|
|
รายงานการเมือง
เป็นไปตามคาดว่าการสมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองแต่ละพรรคในวันแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 23 ธ.ค. 56 ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่อาจหนีความปั่นป่วนวุ่นวายได้
ด้วยที่กลุ่มประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) บางส่วนไปชุมนุมปิดจุดทางเข้า-ออกของสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง เอาไว้เพื่อประท้วงการจัดการเลือกตั้งจนทำให้เกิดปัญหาในการเดินทางเข้าไปยื่นเอกสารของตัวแทนพรรคการเมือง
แม้แต่ 5 เสือกรรมการการเลือกตั้ง ก็ยังเข้าพื้นที่ไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ก็ได้มีตัวแทนพรรคการเมืองหลายพรรคไปยื่นเรื่องเอาไว้ บางพรรคส่งคนเข้าไปในสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นตั้งแต่ตี 3 ซึ่งตอนนั้นกลุ่มประชาชน กปปส.ยังไม่ได้เดินทางมาถึงซึ่งแม้เบื้องต้นจะมีหลายพรรคยื่นเอกสารการรับสมัครตามที่ กกต.ได้เปิดทางไว้เช่นไปยื่นเรื่องที่กองปราบปราม แต่ กกต.ก็ยืนยันว่ากระบวนการทั้งหมดยังไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย เพราะยังไม่ได้มีการตรวจสอบเอกสารไม่มีการลงนามโดย กกต.และยังไม่มีการชำระเงินค่าสมัครของพรรคการเมือง
แต่เบื้องต้นพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทย พรรคชาติพัฒนา พรรคชาติไทยพัฒนา ถือว่าได้ยื่นเรื่องไปแล้วขั้นตอนต่อไป ก็ต้องรอการจับเบอร์ในการหาเสียง ซึ่ง จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยเผยว่า กกต.ได้นัดหมายจับเบอร์หาเสียงกันในวันอังคารที่ 24 ธ.ค.นี้ แต่ยังไม่ระบุเวลาและสถานที่ยังไม่รู้ว่า ทุกอย่างจะราบรื่นหรือไม่ เพราะ กกต.ยังคงยืนยันจะใช้อาคารกีฬาเวสน์ 2 เป็นสถานที่รับสมัครและดำเนินการทุกอย่างต่อไปจนถึงวันศุกร์ที่ 27 ธ.ค.โดยยังไม่เปลี่ยนสถานที่แต่อย่างใด ขณะที่ผู้ชุมนุม กปปส.ก็ไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไรจะปิดล้อมอาคารกีฬาเวสน์ 2 ต่อไปจนถึงวันศุกร์หรือไม่
สถานการณ์ทั้งหมดต้องรอดูกันต่อแบบวันต่อวัน แต่เบื้องต้นรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่เปิดเผยออกมาอย่างไม่เป็นทางการเพราะเนื่องจากกระบวนการรับสมัครยังไม่สมบูรณ์ทางพรรคการเมืองและ กกต.ก็เลยไม่ยอมเปิดเผยรายชื่อและแจกจ่ายให้กับสื่อมวลชนอย่างที่แล้วมา
ส่วนที่เปิดเผยกันออกมาจากฝั่งพรรคเพื่อไทยมีคนเห็นเอกสารที่ไปยื่นให้กกต.แล้วแต่ยังไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ ไม่มีเซอร์ไพรส์อย่างที่คาดการกันไว้
เมื่อสุดท้าย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีรักษาการยังคงเป็นผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 เฉกเช่นเดียวกับการเลือกตั้งเมื่อปี 54 แต่หลังเลือกตั้ง (ถ้ามี) จะได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองหรือไม่ อันนี้ไม่ยืนยัน!
โดยเฉพาะเมื่อเห็นชื่อผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 2 ของพรรคเพื่อไทยคือ สมชายวงศ์สวัสดิ์พี่เขยยิ่งลักษณ์และอดีตนายกรัฐมนตรีผู้อาภัพเพราะเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวในประวัติศาสตร์ประเทศไทยที่ไม่เคยได้เข้าห้องทำงานตัวเองที่ทำเนียบรัฐบาลเนื่องจากช่วงเป็นนายกฯเป็นช่วงที่พันธมิตรฯชุมนุม 193 วันในทำเนียบรัฐบาลไม่รู้ว่า สมชาย จะขอทำฝันให้เป็นจริงด้วยการกลับมาเป็นนายกฯรอบสองหลังเลือกตั้งหรือไม่
ดูตามสถานการณ์เฉพาะหน้าก็จะเห็นได้ว่าหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น เพื่อไทยต้องชนะการเลือกตั้งแน่นอนอยู่แล้วจะได้เห็นการคัมแบ็คกลับมาเป็นนายกฯ รอบสอง ของคนในตระกูล “ชินวัตร-วงศ์สวัสดิ์” เพียงแต่จะเป็นใครระหว่าง ยิ่งลักษณ์ หรือสมชาย?
