วันอังคารที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2556

คณิตจี้อสส.ถอนฟ้องทุกสี อุทธรณ์ชี้นปช.ก่อการร้าย เมื่อ 24 ธ.ค.56

คณิตจี้อสส.ถอนฟ้องทุกสี อุทธรณ์ชี้นปช.ก่อการร้าย


"คณิต" ร่อนหนังสือจี้อัยการสูงสุด ถอนฟ้องคดีก่อการร้ายทุกคดีทั้งฝ่ายเสื้อเหลือง-เสื้อแดง ระบุเพื่อความสงบในบ้านเมือง ซัด อสส.ไม่ทำหน้าที่แก้ปัญหาให้ประเทศชาติ เฉ่ง "ยิ่งลักษณ์" ปัดข้อเสนอ คอป. หนำซ้ำยังสร้างความขัดแย้งขึ้นอีก พร้อมจี้รื้อคดีซุกหุ้น "ทักษิณ" ใหม่ แฉกระบวนการยุติธรรมตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง
    นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ทำหนังสือถึงนายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุด (อสส.) ขอให้สั่งไม่ฟ้องหรือถอนฟ้องคดีการก่อการร้ายทั้งหมดทุกคดี ทั้งของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ตกเป็นจำเลย ซึ่งการฟ้องคดีดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ 
    นายคณิตกล่าวว่า เมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นประธาน คอป.เกิดมีการดำเนินคดีในเรื่องการก่อการร้าย ซึ่งตนได้เขียนบทความเรื่อง "การก่อการร้าย" โดยเห็นว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่น่าเป็นผลดี ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอัยการ แต่เนื่องจากองค์กรอัยการในขณะนั้นไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความพร้อม ในการสร้างความถูกต้องและความปรองดองของคนในชาติ ในการเสนอแนะต่อรัฐบาลในเรื่องการก่อการร้ายนี้ คอป. จึงได้กล่าวถึงทางออกเพื่อสร้างความถูกต้องเกี่ยวกับองค์กรอัยการว่า เมื่อการดำเนินคดีในความผิดฐานก่อการร้าย ทำให้กระบวนการยุติธรรมของประเทศขาดความน่าเชื่อถือศรัทธา  ทางแก้โดยองค์กรในกระบวนการยุติธรรมตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่อาจทำได้ เช่น การสั่งไม่ฟ้องหรือการถอนฟ้องโดยพนักงานอัยการน่าจะเกิดขึ้นยาก เพราะองค์กรอัยการดูจะไม่ค่อยร่วมมือในการสร้าง "ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน"  (Transitional justice) 
    "เมื่อองค์กรอัยการไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจที่มีอยู่ในการแก้ปัญหาให้กับประเทศชาติ คอป.จึงได้เสนอให้ฝ่ายการเมืองยกเลิกกฎหมายว่าด้วยการก่อการร้ายแทน แต่ก็ไม่พบว่าฝ่ายการเมืองจะได้มีการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ คอป.เพื่อแก้ปัญหาของชาติแต่อย่างใด"
    อดีตประธาน คอป.ระบุว่า บัดนี้ปรากฏว่าอดีตอัยการสูงสุด 2 คนก่อนหน้านายอรรถพล ได้ดำเนินการโดยไม่ถูกต้องตามหน้าที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ดำเนินการอันอาจเป็นความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้  และที่สำคัญอาจทำให้คดีของรัฐเกิดความเสียหายได้ จึงเสนอแนะเรียกร้องให้อัยการสูงสุดได้ทำหน้าที่โดยสั่งไม่ฟ้อง หรือถอนฟ้องคดีก่อการร้ายทุกคดี ซึ่งการฟ้องคดีดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ ทั้งนี้เพื่อสร้างความสงบให้แก่บ้านเมือง
