เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - กฎหมายจีนที่กำหนดให้สมาชิกภายในครอบครัวต้องไปกลับไปเยี่ยมญาติผู้สูงอายุ มีผลบังคับใช้แล้วในวันจันทร์ (1) ส่งผลให้เกิดเสียงโห่และการพูดแดกดันมากมายในโลกออนไลน์ ขณะที่ประชากรจำนวนมหาศาลของประเทศนี้กำลังมีอายุสูงวัยขึ้นอย่างรวดเร็ว กฎหมายนี้ “บังคับ” ให้ลูกกลับไปเยี่ยมพ่อแม่ของตนเอง โกลบอลไทมส์ หนังสือพิมพ์ของทางการจีนระบุ เนื่องจากรัฐบาลกังวลว่าจะมีผู้สูงอายุจะถูกทิ้งให้อยู่อย่างโดดเดี่ยวมากขึ้น การเร่งพัฒนาประเทศจีนได้กลายเป็นสิ่งที่มาท้าทายการอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของแดนมังกร อีกทั้งรายงานที่ปรากฏออกมาเรื่อยๆ ว่า มีผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง หรือถูกทารุณด้วยน้ำมือลูกของตัวเอง ก็เป็นสิ่งที่สร้างความตกตะลึงให้กับประเทศนี้ เมื่อปีที่แล้ว เกษตรกรคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในมณฑลเจียงซู ทางภาคตะวันออกของประเทศจีนถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์อย่างหนัก หลังจากที่สื่อมวลชนท้องถิ่นเผยว่า เขาขังคุณแม่วัย 100 ปีไว้ในคอกหมู ทั้งนี้ ประชากรชาวจีนมากกว่า 14 เปอร์เซ็นต์ หรือ 194 ล้านคน มีอายุมากกว่า 60 ปี รายงานทางสถิติฉบับล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนระบุ อัตราส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นนี้เป็นผลมาจากนโยบายลูกคนเดียว ที่รัฐบาลประกาศใช้ในปลายทศวรรษ 1970 เพื่อควบคุมจำนวนประชากร มีคนชราจำนวนมากถูกทิ้งให้อยู่คนเดียวในบ้านที่เงียบเหงา เพราะลูกๆ ออกไปหางานทำในต่างจังหวัด แต่ในขณะที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตโดยทั่วไปแสดงความห่วงใยผู้สูงอายุ ซึ่งได้รับความเคารพอย่างสูงในครอบครัวที่ผูกพันใกล้ชิดกันของชาวจีน ก็มีคนอีกไม่น้อยที่พากันวิพากษ์วิจารณ์มาตรการใหม่นี้ในทวิตเตอร์และบล็อกต่างๆ “ประเทศต้องออกกฎหมายเพื่อให้มีการเคารพพ่อแม่จริงๆ หรือ” หนึ่งในผู้แสดงความคิดเห็น 8 ล้านคนกล่าวในเว็บไซต์ของซิน่าเว่ยป๋อแสดงความไม่เห็นด้วย “ออกกฎหมายแบบนี้ดูถูกประเทศตัวเองชัดๆ” ผู้แสดงความคิดเห็นอีกรายหนึ่งระบุว่า “รัฐบาลอาจจะออกกฎหมายนี้เพื่อปกป้องผู้สูงอายุ แต่ที่จริงแล้วมันเป็นการโบ้ยความผิดให้ลูกหลาน” “รัฐบาลควรจะคิดบ้างว่าว่าควรจะแก้ปัญหาอย่างไร เมื่อตอนที่ประกาศใช้นโยบายลูกคนเดียว” เซี่ยงไฮ้เดลี หนังสือพิมพ์ของรัฐบาล รายงานว่า กฎหมายใหม่ได้มอบอำนาจให้กับพ่อแม่สามารถเลือกได้ว่าจะให้ไกล่เกลี่ยหรือจะฟ้องศาล แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ยังคงไม่แน่ใจว่ามาตรการนี้จะนำมาบังคับใช้อย่างไร หรือกำหนดว่าลูกต้องกลับไปเยี่ยมพ่อแม่บ่อยแค่ไหน “จะต้องเพิ่มข้อบังคบและมาตรการเพื่อให้ชัดเจนมากกว่านี้” เซี่ย ซื่อหลวน อาจารย์ประจำสถาบันสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง กล่าวกับผู้สื่อข่าวของโกลบอลไทม์ส์ “การแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ เหมือนจะเป็นการเตือนให้คนหนุ่มสาวหันมาให้ความสำคัญกับค่านิยมของความกตัญญูกตเวที มากกว่าการออกกฎหมายที่มีผลใช้บังคับ” เขาทิ้งท้าย |
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น