วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2556

สื่อนอกชี้วิกฤติเมืองไทย อาจแย่กว่า‘บังกลาเทศ’ เมื่อ 26 ธ.ค.56

สื่อนอกชี้วิกฤติเมืองไทย อาจแย่กว่า‘บังกลาเทศ’


 "ฮินดูสถานไทมส์" สื่อดังจากประเทศประชาธิปไตยใหญ่ที่สุดในโลกสอนเชิงประชาธิปไตยไทย ระบุจากสังคมที่เคยเชื่อฉันทามติเสียงส่วนใหญ่ ตอนนี้กลับเป็นวัฒนธรรมใช้ความรุนแรงและเผชิญหน้าคล้ายกับบังกลาเทศ ชี้การเมืองไม่มั่นคงกระทบเศรษฐกิจ แนะพัฒนาวัฒนธรรมประชาธิปไตย พร้อมแทงใจดำไทยขาดผู้นำการเมืองที่มีวิสัยทัศน์ไกล
    หนังสือพิมพ์ฮินดูสถานไทมส์ซึ่งตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษและมีผู้อ่านมากเป็นลำดับต้นๆ ในอินเดีย ได้ลงบทบรรณาธิการแสดงทัศนะเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองของไทยทางเว็บไซต์วันที่ 25 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา กล่าวถึงความไร้เสถียรภาพทางการเมืองของประเทศไทยว่ากำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่เคยเฟื่องฟู 
    สื่อสิ่งพิมพ์เก่าแก่ของประเทศประชาธิปไตยที่มีประชากรมากที่สุดในโลกกล่าวว่า เมืองไทยได้กลับมาเกิดการชุมนุมประท้วงและภาวะอัมพาตทางการเมืองอีกครั้งหลังจากสงบเงียบในช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษา ดูเหมือนว่าท้องถนนของกรุงเทพฯ จะกลายเป็นสนามรบไปจนกระทั่งถึงวันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 
    "การเปลี่ยนแปลงในวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยในช่วงทศวรรษเศษที่ผ่านมาถือว่าน่าสนใจ จากประเทศที่กอปรด้วยความเชื่อแบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อฉันทามติทางการเมืองและการปรึกษาหารือของชนชั้นนำอย่างลับๆ ตอนนี้ไทยกลับมีวัฒนธรรมใช้ความรุนแรงและเผชิญหน้า ซึ่งไม่แตกต่างไปจากสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในบังกลาเทศ ทว่า ขณะที่ท้องถนนในกรุงธากาของบังกลาเทศได้ลดความรุนแรงลงอย่างช้าๆ สถานการณ์ในกรุงเทพฯ กลับเลวร้ายลง" บทความกล่าว
    ทั้งนี้ บังกลาเทศเกิดความวุ่นวายทางการเมืองมานานหลายเดือน เมื่อฝ่ายค้านที่นำโดยนางคาเลดา เซีย จัดชุมนุมประท้วงหลายครั้งเพื่อกดดันนายกรัฐมนตรีหญิง เชค ฮาสินา ลาออกก่อนถึงการเลือกตั้งใหม่วันที่ 5 มกราคมปีหน้า ซึ่งพรรคฝ่ายค้านพากันบอยคอตและนานาชาติประกาศไม่ส่งคณะเข้าไปสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ความรุนแรงที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนตุลาคมได้คร่าชีวิตผู้คนแล้วมากกว่า 100 คน เมื่อค่ำวันอังคาร เซียยังเรียกร้องให้ประชาชนที่ออกมาเดินขบวนครั้งใหญ่ที่กรุงธากาวันที่ 29 ธันวาคม เพื่อประกาศว่าไม่เอาการเลือกตั้งตลกๆ นี้ แต่เอาประชาธิปไตย 
    บทบรรณาธิการกล่าวต่อว่า การเมืองไทยสะท้อนถึงสิ่งที่พวกผู้นำไทยปฏิเสธเสมอมาว่าไม่มีอยู่ นั่นคือความแตกต่างทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจอย่างรุนแรง แต่น่าขันที่ความแตกต่างนี้ทำให้คนไทยเชื้อสายจีนคนหนึ่งผงาดขึ้นในทางการเมือง ซึ่งก็คืออดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร การที่ระบอบเก่าแก่โบราณของไทยปฏิเสธจะยอมรับว่า ยังมีศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองทางเลือกอื่นและประชาธิปไตยเป็นหนทางดีที่สุดในการบริหารจัดการกิจการของประเทศ ได้ส่งเสริมให้เกิดความยุ่งยากที่ไทยประสบอยู่เวลานี้ ตัวทักษิณ ชินวัตร ก็มีส่วนกับปัญหานี้จากความพยายามแย่ๆ ที่จะฉวยประโยชน์จากความนิยมเพื่อให้ได้กลับประเทศ ความพยายามของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ น้องสาวของเขาซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีตัวแทน ในการผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อช่วยพี่ชายก็คือตัวอย่างล่าสุด
    ในภาวะที่ไม่มีฉันทามติหรือความเห็นพ้องต้องกันแบบประชาธิปไตยในไทยว่าการเมืองของประเทศควรทำงานอย่างไร แต่ไทยยังมีองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเป็นสัญลักษณ์เพียงหนึ่งเดียวแห่งความเป็นเอกภาพในชาติ ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองของไทยยังกระทบต่อเศรษฐกิจเคยเฟื่องฟูด้วย ประเทศไทยจำเป็นต้องค่อยๆ พัฒนาวัฒนธรรมประชาธิปไตย ไทยไม่ใช่สังคมที่แตกร้าวขั้นรุนแรงหรือเผชิญหน้ากันแต่ดั้งแต่เดิม อย่างไรก็ดี การขาดซึ่งผู้นำทางการเมืองที่ชัดเจนที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และมีความชำนาญทางการเมืองมารับมือกับสถานการณ์ขณะนี้ก็ไม่ใช่ลางที่ดีสำหรับประเทศไทย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น