    นายคณิตกล่าวว่า นอกจากส่งหนังสือถึงอัยการสูงสุดแล้ว ยังได้ส่งหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี มีใจความว่า ตามที่ตนได้รับการแต่งตั้งจากอดีตนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้เป็นประธาน คอป. และในเวลาต่อมารักษาการนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ให้ความสำคัญแก่ คอป. และให้ คอป.ได้ดำเนินงานต่อไป จนการทำงานของ คอป.เสร็จสิ้นเมื่อเดือนกันยายน 2555 และ คอป.ได้เสนอแนะแนวทางเพื่อให้เกิดความสงบและความปรองดองของคนในชาติไว้หลายประการนั้น
    "แม้จะปรากฏว่าหลังจาก คอป.เสร็จสิ้นการทำงานแล้ว  แต่ คอป.ไม่พบว่ารัฐบาลได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ คอป.อย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด ยิ่งกว่านั้นรัฐบาลยังได้สร้างความขัดแย้งของคนในชาติขึ้นอีก โดยการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมและอื่นๆ แต่ตนในฐานะอดีตประธาน คอป.และ คอป.ทุกคน โดยสำนึกในความรับผิดชอบในเงินภาษีอากรของประชาชน ในการที่รัฐได้จัดสรรงบประมาณของแผ่นดินเพื่อการทำงานของ คอป. ในอันที่จะช่วยสร้างความสงบและความปรองดองของคนในชาติ ได้เห็นพ้องต้องกันว่า สมควรทำหน้าที่ผลักดันข้อเสนอแนะของ คอป.เพื่อช่วยเหลือประเทศชาติและสังคมต่อไป"
    นายคณิตกล่าวต่อว่า ในฐานะเป็นอดีตประธาน คอป.ได้พิมพ์หนังสือ "ประชาธิปไตยและการตั้งรังเกียจทางสังคม" อันเป็นผลงานของ คอป.เช่นเดียวกันออกเผยแพร่ไปแล้วหลายครั้ง ซึ่งหนังสือเล่มนี้ได้ส่งให้สมาชิกรัฐสภาทุกคนแล้วด้วย ทั้งนี้ คอป.เชื่อว่าในการ "ซุกหุ้น" ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2544  ที่มีการบิดเบือนหรือหักดิบกฎหมาย โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้น มีความไม่ถูกต้องจนเชื่อได้ว่า จะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้น และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่ง คอป.เห็นว่าหากให้ ปปง.ได้ตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงๆ จังๆ แล้วก็คงจะพบความไม่ถูกต้อง และการกระทำผิดกฎหมายที่กล่าวมาแล้ว 
    หนังสือนายคณิตระบุอีกว่า คอป.ยังเห็นว่าการกระทำของผู้ที่เกี่ยวข้องหลายคนในความไม่สงบเมื่อปี 2553 ที่ได้มีการประกาศหรือโฆษณาแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิด และได้เกิดการเผาที่ทำการของรัฐหลายแห่งและอาคารของเอกชนนั้น ก็เป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายอาญาอย่างแน่ชัด ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 85 ซึ่งสำหรับเรื่องหลังนี้ มีพยานหลักฐานปรากฏชัดแจ้งที่สามารถนำคดีไปสู่ศาลได้ ส่วนเรื่องการบิดเบือนหรือหักดิบกฎหมายนั้น ก็อยู่ในวิสัยที่กระบวนการยุติธรรมสามารถดำเนินการได้โดยไม่ยากแต่ประการใด และคงจะสามารถนำไปสู่ศาลได้เช่นเดียวกัน
