำหรับผู้ที่เป็นห่วงถึงความต่อเนื่อง เมื่อมีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. และมีรัฐบาลหลังการเลือกตั้งแล้วนั้น จะมีการกำหนดไว้ด้วยว่า เมื่อคณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดิน ให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอนายกรัฐมนตรีและ ครม.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบให้การปฏิบัติงานตามคำสั่งนี้ดำเนินต่อไปอย่างสืบเนื่องตามเจตนารมณ์และแนวทางที่ทุกฝ่ายให้ความเห็นชอบแล้ว
     "ขอเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงภารกิจการปฏิรูปประเทศที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติไทย และเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะต้องช่วยกันทำให้การปฏิรูปประเทศครั้งนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชน เพื่อสังคมที่สงบสันติ มีความปรองดอง รักและสามัคคี และเพื่ออนาคตของลูกหลานของเราทุกคน" น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว
นายกฯ เซ็นคำสั่ง 27 ธ.ค.นี้
    ต่อมาเมื่อเวลา 17.45 น. ที่กองบิน 41 จ.เชียงใหม่ น.ส.ยิ่งลัษณ์ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนักวิชาการระบุสภาปฏิรูปสำเร็จได้ยาก เพราะไม่มีคู่ขัดแย้งเข้าร่วมว่า ให้ทางทีมงานไปหารือก่อน เพราะรัฐบาลอยากเชิญทุกคนเข้าร่วม ซึ่งเป็นเวทีกลางที่สุดแล้ว ประกอบไปด้วยทุกกลุ่มทุกภาคส่วน พยายามให้ผู้ที่อยู่ตรงกลางเป็นผู้เชิญชวนทุกกลุ่มเข้าร่วม   
      ผู้สื่อข่าวถามว่า จะขอร้องให้ กปปส.ยอมถอยบ้างเพื่อให้เกิดการพูดคุยกับรัฐบาลหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า อาจจะเป็นอย่างนั้น แต่ไม่ใช่คำว่าถอย แต่เรามาร่วมกันเถอะ อยากให้เข้ามาแก้ปัญหา เพื่อที่ผู้ชุมนุมจะได้นำเอาแนวทางปฏิรูปของผู้ชุมนุมมาเสนอในสภาปฏิรูปประเทศ ช่วยกันคิดเพื่อแก้ปัญหาประเทศ 
     นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี  คาดว่านายกฯ จะเซ็นลงนามคำสั่งแต่งตั้งสภาปฏิรูปประเทศได้ภายในวันศุกร์ที่ 27 ธ.ค.นี้ ซึ่งทุกคนสามารถมาร่วมได้ เพราะเวทีนี้ไม่ใช่เวทีของรัฐบาล และการออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีถือว่าเหมาะสมที่สุด เพราะขณะนี้ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่สามารถจะออกเป็น พ.ร.ก.หรือ พ.ร.ฎ.ได้ ที่สำคัญสามารถเริ่มได้ทันที และจะต่อเนื่องได้ตลอดเมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามาที่สามารถดำเนินการต่อได้ทันที
    ด้านนายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่ใช้กลไกของคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น เนื่องจากการออกเป็น พ.ร.ก.หรือ พ.ร.ฎ.นั้น อาจจะติดข้อกฎหมายต่างๆ เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลอยู่ในฐานะรักษาการ แต่กลไกใช้คำสั่งนายกรัฐมนตรีนั้นภายหลังที่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้วยังสามารถผลักดันให้กลายเป็น พ.ร.บ. หรือ พ.ร.ก.