วันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ม็อบภูธรพรึ่บ พท.ได้ทีเสนอ ‘ล้างไพ่’สภาฯ เมื่อ 1 ธ.ค.56

ม็อบภูธรพรึ่บ พท.ได้ทีเสนอ ‘ล้างไพ่’สภาฯ


ม็อบล้างรัฐบาลเดินหน้ารุกเมืองตรังให้ทุกหน่วยงานหยุดตั้งแต่ 2 ธ.ค. บุรีรัมย์นัดรวมพลประกาศชัยชนะ 1 ธค. ตร.ผวาถูกยึดศาลากลางระดมกำลังล้อมป้องกัน ประธานวิปรัฐบาลสวนกระแสร้อน จุดพลุเสนอแก้ รธน.ล้างบางนักการเมือง เคยเป็น ส.ส., ส.ว.ห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งเข้ามาอีก นิด้าโพลสำรวจประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวคิด 6 แนวทางการปฏิรูปประเทศไทยของเทพเทือก
    วันที่ 30 พฤศจิกายน การชุมนุมต่อต้านรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังคงเกิดขึ้นทั่วทุกภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง โดยที่ จ.อุตรดิตถ์ กลุ่มมวลชนอุตรดิตถ์ต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม 60 คน พากันไปโบกธงชาติและเป่านกหวีดอยู่ที่หน้าศาลากลาง จ.อุตรดิตถ์ ขณะที่นายชัย กิตตินภดล ผู้ว่าราชการ จ.อุตรดิตถ์ ได้รับมอบหมายจากนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.เกษตรฯ เป็นประธานในพิธีเปิดงานจับรางวัล "ออมดีออมโชค" ของธนาคารเพื่อการเกษตร (ธ.ก.ส.) ทำให้นายชัชต้องออกมาเจรจา
    นายธีรพงษ์ ศรีเดช แกนนำได้มอบธงชาติและนกหวีดให้ แต่นายชัชปฏิเสธที่จะรับ อ้างว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะไม่รับและเป่านกหวีด ไม่มีใครบังคับได้ ธงชาติและนกหวีดของกลุ่มต่อต้านไม่มีความหมาย ไม่มีสัญลักษณ์อะไรในทางการเมือง มีแต่เป่าแล้วหนวกหูเท่านั้น
    นายธีรพงษ์กล่าวว่า ประชาชนคนอุตรดิตถ์ไม่ต้องการป่วนหรือทำลายการจัดงานของ ธ.ก.ส. แม้จะเปิดประตูรับก็ไม่เข้าไป แต่ต้องการมอบธงชาติและนกหวีดให้ผู้ว่าฯ เมื่อปฏิเสธที่จะรับก็แปลกใจที่ก่อนหน้านี้กลุ่ม นปช.และคนเสื้อแดงมาก็ลงมาต้อนรับเปิดให้เข้าถึงห้องทำงาน เท่ากับผู้ว่าฯ แสดงออกที่ชัดเจนเกินไปและเลือกปฏิบัติระหว่างคนเสื้อแดงกับคนอุตรดิตถ์ทั่วไป
    ส่วนที่ จ.บุรีรัมย์ ได้มีการจัดกำลังตำรวจจาก สภ.เมือง และชุดปฏิบัติการพิเศษ ร่วมกับอาสาสมัครชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านเข้าดูแลศาลากลางจังหวัดโดยรอบอย่างเข้มงวด ป้องกันการถูกยึดตามประกาศของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำผู้ต่อต้านระบอบทักษิณ โดย พล.ต.ต.ชัยเดช ปานรักษา ผบก.ภ.บุรีรัมย์ กำชับให้ปฏิบัติตามกรอบกฎหมายอย่างเคร่งครัด
    นอกจากนี้ยังมีการโพสต์ข้อความผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก ระบุว่า วันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม 2556 เวลา 10.45 น. เรามีนัดกันที่หน้าศาลากลางบุรีรัมย์หลังใหม่ ถือข้าว ถือน้ำไปกินข้าวนอกบ้านกัน ไปกันเยอะๆ ร่วมประกาศชัยชนะของมวลมหาประชาชนพร้อมกัน และอย่าลืมธงชาติ นกหวีด ดอกไม้ ป้ายแสดงความในใจ ที่ขาดไม่ได้คือรองเท้าผ้าใบและใจถึง
    ที่ประตูทางเข้าศาลากลาง จ.ตรัง คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นำโดยนายปรีดิ์ปราโมทย์ เลิศวรภัทร เปิดแถลงให้ทุกภาคส่วนหยุดปฏิบัติหน้าที่ 5 ข้อ คือ 1.ให้ข้าราชการทุกภาคส่วนหยุดงานตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค.56 จนกว่าจะมีคำประกาศเปลี่ยนแปลง ยกเว้นโรงพยาบาล ศาลยุติธรรมและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2.ให้พนักงานรัฐวิสาหกิจทุกองค์กรหยุดงานตั้งแต่ 2 ธ.ค.เป็นต้นไป ยกเว้นฝ่ายซ่อมบำรุง 3.ขอให้ภาคเอกชนหยุดงานพร้อมกันวันที่ 2 ธ.ค. เพื่อรวมพลังล้างระบอบทักษิณ 4.เชิญผู้นำท้องถิ่นให้มาลงชื่อแสดงตนที่เวทีหน้าศาลากลาง เพื่อประกาศจุดยืนว่าอยู่เคียงข้างประชาชน และ 5.หากหน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจใดไม่ปฏิบัติตาม มวลมหาประชาชน จะไปกดดันหน่วยงานนั้นทันที และคาดว่าวันที่ 2 ธ.ค.จะมีมวลชนร่วมกว่า 3 หมื่นคน