แต่นักวิเคราะห์การเมืองหลายคนบอกว่าการเมืองต้องรอดูสถานการณ์ในแต่ละช่วง หากสถานการณ์การต่อต้าน-คัดค้านตระกูลชินวัตร ยึดครองประเทศ ยังคงแรงต่อเนื่องข้ามปีไปจนถึงต้นปี 57 เลยไปถึงหลังเลือกตั้งก็ไม่แน่ ที่ทักษิณ ชินวัตร อาจต้องยอม
ถอยเพื่อรักษาอำนาจไว้ในมือ
ด้วยการเอาใครก็ได้ในพรรคเพื่อไทยที่เป็น ส.ส.จะระบบเขต หรือปาร์ตี้ลิสต์ มาเป็นนายกฯ นอมินี เพื่อเป็นรัฐบาลระยะสั้นสัก 1-2 ปีแล้วทำเรื่องสภาปฏิรูปประเทศตามที่ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยให้สัญญาประชาคมการเมืองเอาไว้
แต่ถามว่าคนอย่างทักษิณจะทำเช่นนั้นหรือ เพราะหากทำก็เท่ากับว่ายอมแพ้ หลายคนจึงเชื่อว่าโอกาสจะได้เห็นนายกฯ นอมินี ที่ไม่ใช่คนในตระกูลชินวัตร-วงศ์สวัสดิ์ ก็วิเคราะห์กันไปได้ แต่ยาก
ยิ่งเห็นการที่ทักษิณส่งยิ่งลักษณ์ ลงปาร์ตี้ลิสต์ เบอร์ 1 และสมชาย ปาร์ตี้ลิสต์ เบอร์สองมันก็ชัดเจนแล้วว่าทักษิณและพี่น้องในตระกูลรวมถึงทาสรับใช้ระบอบทักษิณในพรรคเพื่อไทยต้องการท้าทายมวลมหาประชาชนนับล้านที่กู่ร้องตะโกน “ชินวัตรออกไป” เลยจับยิ่งลักษณ์-สมชายลงปาร์ตี้ลิสต์ด้วยลำดับอย่างที่เห็น
ขณะที่ผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับต้นๆคนอื่นๆ ของเพื่อไทย ลำดับที่ 3-10 ก็น่าสนใจไม่น้อยเพราะรายชื่อที่ออกมาคือลำดับที่ 3. นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ 4. นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล 5. นายชัยเกษม นิติศิริ 6. ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง 7. นายเสนาะ เทียนทอง 8. พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก 9. นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา 10. นายปลอดประสพ สุรัสวดี 11. โภคิน พลกุล 12.สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผอ.เลือกตั้งพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งนี้ นพดล ปัทมะ อันดับ 14 สมศักดิ์ เทพสุทิน อันดับ 16 ส่วนภูมิธรรม เวชยชัย อันดับ 21
คนที่น่าสนใจในลำดับท็อปเท็น คงไม่พ้น “ชัยเกษม นิติศิริ” รักษาการ รมว.ยุติธรรม และอดีตอัยการสูงสุด ที่ตอนนี้ก็ต้องถือว่าเป็นนักการเมืองเต็มตัวไปแล้ว ภาพความเป็นนักกฎหมายที่จะใช้เครดิตอดีตอัยการสูงสุดมาคอยอุ้มรัฐบาล เช่นออกมาสนับสนุนว่าการออกกฎหมายนิรโทษกรรมจะช่วยแก้ปัญหาบ้านเมืองได้ หรือบอกว่านายกรัฐมนตรีไม่สามารถลาออกจากนายกฯ รักษาการได้
ตอนนี้ชัยเกษมใส่เสื้อเป็นนักการเมืองเต็มตัว มาทำงานให้ระบอบทักษิณเต็มที่แบบนี้ การอ้างหลักกฎหมายอะไรก็ไม่ต่างจาก นพดล ปัทมะ ทนายส่วนตัวทักษิณ ชินวัตร จากอัยการสูงสุดกลายมาเป็นขี้ข้าทักษิณไปอีกคน
ขณะที่ความเคลื่อนไหวพรรคอื่นๆ อย่างภูมิใจไทย ก็ชัดเจนว่าจะส่งคนลงเลือกตั้งแน่นอน ไม่เอาด้วยกับประชาธิปัตย์ที่บอยคอตเลืกตั้ง โดยโผปาร์ตี้ลิสต์ ภูมิใจไทยที่คลอดออกมาเบื้องต้นตามสื่อ ยังเก็บงำกันอยู่ แต่ข่าวบอกว่า 3 ลำดับแรกไม่มีเซอร์ไพรส์ คือ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค-ชัย ชิดชอบอดีตประธานสภาฯ พ่อเนวิน-นาที รัชกิจประการ และทรงศักดิ์ ทองศรี อดีต รมช.คมนาคม อดีต ส.ส.บุรีรัมย์ ลูกพี่ลูกน้องกับเนวิน
ขณะที่พรรคเล็กๆ อย่างพรรครักษ์สันติ ของ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์-พรรคทวงคืนผืนป่าแห่งประเทศไทยของดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หรือพรรครักประเทศไทย ของชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ที่ก่อนหน้านี้ทำเป็นบอกว่าเบื่อหน่ายการเมืองเหมือนกับจะไม่ลงเลือกตั้งแต่สุดท้ายก็ลงเลือกตั้งแน่นอนแล้ว
โดยพรรคเล็กสามพรรคข้างต้นได้มีการส่งตัวแทนไปแจ้งความ-แจ้งเรื่องที่ สน.ดินแดงเอาไว้หลังเข้าอาคารกีฬาเวสน์ 2 ไม่ได้เพื่อรักษาสิทธิตัวเองเอาไว้ตามที่ กกต.แจ้งไว้กับทุกพรรคการเมือง
กระบวนการรับสมัครเลือกตั้ง-การเดินหน้าจัดเลือกตั้งยังไม่จบ ดูแล้ว คงติดๆ ขัดๆ กันอีกหลายช่วง ไม่นับรวมกับเลือกตั้งไปแล้วผลจะออกมาอย่างไร ?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น