ได้ หากภาคส่วนอื่นๆ มีความเห็นเพิ่มเติม ยังสามารถเสนอเข้ามาได้ในช่วงวันที่ 25-26 ธ.ค. คาดว่าในวันที่ 27 ธ.ค. นายกฯ จะสามารถลงนามในคำสั่งได้ หลังจากนั้นเมื่อเปิดปีใหม่คณะกรรมการของสภาปฏิรูปประเทศ ที่มาจากองค์กรและหน่วยงานต่างๆ 8 คน รวมกับประธานคณะกรรมการ 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 คน รวม 11 คน จะได้ประชุมเบื้องต้นเพื่อกำหนดสัดส่วนของอาชีพต่างๆ ใน 2,000 คน จากนั้นจึงเลือกสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศเหลือ 499 คน ซึ่งจะได้ตัวแทนทั้ง 499 คน ภายในเดือน ม.ค.57
    "การเลือกตัวแทนในสาขาอาขีพต่างๆ นั้น มาจากการสมัครเข้ามา และจะไม่เลือกจากสภาวิชาชีพ เพราะอาจจะไม่เป็นที่พอใจและไว้วางใจได้ และแม้ว่าการดำเนินการของสภาปฏิรูปประเทศจะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่เชื่อว่าจะเป็นการให้ความเห็นที่มีน้ำหนัก เนื่องจากสภาปฏิรูปประเทศจะมาจากคนจำนวนมากและจะมีผลต่อบริบทของสังคม คณะกรรมการสภาปฏิรูปฯ 11 คนนั้น ขณะนี้ได้มีการติดต่อประสานกันแล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนว่าจะเข้าร่วมหรือไม่" นายธงทองกล่าว
    มีรายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับผู้ที่ได้รับการคาดหมายว่าจะมานั่งในตำแหน่งประธานสภาปฏิรูปประเทศ คือ นางสดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เพิ่งหมดวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อไม่นานมานี้ เนื่องจากมองว่าน่าจะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายได้
    ด้านนางสดศรีกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ขอพูด เพราะยังไม่มีการเทียบเชิญมายังตน คงต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาลก่อน แต่หากมีการเชิญเข้ามา ก็พร้อมเข้าร่วม เพราะเห็นแก่ประเทศชาติ
กปปส.เย้ยแค่สภาโจ๊ก
    ขณะที่คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) แถลงปฏิเสธแนวทางดังกล่าวทันที โดยนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์  โฆษก กปปส. กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมวลมหาประชาชน เป็นเพียงการโหนกระแสเพื่อรักษาอำนาจของตัวเอง ทั้งนี้ กปปส.มีข้อสังเกตว่า แม้จะตั้งชื่อสวยหรูว่า “สภาปฏิรูป” แต่สภาดังกล่าวไม่มีอำนาจทางกฎหมาย ทำได้เพียงการเสนอแนะ ซึ่งไม่ต่างอะไรจากสภาโจ๊ก เมื่อไม่มีอำนาจก็ต้องพึ่งใบบุญนักการเมือง บวกกับการที่นายกฯ นำตระกูลตนเองไปอยู่ในอันดับ ส.ส.บัญชีรายชื่อต้นๆ ก็ชี้ให้เห็นว่าต้องการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสภาปฏิรูป และอาจเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะการปฏิรูปต้องแก้ไขกฎหมายลงโทษนักการเมืองที่ทุจริต วันนี้จะไปพึ่งหวังกับนักการเมืองให้ออกกฎหมายลงโทษตัวเองคงไม่ได้