    ด้านนายปรีดี มะนีวัน นักวิชาการอิสระปัตตานี เปิดเผยทางออกประเทศไทยว่า คน 3 จังหวัดชายแดนใต้ติดตามข่าวสารเหตุการณ์ที่กรุงเทพฯ แต่ไปมีส่วนร่วมน้อยมาก เพราะคนที่นี่ส่วนใหญ่ศรัทธาอิสลาม ถ้ามีเหตุการณ์เขามีแนวทางคือต้องปรึกษาหารือ การที่มีการประท้วงไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนไม่เป็นสิ่งดีต่อสังคม ทางออกที่สำคัญคือใช้ระบอบพูดคุยเจรจา การใช้ความรุนแรงไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤติได้ แม้ไม่ได้ใช้อาวุธ แต่วาทกรรมมีความรุนแรงที่ทำลายจิตใจ ทำให้เกิดความขัดแย้งได้เช่นกัน
    ขณะที่สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ออกแถลงการณ์ยื่นข้อเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3 ประการ คือ 1.ขอเรียกร้องให้การยื่นข้อเสนอใดๆ ของทุกฝ่ายต้องอยู่บนหลักการอันเป็นที่ยอมรับและปฏิบัติได้จริงตามระบอบประชาธิปไตย 2.เงื่อนไขการคืนอำนาจให้ประชาชนด้วยการยุบสภาฯ มิใช่ทางออกที่เหมาะสม ขอเรียกร้องให้นายกฯ ใช้อำนาจเปิดอภิปรายทั่วไปร่วมกันของรัฐสภาโดยไม่ลงมติเพื่อเปิดพื้นที่แสวงหาการออกจากความขัดแย้งร่วมกัน 3.ขอให้ประชาชนทุกฝ่ายใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 5 หมื่นชื่อ เพื่อขอแก้ไขเพิ่มเติม รธน.ทั้งฉบับ กำหนดกติกาอันเป็นที่ยอมรับขึ้นใหม่ โดยสมาคมจะเปิดให้มีการลงชื่อในวันที่ 2 ธ.ค.นี้
    นายอำนวย คลังผา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล กล่าวว่า ข้อเสนอของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ให้ปฏิรูปการเมือง 6 ข้อ สังคมอาจไม่ยอมรับ จึงขอเสนอทางออกของประเทศด้วยความบริสุทธิ์ใจ 5 ประการ คือ 1.จัดทำประชาพิจารณ์สอบถามความเห็นประชาชนว่าเห็นด้วยกับการแก้ไข รธน.หรือไม่ ภายใน 1 เดือน 2.ถ้าประชาชนเห็นด้วยให้คัดเลือก ส.ส.ร.ใน 1 เดือน ยกร่างใน 5 เดือน จากนั้นประกาศเลือกตั้งทันทีใน 30 วัน 3.กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ที่เคยเป็น ส.ส.หรือ ส.ว.ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมถึงแกนนำที่เกี่ยวข้องกับการเมืองทุกเวทีห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งเด็ดขาด เปิดทางให้คนรุ่นใหม่เข้ามา แต่พรรคการเมืองยังคงไว้ 4.ยุบองค์กรอิสระ เปลี่ยนบุคลากรทั้งหมด 5.บุคคลที่เข้ามาเป็น ส.ส.และ ส.ว.นับจากนี้ให้เปลี่ยนใหม่ทุก 4 ปี ห้ามมีตำแหน่งทางการเมืองแม้กระทั่งเป็นผู้ใหญ่บ้านหรือ อบต. ซึ่งแนวทางนี้คิดว่าประชาชนพอใจ
    สำหรับศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิดาโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ได้สำรวจความคิดเห็นเรื่อง "6 แนวทางปฏิรูปประเทศไทยของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ" ระหว่างวันที่ 28-29 พฤศจิกายน รวม 1,234 ตัวอย่าง
    เมื่อถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอ 6 แนวทางปฏิรูปประเทศไทยของนายสุเทพ ร้อยละ 79.09 เห็นด้วยกับระบบการเลือกตั้งที่ซื้อเสียงไม่ได้ ร้อยละ 18.15 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 2.76 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 67.10 เห็นด้วยกับการแก้ทุจริตคอร์รัปชันอย่างเด็ดขาด ร้อยละ 27.63 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 5.27 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 69.61 เห็นด้วยกับการที่นักการเมืองเคารพและให้อำนาจประชาชนอย่างแท้จริง ร้อยละ 24.69 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 49.11 เห็นด้วยกับการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจให้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าราชการจังหวัด ร้อยละ 42.22 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 79.90 เห็นด้วยกับการปฏิรูประบบข้าราชการให้ข้าราชการอยู่ในระบบคุณธรรมแทนระบบอุปถัมภ์ ร้อยละ 17.18 ไม่เห็นด้วย ท้ายที่สุดประชาชนร้อยละ 78.93 เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงปัญหาพื้นฐานการศึกษา คมนาคม ขนส่ง สาธารณสุข ต้องทำเป็นวาระแห่งชาติ ร้อยละ 16.21 ไม่เห็นด้วย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น