    หนังสือระบุด้วยว่า ในฐานะอดีตประธาน คอป. ในฐานะอดีตอัยการสูงสุด ในฐานะนักวิชาการผู้สอนกฎหมายอาญาและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งได้นิพนธ์ตำรากฎหมายสองลักษณะนี้ด้วย และในฐานะประชาชนผู้เสียภาษี  ใคร่ขอตั้งข้อสังเกตว่า "ปัจจุบันกระบวนการยุติธรรมของประเทศ นอกจากไม่แก้ปัญหาพื้นฐานเรื่องการบิดเบือนหรือหักดิบกฎหมาย และการวางเพลิงเผาบ้านเผาเมืองแล้ว ยังทำตนตกเป็นเครื่องของทางการเมืองอีกด้วย"
    ด้านนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตแกนนำพันธมิตรฯ  กล่าวถึงข้อเสนอ คปก.ที่ให้ยกเลิกคดีก่อการร้ายให้กับกลุ่มคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดงว่า คิดว่าวิธีที่ดีที่สุดคือ การค้นหาความจริงตามกระบวนการยุติธรรม เพราะจะได้ทราบว่าผู้ต้องหาในคดีก่อการร้ายเป็นใคร ไม่เช่นนั้นเราจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าใครเป็นผู้ก่อการร้าย ผู้ที่บริสุทธิ์ก็จะถูกตราหน้าอยู่อย่างนั้น คนผิดก็จะลอยนวล เรื่องนี้หากไม่ได้แสวงหาข้อเท็จจริงกันเสียก่อนก็ไม่มีทางแก้ไขปัญหาได้      
    "หากจะช่วยเหลือประชาชนจริงๆ ที่พอเป็นไปได้คือ  ควรช่วยเหลือประชาชนที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เรื่องนี้รัฐในฐานะประกาศใช้กฎหมายเป็นคนถูกละเมิด หากจะให้อภัยก็ต้องเป็นรัฐเองที่ยกเว้นให้ได้ แต่หากจะยกให้กับผู้ต้องหาในคดีก่อการร้าย คนที่ถูกละเมิดคือญาติผู้บริสุทธิ์ที่เสียชีวิต ดังนั้น ต้องให้กระบวนการยุติธรรมเป็นผู้พิสูจน์เพื่อความเป็นธรรม และไม่ควรสร้างวาทกรรมต่างๆ ออกมา" นายปานเทพ กล่าว
    วันเดียวกัน ศาลอุทธรณ์ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีความแพ่ง ที่บริษัท พีเพิล พลาซ่า หรือห้างสรรพสินค้าเซ็นเตอร์วัน เป็นโจทก์ฟ้อง บริษัท แอกซ่า ประกันภัย จำกัด ให้จ่ายค่าเสียหาย 122,790,000 บาท กรณีถูกวางเพลิงเผาทรัพย์และขโมยทรัพย์สินระหว่างการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง หรือ นปช.เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 โดยสรุปคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ได้พิจารณาพยานและหลักฐาน พบว่า เนื่องจากหลังเกิดเพลิงไหม้แล้ว ได้มีรถดับเพลิงเข้าไปดับเพลิง แต่ได้ถูกขัดขวางจากผู้ชุมนุม, พบลูกธนูที่พันด้วยผ้าตกอยู่บริเวณชั้นล่างของอาคารศูนย์การค้า, พบร่องรอยกระสุนปืนเป็นรูอยู่หลายรูบริเวณเสาด้านหน้าอาคาร
    ดังนั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เชื่อว่าการวางเพลิงเกิดจากกลุ่มวัยรุ่นคึกคะนอง รถจักรยานยนต์รับจ้าง และคนขับรถซาเล้งรับซื้อของเก่าที่มีเจตนาลักทรัพย์ และพิจารณาโดยสรุปจากพยานหลักฐานเกี่ยวกับการวางเพลิงแล้ว พบว่าการวางเพลิงเกิดจากการกระทำของกลุ่มผู้ชุมนุม นปช.บางส่วน ที่ต้องการใช้ความรุนแรง และ/หรือข่มขู่เพื่อผลทางการเมือง เพื่อต้องการส่งผลให้รัฐบาลและประชาชนหวาดกลัว การกระทำของกลุ่ม นปช.ที่วางเพลิงนั้นเข้านิยาม "การกระทำการก่อการร้าย".

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น