    นายเอกนัฏกล่าวว่า ตามข้อเสนอของนายกฯ จะมีการปฏิรูปทั้งหมด 5 หัวข้อ หนึ่งในนั้นคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งทาง กปปส.เกรงว่าอาจมีนัยแอบแฝงเพื่อประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยแก้รัฐธรรมนูญเพื่อรวบอำนาจ หรือแก้เรื่องการสรรหาตุลาการและองค์กรอิสระ นอกจากนี้เราเป็นห่วงว่าอาจบีบให้องค์กรต่างๆ เช่น สภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ เป็นต้น เข้ามาสมยอมรวมปฏิรูป ทั้งหมดเพื่อที่จะซักฟอกขบวนการที่ไม่ยุติธรรมและไม่เชื่อมั่นของประชาชน
     “วันนี้ต้องการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ไม่ใช่ปฏิรูปควบคู่การเลือกตั้ง เราต้องการความชัดเจน ไม่ใช่ว่าตั้งองค์กรปาหี่ สภาโจ๊กที่ไม่มีอำนาจจริง และประชาชนไม่ไว้ใจให้นักการเมืองที่โกงบ้านเมืองมาปฏิรูป รัฐบาลไม่ได้มีความตั้งใจปฏิรูปจริง และมวลมหาประชาชนต้องการองค์กรที่ปราศจากการครอบงำของนักการเมือง” นายเอกนัฏกล่าว และเรียกร้องให้นายกฯ แสดงความรับผิดชอบ โดยการเสียสละลาออกจากรักษาการ เพื่อปูทางไปสู่การปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง
    นายณัฏฐ์ บรรทัดฐาน รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐบาลไม่ควรนำสภาปฏิรูปประเทศมาฟอกขาวให้กับตัวเอง เพราะการทำสภาปฏิรูปในช่วงเวลานี้ ก็เพื่อเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้การเลือกตั้งที่มีความวุ่นวายสับสนในขณะนี้ และเชื่อว่าจะวุ่นวายต่อไปอีก รัฐบาลเคยพยายามให้นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีทำเวทีปฏิรูปแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมีแต่คนของรัฐบาล โดยไม่รับฟังคนที่ไม่เห็นด้วย ถ้ารัฐบาลตั้งใจจริง ต้องหาคนกลางเข้ามาดำเนินการทำสภาปฏิรูปอย่างแท้จริง เช่น สถาบันพระปกเกล้า หรือคุยกับองค์กรตุลาการ ให้ศาลเป็นตัวกลางทำเวทีปฏิรูปโดยอิสระ
    ที่เวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เวลา 21.00 น. นายสุเทพกล่าวปราศรัยถึงสภาปฏิรูปของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า ที่จะตั้งกรรมการ 11 คน คัดเลือกหาชื่อคน 2,000 คน ผบ.สส.หรือผู้แทน ปลัดกระทรวง เลขาธิการ สศช. รวม 11 คน ดูรายชื่อ ฟันธง 8 คน เป็นคนที่ยิ่งลักษณ์สั่งได้ สรุปได้ว่า 2,000 คนมาจากกระบวนการของยิ่งลักษณ์และระบอบทักษิณ เอาเด็กในกระเป๋า 2,000 คนมาเลือกเหลือ 499 คน ก็เป็นคนของระบอบทักษิณอยู่ดี
    ส่วนสภาปฏิรูป มีหน้าที่คือศึกษาจัดทำข้อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พูดเจื้อยแจ้วดูสวยงาม จึงอยากเปรียบเทียบกับสภาประชาชนของ กปปส.คือ 1. สภาประชาชนของเราเป็นสภานิติบัญญัติ มีอำนาจออกกฎหมาย เขียนกฎหมายขึ้นมาใหม่เพื่อให้นำไปใช้ปฏิรูปประเทศได้ทันที เป็นสภาจริงๆ เหมือนสภานิติบัญญัติ สภาผู้แทนราษฎร เพียงแต่ไม่มีนักการเมือง ไม่มีสมุนบริวารของระบอบทักษิณมาอยู่ในนี้โดยเด็ดขาด ส่วนสภายิ่งลักษณ์ไม่ใช่สภา เป็นคณะกรรมการ เหมือนคณะกรรมการที่ตั้งมาหลายชุด เหมือนตั้งนายบรรหาร ศิลปอาชา ก็เหลวเป๋วไม่ได้เรื่อง
