วันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2556

วันเลือกตั้งไม่ใช่คำตอบ วิกฤติที่นายกฯต้องเสียสละ เมื่อ 21 ธ.ค.56

วันเลือกตั้งไม่ใช่คำตอบ วิกฤติที่นายกฯต้องเสียสละ

เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับการออกแถลงการณ์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยนายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ อ่านแถลงการณ์ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งรู้สึกเป็นห่วงในสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งสถานการณ์การเมืองหลังจากมีพระราชกฤษฎีกายุบสภา และกำหนดให้เลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 กลายเป็นประเด็นรุนแรงในสังคมไทย นำไปสู่ความแตกต่างทางความคิด ฝ่ายหนึ่งเห็นว่ารัฐบาลปัจจุบันมีความชอบธรรมรักษาการตามกฎหมาย และต้องเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง โดยเชื่อว่าเป็นทางออกให้สังคม ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่ารัฐบาลไม่ควรทำหน้าที่รักษาการ ควรมีคนกลางเข้ามาทำหน้าที่ และเห็นสมควรเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอย่างน้อย 8 เดือนถึง 2 ปี และควรมีสภาประชาชนทำหน้าที่ในสภานิติบัญญัติและออกกฎหมายเพื่อปฏิรูปประเทศให้เสร็จสมบูรณ์ก่อนการเลือกตั้ง
    เขายังเห็นว่า ความคิด 2 แนวทางเป็นความคิดคนละขั้ว หากยังปล่อยให้ความขัดแย้งดังกล่าวคงอยู่โดยไม่แก้ไข การจัดการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ อาจไม่สามารถดำเนินการด้วยความสงบเรียบร้อยได้ และอาจไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ดังนั้นคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าหนทางที่ดีในการคลี่คลายสถานการณ์ความตึงเครียด ทุกฝ่ายต้องหาทางประนีประนอมความคิด ไม่สุดขั้วไปทางด้านใดด้านหนึ่ง โดยแต่ละฝ่ายต้องยอมลดความต้องการของตัวเองลงให้อยู่ในจุดยอมรับได้ ไม่มีฝ่ายใดแพ้ ฝ่ายใดชนะ และจะเป็นทางออกทำให้สถานการณ์ประเทศไม่เสียหาย ทั้งนี้คณะกรรมการการเลือกตั้งขอยืนยันว่า เราพร้อมทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ อย่างเต็มความสามารถ แม้สถานการณ์เป็นเช่นไร แต่ก็ไม่ควรให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ มาเป็นตัวจำกัดโอกาสที่ทำให้คนไทยไม่สามารถเข้าใจทำความปรองดองกันได้
    กระนั้น ก็มีรายงานข่าวว่าแม้คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่สามารถเลื่อนการเลือกตั้งได้เอง เป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรีจะทูลเกล้าฯ ขอยกเลิกวันเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ แต่ก็ยังไม่มีท่าทีว่านายกรัฐมนตรีจะพิจารณาและตัดสินใจในเรื่องดังกล่าวอย่างไร และดูเหมือนว่าจะเดินหน้าทุกองคาพยพเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปตามกำหนดเดิม รวมถึงการชี้แจงกับเหล่าบรรดาผู้นำทางทหาร วางกรอบและแนวทางในการให้ทหารเข้ามาช่วยสนับสนุนการเลือกตั้ง ก่อนการประชุมสภากลาโหมเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาด้วย
    การที่นายกรัฐมนตรี เดินเข้าไปพบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ดูเหมือนเป็นการรับฟังความคิดเห็น และข้อกังวลที่ออกมาก่อนหน้านั้น แต่หลายฝ่ายก็อดที่จะมองว่าเป็นการกดดัน หรือต้องการให้คณะกรรมการการเลือกตั้งสนับสนุนการจัดการเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกมานั้น เป็นเพียงการพูดถึงเศษเสี้ยวของปัญหาความแตกแยกทางความคิดของคนในประเทศตามกรอบประชาธิปไตยเพียงเศษเสี้ยว เพราะหากย้อนดูสภาวะปัญหาที่เกิดขึ้นมันเลยไปกว่าประเด็นเรื่องการเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกาอย่างที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย และมวลชนฝ่ายตัวนำมาอ้าง
    ประเด็นที่พูดคุยคือ จุดตรงกลางที่สองฝ่ายรับได้และให้ประเทศไทยเดินหน้าไปได้อย่างที่ไม่เกิดกลุ่มที่ขัดขวางกระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมกันในอนาคตต่างหาก น่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องสภาประชาชน หรือการปฏิรูปประเทศให้ทุกอย่างเดินหน้าไปอย่างราบรื่นนั้น จุดลงตัวอยู่ที่ จะเริ่มก่อนการเลือกตั้ง และต่อเนื่องไปหลังเลือกตั้ง เป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้หรือไม่ ซึ่งรายละเอียด องค์ประกอบที่จะต้องมาหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปนั้นมีรูปแบบอย่างไร เหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นรูปธรรม และความคืบหน้าส่วนหนึ่งที่ส่วนรวมและทุกภาคส่วนตระหนัก แต่เพื่อให้ทุกอย่างไม่เร่งรีบเกินไป รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีก็ควรนำช่องทางให้เลื่อนวันเลือกตั้งตามที่มีคนเสนอนำไปพิจารณาด้วย
    เราจึงเห็นว่า นับจากนี้ทุกฝ่าย ทุกองค์กรที่มีส่วนร่วมและได้รับผลกระทบจากวิกฤติบ้านเมืองในขณะนี้ ควรมุ่งไปสู่การหาทางออกแบบเป็นรูปธรรม โดยใช้วิธีการพูดคุยหารือ โดยฝ่ายที่ต้องรับฟังและเสียสละที่สุดก็คือรัฐบาล และนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้สถานการณ์ยืดหยุ่น ประนีประนอมอย่างถึงที่สุด เหตุการณ์บ้านเมืองวันนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรีบหาทางออกโดยการปรึกษาหารือทุกฝ่าย ไม่ใช่ถือธงเรื่องวันเลือกตั้งเป็นสรณะ เพื่อใช้อธิบายเรื่องประชาธิปไตยสมบูรณ์กรอกหูชาวบ้าน ละเลยที่จะมองภาพของวิกฤติการเมืองโดยภาพรวม.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น