    "ที่เราคิดทำสภาประชาชน เราต้องการให้สภาประชาชน ทำงานประสานกัน สอดรับกัน คล้องจองกันกับรัฐบาลของประชาชน หลังจากไล่ยิ่งลักษณ์ออกไปแล้ว ทั้งรัฐบาลและสภาประชาชนจะรีบปฏิรูปประเทศไทยเพื่อให้เกิดผลดี เพื่อส่วนรวม ส่วนสภายิ่งลักษณ์ เป็นสภากำมะลอ ไม่ใช่สภา มันคือคณะกรรมการชุดหนึ่ง ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือให้ระบอบทักษิณสามารถครองอำนาจในบ้านเมืองนี้ต่อไปอีก เพื่อซื้อเวลาให้พวกโลกสวยมองว่ารัฐบาลยอมแล้ว ถอยแล้ว โกหกทั้งนั้น  เมื่อสภายิ่งลักษณ์ทำแล้วพอเข้าสภาพรรคเพื่อไทย บอกว่าไม่เอายิ่งลักษณ์ก็บอก ดิฉันช่วยไม่ได้ค่า ก็พูดอย่างนี้ตลอด เมื่อส่งเรื่องมายิ่งลักษณ์ก็ดูไม่รู้เรื่อง ต้องส่งให้ทักษิณที่ดูไปตัดสินว่าจะทำอะไร ไม่ทำอะไร" แกนนำ กปปส.กล่าว
    นายสุเทพกล่าวด้วยว่า ที่มาสภาประชาชนให้ตัวแทนลงคะแนนเลือกตัวแทนให้มาทำหน้าที่ต่างจากสภายิ่งลักษณ์ที่จะหยิบใครมาก็ได้ ส่วนอีก 100 คน สิ่งที่คิดไว้ในใจคือ ให้คนดีมีความสามารถที่ตกหล่นที่จะทำหน้าที่ในสภา โดยจะทำตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ม.113, ม.114 ที่บัญญัติไว้ว่าด้วยการสรรหา ส.ว.ในปัจจุบัน อาทิ ประธานศาล รธน. ประธาน กกต. ประธาน ป.ป.ช. ช่วยคัดกรอง แต่ยิ่งลักษณ์ซื้อไม่ได้ เลยไม่เอา จึงขอท้ามาดวลออกทีวีไหม แล้วดูประชาชนจะเลือกสภายิ่งลักษณ์หรือสภาประชาชน
    "เดือน ม.ค.นี้ยึดอำนาจอธิปไตยมาเป็นของประชาชน แล้วตั้งสภาประชาชน มิเช่นนั้นพวกเขาจะหลอกลวงเราไปวันๆ เราต้องจัดการประเทศไทยด้วยมือของเราเอง" นายสุเทพกล่าวทิ้งท้าย
    นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐบาลพยายามโหนกระแสในเรื่องนี้ เห็นได้ชัดเจนว่ารัฐบาลขาดความจริงใจ การปฏิรูปที่จะสำเร็จได้นักการเมืองต้องละเว้นที่จะเข้าไปเกี่ยวข้อง ถอยออกไปสักระยะเวลาหนึ่ง เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับการใช้อำนาจ แต่การปฏิรูปจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเข้าสู่อำนาจและการใช้อำนาจรัฐ ถ้า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังยืนกรานเป็นนายกฯ ต่อไป อาจผลักดันสภาปฏิรูปได้แต่จะไม่มีประโยชน์ใดๆ เพราะไม่ได้รับการยอมรับ กลายเป็นละครปฏิรูปที่รัฐบาลสร้างขึ้น
ชี้ขัด รธน.ม.181   
    ขณะที่ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 50 ชี้ว่า นอกจากรัฐบาลนี้ไม่สนใจมติสมัชชาปฏิรูปที่ผ่านมา โดยไม่นำมติดังกล่าวเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบหรือพิจารณา ขณะนี้ยังเสนอสภาปฏิรูปที่จะไม่มีผลในทางปฏิบัติ เพราะอาจขัดรัฐธรรมนูญอีก เพียงเพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองที่รัฐบาลเผชิญอยู่ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 181 บัญญัติว่า คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตําแหน่ง ต้องอยู่ในตําแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ แต่ในกรณีพ้นจากตําแหน่งตามมาตรา 180 (2) คืออายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จําเป็น ภายใต้เงื่อนไขที่กําหนดต่อไปนี้....(1)..(2)..(3) ไม่กระทําการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป .......(4) ฯลฯ .....
    "การจะตั้งสภาปฏิรูปประเทศตามที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์  แถลง เมื่อตั้งขึ้นแล้วจะต้องใช้เวลาปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 1-2 ปี จึงจะเห็นผล ย่อมมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป อีกทั้งต้องมีผลให้ต้องอนุมัติงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินงานของสภาปฏิรูปประเทศด้วย ดังนั้นอาจมีผู้ไม่เห็นด้วยยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป" นพ.ชูชัย กล่าว
         นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวว่า รัฐบาลนี้หมดความชอบธรรมที่จะเป็นผู้เสนอให้มีการปฏิรูป ฉะนั้นการดำเนินการปฏิรูปโดยรัฐบาลจะไม่ได้รับการยอมรับจากคนทุกฝ่ายอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ขอเสนอให้นายกฯ เปิดทางให้การปฏิรูปเป็นวาระของประชาชนอย่างแท้จริง โดยการลาออกจากรักษาการ จะทำให้การปฏิรูปไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัฐบาลชุดนี้ โดยอาจจะเสนอนายกรัฐมนตรีคนกลางที่ทุกฝ่ายยอมรับ อย่างนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ พร้อมกับจัดตั้งสภาปฏิรูปคู่ขนานกันไป โดยมี นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เป็นประธาน เพราะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ โดยทั้ง 2 คนจะเป็นผู้นำกระบวนการปฏิรูปได้ โดยใช้เวลาประมาณ 8 เดือน แล้วจึงกลับเข้าสู่การเลือกตั้งที่โปร่งใส ยุติธรรม
      ขณะที่นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ว่า ขอสนับสนุนแนวทางของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศนั้น จะมาจากตัวแทนประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ ถึง 2,000 คน จากนั้นจึงเลือกให้เหลือ 499 คน ซึ่งมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าสภาประชาชนที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.เสนอ นอกจากนี้ ยังสามารถทำควบคู่ไปกับการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.57 ได้อีกด้วย สำหรับประชาชนที่เห็นต่าง อาทิ กปปส.และฝ่ายค้าน ก็สามารถเสนอตัวแทนเพื่อเข้ามาแสดงความเห็นผ่านสภาปฏิรูปประเทศได้อีกด้วยแนวคิดของนายกฯ ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญและมีกฎหมายรองรับ ถือเป็นการหาทางออกให้กับประเทศ
     วันเดียวกัน พล.อ.ชัยสิทธิ์  ชินวัตร อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด และญาติผู้พี่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร เปิดบ้านพักย่านรังสิต เพื่อให้อดีตผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อน ตท.5 และบุคคลใกล้ชิด เยี่ยมคารวะในโอกาสเทศกาลปีใหม่ โดย พล.อ.ชัยสิทธิ์กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.ว่า ขอฝากกองทัพในฐานะเสาหลักของประเทศ ช่วยดูแลประชาชน ขณะนี้ ผบ.เหล่าทัพวางตัวต่อสถานการณ์การเมืองได้เหมาะสมแล้ว และเป็นทำงานเป็นกลไกของรัฐบาล แต่ทาง พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะเพิ่มเติมในเชิงลึกด้วยการใช้กลยุทธ์ส่วนตัวประสานพูดคุยกับแกนนำผู้ชุมนุมมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีช่องทางพูดคุยกันได้ เพื่อช่วยคลี่คลายสถานการณ์
"ชัยสิทธิ์" ฮึ่ม "สุเทพ" เกินไป
    "พ.ต.ท.ทักษิณได้โทรศัพท์มาหาผมเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมาว่าขอให้คนตระกูลชินวัตรโลว์โปรไฟล์ทางการเมืองไปก่อน เพราะจะเห็นว่าขณะนี้มีเพียง น.ส.ยิ่งลักษณ์กับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ เท่านั้นที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบปาร์ตี้ลิสต์ ขอกลุ่มผู้ชุมนุมอย่ารุกไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จนถึงขั้นให้ออกนอกประเทศ เพราะถือว่าเกินไป ทั้งที่รัฐบาลยอมถอยทุกทางแล้ว กรณีความเคลื่อนไหวของนายสุเทพและผู้ชุมนุม ถือเป็นการปฏิวัติเงียบไปแล้ว เพราะทหาร ตำรวจ ไม่ออกมาทำหน้าที่" พล.อ.ชัยสิทธิ์กล่าว
    ที่กองบัญชาการกองทัพอากาศ (บก.ทอ.) ดอนเมือง ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม.ว่า ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม ครม. นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ เป็นตัวแทนกล่าวอวยพรปีใหม่นายกฯ เนื่องในโอกาสการประชุม ครม.เป็นครั้งสุดท้ายประจำปี 56 ก่อนกลับมาประชุมอีกครั้งในปี 57 โดยนายสุรพงษ์กล่าวขออวยพรให้นายกฯ สุขภาพแข็งแรง จิตใจเบิกบาน อดทนอดกลั้น ส่วนการต่อสู้ทางการเมืองหลังจากนี้ ขอให้เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีที่เหลือ แต่ขอให้นายกฯปกครองประเทศ นำพาประชาชนไปข้างหน้า นายกฯ ได้รับการยอมรับจากสังคมโลกในเรื่องความอดทนอดกลั้น ทุกประเทศชื่นชมที่นายกฯ เสียสละ ไม่ยึดติดตำแหน่ง
    ร.ท.หญิงสุณิสากล่าวว่า นายกฯ กล่าวตอบว่า ตนมีความสุขที่ได้กลับมาในที่ประชุม ครม.ในวันนี้ และได้รับคำอวยพรที่ดี รู้สึกดีใจที่เห็นทุกคนแสดงเจตนารมณ์ปกป้องระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ปกป้องตน ที่ผ่านมาไม่อยากแสดงความอ่อนแอให้ใครเห็น และไม่เคยยึดติดต่อตำแหน่ง แต่ไม่สามารถทิ้งประชาชน เพราะได้เห็นสายตาประชาชนขณะเดินทางไปต่างจังหวัดซึ่งพูดว่า " นายกฯ อย่าทิ้งประชาชนที่เลือกมา" ทำให้ต้องละทิ้งความรู้สึกส่วนตัว ดังนั้น ขอให้ ครม.ทุกคนร่วมกันฝ่าฟันอุปสรรค นำพาประเทศชาติให้เดินไปข้างหน้า
    “ขณะนี้ตัวดิฉันเองเหมือนนักกีฬาที่ขึ้นชกอยู่บนสังเวียน รอให้กรรมการมาตัดสินโดยใช้กติกาที่ถูกต้องแต่ถ้ากรรมการเลือกที่จะไม่ตัดสิน ดิฉันคงต้องยอมถูกชกจนตัวตาย แล้วให้คนดูเป็นผู้เลือกตัดสินใจ ตัวดิฉันไม่ยื้อกับตำแหน่งและอำนาจ แต่ต้องการยื้อกับความยุติธรรมที่ถูกทำลายซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถูกขยี้แล้วขยี้อีก ทำให้คนที่ตั้งใจทำดีถูกทำลาย วันปีใหม่ที่จะถึงนี้ ขอให้ครม.และคนไทยทั้งประเทศ มีความสุข และได้รับแต่สิ่งที่ดีๆ อย่าให้ได้รับความทุกข์อย่างที่ตัวดิฉันและครอบครัวได้รับอีกเลย” ร.ท.หญิงสุณิสาอ้างคำพูด น.ส.ยิ่งลักษณ์
    มีรายงานข่าวจากที่ประชุม ครม.แจ้งว่า หลังจากที่นายสุรพงษ์อวยพร ทำให้นายกฯ ซาบซึ้งและตื้นตัน พร้อมอวยพรกลับให้ ครม.โดยระหว่างที่ได้พูดว่า “ไม่ต้องการแสดงความอ่อนแอให้ใครเห็น” ปรากฏว่านายกฯ เริ่มมีน้ำตาคลอเบ้าและคลอไปจนตลอดการอวยพร
    นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า กรณีคดีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เมื่อปี พ.ศ.2551 ซึ่งพนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องแกนนำ พธม.เป็นจำเลยต่อศาล ซึ่งศาลอาญาได้สั่งให้ประกันตัวไปเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2556 โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือห้ามมิให้กระทำการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้าน ขณะนี้จำเลยในคดีดังกล่าวจำนวน 9 คน ได้มาร่วมกันกระทำผิดดังที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามของศาลอาญาที่อนุญาตให้ประกันไว้อย่างชัดเจน ดังนั้นจะยื่นคำร้องขอต่อศาลอาญาสั่งเพิกถอนการให้ประกันตัวแกนนำทั้ง 9 คน ในวันที่ 26 ธ.ค. เวลา 14.00 น.
    สำหรับแกนนำทั้ง 9 คน ได้แก่ 1.นายพิภพ ธงไชย 2.นายสุริยะใส กตะศิลา 3.นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ 4.นายรัชต์ยุตม์ หรือนายอมรเทพ ศิรโยธินภักดี หรืออมรรัตนานนท์ 5.น.ส.อัญชะลี หรือปอง ไพรีรัก 6.นายพิชิต ไชยมงคล 7.พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ 8.ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ ร.น. และ 9.นายสมบูรณ์ ทองบุราณ .

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น